ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2518 คนภาคใต้ยังไม่ลืมอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต หลายคนสูญเสียญาติพี่น้อง บ้านเรือน และเรือกสวนไร่นา หลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว แต่ก็ยังคงกัดฟันต่อสู้ชีวิต พยายามสร้างเนื้อสร้างตัวเริ่มต้นชีวิตใหม่กันอีกครั้ง แต่ใครจะคาดคิดว่าอีกสิบกว่าปีต่อมา สิ่งที่พวกเขาอุตสาห์สร้างสมอดออมกันมา จะพินาศยับเยินซ้ำอีกเพียงชั่วคืนเดียว
อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 40 ปี เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2531 ฝนได้เทกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตาตลอดวันตลอดคืนในบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย
น้ำป่าได้โถมกระหน่ำลงมาจากภูเขาอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง……
แค่ชั่วระยะเวลาเพียงสองวัน เกิดน้ำท่วมฉับพลันครอบคลุม 9 จังหวัดภาคใต้ คือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ผืนแผ่นดินทั้งเก้าจังหวัดกลายเป็นดินแดนที่มีแต่น้ำจรดฟ้า… ไร้แผ่นดิน ไร้บ้านเรือนและเรือกสวนไร่นา
คืนวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี น้ำป่าที่ส่งเสียงคำรามครืนโครมอย่างน่าสยดสยองตลอดทั้งคืน ก็พัดพาเอาท่อนซุงนับหมื่นมุ่งหน้าเข้าถล่มอำเภอบ้านนาสารจนวอดวายป่นปี้ไป เกือบหมดทั้งอำเภอ และเมื่อน้ำลดลง สิ่งที่เหลืออยู่คืนทะเลโคลนและท่อนซุงกองมหึมาที่นอนสงบนิ่งไร้พิษสงอยู่ แทนที่บริเวณตัวอำเภอและบ้านเรือนซึ่งถูกทำลาย หายไปพร้อมกับสายน้ำ เช่นเดียวกับที่ตำบลกระทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านก็ถูกกวาดเรียบหายไปจากแผนที่ประเทศไทย
น้ำป่าที่โถมทะลักพุ่งลงมาจากภูเขาได้เปลี่ยนภูมิประเทศบริเวณนั้นให้เป็นทะเลโคลนสุดลูกหูลูกตา และภายใต้กองไม้ซุงขนาดมหึมาคือซากศพของผู้เสียชีวิตนับร้อยๆ คน บ้างถูกไม้ซุงพุ่งใส่จนร่างแหลกเหลว บ้างจมน้ำหายวับไปต่อหน้าต่อตาญาติพี่น้อง เพราะไม่อาจสู้แรงกระแสน้ำที่ไหลอย่างบ้าคลั่ง
ไม้ซุงดูเหมือนเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของการเกิดสภาวะน้ำท่วมอย่างฉับพลันไม่มีใครปฏิเสธว่านี่คือผลพวงจากการตัดไม้ทำลาย ป่าของมนุษย์ ทั้งโดยผิดกฎหมายและใช้กฎหมายสัมปทานมาเป็นเงื่อนไขบังหน้าในการตักตวงเอาผลประโยขน์จากป่า
จากสถิติพื้นที่ป่าไม้ของไทยที่มีการบันทึกไว้ในปี พ.ศ. 2504 พบว่าขณะนั้นป่าไม้ทั่วประเทศมีอยู่ถึง 273,628 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณร้อยละ 53 ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด 513,115 ตารางกิโลเมตร และเมื่อไล่ดูปีต่อๆ มาก็ปรากฎว่าพื้นที่ป่าได้ลดน้อยถอยลงตามปีที่เพิ่มขึ้น
2516 พื้นที่ป่าไม้เหลือ 221,707 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 43.21
2521 พื้นที่ป่าไม้เหลือ 175,434 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 34.15
2528 พื้นที่ป่าไม้เหลือ 149,053 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 29.05
เพียงชั่วระยะเวลา 24 ปี ป่าไม้ได้ลดลงเฉลี่ยปีละประมาณ 5,190 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 3 ล้าน 2 แสนไร่ต่อปี นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ป่าตามหลักการอนุรักษ์ ที่จะต้องมีไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด เพื่อคงไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ
ดังนั้น จึงเกิดคำถามตามมาว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ป่าจำนวนมากถูกทำลายลง ทั้งๆ ที่รัฐได้มีการออกกฎหมายไว้ควบคุม มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเอาใจใส่ มีการวางหลักการสัมปทานทำไม้ที่มุ่งนำเอาทรัพยากรธรรมชาติด้านนี้มาใช้ให้ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ตลอดจนการวางนโยบายป่าไม้ของชาติที่จะอนุรักษ์พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ให้ดำรงอยู่ แต่ดูเหมือนว่ามาตรการที่กล่าวมาไม่เพียงแต่จะไม่สัมฤทธิ์ผลทว่ายังกลายเป็น ต้นเหตุแห่งการทำลายป่าอย่างขนานใหญ่อีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาสัมปทานป่าไม้ที่กำลังได้รับความสนใจและมีเสียงเรียกร้องให้ยก เลิกอยู่ในขณะนี้
บทเริ่มต้นของกรมป่าไม้และสัมปทานป่า “มีกรมป่าไม้ ก็มีสัมปทานป่า”
ประโยคบอกเล่าสั้นๆ ที่มีความหมายแฝงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ด้านป่าไม้กับกิจกรรมการทำไม้ที่มีความเป็นมา เกือบจะพร้อมกัน… ในอดีตก่อนที่จะมีการตั้งกรมป่าไม้ การทำไม้และการใช้พืชผลจากป่าในประเทศไทยมิได้อยู่ในความควบคุมของรัฐบาล ราษฎรสามารถตัดฟันเอาไปใช้สอยหรือทำการค้าได้โดยเสรี เว้นแต่ในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศซึ่งเป็นแหล่งที่มีไม้สักอุดมสมบูรณ์ เจ้าผู้ครองนครเขตแคว้นต่างๆ ได้ยึดเอาป่าไม้สักในท้องที่ของตนเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ผู้ใดประสงค์จะทำไม้สักในป่าท้องที่ใด ต้องขอรับอนุญาตจากเจ้าผู้ครองนครนั้น โดยยอมเสียเงินให้ตามจำนวนต้นสักที่ตัดฟันลง ซึ่งเรียกว่า “ค่าตอไม้”
