‘ป่าพรุ’ เป็น สังคมพืชป่าไม้ไม่ผลัดใบ (evergreen) อีกแบบหนึ่ง เกิดจากอิทธิพลของสภาพพื้นดิน (edlaphic factor) ที่มีน้ำจืดขังติดต่อกันชั่วนาตาปีเป็นปัจจัยสำคัญ ตรงกับนิยามศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “peat swamp forest” ซึ่งเป็นหนึ่งในสังคมพืชที่มีน้ำท่วมหรือขัง 3 จำพวก คือ 1. ป่าเลนน้ำเค็ม ป่าชายเลน หรือป่าโกงกาง (mangrove forest) 2. ป่าบึงน้ำจืด (freshwater swamp forest) และ 3. ป่าพรุ (peat swamp forest)
การจำแนกสังคมพืชและเรียกชื่อสังคมพืชที่ผิดพลาด อาจก่อให้เกิดผลเสียอย่างมหันต์ในแง่การพัฒนาพื้นที่สังคมพืช ดังเช่นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมพืชป่าพรุในปัจจุบัน
การ ‘พัฒนา’ พื้นที่ป่าพรุดั้งเดิมที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทั้งในด้านการป่าไม้ และการอนุรักษ์พื้นที่ไว้เป็นแหล่งเก็บน้ำจืดและความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ โดยทำทางระบายน้ำออกจากพรุสู่ทะเล จะเป็นการ ‘ทำลาย’ ทรัพยากรธรรมชาติผืนสุดท้ายของประเทศที่มีคุณค่ายิ่งให้สูญสิ้นไปโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
คำว่า ‘พรุ’ เป็น คำสามัญที่ชาวบ้านทางภาคใต้ใช้เรียก “บริเวณที่เป็นที่ลุ่มชุ่มชื้น มีน้ำแช่ขังมาก มีซากผุพังของต้นไม้และพันธุ์พืชทับถมมากหรือน้อย เวลาเหยียบย่ำจะยุบตัวและมีความรู้สึกหยุ่นๆ” พื้นที่นี้ตรงกับคำว่า ‘bog’ ในภาษาอังกฤษ
สภาพดินพรุ ที่มีซากพันธุ์พืชทับถมนั้นจัดว่าเป็นดินอินทรีย์วัตถุ หรือ ดินเชิงอินทรีย์ (organic soils) หรือที่รู้จักกันว่า ดินชุดนราธิวาส (Narathiwat serics) ส่วนที่สลายไปหมดเรียกว่า ‘muck’ ส่วนที่สลายไม่หมดเรียกว่า ‘peat and muck soil’ ส่วนมากจะมีความลึก (หนา) อยู่ระหว่าง 50 – 100 ซม. บางแห่งอาจลึกมากกว่า 2 เมตร
ป่าพรุมีความแตกต่างจากป่าบึงน้ำจืด (fresh water swamp forest) อย่างเห็นได้ชัด คือ พื้นล่างของป่าพรุจะมีชั้นซากพืชและอินทรีย์วัตถุต่างๆ ที่ยังสลายไม่หมด (peat) ทับถมกันหนามากจนเต็มอ่างรูปกระทะ และจะไม่มีแม่น้ำหรือลำคลองติดต่อกับพื้นที่ป่าพรุโดยตรง ในขณะที่ป่าบึงน้ำจืดจะไม่มีการสะสมซากพืชและอินทรีย์วัตถุอย่างถาวรและได้รับน้ำจืดจากปริมาณของแม่น้ำหรือบึงใหญ่ๆ ที่เอ่อล้นตลิ่งขึ้นมาท่วมพื้นที่ราบ เกิดเป็นพื้นที่ชื้นแฉะมากหรือน้อยตลอดปี สังคมพืชป่าบึงน้ำจืดจะมีสภาพเป็นป่าโปร่ง ต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นกระจัดกระจายอยู่ห่างๆ เรือนยอดไม่ชิดติดกันเช่นต้นไม้ในป่าพรุ ดังนั้น สังคมพืชป่าบึงน้ำจืดจึงมักไม่ปรากฏว่ามีชั้นไม้ต่างๆ ชัดเจนเช่นชั้นต้นไม้ของป่าพรุ
ลักษณะพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าพรุส่วนใหญ่จะมีรากแก้วค่อนข้างสั้น มีรากแขนงแผ่กว้าง แข็งแรง และส่วนใหญ่มีรากค้ำยัน (Stilt roots) เช่น ตังหน (Calophyllum inophylloides) ละไมป่า (Baccaurea bracteata) และยากา (Blumeodendron kurzii) เป็นต้น โคนต้นมักมีพูพอน (buttresses) สูงใหญ่ พันธุ์ไม้บางชนิดมี รากหายใจ (breathing roots หรือ pneunatophores) โผล่พ้นระดับผิวดินขึ้นมาในลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น ตั้งขั้นแล้วหักพับลงคล้ายหัวเข่า โค้งคล้ายสะพานหรือรูปครึ่งวงกลมคล้ายบ่วง และติดกันเป็นแผ่นคล้ายกระดาน บิดคดเคี้ยวไปมา เป็นต้น
