สิ่งสำคัญของการจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาก็คือ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะต้องไม่ทำหน้าที่แทน และจะไม่ทำงานของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หากแต่กองทุนนี้มุ่งช่วยเหลือในส่วนที่ทางราชการไม่สามารถทำได้ และขณะเดียวกันมูลนิธิฯ เองจะต้องมุ่งผลักดันในสองส่วน คือ ผลักดันให้ส่วนราชการเข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้ให้มากขึ้น และผลักดันให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมอุทยานฯ หรือฝ่ายตำรวจ เร่งจัดการกับผู้กระทำความผิด และผู้อยู่เบื้องหลังโดยเร็ว
“ถึงที่สุดเป้าหมายของกองทุนคือ การทำให้กองทุนนี้หมดความจำเป็นไปในที่สุด ซึ่งก็คือ วันที่ไม่มีการลักลอบทำร้ายผู้รักษาป่าอีกต่อไป”
ความเป็นมา
สืบ นาคะเสถียร กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า : สืบ นาคะเสถียรเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิภาพสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าระดับล่างเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ หรือแม้กระทั่งลูกจ้างชั่วคราวรายวันก็ตาม เพราะเขารู้ว่าคนในตำแหน่งลูกจ้างระดับล่างนี่ล่ะ คือ คนที่ต้องทำงานรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนัก
เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เป็นผู้ที่ต้องออกลาดตระเวนตามป่าเขาที่ทุรกันดาร เปรียบไปแล้วก็ไม่ต่างจากทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน หรืออาสาสมัครทหารพรานแต่อย่างใด ทั้งต้องเสี่ยงภัยจากบุคคลผู้หวังผลประโยชน์จากทรัพยากร หากบุคคลเหล่านี้ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังต้องลำบากในการแบกรับภาระต่างๆ นั่นหมายความว่าทุกๆ ครั้งที่ต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่เหล่านั้นต้องจากครอบครัวไป ด้วยความรู้สึกเป็นห่วงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ขวัญและกำลังใจในการทำงานก็ลดลง ซึ่งจุดนี้เป็นช่องว่างที่ผู้แสวงหาผลประโยชน์จากธรรมชาติเข้ามาทำให้ความตั้งใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่เบี่ยงเบนไป
สืบ นาคะเสถียร ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ เห็นได้จากการที่เขาพยายามจัดตั้งกองทุนขึ้นเพื่อช่วยเหลือพนักงานของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในสมัยที่เป็นหัวหน้า โดยการจัดดนตรี “คนรักป่า” ขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2533 เพื่อนำเงินมาตัดชุดลาดตระเวนให้ลูกน้อง หรือการทำประกันชีวิตให้กับพนักงานของเขตฯ ทุกคน ทุกพื้นที่ไม่เฉพาะแต่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเท่านั้น
เพราะบุคคลผู้รักษาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่านั้น มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคคลเหล่านี้ว่า ต่อไปทุกๆ ครั้งที่พวกเขาต้องออกไปทำหน้าที่ หากเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้นกับตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เขาจะมั่นใจได้ว่าลูกเมียและครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังจะไม่ได้รับความเดือดร้อนมากนัก
วัตถุประสงค์กองทุน
1. เสริมสร้างขวัญ และกำลังใจในการทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่ และพนักงานรักษาป่า
2. เผยแพร่ชีวิตการปฏิบัติหน้าที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้ปรากฎต่อสาธารณชน
3. ช่วยเหลือครอบครัว หรือบุตร – ธิดา ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่
บุคคลที่อยู่ในขอบเขตการได้รับการพิจารณาการช่วยเหลือจากกองทุน
1. พนักงานจ้างเหมา และพนักงานราชการในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
2. ลูกจ้างประจำในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
3. ข้าราชการในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตวืป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ลักษณะของอุบัติภัยที่อยู่ในขอบเขตของการพิจารณา
