สืบ นาคะเสถียร กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า : สืบ นาคะเสถียรเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิภาพสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าระดับล่างเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ หรือแม้กระทั่งลูกจ้างชั่วคราวรายวันก็ตาม เพราะเขารู้ว่าคนในตำแหน่งลูกจ้างระดับล่างนี่ล่ะ คือ คนที่ต้องทำงานรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนัก
เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เป็นผู้ที่ต้องออกลาดตระเวนตามป่าเขาที่ทุรกันดาร เปรียบไปแล้วก็ไม่ต่างจากทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน หรืออาสาสมัครทหารพรานแต่อย่างใด ต้องอยู่อย่างยากลำบาก ทั้งต้องเสี่ยงภัยจากบุคคลผู้หวังผลประโยชน์จากทรัพยากร หากบุคคลเหล่านี้ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังต้องลำบากในการแบกรับภาระต่างๆ นั่นหมายความว่าทุกๆ ครั้งที่ต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่เหล่านั้นต้องจากครอบครัวไป ด้วยความรู้สึกเป็นห่วงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ขวัญและกำลังใจในการทำงานก็ลดลง ซึ่งจุดนี้เป็นช่องว่างที่ผู้แสวงหาผลประโยชน์จากธรรมชาติเข้ามาทำให้ความตั้งใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่เบี่ยงเบนไป
สืบ นาคะเสถียร ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ เห็นได้จากการที่เขาพยายามจัดตั้งกองทุนขึ้นเพื่อช่วยเหลือพนักงานของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในสมัยที่เป็นหัวหน้า โดยการจัดดนตรี “คนรักป่า” ขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2533 เพื่อนำเงินมาตัดชุดลาดตระเวนให้ลูกน้อง หรือการทำประกันชีวิตให้กับพนักงานของเขตฯ ทุกคน ทุกพื้นที่ไม่เฉพาะแต่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเท่านั้น
เพราะบุคคลผู้รักษาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่านั้น มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคคลเหล่านี้ว่า ต่อไปทุกๆ ครั้งที่พวกเขาต้องออกไปทำหน้าที่ หสกเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้นกับตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เขาจะมั่นใจได้ว่าลูกเมียและครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังจะไม่ได้รับความเดือดร้อนมากนัก
กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
สิ่งสำคัญของการจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาก็คือ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะต้องไม่ทำหน้าที่แทน และจะไม่ทำงานของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หากแต่กองทุนนี้มุ่งช่วยเหลือในส่วนที่ทางราชการไม่สามารถทำได้ และขณะเดียวกันมูลนิธิฯ เองจะต้องมุ่งผลักดันในสองส่วน คือ ผลักดันให้ส่วนราชการเข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้ให้มากขึ้น และผลักดันให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมอุทยานฯ หรือฝ่ายตำรวจ เร่งจัดการกับผู้กระทำความผิด และผู้อยู่เบื้องหลังโดยเร็ว
ถึงที่สุดเป้าหมายของกองทุนคือ การทำให้กองทุนนี้หมดความจำเป็นไปในที่สุด ซึ่งก็คือ วันที่ไม่มีการลักลอบทำร้ายผู้รักษาป่าอีกต่อไป
ตลอดระยะเวลาของการก่อตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า (ปีแรกของการก่อตั้งองค์กร พ.ศ. 2533) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บไม่น้อยกว่า 70 ราย ช่วยเหลือครอบครัวผู้พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิตกว่า 70 ราย และช่วยเหลือการศึกษาแก่บุตร – ธิดาของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิต จนถึงระดับปริญญาตรีไม่น้อยกว่า 50 ราย รวมให้ความช่วยเหลือแล้วไม่ต่ำกว่า 6,000,000 บาท
วัตถุประสงค์กองทุน
1. เสริมสร้างขวัญ และกำลังใจในการทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่ และพนักงานรักษาป่า
2. เผยแพร่ชีวิตการปฏิบัติหน้าที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้ปรากฎต่อสาธารณชน
3. ช่วยเหลือครอบครัว หรือบุตร – ธิดา ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่
บุคคลที่อยู่ในขอบเขตการได้รับการพิจารณาการช่วยเหลือจากกองทุนตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ พนักงานจ้างเหมา และพนักงานราชการในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลูกจ้างประจำในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ข้าราชการในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตวืป่าและพันธุ์พืช
ลักษณะของอุบัติภัยที่อยู่ในขอบเขตการพิจารณา
1. เป็นอุบัติภัยที่เกิดจากความมุ่งร้ายของผู้แสวงหาผลประโยชน์จากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือได้รับอันตรายจากการปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า เช่น ถูกสัตว์ป่าทำร้าย จมน้ำขณะปฏิบัติหน้าที่
2. เป็นอุบัติภัยที่ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งส่วนตัว
3. เป็นอุบัติภัยที่มิได้เกิดจากอุบัติเหตุหรือการกระทำอันไม่ได้เจตนา
การช่วยเหลือ
1. หากเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะพิจารณาช่วยเหลือทายาททุกคนของผู้ตายโดยให้ทุนการศึกษาเดือนละ 1,000 บาท ปีละ 12,000 บาท จนกว่าจะจบการศึกษาระดับริญญาตรี และช่วยเหลือค่าทำศพประมาณรายละ 20,000 บาท
2. หากบาดเจ็บ พิการ ทุพพลภาพ จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อีกต่อไป มูลนิธิฯ จะพิจารณาให้การช่วยเหลือ ในวงเงินประมาณ 20,000 บาท
3. หากได้รับบาดเจ็บ แต่สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ มูลนิธิฯ จะพิจารณาช่วยเหลือเป็นค่าทำขวัญในวงเงินไม่เกิน 10,000 บาท หรือช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดในกรณีที่ไม่สามารถเบิกเงินจากทางราชการได้ ช่วยค่าทำขวัญและรักษาค่าพยายามตามกรณี
ผู้นำเสนอเรื่อง
1. กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
2. หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ รวมถึงครอบครัวของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ประสบอุบัติภัย
ผู้พิจารณา
หากเป็นกรณีปกติ สำนักงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะนำเสนอประธานคณะกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พิจารณาอนุมัติ ยกเว้นกรณีนอกเหนือจากกติกาที่กำหนดไว้ให้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิสืบฯ พิจารณาอนุมัติ
สนับสนุนกองทุนผู้พิทักษ์ป่า
ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส รัตนาธิเบศร์ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 984-5-94474-4 ชื่อบัญชีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบางบัว บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 053-2-38652-4 ชื่อบัญชี มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ธนาคารกสิกรไทย สำนักพหลโยธิน บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 099-2-68730-4 ชื่อบัญชีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ใบเสร็จจากการบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน – หากต้องการใบเสร็จ กรุณาส่งหลักฐานการโอนเงิน พร้อมทั้ง ชื่อ–ที่อยู่ ในการออกใบเสร็จมาที่ Fax : 02-580-4382 หรืออีเมล์ snf@seub.or.th โทรสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-580-4381 ฝ่ายงานกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า