สรุปโครงการ รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร No Nature No Future

สรุปโครงการ รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร No Nature No Future

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยการระบาดของโควิด-19 ทำให้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร งดจัดกิจกรรมรำลึก สืบ นาคะเสถียร ไม่ว่าจะเป็นภาคป่าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หรือภาคเมืองที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คงเหลือไว้เพียงงานสื่อสารออนไลน์เพียงกิจกรรมเดียว

แม้จะไม่ได้พบกัน แต่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังคงทำหน้าที่ขององค์กรอนุรักษ์อยู่อย่างสืบเนื่อง ผ่านงานเฝ้าระวังติดตามโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่าที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่รอจ่อคิวอนุมัติเกือบ 100 โครงการ

รวมถึงงานอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นพญาแร้ง กวางผา เสือปลา ทำงานร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานทางสิ่งแวดล้อมทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง

ในด้านการสื่อสาร ยังคงรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ

ด้านงานในผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังคงทำงานร่วมกับชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐในการดูแลระบบนิเวศบนบกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โครงการพัฒนาธรรมชาติปลอดภัย โครงการเสริมศักยภาพชุมชนในการีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โครงการสร้างแนวร่วมดูแลพื้นที่กันชนห้วยขาแข้ง ฯลฯ

งานกองทุนผู้พิทักษ์ป่า ยังคงให้ความช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ มีกิจกรรมลงพื้นที่เยี่ยมเจ้าหน้าที่ตามหน่วยพิทักษ์ป่า จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมถึงซ่อมแซมหน่วยพิทักษ์ป่าที่ชำรุดทรุดโทรม

และที่สำคัญ สำหรับปีนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีภารกิจดำเนินการจัดงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร ในรูปแบบกิจกรรมอีกครั้ง โดยมีคอนเส็ปต์งาน No Nature No Future รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร โดยต้องการอธิบายถึงความสำคัญของระบบนิเวศทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต และส่งผลต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจ

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการระบาดของโควิด-19 ที่มีงานวิจัยอธิบายว่าต้นตอการแพร่เชื้อมาจากตลาดค้าสัตว์ป่า หรือประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังเกิดขึ้นทุกภูมิภาคของโลก ทั้งไฟป่า ภัยแล้ง คลื่นความร้อน การละลายของธารน้ำแข็ง ตลอดจนความผิดเพี้ยนของฤดูกาล สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้สภาพสังคมและเศรษฐกิจได้รับความเสียหายตามมา และสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการสูญเสียพื้นที่ป่าและแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก และในทางตรงกันข้าม ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ คือ รากฐานสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพวกเราโดยตรงเช่นกัน

อ่านสรุปรายงานฉบับเต็ม