การถือสิทธิ์ในป่าของเจ้าผู้ครองนครได้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเจ้าของป่าส่วนมากเห็นแก่ได้ เปิดอนุญาตให้มีการทำไม้อย่างไม่ยุติธรรม จึงเกิดกรณีพิพาทระหว่างผู้ขออนุญาต ผู้รับอนุญาตและเจ้าผู้ครองนครซึ่งเป็นเจ้าของป่าอยู่เนื่องๆ ทำให้รัฐบาลในกรุงเทพฯ จำเป็นต้องเข้าแทรกแซงแก้ไข ด้วยการออกพระราชบัญญัติสำหรับผู้รักษาเมือง พ.ศ. 2417 มาใช้ แต่ยังคงให้สิทธิ์ถือครองแก่เจ้าผู้ครองนครเช่นเดิม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2426 เมื่อรัฐบาลทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ ก็ได้มีบริษัทต่างประเทศเข้ามาประกอบอาชีพในการทำไม้กันมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นผลร้ายแรงต่อมา เนื่องจากเมื่อมีผู้ต้องการทำไม้มากขึ้นก็ต้องแก่งแย่งกันเพื่อจะได้รับอนุญาต ต่างฝ่ายต่างให้เงินกินเปล่าเป็นจำนวนมากๆ แก่เจ้าผู้ครองนครเพื่อจะได้สิทธิในการทำไม้ ทำให้บรรดาผู้ขอทำไม้ได้รับความเดือดร้อน
นอกจากนั้นยังปรากฎว่าการเก็บเงินค่าตอไม้ได้กระทำกันอย่างหละหลวม รัฐบาลจึงพิจารณาเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดการควบคุมการทำไม้ให้รัดกุมยิ่ง ขึ้น ดังนั้นในปี พ.ศ. 2436 รัฐบาลจึงยืมตัวนายเอช ชเลค ชาวอังกฤษ ผู้ชำนาญการป่าไม้ของพม่ามาเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ช่วยวางแผนการจัดการป่าไม้ของไทย ซึ่งนายชเลค ได้สำรวจและชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องอันเนื่องมาจากสาเหตุ 2 ประการ คือ ประการแรก การทำป่าไม้ทั้งหมดอยู่ในความครอบครองของเจ้านายเจ้าของท้องที่ ทำให้เกิดการเรียกเงินกินเปล่าตามอำเภอใจ และประการที่สอง การทำป่าไม้เท่าที่เป็นอยู่ยังไม่อยู่ในระเบียบอันถูกต้อง คือ ขาดหลักการเกี่ยวกับการคุ้มครองรักษาป่าเพื่อที่ป่าไม้จะสามารถอำนวยผลได้ อย่างถาวร นั่นก็คือ ได้มีการทำไม้ในป่าไม้สักจนเกินกำลังของป่าไม้มาก ซึ่งเป็นการผิดหลักการของวิชาการป่าไม้ที่ถือว่า “ป่าไม้ที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นเสมือนต้นทุนซึ่งเป็นของประเทศ และปริมาณเนื้อไม้ที่งอกเงยขึ้นทุกปีนั้นเป็นดอกเบี้ยที่เราอาจจะนำออกใช้ สอยได้เป็นรายปี ต้นทุนที่มีอยู่ไม่สมควรไปแตะต้องเป็นอันขาด คงใช้แต่ดอกเบี้ยเท่านั้น มิเช่นนั้นแล้ว ป่าไม้ที่มีอยู่ก็จะไม่สามารถอำนวยประโยชน์อย่างถาวรได้ตลอดไป”
นายชเลค ได้เสนอวิธีแก้ไขไว้หลายประการ แต่ที่สำคัญก็คือ การชี้ให้เห็นว่าป่าไม้เป็นเสมือนต้นทุนซึ่งเป็นของประชาชาติโดยส่วนรวม จึงเป็นสิ่งที่ควรคุ้มครองรักษาไว้และจัดการให้อำนวยประโยชน์แก่รัฐและประชาชนอย่างสม่ำเสมอตลอดไป ไม่ควรปล่อยให้อยู่ในมือของเอกชนคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้รับรายงานดังกล่าวแล้ว จึงพิจารณาเห็นชอบและนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งทรงมีพระราชดำริเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชหัตเลขา ที่ 62/……. ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2439 ทรงราชการจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนากรมป่าไม้ พร้อมๆ กับการจัดการป่าไม้ในประเทศไทยก็เริ่มดำเนินการโดยรัฐบาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในระยะแรกเป็นการทำไม้สักแต่อย่างเดียว จนมาในสมัยหลังเมื่อประชาชนมีความต้องการไม้มากขึ้น จึงเปิดให้มีการทำไม้กระยาเลย แต่ยังเป็นการทำไม้กันอย่างไม่มีโครงการ จนเมื่อปี พ.ศ. 2496 ก็เริ่มมีการวางแผนการทำสัมปทานป่าไม้ครั้งแรกขึ้นในเมืองไทย โดยเป็นโครงการชั่วคราว อนุญาตให้ทำปีละแปลง ต่อมาขยายเวลาอนุญาตให้ผูกขาดทำ 3 ปี แต่ปรากฎว่าผู้ทำไม้รายย่อยเห็นแก่รายได้ส่วนตัว ไม่ได้เอาใจใส่ดูแลป่า ทำให้ป่าถูกทำลายเสื่อมโทรม ดังนั้นในปี พ.ศ. 2509 จึงมีการเสนอให้วางโครงการทำไม้ในระยะยาว โดยกำหนดอายุสัมปทานเต็มรอบตัดฟันเป็นระยะเวลา 30 ปี ทั้งนี้ให้เหตุผลว่า เพื่อควบคุมการทำไม้ให้เป็นไปโดยสะดวก เนื่องจากป่าหนึ่งๆ มีผู้ทำไม้เพียงบริษัทเดียว การทำไม้ก็ให้ทำเป็นแปลง แปลงละปี รวมเป็น 30 แปลง มีขอบเขตป่าไม้ที่ให้ทำไม้เป็นที่แน่นอน
เพื่อให้ผู้รับสัมปทานมีโอกาสทำไม้เป็นเวลานาน ซึ่งถือเป็นอาชีพที่ยั่งยืน จะได้กล้าลงทุนในการป้องกันรักษาป่าที่ตนได้รับสัมปทาน ตลอดจนทุนปลูกบำรุงป่าตามหลักวิชาการที่เจ้าหน้าที่จะได้กำหนดและให้คำแนะนำ
เพื่อให้ผู้รับสัมปทานเป็นกำลังในการป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เนื่องจากเห็นว่าป่านั้นๆ เป็นทรัพย์สมบัติอันจะยังประโยชน์แก่ตนเองและลูกหลานต่อไป และเมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับความร่วมมือในเรื่องนี้แล้ว ย่อมจะบังเกิดผลในด้านการป้องกันรักษาป่าได้ดียิ่งขึ้น
รัฐบาลสามารถกำหนดเงื่อนไขและวิธีการให้ผู้รับสัมปทานทำการปลูกบำรุงป่าตามความประสงค์ของ ทางราชการได้ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบางบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินได้เป็นอันมาก
