ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน 2561 ในวาระครบรอบ 28 ปี การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร
ในครั้งนั้น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในชูกวาระเรื่อง “กวางผา” สัตว์ป่าที่ปรากฎอยู่บนตราสัญลักษณ์องค์กร ไว้เป็นประเด็นหัวใจหลักของการจัดงาน
วันนั้นได้มีการจัดนิทรรศการ “ชีวิตเหนือภูผา” โดยเป็นการรวบรวมผลงานภาพถ่ายของช่างภาพสัตว์ป่า มาจัดแสดงในงาน ซึ่งเป็นการนำเสนอเรื่องราวของกวางผา สัตว์ป่าหายากอันมีถิ่นที่อยู่อาศัยจำเพาะ ผ่านภาพถ่าย จำนวน 25 ภาพ พร้อมกับเวทีเสวนา เรื่องราวของกวางผาจากช่างภาพสัตว์ป่าและกลุ่มคนที่ทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ป่าชนิดนี้
เรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในงานครั้งนั้น ให้เราได้ทราบถึงความยากลำบาก และความหวังในการรักษาเผ่าพันธุ์ของกวางผาต่อการดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต
และการพูดคุยกันในวันนั้นเองที่เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการส่งต่อแรงบันดาลใจ จนเกิดเป็นโครงการติดตามกวางผา เจตนาที่สืบต่อ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวขึ้นมา
.
เจตนาที่สืบต่อ
ในช่วงเวลา สืบ นาคะเสถียร ยังมีชีวิตอยู่ เรื่องราวของกวางผาถือเป็นสัตว์ปริศนาที่แทบไม่มีใครรู้จัก รวมถึงยังไม่มีการทำวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ในประเทศไทยมาก่อน และหลังจากที่สืบและคณะได้ออกติดตามและสำรวจกวางผาที่ดอยม่อนจอง พบว่า ณ ช่วงเวลานั้นมีกวางผาอยู่ประมาณ 20 ตัว ขณะที่ผืนป่าอื่นๆ ยังไม่รู้จำนวนว่ามีมากน้อยเพียงใด
ดังนั้น โอกาสที่สัตว์ป่าสงวนที่หายากชนิดนี้จะสูญพันธุ์ไปจากถิ่นกำเนิดก็ย่อมมี หากไม่ได้รับการคุ้มครองและการจัดการที่ถูกต้อง
ถึงวันนี้… โครงการฟื้นฟูประชากรกวางผา ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยองค์ความรู้ ความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง ทำให้การทำงานเติบโตไปอีกขั้น
ด้วยความร่วมมือในตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา ทั้งจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านบททดสอบต่างๆ ทำให้เราเห็นว่า อนาคตและความหวัง ของเหล่ากวางผา ดูจะสดใสขึ้น
.
.
ปัจจุบันเรามีข้อมูลทั้งจำนวนประชากรกวางผา ถิ่นที่อยู่อาศัย และพฤติกรรของกวางผามากขึ้น รวมถึงสามารถเพาะพันธุ์ และเพิ่มสายพันธุ์กวางผาได้ในระดับที่ลดโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้
แต่เนื่องด้วยสภาพพื้นที่ที่กวางผาอยู่อาศัยนั้นถูกตัดขาด เกิดภาวะที่เป็นลักษณะคล้ายเกาะ ประชากรกวางผาแต่ละพื้นที่ไม่สามารถเดินทางไปหากัน เกิดเป็นภาวะเลือดชิด (Inbreeding) ในกลุ่มประชากรกวางผาแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีผลต่อความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของประชากรกวางผาในแต่ละพื้นที่ในอนาคต
ดังนั้น อีกหนึ่งงานใหญ่ที่เรากำลังทำอยู่ก็คือ การแลกเปลี่ยนพันธุกรรมของกวางผาในแต่ละพื้นที่ ไปพร้อมๆ กับการศึกษาถึงวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการจัดการประชากรกวางผาต่อไป
.
.