1. เป็นอุบัติภัยที่เกิดจากความมุ่งร้ายของผู้แสวงหาผลประโยชน์จากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือได้รับอันตรายจากการปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า เช่น ถูกสัตว์ป่าทำร้าย จมน้ำขณะปฏิบัติหน้าที่
2. เป็นอุบัติภัยที่ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งส่วนตัว
3. เป็นอุบัติภัยที่มิได้เกิดจากอุบัติเหตุหรือการกระทำอันไม่ได้เจตนา
การช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่า
1 ผู้พิทักษ์ป่าประสบเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวน
เสียชีวิต จำนวนเงิน* | 30,000 บาท | |
เจ็บสาหัส พิการ ทุพพลภาพ | จ่ายตามจริงไม่เกิน | 20,000 บาท |
เจ็บ/ป่วย | จ่ายตามจริงไม่เกิน | 10,000 บาท |
2 ผู้พิทักษ์ป่าประสบเหตุจากการทำงานปกติ
เสียชีวิต จำนวนเงิน | 10,000 บาท | |
เจ็บสาหัส พิการ ทุพพลภาพ | จ่ายตามจริงไม่เกิน | 10,000 บาท |
เจ็บ/ป่วย | จ่ายตามจริงไม่เกิน | 5,000 บาท |
*หมายเหตุ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะพิจารณาช่วยเหลือทายาททุกคนของผู้ตาย โดยให้ทุนการศึกษาเดือนละ 1,000 บาท / ปีละ 12,000 บาท จนกว่าจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี
การให้ความช่วยเหลือถึงปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลากว่า 29 ปี (2533- ก.พ. 2563) กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้การสนับสนุน และช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่า ดังนี้
ช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บ 117 ราย (1,159,000 บาท)
ช่วยเหลือครอบครัวผู้พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิต 130 ราย ( 1,835,000 บาท)
รวม 247 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,994,000 บาท
นอกจากนี้ ปัจจุบันมูลนิธิฯยังให้การช่วยเหลือการศึกษา แก่บุตร-ธิดา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งสิ้น 62 ราย (อนุบาล-ปริญญาตรี) โดยการโอนเงินผ่านธนาคารเดือนละ 1,000 บาท จนกว่าจะจบปริญญาตรี ซึ่งปัจจุบัน มีบุตรผู้พิทักษ์ป่าที่กำลังศึกษาอยู่อีก 8 ราย
การขอรับความช่วยเหลือจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เป็นผู้เสนอเรื่องมายังมูลนิธิฯ โดยแนบเอกสารส่งมาให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อเป็นหลักฐาน ประกอบด้วย
1. บันทึกข้อความจากหัวหน้าฯ เรียนถึง เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
2. ภาพประกอบ
3. สำเนาสัญญาจ้างพนักงานราชการ / บันทึกข้อตกลงการทำงาน
4. สำเนาทะเบียนบ้าน
5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
6. สำเนาสมุดบัญชี (เซ็นต์สำเนาถูกต้อง และระบุเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้)
7. ใบรับรองแพทย์
8. รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง
กรณีเสียชีวิตให้แนบเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
9. สำเนาทะเบียนสมรส
10. สำเนาใบมรณะบัตรของผู้พิทักษ์ป่า
11. รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ของตำรวจ
12. รายงานการชันสูตรศพ
13. สำเนาสูติบัตรของบุตร
ผู้พิจารณา
หากเป็นกรณีปกติ สำนักงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะนำเสนอประธานคณะกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พิจารณาอนุมัติ ยกเว้นกรณีนอกเหนือจากกติกาที่กำหนดไว้ให้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิสืบฯ พิจารณาอนุมัติ
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับผู้พิทักษ์ป่าได้ที่ www.seub.or.th/forestranger
ช่องทางการติดต่อ | โทร 02-580-4381 ต่อ เจ้าหน้าที่ประสานงานผู้พิทักษ์ป่า |
งานผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 140 ถ.ติวานนท์ ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบรี 11000 |