ในที่สุดวันที่ 19 พฤศจิกายน 2511 รัฐบาลจึงมีมติเห็นชอบกับหลักการดังกล่าว กำหนดให้ผู้ประกอบการและประกอบอาชีพเกี่ยวกับป่าไม้ และราษฎรแต่ละจังหวัดรวมตัวกันจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดขึ้น เรียกว่า “บริษัททำไม้ประจำจังหวัด” ซึ่งจะเป็นผู้รับสัมปทานทำไม้ในป่าโครงการที่อยู่ในท้องที่จังหวัดนั้นๆ
นอกจากนี้ยังให้อำนาจแก่บริษัททำไม้ในการดูแลรักษาป่า โดยแต่งตั้งให้กรรมการผู้จัดการบริษัททำไม้ประจำจังหวัดหรือผู้รับสัมปทาน และผู้จัดการฝ่ายป่าของบริษัทเป็นพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย มีอำนาจจับกุมผู้ผ่าฝืนกฎหมายป่าไม้ภายในเขตสัมปทานของตนได้ ต่อมาได้มีมติของคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้กำหนดให้
(1) ผู้รับสัมปทานจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าเส้นทางเข้าสู่ป่าสัมปทาน เพื่อตรวจบุคคลและยานพาหนะอย่างเข้มงวดกวดขัน โดยต้องมีด่านกั้นเส้นทาง
(2) ผู้รับสัมปทานทำลายเส้นทางชักลากไม้ที่เลิกใช้แล้วเสียให้สิ้น
(3) ผู้รับสัมปทานจัดเวรยาม สายตรวจลาดตระเวนในพื้นที่ป่าสัมปทาน เมื่อพบการกระทำผิดก็ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบโดยทันที และ
(4) หากทางราชการตรวจพบการกระทำผิดภายในเขตสัมปทานและปรากฎว่าผู้รับสัมปทานมิได้ปฏิบัติตามแนวข้อ 1 – 3 ก็ให้เจ้าหน้าที่เสนอเรื่องให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาเพิกถอนสัมปทานต่อไป
ใครคือผู้ถือสิทธิ์ในสัมปทาน
การทำสัมปทานป่าบกในบ้านเรามีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ สัมปทานป่าไม้สักและสัมปทานป่าไม้กระยาเลย โดยผู้มีสิทธิ์ในสัมปทานป่าไม้สักนั้น ได้แก่ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้หรือ ออป. ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดไว้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2500 สำหรับสัมปทานป่าไม้กระยาเลยส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของบริษัทป่าไม้ประจำจังหวัด ที่ก่อตั้งขึ้นตามนโยบาย และหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2511 เว้นแต่ป่าโครงการไม้กระยาเลยที่มีลักษณะเป็น 1) ป่าที่ล่อแหลมต่ออันตราย มีการบุกรุกลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอยู่เสมอ 2) ป่าต้นนำลำธาร และ 3) ป่าสาธิตที่จะอยู่ในความควบคุมดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ นอกจากนั้นมีรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน และองค์การของรัฐบางแห่งที่ได้รับสัมปทานทำไม้ด้วย
ปี พ.ศ. 2511 พื้นที่ป่าไม้ที่เป็นป่าสัมปทานมีรวมทั้งสิ้นประมาณ 230,000 ตารางกิโลเมตร แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 คณะรัฐมนตรีมีมติปิดป่าสัมปทานทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่สัมปทานทั้งหมด ทำให้พื้นที่สัมปทานถูกปิดไป 122,784 ตารางกิโลเมตร จนปี พ.ศ. 2527 รัฐบาลมีมติเปิดป่าสัมปทานเพื่อผ่อนคลายให้มีการทำไม้ได้อีกเป็นพื้นที่ 24,063 ตารางกิโลเมตร รวมแล้วเป็นพื้นที่ป่าสัมปทานทั้งสิ้น 130,815 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 25.5 ของพื้นที่ประเทศ ส่วนป่าที่เหลืออยู่ร้อยละ 3.5 ของประเทศถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (พื้นที่ที่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ และป่าต้นลำธาร ซึ่งไม่ซ้อนทับกับพื้นที่ป่าสัมปทานและไม่รวมพื้นที่ที่เป็นพื้นน้ำของ อุทยานแห่งชาติทางทะเลบางแห่ง)
จากตัวเลขล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2531 จากกองคุ้มครอง กรมป่าไม้ พบว่า มีการให้สัมปทานป่าไม้สักเป็นจำนวน 42 สัมปทาน (พื้นที่ซ้อนทับป่าโครงการไม้กระยาเลย) และสัมปทานไม้กระยาเลยรวม 274 สัมปทาน โดยมีบริษัทจังหวัดทำไม้ครอบครองมากที่สุด คือ 48 บริษัท ครอบครอง 218 สัมปทาน รองลงมา คือ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 29 สัมปทาน องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 8 สัมปทาน การรถไฟแห่งประเทศไทย 7 สัมปทาน บริษัทไม้อัดไทย จำกัด 7 สัมปทาน และอื่น ๆ (ดูรายละเอียดในตารางที่ 1)
สำหรับสัมปทานป่าเลนนั้น มีการให้สัมปทานระยะยาวเช่นกัน โดยมีอายุสัมปทาน 15 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2509 และ 6 กันยายน 2509 จากสถิติปัจจุบันของกองคุ้มครอง กรมป่าไม้ ระบุว่า มีบริษัทและเอกชนอื่น ๆ เป็นผู้รับสัมปทานป่าเลนจำนวน 249 สัมปทาน เป็นเนื้อที่ 1,451.40 ตารางกิโลเมตร
วนวัฒนวิธีแบบเลือกตัด หลักการทำไม้ในปัจจุบัน
หลังจากที่รัฐบาลมีมติให้สัมปทานระยะยาวแล้ว ก็ได้มีการจัดวางโครงการทำไม้ โดยการจัดการไม้สักใช้รอบตัดฟัน 30 ปี ด้วยการแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็น 10 ตอน ตอนละ 3 แปลง เปิดให้ทำไม้ปีละ 1 แปลง แล้วใช้วนวัฒนวิธี
ตารางที่ 1 สถิติผู้รับสัมปทานและจำนวนป่าสัมปทานทำไม้ทั่วราชอาณาจักร
สัมปทานไม้กระยาเลย | จำนวน (สัมปทาน) |