พื้นที่ป่าพรุในจังหวัดนราธิวาส เคยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมากที่สุด มีอยู่ด้วยกันสองพรุใหญ่ พรุแรก คือ พรุบาเจาะ อยู่ในเขตอำเภอบาเจาะและอำเภอเมือง มีพื้นที่ประมาณ 66,450 ไร่ ปัจจุบันกลายเป็นป่าพรุที่เสื่อมสภาพ ไม้ดั้งเดิมถูกทำลายไปจนหมดสิ้น มีแต่ไม้เสม็ด (Melaleuca cajeputi) ขึ้นอยู่เป็นส่วนใหญ่ พรุที่สองคือ พรุโต๊ะแดง อยู่ในเขตอำเภอสุไหงปาดี อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอตากใบ และเลยไปถึงอำเภอเมืองอีกเล็กน้อย มีพื้นที่ประมาณ 216,900 ไร่ ขนาดของพื้นที่คิดเฉพาะพื้นที่ที่เป็นซากพืชทับถมหนามากกว่า 40 ซม. ขึ้นไป (ที่มา: กองสำรวจดิน กรมพัฒนาที่ดิน, 2525)
ป่าพรุโต๊ะแดง มีสภาพเป็น ‘ป่าพรุ’ ที่แท้จริง ซึ่งเหลืออยู่เป็นผืนสุดท้ายของประเทศไทย จากการสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศ ถ่ายเมื่อปี 2525 ปรากฏว่ามีอยู่ประมาณ 200,000 ไร่ แต่เนื่องจากการรีบเร่งเข้าไปพัฒนาพื้นที่พรุของส่วนราชการต่างๆ เช่น การก่อตั้งนิคมสหกรณ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขุดคลองระบายน้ำออกจากพื้นที่ป่าพรุสู่แม่น้ำและทะเล ทำให้ป่าพรุโต๊ะแดงเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว ดินพรุยุบตัวลงและแห้งในฤดูแล้ง จึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เมื่อมีไฟไหม้ป่าขึ้นจะลุกลามไปตามอินทรีย์วัตถุที่ยังไม่สลายตัวตามพื้นดิน เหมือนไฟลามขอน นานหลายวันหลายคืน จนกว่าจะถึงบริเวณที่มีความชุ่มชื้นสูง ไฟจึงจะมอดไป สาเหตุนี้ทำให้สภาพพื้นที่ป่าพรุถูกทำลายหมดไปอย่างรวดเร็ว และไม่มีทางฟื้นคืนสภาพขึ้นมาได้อีก เมื่อต้นปี 2528 ผลการบินสำรวจพื้นที่ป่าพรุของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พบว่าพื้นที่ที่เป็น ‘ป่าพรุ’ (ไม่ใช่ ‘ป่าเสม็ด’) ของพรุโต๊ะแดง มีพื้นที่เหลืออยู่ไม่เกิน 50,000 ไร่ ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียพื้นที่ป่าพรุในอัตราที่สูงมาก (ประมาณ 45,000 ไร่ต่อปี) ในช่วงระยะเวลาเพียง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้น ป่าพรุในจังหวัดนราธิวาสในปัจจุบันนี้ จึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติป่าพรุที่แท้จริง (primary peat swamp forest) ผืนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในประเทศไทย การที่มีผู้ท้วงติงว่ายังมีป่าพรุอีกมากมายในประเทศไทยนั้นเป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง โดยที่ไม่ได้พิจารณาถึงพื้นฐานลักษณะโครงสร้างของสังคมพืชป่าพรุที่แท้จริง และเข้าใจไขว้เขวไปว่า ‘ป่าเสม็ด’ ก็คือ ป่าพรุนั่นเอง