เพิ่มพันธุกรรมในธรรมชาติ
เดือนกรกฎาคม 2562 เราได้นำกวางผาจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อยมาฝึก ปรับสภาพในกรงฝึกชั่วคราว พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เพื่อให้กวางผาปรับตัวในพื้นที่ป่าธรรมชาติ เป็นระยะเวลา 7 เดือนก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ (Soft Release)
โดยที่ผ่านมาแม้จะมีการปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติมาแล้ว 3 พื้นที่ คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
หลังการปล่อย เราพยามติดตามความเคลื่อนไหวของกวางผา แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เพราะเทคโนโลยีการติดตามเป็นแบบสัญญาณวิทยุจะรับสัญญาณได้ไม่ดีนักเมื่อกวางผา เข้าถ้ำ หรือลับเหลี่ยมเขา ข้อมูลที่ได้จึงยังไม่ครบถ้วน
แต่หลังจากนั้น ได้มีการพัฒนานำระบบสัญญาณดาวเทียมมาใช้ ก็จะช่วยอุดช่องโหว่ดังกล่าว อันจะทำให้เราได้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
การปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จึงเป็นการนำเอาบทเรียนจากการปล่อยกวางผาครั้งที่ผ่านๆ มา มาปรับใช้เพื่อให้การปล่อยกวางผาครั้งนี้สมบูรณ์ที่สุด
ตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่กวางผาอยู่ในกรงเพื่อปรับสภาพ ทางเจ้าหน้าที่มีการเก็บข้อมูลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวด้านอาหาร การปรับตัวด้านพฤติกรรม รวมถึงพฤติกรรมทางสังคมอื่นๆ เช่น ป้องกันอาณาเขต
นอกจากนี้ ก็ได้มีการปรับลดอาหารข้น ลงเรื่อยๆ แล้วแทนที่ด้วยอาหารตามธรรมชาติที่กวางผากิน
ในช่วงที่ลดปริมาณอาหารข้นลงเยอะ ๆ ปรากฏว่ากวางผาผอมลงอย่างสังเกตได้ ทางเจ้าหน้าที่จึงมีการให้อาหารในปริมาณที่ลดลงมาอย่างพอเหมาะ เรียกได้ว่าการศึกษาในครั้งนี้ข้อมูลทุกอย่างถูกบันทึกไว้อย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อันเป็นเสมือนบทเรียนที่จะนำไปปรับใช้ต่อไป
.
.
หน้าที่เพื่อเผ่าพันธุ์
ช่วงเวลาก่อนการปล่อยกวางผา 1 เดือน ได้มีการใส่ปลอกคอ กับกวางผาเพื่อให้กวางผาได้ปรับตัวก่อนการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งได้มีการคำนวณน้ำหนักของปลอกคอกับน้ำหนักตัวของกวางผา
โดยปกติแล้ว ปลอกคอไม่ควรเกิน 3% ของน้ำหนักตัว (โดยเฉลี่ยแล้วก็จะรับได้ประมาณ 600 กรัม แต่ปลอกคอที่ใช้ น้ำหนัก เพียง 350 กรัม) ก็ถือว่าไม่เป็นอุปสรรคการการใช้ชีวิตของกวางผา
ซึ่งระหว่างที่ให้กวางผาปรับตัวเพื่อความคุ้นชินกับปลอกคอ ทางเจ้าหน้าที่เองก็ได้มีการสังเกตพฤติกรรมของกวางผาโดยตลอด จนกระทั่งถึงกำหนดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 จึงได้ทำการปล่อยกวางผา ทั้ง 6 ตัว ออกไปทำหน้าที่ของตนเองในผืนป่าเชียงดาว
จากการติดตามกวางผาจากปลอกคอสัญญาณดาวเทียม ในระยะเวลา 1 ปี (กรณีของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว) ในครั้งนี้บอกเราได้ว่า…
กวางผา จากการเพาะเลี้ยงตั้งแต่เกิดมีการปรับตัวให้สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติได้ และมีการแข่งขันจนยึดครองพื้นที่หากินได้อย่างชัดเจน
นั่นหมายถึงความแข็งแกร่งของกวางผาจากกรงเลี้ยงที่จะดำเนินชีวิตอยู่ได้ในธรรมชาติต่อไป
แม้จะมีการแข่งขันเพื่อแย่งชิงพื้นที่กันกับกวางผาในธรรมชาติที่อยู่มาก่อน แต่กวางผาตัวที่แพ้ก็ไม่ใช่ว่าจะตาย เพราะโดยปกติแล้ว เมื่อกวางผามีการชนกันเพื่อแย่งชิงพื้นที่นั้น ตัวที่แพ้จะหนีไปเองและไปหาพื้นที่ เพื่อสร้างอาณาเขตและกลุ่มประชากรขึ้นมาใหม่
รวมทั้งทราบถึงพฤติกรรมของกวางผาในรอบวัน ผ่านการส่งสัญญาณจากดาวเทียมทุก 1 ชั่วโมง ซึ่งข้อมูลตรงนี้เรายังไม่เคยมีมาก่อน เพราะเดิมทีเราจะได้ข้อมูลด้านพฤติกรรมจากกวางผาในกรงเลี้ยงเป็นส่วนใหญ่
.
