มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอร่วมเป็นอีกหนึ่งเสียงให้รัฐบาลไทยและทั่วโลก จัดทําสนธิสัญญาพลาสติกที่เข้มแข็ง ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก และคํานึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิและสุขภาพของมนุษย์เป็นหลัก
อนาคตปลอดมลพิษพลาสติกจะเป็นจริงได้ ต้องเริ่มจากการลดการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน และยกเลิกการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหาและไม่จําเป็น รวมไปถึงสารเคมีอันตราย มาร่วมยุติมลพิษพลาสติกกับเรา
ยุติมลพิษพลาสติก แถลงการณ์จากภาคประชาสังคมต่อการเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อจัดตั้ง ‘สนธิสัญญาพลาสติกโลก’
160 องค์กรภาคประชาสังคมและภาควิชาการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลทั่วโลกจัดทำสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่ทะเยอทะยาน ยุติมลพิษพลาสติกตลอดวงจรชีวิต คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิ และสุขภาพของมนุษย์เป็นหลัก
ปัจจุบัน ไม่มีพื้นที่ใดในโลกที่ไม่พบพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ใต้ทะเลลึก หรือในร่างกายของสัตว์และมนุษย์ พลาสติกส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่ขั้นการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหรือการปลูกพืชเพื่อวัตถุดิบ กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การขนส่ง การอุปโภคและบริโภค การรีไซเคิล รวมไปถึงการกำจัดทิ้ง โดยก่อให้เกิดมลพิษพลาสติกในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเศษพลาสติกหรืออวนผี ไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สารมลพิษตกค้างยาวนาน (POPs) ทั้งที่ใช้เป็นสารแต่งเติมในผลิตภัณฑ์และที่ปลดปล่อยจากกระบวนการคัดแยก การรื้อถอน การเผา การรีไซเคิลของเสีย ทั้งในรูปแบบเถ้าที่เกิดจากการเผากลางแจ้งหรือฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากเตาเผาขยะและโรงไฟฟ้าขยะ นอกจากนี้ พลาสติกและกิจกรรมตลอดวงจรชีวิตของมันยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและเป็นหนึ่งในปัจจัยของภาวะโลกรวน
การยุติมลพิษพลาสติกจึงเป็นพันธกิจสำคัญของพวกเราทุกคน การแก้ปัญหาพลาสติกต้องไม่หยุดอยู่แค่การจัดการขยะ แต่ต้องรวมไปถึงการยุติมลพิษตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก รวมถึงการลดการผลิตพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง ช่วงเวลานับจากนี้ไปจนถึงสิ้นสุดปี พ.ศ. 2567 ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาคมโลกจะต้องช่วยกันทำให้พันธกิจนี้บรรลุ พันธกิจนี้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ที่สมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้มีมติที่ 5/14 (UNEA Resolution 5/14) ได้กำหนดให้จัดตั้งมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายว่าด้วยมลพิษพลาสติก รวมถึงในสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยตั้งอยู่บนฐานของแนวทางที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก ซึ่งปัจจุบันสหประชาชาติเรียกว่า “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” และกำหนดเวลาจะร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567
สนธิสัญญาพลาสติกโลกมีศัพยภาพที่จะเป็นกลไกสำคัญในการกำกับให้ทุกประเทศแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกอย่างจริงจัง ช่วงการเจรจาจัดตั้งนี้จึงเป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่ทุกคนและทุกประเทศทั่วโลกจะได้มีส่วนร่วมในการยุติมลพิษพลาสติกไปด้วยกัน พวกเรา องค์กรภาคประชาสังคมและภาควิชาการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิและสุขภาพของมนุษย์เป็นสำคัญ เสนอให้รัฐบาลไทยร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมการเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่ทะเยอทะยาน มีการตั้งกรอบเวลาดำเนินการที่ชัดเจน มีกลไกทางการเงินที่ยั่งยืน โปร่งใส และเป็นธรรม เปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีบทบาท และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายหลัก 10 ประการ ดังต่อไปนี้ :
1. ลดการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนต่อการบริโภคและสิ่งแวดล้อม ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยาก และสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้
2. กำหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมีทดแทนที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
3. กำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้พลาสติก การใช้น้ำ การเติม การซ่อมแซม ที่มีมาตรฐานปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน
4. กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมายและขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น ขยายระบบใช้ซ้ำ การเติม และการซ่อมแซม รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่กระบวนรีไซเคิลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์ได้จริงภายในประเทศ ครอบคลุมวงจรชีวิตของพลาสติก และค่าความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
5. กำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก สู่สาธารณะ
6. กำหนดให้มีมาตรฐานสากลในการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้ว ที่ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง การห้ามเผาขยะพลาสติก การกำหนดมาตรฐานการจัดการขยะที่เข้มงวด รวมไปถึงการรีไซเคิลและการผลิตพลังงาน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
7. ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น
8. ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา
9. กำหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเยียวยา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากลพิษพลาสติก
10. กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวมไปถึงชุมชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ปฏิบัติงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ดูเพิ่มเติม รายชื่อองค์กรร่วมลงนาม