ป่าพรุให้คุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์ไม่น้อยไปกว่าสังคมพืชป่าไม้ชนิดอื่นๆ ทั้งประโยชน์ทางตรงในแง่การใช้ไม้และของป่า เป็นสถานศึกษาธรรมชาติในเชิงวิชาการนี้ยังไม่มีผู้ใดได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดมาก่อน อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมพันธุกรรมของพันธุ์ไม้และสัตว์ที่หายาก และมีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่านานาพันธุ์ เช่น เสือ หมี หมูป่า ค่าง ลิง กระรอก กระแต กระจง เหี้ย ตะกวด นาก งูชนิดต่างๆ และนกนานาชนิดตลอดจนสัตว์น้ำนานาพันธุ์ เช่น จระเข้ เต่า รวมทั้งกบ เขียด กุ้งหอย ปู และปลาน้ำจืดหลากชนิดอีกด้วย
ในด้านของสังคมพืช มีพันธุ์พืชที่เป็นเอกลักษณ์ (Unique flora) แตกต่างไปจากพรรณพืชของสังคมป่าชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ป่าพรุยังให้ข้อมูลทางวิวัฒนาการของสังคมพืช จากการวิเคราะห์ซากของเรณูดอกไม้ (fossil pollen) การเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศของท้องถิ่นนั้นตั้งแต่ครั้งโบราณ
นอกจากประโยชน์ทางตรงตามที่กล่าวแล้ว ป่าพรุยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำจืดขนาดใหญ่ตามธรรมชาติ น้ำส่วนหนึ่งจะไหลซึมหรือระบายออกจากพรุสู่แม่น้ำบางนราตลอดทั้งปี ส่วนบริเวณโดยรอบป่าพรุที่เสื่อมสภาพไปแล้วกลายเป็นป่าเสม็ดที่ไม่มีคุณค่าต่อการปลูกพืชกสิกรรม ราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากไม้เสม็ดโดยการเผาทำเป็นถ่าน ซึ่งจะเป็นรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับการกสิกรรมที่มักจะล้มเหลว
จากการสำรวจพันธุ์พฤกษชาติของป่าพรุนราธิวาสอย่างจริงจัง โดยคณะนักพฤกษศาสตร์ของกรมป่าไม้ ตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา ได้พบพันธุ์ไม้หลายชนิดที่ปรากฎเป็นครั้งแรกในประเทศไทย (new record species) ผลการสำรวจพันธุ์ไม้ในป่าพรุจนถึงปี 2529 พบว่ามีอยู่ทั้งหมด 68 วงศ์ (families) 223 ชนิด (species) ในจำนวนนี้มีชนิดที่เป็น new record species 44 ชนิด เช่น สะท้อนนก (Sandoricum emarginatum) และเทียะ (Dialium patens) หมากแดง (Cyrtostachys lakka) ปาล์มชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับที่มีราคา และพันธุ์ไม้ประทับบนพื้นล่างของป่าที่พบทั่วไปอีกชนิดหนึ่ง คือ รัศมีเงิน หรือริ้วเงิน (Aglaonema nitidium) เป็นต้น
ส่วนการสำรวจชนิดและปริมาณของสัตว์ป่าบางชนิด ตลอดจนพืชพันธุ์ที่เป็นอาหารสัตว์ป่า โดยคณะเจ้าหน้าที่ของกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ในระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2530 ปรากฎว่าพบสัตว์ป่านานาชนิดเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 288 ชนิด แบ่งออกเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 14 วงศ์ 41 ชนิด นก 44 วงศ์ 200 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 4 วงศ์ 13 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลาน 15 วงศ์ 29 ชนิด ในจำนวนนี้มีสัตว์ป่าที่ปรากฏพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย (new record species) จำนวน 5 ชนิด คือ ค้างคาวกินผลไม้ (Dyacopterus spadicus) หนู (Rattus annandalei) นกกางเขนแดง (Copsychus pyrropygus) นกตบยุงมาเลเซีย (Eurostopadus temminchii) และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอีก 1 ชนิด (กำลังตรวจวิเคราะห์ชื่อ) คาดว่าจะเป็น new record หรือ new species
การสำรวจและศึกษาพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ยังต้องกระทำต่อไปอีก โดยมีระยะเวลาในการเก็บข้อมูลนานพอสมควร และครบทั้งสามฤดูกาล (สำหรับพันธุ์สัตว์) เพื่อนำข้อมูลที่สมบูรณ์มาใช้เป็นแนวทางกำหนดมาตรการในการอนุรักษ์ป่าพรุ แห่งสุดท้ายของประเทศให้คงอยู่เป็น มรดกทางธรรมชาติ เป็นแหล่งรวมพันธุกรรมของพันธุ์พืชและสัตว์ป่า และอำนวยประโยชน์มหาศาลต่อประชากรต่อไป
เป็นที่น่ายินดีว่าในปัจจุบัน คณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนแม่บทเพื่อนการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าของป่าพรุ ผืนสุดท้ายของประเทศ ในอีก 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2532 – 2536) โดยให้กรมป่าไม้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนและดำเนินการดังนี้คือ
แผนงานวิจัย แบ่งออกเป็น งานวิจัยในเขตสงวน โดยมีโครงการศึกษาลักษณะทางวนวัฒนวิทยาและทางพฤกษศาสตร์ของพันธุ์ไม้ ศึกษาการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าหายาก และศึกษาพันธุ์พืชอาหารสัตว์ป่า ส่วนงานวิจัยในเขตอนุรักษ์ มีโครงการศึกษาพันธุ์ไม้และวิธีการจัดการที่เหมาะสม ศึกษาการทดแทนของสังคมพืช และการศึกษาการอนุรักษ์นกน้ำ
แผนงานพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี แยกออกเป็น เขตสงวน กำหนดให้มีการจัดตั้งให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าป่าพรุ (กำลังดำเนินการ) เขตอนุรักษ์กำหนดให้มีการควบคุมไฟป่าและการปลูกป่าทดแทน
หมายเหตุ : เขตสงวน คือ เขตป่าพรุดั้งเดิมที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน จำเป็นต้องสงวนไว้เพื่อรักษาดุลยภาพของระบบนิเวศน์และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ จืดขนาดใหญ่ตามธรรมชาติ
เขตอนุรักษ์ คือ เขตที่สภาพป่าพรุดั้งเดิมถูกทำลายไปบ้างไม่มากก็น้อย ส่วนที่ยังสามารถมีพืชขึ้นทดแทนได้ จะได้รับการบูรณะให้คืนสภาพเดิม โดยการปลูกเสริมป่าขึ้นทดแทน ส่วนบริเวณที่ถูกทำลายไปมาก เป็นระยะเวลานานติดต่อกันจนไม่สามารถปรับปรุงให้ฟื้นคืนสู่สภาพเดิมได้อีก อาจจะเตรียมการเพื่อพัฒนา หรือใช้ทำประโยชน์ในกิจการเกษตรอื่นๆ ต่อไปได้
ส่วนอีกเขตหนึ่งที่ยังมิได้กล่าวถึง คือเขตพัฒนาเป็นพื้นที่ที่หมดสภาพการเป็นป่าพรุโดยสิ้นเชิง เป็นที่ทำกินหรือเป็นที่ตั้งชุมชน เขตนี้สมควรได้รับการทบทวนโครงการพัฒนาต่างๆ ให้พื้นที่มีประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด
หนังสือประกอบการเขียน
– สยามสมาคม (2528) ฉบับพิเศษ “การอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทย ในแง่การพัฒนาสังคมและ เศรษฐกิจ”
– Thai Forest Bulletin (Botany) No. 16. “A List of Flowering Plants in the Swamp Area of Peninsular Thailand. Royal Forest Department.
– 3 เขตการใช้ที่ดินในพื้นที่ป่าพรุ จังหวัดนราธิวาส (๒๕๒๙) กรมพัฒนาที่ดิน