บริษัท (จังหวัด) ท่าไม้ จำกัด (48 บริษัท) | 218 |
องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ | 29 |
องค์การสงเคราะหห์ทหารผ่านศึก | 8 |
การรถไฟแห่งประเทศไทย | 7 |
บริษัทไม้อัดไทย (จำกัด) | 7 |
บริษัทศรีมหาราชา | 2 |
บริษัทสงเคราะห์สหายร่วมรบเกาหลี จำกัด | 2 |
เจ้าวัฒนา โชตนา | 1 |
รวม | 274 |
หมายเหตุ ปัจจุบันกำลังมีการเวนคืนสัมปทานบางแห่งอยู่
สัมปทานป่าไม้สัก | จำนวน (สัมปทาน) |
องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ | 36 |
องค์การสงเคราะหห์ทหารผ่านศึก | 3 |
บริษัทสงเคราะห์สหายร่วมรบเกาหลี จำกัด | 2 |
บรืษัทอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 จำกัด | 1 |
รวม | 42 |
ที่มา : กรมคุ้มครอง กรมป่าไม้
แบบเลือกตัด คือ ไม่ได้ทำการตัดไม้หมดทั้งแปลง แต่จะตัดไม้ที่โตได้ขนาดจำกัดบางส่วน อีกบางส่วนเหลือสงวนทิ้งไว้พร้อมกับไม้ที่ห้ามตัดฟัน อันได้แก่ ไม้โทน (ไม้ที่ขึ้นอยู่โดดเดี่ยวห่างจากกลุ่มไม้ชนิดเดียวกัน) ไม้สันเขา (ไม้ที่ขึ้นอยู่บนสันเขาหรือใกล้สันเขาที่จะโปรยปรายเมล็ดลงสองข้างไหล่เขาได้) และไม้เชื้อหรือแม่ไม้อีกด้วย ไม้ที่ได้ขนาดตัดฟันแต่เว้นไว้ไม่ตัด จะต้องเหลือไว้ 35 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนไม้สักที่เลือกตัดทั้งหมดในแต่ละแปลง เช่น มีไม้ที่ได้ขนาด 100 ต้น ต้องเหลือทิ้งไว้ไม่ตัด 35 ต้น ส่วนขนาดจำกัดของไม้สักที่เลือกตัดได้ต้องมีเส้นรอบวง 190 เซนติเมตร โดยวัดตรงบริเวณที่สูงจากพื้นดิน 130 เซนติเมตร
สำหรับการตัดไม้กระยาเลย มีพื้นที่แต่ละโครงการประมาณ 500 – 1,000 ตารางกิโลเมตร โดยแบ่งป่าโครงการออกเป็น 10 ตอน ตอนละ 3 แปลง ให้ทำไม้ปีละ 1 แปลง ด้วยการใช้วนวัฒนวิธีแบบเลือกตัดเช่นกัน แต่การกำหนดให้สงวนไม้กระยาเลยอื่นๆ (นอกจากไม้ยาง) ในแต่ละแปลงต้องเหลือไว้ 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนไม้ที่เลือกทั้งหมด ส่วนไม้ยางให้เหลือไว้ 50 เปอร์เซ็นต์ คือ ตัดต้นเว้นต้น
นอกจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ในปี พ.ศ. 2518 ได้มีการกำหนดให้หมายแนวเขตพื้นที่บางแห่งในป่าโครงการ ห้ามมิให้ทำการสำรวจคัดเลือกตีตราไม้ คือ ในบริเวณพื้นที่ที่เป็นต้นน้ำลำธาร พื้นที่ที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 30 องศาขึ้นไป และพื้นที่ที่อยู่ติดริมลำน้ำ ดังนั้น หลังจากที่มีการตัดฟัน ชักลากไม้ออกจากป่าสัมปทานแล้ว ป่าที่เหลืออยู่จะยังคงมีไม้ยืนต้นเหลืออยู่ หากแต่ไม่หนาแน่นดังเก่า ไม่ใช่สภาพป่าที่ถูกตัดฟันเหลือแต่ตอไม้ดังที่มักจะเข้าใจกันผิด ๆ
ส่วนการจัดการป่าชายเลน ได้ใช้วนวัฒนวิธีแบบตัดหมดในแนวสลับ กำหนดรอบหมุนเวียน 30 ปีและรอบตัดฟัน 15 ปี ป่าแต่ละหมวดแบ่งออกเป็น 15 แปลง ตัดฟัน เปิดให้ทำไม้ปีละแปลง โดยให้ตัดฟันไม้ออกเป็นแนวกว้าง 40 เมตร ตลอดแนวเว้นไว้ 1 แนวสลับกันไปทั้งหมวดตัดฟัน เมื่อตัดฟันออกแล้ว ผู้รับสัมปทานต้องทำการปลูกป่าในบริเวณที่ตัดฟันไม้ตามวิธีการที่กรมป่าไม้ กำหนด
จากระบบวิธีการทำไม้แบบเลือกตัดเช่นนี้ นักวิชาการป่าไม้มีความเห็นว่า เมื่อมีการตัดไม้ออกแล้วอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ จะไม่ทำให้ป่าสัมปทานนั้นเสื่อมโทรมลงและแทบไม่จำเป็นที่จะต้องมีการปลูกป่าขึ้นทดแทน เพราะไม้ที่เหลือยังไม่ได้ขนาดจะโตขึ้นทดแทนทันเมื่อถึงรอบตัดฟันครั้งต่อไป ส่วนไม้ที่สงวนไว้ไม่ตัดก็จะกลายเป็นแม่ไม้ ขยายแพร่พันธุ์ต่อไป แต่จากสภาพความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสาเหตุใดจะกล่าวต่อไป
ขั้นตอนและเงื่อนไขการทำไม้
ก่อนที่จะมีการให้สัมปทาน จะมีการวางโครงการโดยยึดถือแผนที่ระวางของกรมแผนที่ทหารมาตราส่วน 1:50,000 และภาพถ่ายทางอากาศเป็นบรรทัดฐาน จากนั้นส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจวางแนวเขตพื้นที่สัมปทาน โดยแต่ละโครงการมีพื้นที่ประมาณ 500 – 1,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนการอนุญาตให้สัมปทานเป็นมติของคณะรัฐมนตรีโดยอาศัยอำนาจตามพระราช บัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 63 เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติออกสัมปทานแก่ผู้ใดแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นผู้ลงนามในสัมปทานนั้น
ต่อมากรมป่าไม้จะกำหนดพื้นที่ภายในเขตสัมปทานออกเป็นแปลงๆ และทำบัญชีแสดงชนิดและจำนวนไม้ที่จะนำออกได้ในแปลงนั้นๆ โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการคัดเลือกไม้ที่จะตัดฟัน ตรวจแนวเขตพื้นที่ตอนที่คัดเลือกให้ตรงกับแผนที่โครงการ และไม้ที่จะทำการคัดเลือกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ คือ มีขนาดไม่ต่ำกว่าขนาดจำกัดที่กำหนดตามชนิดของไม้ อาทิ ไม้สักมีขนาดจำกัด 190 เซนติเมตร ไม้ยางมีขนาดเท่ากับ 250 เซนติเมตร เป็นต้น และไม้ที่ได้ขนาดจะไม่ตัดทุกต้น ต้องเหลือสงวนทิ้งไว้ตามจำนวนที่กำหนด แล้วทำเครื่องหมายกากบาทสีแดงลงบนลำต้น ส่วนไม้ที่เลือกตัดฟันให้ใช้ขวานถากบนต้นไม้แล้วเอาค้อนทุบลงไปตรงหน้าเขียงค้อน
ที่ทุบนั้นจะมีหมายเลขประจำตัวของเจ้าหน้าที่กำกับไว้ นอกจากนี้ระหว่างทำการคัดเลือกตีตราไม้เจ้าหน้าที่ต้องทำการนับจำนวนไม้ชั้น สอง (ไม้ที่จะโตขึ้นมาจนได้ขนาดตัดฟันในรอบต่อไป) ของตอนที่ทำการสำรวจ และให้ระบุไว้ในสมุดคัดเลือกไม้ด้วย ต่อมาจึงจัดทำรายงานตามแบบที่กำหนดพร้อมทั้งแผนที่สังเขปแสดงตำแหน่งไม้ เลือก และไม้สงวนกับแผนที่สังเขปแสดงภาพป่าให้ป่าไม้เขตทราบ ป่าไม้เขตจะจัดส่งเจ้าหน้าที่อีกชุดเข้าไปทำการตรวจสอบรับรองผลการปฏิบัติ งาน เมื่อตรวจผลเสร็จ ป่าไม้เขตจะส่งเจ้าหน้าที่ให้จัดทำบัญชีไม้เลือก โดยทำการแบ่งเฉลี่ยไม้ในตอนนั้นๆ ออกเป็น 3 แปลง แล้วส่งหลักฐานการสำรวจคัดเลือกไม้ให้กรมป่าไม้พิจารณาอนุมัติ
เมื่อถึงกำหนดทำไม้ ผู้รับสัมปทานก็จะตัดฟันไม้ตามบัญชีที่ได้รับอนุญาต แต่ก่อนที่จะตัดฟันผู้รับสัมปทานจะต้องชำระเงินค่าเปิดป่าเป็นรายปี เมื่อตัดฟันเสร็จ ป่าไม้เขตจะส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจวันและตีตราชักลาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดนี้ต้องเป็นคนละชุดกับผู้ทำการสำรวจคัดเลือกไม้ หลังจากประทับตราที่ท่อนไม้แล้ว ก็ให้ประทับตราที่ตอไม้ทุกตอด้วย การตีตราอนุญาตให้ชักลากต้องกระทำ ณ ที่ที่ไม้แต่ละต้นถูกตัดโค่นลงและยังคาตออยู่ ห้ามมิให้ตีบนต้นไม้ที่ยังยืนต้นอยู่หรือบนท่อนไม้ที่ชักลากออกมาห่างไกลจากตอเกิน 40 เมตร และเมื่อตีตราอนุญาตให้ชักลากแล้ว จะต้องวัดขนาดความยาว ความกว้างและรูปพรรณตำหนิของไม้ท่อนนั้นๆ ด้วย
เมื่อไม้ถูกชักลากออกจากป่ามารวมที่หมอนไม้เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องประทับตราเพื่อคำนวณค่าภาคหลวง โดยผู้รับสัมปทานต้องจ่ายชำระให้แล้วเสร็จก่อนนำไม้ออกจำหน่าย เป็นอันสิ้นสุดขั้นตอนการทำไม้
ต่อไปก็คือข้อกำหนดและเงื่อนไขสัมปทานเพิ่มเติมที่ผู้รับสัมปทานจะต้องปฏิบัติแม้จะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่ถ้าไม่กล่าวถึงแล้วก็จะทำให้การมองภาพกระบวนการทำสัมปทานป่าไม้ไม่ชัดเจน เนื่องจากการจะรู้ว่าผู้รับสัมปทานทำผิดข้อกำหนดหรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์การทำไม้และเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐได้วางไว้ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1. ผู้รับสัมปทานจะต้องชำระเงินค่าเปิดป่าอีกต่างหากจากเงินค่าภาคหลวงเป็นรายปี โดยกำหนดเป็นอัตราเหมารายตันตามชนิดไม้ที่ได้รับสัมปทาน เช่น ไม้ยาง มะค่าโมง ตะเคียนทอง และประดู่ ในอัตราต้นละ 100 บาท ไม้เต็ง รัง และไม้แดง อัตราต้นละ 35 บาท ไม้สยา หลุมพอ และไม้เคี่ยม อัตราต้นละ 50 บาท ส่วนไม้กระยาเลยชนิดอื่นๆ อัตราต้นละ 20 บาท เป็นต้น
2. ผู้รับสัมปทานต้องเข้าทำไม้ทุกชนิดตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้สำรวจคัดเลือกตีตราให้ตัดฟันในแปลงตัดฟันตามโครงการ
3. ผู้รับสัมปทานต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมรายต้นตามอัตราที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ออกประกาศกำหนดไว้ตามชนิดและจำนวนไม้ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้สำรวจตีตราให้ตัดฟัน
4. ผู้รับสัมปทานต้องชำระค่าภาคหลวงสำหรับไม้ที่ทำออกตามชนิดและอัตราที่กำหนด
5. ผู้รับสัมปทานต้องชำระเงินค่าใช้จ่ายในการรังวัดหมายแนวเขตป่า การจัดวางโครงการและการสำรวจคัดเลือกตีตราประจำต้นไม้เป็นเงินปีละ 10,000 บาท
6. ผู้รับสัมปทานต้องวางเงินประกันเพื่อเป็นหลักประกันในการที่จะต้องชำระเบี้ยปรับตามสัมปทานทำไม้ไว้เป็นเงิน 10,000 บาท
7. ผู้รับสัมปทานต้องจำหน่ายไม้ที่ทำออกจากป่าสัมปทานให้แก่บุคคลในท้องที่จังหวัด เป็นอันดับแรกในราคาพอสมควร
8. หากต่อไปภายหน้า ทางราชการจะเปลี่ยนแปลงในเรื่องป่าที่ให้สัมปทาน หรือแก้ไขความในสัมปทานประการใดก็ดี หรือจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการใด ๆ หรือบันทึกเพิ่มเติมใด ๆ ก็ดี ตลอดจนเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่กรมป่าไม้จะเรียกเก็บจากผู้รับสัมปทานก็ดี ผู้รับสัมปทานยินยอม ปฏิบัติตามที่ทางราชการสั่งทุกประการ
9. ผู้รับสัมปทานต้องดำเนินการปลูกบำรุงและดูแลรักษาป่าเพื่อให้ป่ามีสภาพสมบูรณ์ สามารถอำนวยผลได้สม่ำเสมอ โดยผู้รับสัมปทานใช้เครื่องมือสัมภาระอุปกรณ์ และต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น ตามวิธีการดังนี้
ก. การปลูกบำรุงป่า ทำการปลูกบำรุงป่าธรรมชาติภายในเขตป่าสัมปทาน และทำการปลูกสร้างสวนป่าเพิ่มเติมในที่ว่าง ตามแนวทางและวิธีการที่กรมป่าไม้กำหนด
ข. การดูแลรักษาป่า ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ดูแลรักษาป่าและป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าภายใน เขตสัมปทาน ตลอดจนดูแลรักษาป่าและธรรมชาติที่สวยงามตามกฎหมายว่าด้วยการสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่าและกฎหมายว่า ด้วยอุทยานแห่งชาติ ทำแนวป้องกันไฟป่าและกำจัดศัตรูพืชตามแนวทางและวิธีการที่กรมป่าไม้กำหนด โดยให้ผู้รับสัมปทานจัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำตามหลักวิชาการ ที่กล่าวไว้ในข้อ ก. และ ข.
10. ถ้าผู้รับสัมปทานไม่ดำเนินการตามข้อ 9 หรือดำเนินการไม่เป็นผลผู้ให้สัมปทานอาจรับดำเนินการปลูกบำรุงป่าเองทั้งหมด หรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้ แต่ผู้รับสัมปทานต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกบำรุงป่าตามที่ผู้ให้ สัมปทานจะแจ้งให้ทราบ
11. ถ้าผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขสัมปทานดังกล่าวในข้อ 1-10 ผู้ให้สัมปทานมีอำนาจที่จะสั่งพัก การทำไม้ตามสัมปทานแต่ขั้นหนึ่งขั้นใด หรือเพียงส่วนหนึ่งส่วนใด หรือสั่งเพิกถอนสัมปทานดังกล่าวได้
อนึ่ง มีข้อกำหนดในสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สัก ข้อที่ 7 กำหนดไว้ว่า “สัมปทานนี้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย กฎ และข้อบังคับทั้งปวงที่ประกาศใช้บังคับอยู่แล้วในขณะนี้ และที่จะได้ประกาศใช้บังคับต่อไปภายหน้า ผู้รับสัมปทานจะอ้างเอาข้อกำหนดหรือเงื่อนไขใด ๆ ในสัมปทานนี้เป็นข้อยกเว้นมิให้ต้องถูกบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับนั้น ๆ หรือจะอ้างเหตุที่ได้รับ หรือจะได้รับโทษตามกฎหมายมาเป็นเหตุไม่ต้องถูกบังคับตามสัมปทานนี้หาได้ไม่”
บทพิสูจน์ความล้มเหลว
เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์และวิธีการทำไม้ในป่าสัมปทานตามที่กล่าวแล้ว น่าจะเป็นผลให้ป่าสัมปทานหรือป่าเศรษฐกิจของประเทศคงอยู่ และอำนวยประโยชน์แก่รัฐและประชาชาติโดยส่วนรวมได้ตลอดไป แต่ข้อเท็จจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับปรากฏว่าพื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดลง โดยเฉลี่ยปีละ 3 ล้าน 2 แสนไร่ จากร้อยละ 53.3 ของพื้นที่ประเทศในปี พ.ศ. 2504 ลงมาเหลือร้อยละ 29 ในปี พ.ศ. 2528 และในระหว่างปี พ.ศ. 2524-2528 ประเทศไทยมีอัตราการทำลายป่าเป็นอันดับ 10 ของโลก
จากตัวเลขในปี พ.ศ. 2528 พื้นที่ป่าไม้ของประเทศเหลืออยู่ประมาณร้อยละ 29 ของพื้นที่ประเทศหรือประมาณ 149,053 ตารางกิโลเมตร แต่ปรากฎว่าพื้นที่สัมปทานทำไม้กระยาเลย (รวมพื้นที่ป่าสัมปทานไม้สักที่ซ้อนทับ) ที่กระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ มีพื้นที่รวมกันถึงร้อยละ 36.3 หรือประมาณ 186,317 ตารางกิโลเมตร (ดูตารางที่ 2) แสดงว่าพื้นที่ป่าสัมปทานบางส่วนหมดสภาพความเป็นป่าไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่เพิ่งจะผ่านการทำไม้ไปเพียงครึ่งรอบตัดฟันเท่านั้น (รอบตัดฟัน 30 ปี เริ่มให้ดำเนินการป่าสัมปทานประมาณปี พ.ศ.2515) และหากนำมาเทียบกับพื้นที่ป่าไม้ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ประเทศหรือประมาณ 149,053 ตารางกิโลเมตร ก็จะยิ่งชี้ชัดว่าพื้นที่ป่าสัมปทานได้ถูกทำลายลงไปเป็นจำนวนมาก
ตารางที่ 2 เปรียบเทียบพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ในปี พ.ศ. 2528 กับพื้นที่ป่าสัมปทานทำไม้กระยาเลย ในปี พ.ศ.2530
ภาค เหนือ (17 จังหวัด) |
ภาค ตะวันออก เฉียงเหนือ (17 จังหวัด) |
ภาค กลางและ ตะวันออก (25 จังหวัด) |
ภาค ใต้ (14 จังหวัด) |
รวม | เปอร์เซ็นต์ | |
พื้นที่ป่าไม้ | 84,126 | 24,224 | 25,218 | 15,485 | 149.053 | 29.0 |
พื้นที่ป่าสัมปทาน | 81,307 | 17,816 | 36,821 | 20,372 | 186,317 | 36.3 |
จากสถิติรายงานการป่าไม้ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2530 กรมป่าไม้
จากรายงานประจำปี พ.ศ. 2530 กรมป่าไม้
นอกจากนี้ จากกราฟบริเวณไม้ที่ได้รับอนุญาตให้ตัดฟันปี พ.ศ.2520 – 2529 (ตารางที่ 3) ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณไม้ที่อนุญาตให้ตัดฟันในช่วงระยะเวลา 9 ปี มีปริมาตรไม่ต่างไปจากกันเท่าไร ทั้ง ๆ ที่ในปี พ.ศ.2522 คณะรัฐมนตรีปิดป่าสัมปทานทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 324 ป่า ในจำนวนนี้เป็นป่าสัมปทานไม้สัก 36 ป่า จากทั้งหมด 43 ป่า และป่าสัมปทานไม้กระยาเลย 176 ป่าจากทั้งหมด 292 ป่า
แม้ว่าป่าสัมปทานถูกปิดไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนป่าทั้งหมด แต่ปริมาณไม้ที่ได้รับอนุญาตให้ตัดฟันออกจากป่าสัมปทานหลังจากนั้นมิได้ลดลงเป็นสัดส่วนเดียวกันกับปริมาณ ของป่าที่ถูกปิดไป แสดงว่าได้มีการทำไม้เกินกำลังผลิตของป่า
จากข้อมูลดังกล่าวไม่เพียงแต่จะบ่งบอกถึงข้อผิดพลาดของการจัดการป่าไม้ในบ้านเรา หากยังชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2528 ซึ่งกำหนดจะให้มีพื้นที่ป่าทั่วประเทศอย่างน้อยในอัตราร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ โดยแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็น 2 ประเภท คือ ป่าเพื่อการอนุรักษ์ 15 เปอร์เซ็นต์กับป่าเศรษฐกิจอีก 25 เปอร์เซ็นต์ แต่จากตัวเลขพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศในขณะนี้เหลืออยู่แค่ 29 เปอร์เซ็นต์ เป็นป่าสัมปทานเพื่อการผลิตถึงร้อยละ 25.5 ของประเทศ ที่เหลืออีก 3.5 ก็คือป่าอนุรักษ์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ทางราชการจะมีนโยบายส่งเสริมการปลูกป่า สร้างสวนป่าขึ้นทดแทนป่าธรรมชาติที่เสื่อมโทรมไป แต่ก็เป็นการปลูกเพื่อหวังผลทางด้านเศรษฐกิจมิได้เป็นการปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าธรรมชาติให้กลับคืนมา จากรายงานผลการปลูกป่าเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของกรมป่าไม้ รัฐวิสาหกิจและเอกชนปลูกป่าตามเงื่อนไขสัมปทาน ตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันรวมเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 6,335.54 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราการทำลายป่าธรรมชาติโดยเฉลี่ยปีละ 5,190 ตารางกิโลเมตร จะเห็นว่าพื้นที่สวนป่าทั้งหมดที่ปลูกขึ้นมาทดแทน มิอาจนำมาชดเชยพื้นที่ป่าธรรมชาติที่ถูกทำลายไปในแต่ละปีได้เลย
นอกจากนี้สถิติการทำไม้ในปี พ.ศ. 2530 เราพบว่าเพียงช่วงปีเดียวไม้สักถูกทำออกจากป่าสัมปทานรวมทั้งสิ้น 37,278 ลูกบาศก์เมตร เป็นของกลางที่เกิดจากการกระทำผิด 822 ลูกบาศก์เมตร ส่วนไม้กระยาเลยถูกทำออกรวมทั้งสิ้น 2,027,551 ลูกบาศก์เมตร เป็นของกลางที่เกิดจากการกระทำผิด 30,495 ลูกบาศก์เมตร และรายได้ที่กรมป่าไม้ได้จากสัมปทาน โดยเก็บจากค่าภาคหลวง ค่าขายไม้ ค่าใบอนุญาต ค่าธรรมเนียม และอื่น ๆ ระหว่างปี พ.ศ. 2524-2529 รวมเป็นเงินเฉลี่ยปีละ 220 ล้านบาท ในขณะที่รายจ่ายของงบประมาณในช่วงระหว่างปีดังกล่าว เป็นเงินเฉลี่ยปีละ 1,350 ล้านบาท เมื่อเทียบเป็นอัตราส่วนระหว่างรายได้กับรายจ่ายต่อปีเท่ากับ 1 ต่อ 6 ทีเดียว
กฎหมายสัมปทาน ทางสู่ความพินาศของป่าไม้
แม้จะมีความพยายามที่จะวางกฎเกณฑ์การทำไม้ให้รัดกุมแล้วก็ตาม แต่ปรากฎว่าสิ่งที่กำหนดขึ้นกลับกลายเป็นเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่ที่ทำการควบ คุมหลีกเลี่ยงและอาศัยเป็นช่องทาง ในการทุจริต จนทำให้ป่าต้องถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งพอจะสรุปมูลเหตุสำคัญที่ทำให้สัมปทานป่าไม้ของไทยต้องล้มเหลวอันเนื่อง มาจาก…..
การตั้งบริษัทจังหวัดทำไม้ขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้ประชาชน มีส่วนร่วมได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้รวมถึงดูแลป่าสัมปทานเป็น ประโยชน์แก่ลูกหลานในวันหน้า แต่ปรากฎว่าบริษัทจังหวัดทำไม้ได้กลายเป็นแหล่งที่นายทุนเข้ามาแสวงหากำไร โดยประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์เลย ทั้งนี้ดูจากเงื่อนไขการจดทะเบียนบริษัทที่กำหนดว่าให้ อ.อ.ป. ถือหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ผู้มีอาชีพทำไม้รายใหญ่ 15 เปอร์เซ็นต์ โรงงานไม้แปรรูปด้วยแรงคนหรือได้รับอนุญาตทำโรงค้าไม้แปรรูปถือหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ และประชาชนในท้องถิ่นและประชาชนจังหวัดใกล้เคียงซึ่งไม่มีป่าสัมปทานถือหุ้น 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าบรรดานายทุนทำไม้ หรือเจ้าของโรงเลื่อยขนาดใหญ่มักกะเกณฑ์ญาติพี่น้องและพรรคพวกของตนเองมา เป็นผู้ถือหุ้นในส่วน ของประชาชน ประกอบกับ อ.อ.ป. เองก็ไม่ได้ทำไม้เอง อาศัยให้มีผู้มารับช่วงทำสัญญาทำไม้กับ อ.อ.ป.อีกต่อหนึ่ง ซึ่งผู้รับช่วงมักเกี่ยวพันกับเจ้าของโรงเลื่อยในจังหวัดนั้น และปฏิเสธไม่ได้ว่าการทุจริตคอรับชั่นได้แทรกแซงอยู่ในทุกวงการ
นอกจากนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และบริษัทสงเคราะห์สหายร่วมรบเกาหลี ก็ล้วนใช้วิธีประมูลให้เอกชนเข้าทำไม้แทบทั้งสิ้น
การกำหนดแปลงตัดฟันรายปี มิได้อาศัยกำลังผลิตของป่าหรือความเพิ่มพูนรายปีของป่ามาใช้เป็นหลักในการ คำนวณปริมาตรไม้ที่อนุญาต ให้ตัดออก ทำให้ปริมาณไม้ที่ได้ไม่สมดุลกับกำลังผลิตของโรงเลื่อยที่มีอยู่ จึงได้เกิดการลักลอบทำไม้ นอกเหนือไปจากปริมาณที่ได้รับอนุญาตในแต่ละปี และเมื่อไม้ที่เหลืออยู่ในแปลงตัดฟันต่อไปเหลืออยู่ไม่เพียงพอ ก็มักจะมีการขอทำไม้ควบแปลง ซึ่งปกติแล้วต้องทำไม้ปีละแปลง ก็ขอทำปีละ 2 หรือ 3 แปลง ทำให้อายุของป่าสัมปทานสั้นลง ไม่เป็นไปตามหลักการของวิธีเลือกตัดที่ถูกต้อง
ข้อกำหนดและเงื่อนไขสัมปทานเปิดโอกาสให้ผู้รับสัมปทานไม่ต้องปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกบำรุงป่าธรรมชาติและการป้องกันการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า เพราะบริษัทสามารถนำเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกป่า บำรุงป่ามาเข้าบัญชีธนาคารเพื่อที่กรมป่าไม้จะได้ปลูกป่าขึ้นมาทดแทนให้ ส่วนในกรณีที่มีการบุกรุกทำลายป่าขึ้นในพื้นที่สัมปทาน ผู้รับสัมปทานก็สามารถอ้างและพิสูจน์ได้ว่าการไม่ปฏิบัติตามหรือการกระทำผิด นั้นเกิด จากผู้อื่นที่ไม่อยู่ใต้การบังคับบัญชาของผู้รับสัมปทานและผู้รับสัมปทานมิ ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย เป็นต้น
ขั้นตอนการทำไม้มิได้รับการปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ เนื่องมาจากเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจกับผู้รับสัมปทาน ดังเป็นที่ทราบกันดีและมีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์เนื่องๆ เช่น หนังสือพิมพ์เดลินิว คอลัมน์ “ปลายนิ้ว” ของนายกำแหง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2531 เปิดโปงการทุจริตของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไว้ว่า
“เจ้าหน้าที่ผู้คัดเลือกไม้ไม่ได้ทำตามหลักเกณฑ์ โดยส่งตรา ต.ตัด และช.ลาก ให้กับโรงเลือยไปจัดการตีคัดเลือกไม้เอาเองตามสะดวก ส่วนเจ้าหน้าที่ก็จะไปนอนตีพุงอยู่ที่โรงแรมหรือที่บ้านพักของโรงเลือยใน เมือง แถมเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักจากหลวงอีก แล้วยังได้ค่าส่งตรา ต.ตัด และตรา ช.ลาก จากโรงเลื่อยอีกต่างหาก แต่ละป่าจะมีไม้ทำออกได้หลายหมื่นลูกบาศก์เมตร คิดดูว่าจะเป็นเงินเท่าใดที่เจ้าหน้าที่จะได้รับ เงินพิเศษนี้จะถูกแบ่งกันไปตั้งแต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน หัวหน้าฝ่าย ป่าไม้จังหวัด ป่าไม้เขต จะเห็นว่าหากเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเคร่งครัดแล้ว ความเสียหายจากการทำไม้ในป่าของโรงเลื่อยจะมีน้อยมาก แถมเจ้าหน้าที่บางคนยังทำบัญชีไม้ในป่าสัมปทานเกินจำนวนที่มีอยู่จริง เรียกว่า “บัญชีลม” ไว้ให้โรงเลื่อยไปหาตัดไม้จากที่อื่นมาสวมว่าตัดจากแปลงที่ได้รับสัมปทาน จึงไม่น่าแปลงอะไรเลยที่ต้นไม้ในป่าเมืองไทย ต้นหนึ่ง ๆ หากจะวัดกันที่ท่อนซุงที่โรงเลื่อยตัดท่อนละ 5 เมตรแล้ว ต้นหนึ่งจะทอนเป็นไม้ซุงได้ถึง 10-20 ท่อน รวมความแล้วต้นหนึ่งต้องสูงถึง 100 เมตร บางต้นโคนใหญ่กว่าตอที่ถูกตัด บางต้นท่อนปลายใหญ่กว่าท่อนโคน เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมรู้แต่เพียงว่า ยิ่งโรงเลื่อยตัดไม้ได้มากเท่าไรตนก็จะได้เงินมากขึ้นเท่านั้น”
เมื่อมีทางชักลากไม้ การเดินทางเข้าป่าก็จะเป็นไปโดยสะดวก ราษฎรก็จะติดตามเข้าไปบุกรุกแผ้วถางและยึดครองป่าที่เหลือเพื่อทำไร่เลื่อน ลอยต่อไป โดยหวังจะได้กรรมสิทธิ์ในอนาคต และแล้วที่ดินดังกล่าวก็จะตกเป็นของนายทุนที่สามารถครอบครองที่ดินในป่าเป็น จำนวนนับร้อยนับพันไร่ ชาวบ้านที่ยากจนได้ถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือสำหรับการบุกรุกทำลายป่าต่อไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้แปลงตัดฟันที่ผ่านการทำไม้ไปแล้วถูกทำลายจนสิ้นสภาพ และไม่สามารถฟื้นคืนสภาพขึ้นมาให้สามารถตัดฟันได้ใหม่ในรอบตัดฟันรอบต่อไป ซึ่งหมายถึงว่าป่าสัมปทานสูญสิ้นสภาพไปเมื่อสิ้นอายุสัมปทานที่ให้ไปแล้วนี้ เท่านั้น
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับป่าสัมปทานมิได้จำกัดเฉพาะในป่าบกเท่านั้น แม้แต่ป่าชายเลนก็ประสบปัญหาเดียวกัน
มาถึงจุดนี้คงพอจะตอบคำถามได้บ้างกระมังว่า ใครกันแน่ที่ได้ผลประโยชน์จากสัมปทานป่าไม้ และทำไมการจัดการป่าไม้ของไทยจึงไม่อาจบรรลุหลักการที่ว่า “ป่าไม้ที่มีอยู่เดิมเปรียบเสมือนต้นทุนของประชาชาติโดยส่วนรวมซึ่งสมควร รักษาไว้ จะใช้ได้ก็เฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยหรือปริมาณเนื้อไม้ที่งอกเงยขึ้นมาเป็น รายปีเท่านั้น มิเช่นนั้นแล้ว ป่าไม้ที่มีอยู่ก็จะไม่สามารถอำนวยประโยชน์อย่างถาวรได้ตลอดไป”
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลจะหันมาทบทวนนโยบายการให้สัมปทานป่าไม้ของประเทศเสียใหม่ เพราะการให้สัมปทานเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้มีการทำลายป่าและยึดครองพื้นที่โดยอาศัยเงื่อนไข ของกฎหมายและ ความหละหลวมในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่
หยุดเสียทีสำหรับการตักตวงผลประโยชน์จากป่าที่ยังเหลืออยู่และหันมาฟื้นฟูสภาพป่าที่กำลังป่วย ไข้ให้กลับมีชีวิตสมบูรณ์เช่นเดิม ก่อนที่ป่าซึ่งเหลืออยู่เพียงน้อยนิดจะไม่สามารถควบคุมความสมดุลแห่งธรรมชาติได้ และถ้าถึงวันนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่อาจหลีกพ้นชะตากรรมจากภัยพิบัติที่เกิดจากการทำลายธรรมชาติ ดังเช่นที่พี่น้องภาคใต้กำลังประสบอยู่ในเวลานี้