ดักจับกวางผาในธรรมชาติ
ข้อมูลที่ได้ในตอนนี้นับว่ายังไม่สมบูรณ์นัก เนื่องจากเป็นข้อมูลจากทางด้านของกวางผาจากการเพาะเลี้ยง ทางทีมวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวจึงได้มีการดักจับกวางผาในธรรมชาติ มาใส่ปลอกคอสัญญาณดาวเทียม เพื่อที่จะได้นำข้อมูลของกวางผาในธรรมชาติมาเปรียบเทียบอีกทางหนึ่ง
การติดตามในครั้งนี้เราจะได้ข้อมูลว่า กวางผา 1 ตัว ใช้พื้นที่การหากินในรอบเดือนเท่าไหร่ ซึ่งจะไปสอดรับกับจำนวนพื้นที่ กับจำนวนกวางผา ที่พอเหมาะ ซึ่งส่วนนี้มีความสำคัญมาก เพราะในอนาคตหากเราจะปล่อยกวางผาในพื้นที่อื่นๆ อีก ก็จะสามารถคำนวณได้ก่อนว่า พื้นที่นั้นรองรับกวางผาได้มากน้อยแค่ไหน จะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง
ส่วนด้านพฤติกรรมการปรับตัว ในวิธีการที่เราดำเนินการมา วิธีการไหนถูก วิธีการไหนผิด หรือจะมีข้อแก้ไขอย่างไร ก็จะได้เป็นบทเรียนสำหรับการปล่อยกวางผาในครั้งต่อไป เพราะในอนาคตเราก็ต้องใช้วิธีการเดียวกันนี้อีก ด้านการคัดเลือกพันธุกรรมก็ต้องมีการพิจารณาให้ดีก่อน หากเลือกพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกับกวางผาในพื้นที่ที่จะไปปล่อย ก็จะไม่ใช่การแก้ปัญหา ยิ่งหากเป็นพื้นที่ที่มีกวางผาจำนวนน้อยอยู่แล้ว ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากขึ้นไปอีก
และหากพื้นที่ไหนที่กวางผาสูญพันธุ์ไปแล้ว แล้วเราจะนำกวางผากลับไปปล่อยอีก ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ดังนั้นการมีข้อมูลที่ครบถ้วนครอบคลุมและการจัดการสัตว์ป่าอย่างถูกวิธี จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าในอนาคต
.
.
ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน
นอกจากการปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติ และการติดตามเพื่อการศึกษาวิจัยแล้ว ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวเองก็มีเรื่องการดูแลจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปกป้อง การจัดการแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ตลอดจนดูแลเรื่องความปลอดภัยของกวางผาในธรรมชาติ ตลอดจนสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้ด้วย
สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องของงานประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับชุมชนโดยรอบ และให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าความสำคัญของกวางผา และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์
ในขณะเดียวกันสาธารณะชนคนไทยทุกคนก็เป็นเจ้าของธรรมชาติ เป็นเจ้าของกวางผาร่วมกัน ก็สามารถมีส่วนในการที่จะรับรู้ข้อมูล และมีส่วนในการดูแล
ไม่ว่าจะด้วยการสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า หรือเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ด้วยการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องของสถานการณ์ดอยหลวงเชียงดาวผ่านทางสื่อต่างๆ อาทิ โซเชียลมีเดียของหน่วยงาน
ซึ่งนอกจากจะเป็นกำลังใจให้กับทีมเจ้าหน้าที่แล้ว ก็ยังสามารถดูได้ว่าเราพอจะมีช่องทางในการสนับสนุนการทำงานอย่างไรได้บ้าง
ผู้เขียน
ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส