ความสำคัญของป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กับการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน

ความสำคัญของป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กับการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน

ประเด็นสำคัญค่อนข้างมากของการต่อต้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน คือจะเป็นการทำลายป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

เนื้อความต่อไปคือการสรุปความสำคัญของป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

1. ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นป่าผืนสุดท้ายทางภาคตะวันตกของประเทศที่เหลืออยู่ เป็นแบบอย่างของพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าของประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของป่าเพื่อการอนุรักษ์ที่มีอยู่เพียงร้อยละ 9 ของพื้นที่ประเทศ และมีลักษณะเหมือนเกาะที่ถูกล้อมรอบไปด้วยพื้นที่ที่ถูกบุกรุกทำลาย ป่าไม้ต้นน้ำลำธารที่สำคัญๆ ของประเทศถูกราษฎรบุกรุกยึดครองและใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศไปจนหมด ป่านี้จึงมีความสำคัญยิ่งของการเป็นแหล่งรวมชนิดของป่า ที่ปรากฎอยู่ทางภาคตะวันตก

นอกจากนี้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ยังเป็นแหล่งรวมของสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งสัตว์ป่าที่หายากและกำลังจะสูญพันธ์ุไปจากประเทศไทย จึงเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป และได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลก “World Natural Heritage” ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการประกาศขององค์การสหประชาชาติ

2. ผืนป่าแห่งนี้เป็นที่รวมพันธุ์สัตว์ป่านานาชนิด เปรียบเสมือนเป็นจุดศูนย์กลางของการกระจายพันธุ์สัตว์ จากการสำรวจนิเวศวิทยาของสัตว์ป่าที่ปรากฎในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่มีสังคมสัตว์และพืชต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน สัตว์ป่ามีการโยกย้ายถิ่นไปมาถึงกันได้ ปรากฏว่ามีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวไม่น้อยกว่า 707 ชนิด ในจำนวนนี้มีสัตว์ป่าที่ตกอยู่ในสภาวะเป็นสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธ์ุ (endangeredspecies) จำนวน 21 ชนิด และสัตว์ป่าที่มีสถานภาพถูกคุกคาม (threatened species) อีก 65 ชนิด

3. บริเวณป่าที่ลุ่มต่ำ (lowland forest) ตอนกลางของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของผืนป่าทั้งหมด เพราะเป็นบริเวณที่มีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นตลอดแนวลำน้ำแควใหญ่ เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งอาหารของสัตว์ป่า สัตว์ป่าขนาดใหญ่ จำพวกช้างป่า กระทิง และสมเสร็จ จะเดินทางหากินข้ามไปมาระหว่างป่าทั้งสองฝั่งตามรอบหมุนเวียนของฤดูกาล

4. ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นแหล่งที่อยู่ของ “กระซู่” (Dicerorhinus sumatrensis) สัตว์ป่าสงวนที่หาไม่ได้จากถิ่นกำเนิดดั้งเดิมแห่งอื่นๆ ในประเทศไทย มีการพบซากกระซู่ ซากที่ 2 บริเวณริมห้วยละตะเบิง หลังจากพบซากแรกที่ปลายห้วยน้ำเขียวเมื่อเดือนตุลาคม 2529 และในเดือนกันยายนปีเดียวกันได้พบรอยเท้าของกระซู่บริเวณตอนใต้ของริมห้วยดงวี่ เป็นการยืนยันได้ว่า กระซู่ซึ่งเคยเชื่อกันว่าสูญพันธ์ุไปแล้วจากประเทศไทยยังคงอาศัยอยู่ในป่านี้ เช่นเดียวกับสัตว์ป่าที่หายากชนิดอื่นอย่างเช่น เลียงผา เก้งหม้อ และสมเสร็จ หรือแม้แต่กระทิงฝูงใหญ่ขนาด 50 ตัว ซึ่งไม่มีผู้ใดพบเห็นกระทิงฝูงใหญ่ขนาดนี้ในป่าแห่งอื่นของเมืองไทย

นอกจากนี้ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรรวมกับป่าห้วยขาแข้ง ยังมีช้างป่าอาศัยอยู่ไม่น้อกว่า 300 เชือก นับเป็นแหล่งช้างป่าที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ทั้งนี้ ไม่รวมถึงช้างป่าอีกจำนวนหนึ่งที่ย้ายถิ่นหากินมาจากประเทศพม่าเข้ามาเพิ่มเติม และที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรยังเป็นที่รวมของสัตว์ป่าที่หายากชนิดอื่นๆ อีกคือ นกฟินฟุท นกกาบบัว นกเงือกคอแดง นกยูงและนกเป็ดก่า สำหรับปลาน้ำจืดที่หายากในปัจจุบันคือ ปลากระโห้ ยังพบอยู่ตามลำน้ำสายใหญ่โดยเฉพาะในลำน้ำแควใหญ่

5. เป็นแหล่งโบราณคดีและแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรนอกจากจะมีความสมบูรณ์ในแง่ของการเป็นแหล่งรวมพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญของประเทศแล้ว ยังมีความสำคัญในด้านที่เกี่ยวข้องกับโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของชาติไทยอีกด้วย มีการพบหลักฐานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์หลายชิ้น อาทิเช่น ขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด ต่างหูที่ทำจากกระดูกสัตว์และเศษภาชนะดินเผาสมัยหินใหม่

6. เป็นแหล่งรวมของสภาพธรรมชาติดั้งเดิมที่เหลืออยู่เป็นแหล่งสุดท้ายของประเทศ เป็นตัวแทนของสภาพป่าและความหลากชนิดของสัตว์ป่า มีอาณาเขตกว้างใหญ่เพียงพอที่สัตว์ป่านานาชนิดสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย ทำให้สถานที่แห่งนี้มีความเหมาะสมต่อการเป็นแหล่งเพื่อการศึกษาในเชิงวิชาการเกี่ยวกับธรรมชาติศึกษาในสาขาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้รวมทั้งการศึกษาในด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่ยังมิได้มีการศึกษาอย่างละเอียดทั้งพื้นที่ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีการพัฒนาตัวเองมาเป็นเวลานับพันปีย่อมมีค่า และมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษาทางวิชาการมากกว่าที่จะนำมาใช้ประโยชน์ให้หมดไปเพื่อการพัฒนาทางด้านพลักงานแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณป่าลุ่มต่ำที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศซึ่งเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศ

7. ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรยังคงสภาพเป็นป่าธรรมชาติ ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอยู่ห่างไกลทางคมนาคม ทำให้อัตราของการถูกทำลายมีน้อยเมื่อเทียบกับป่าอนุรักษ์แห่งอื่นในประเทศที่มีเส้นทางคมนาคมสะดวก และมีการพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวจนทำให้สภาพป่าดั้งเดิมถูกทำลายไปโดยทางอ้อม

ดังนั้น ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมต่อการทัศนศึกษาสำหรับผู้ใฝ่ หาสภาพธรรมชาติแท้จริงที่ไม่ต้องการการ ปรุงแต่งเพื่อรองรับความสะดวกสบายโดยอาศัยธรรมชาติเป็นข้ออ้าง จนทำให้สภาพป่าดั้งเดิมของเมืองไทยในส่วนอื่นของประเทศสูญสิ้นไปอย่างน่าเสียดาย และไม่สามารถปรับปรุงให้ฟื้นคืนสู่สภาพดั้งเดิมได้

 

โครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแควใหญ่ตอนบน (เขื่อนน้ำโจน) จะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดพื้นที่ 137 ตร.กม.หรือ 85,625 ไร่ ที่ระดับความสูง 370 ม.รทก. ทำให้น้ำท่วมใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นพื้นที่ประมาณ 80,000 ไร่ คิดเป็นระยะทางยาวประมาณ 60 กิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดของอ่างเก็บน้ำประมาณ 9 กิโลเมตรเศษ ส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 500 เมตร ใช้เวลาในการก่อสร้างและทำการตัดไม้ออกจากบริเวณอ่างเก็บน้ำนานประมาณ 3 ปีครึ่ง เงินทุนที่ใช้ในการก่อสร้างประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยมีแผนการแก้ไขผลกระทบ ใช้เงินประมาณ 360 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละประมาณ 3 เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 3.6 ของประมาณการความต้องการพลังงานไฟฟ้าปี 2532

 

ผลกระทบที่จะเกิดจากโครงการ

1. มีผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่ป่าไม้บริเวณที่ลุ่มต่ำ (Lowland forest) และแหล่งของสัตว์ป่าที่ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่อนุรักษ์แหล่งสุดท้ายของประเทศ

การกล่าวอ้างว่าเป็นพื้นที่ส่วนน้อยของพื้นที่อนุรักษ์ ย่อมไม่เป็นเหตุผลที่จะนำมาลบล้างได้ เพราะพื้นที่บริเวณหุบห้วยแควใหญ่เปรียบเสมือนเป็นหัวใจของพื้นที่อนุรักษ์ โดยรอบที่เป็นแหล่งต้นกำเนิดของลักษณะพันธุกรรมของต้นไม้ พันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ป่าที่ยังมิได้มีการศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ การสำรวจที่แล้วมาเป็นเพียงการสุ่มตัวอย่างในบริเวณรอบนอกพื้นที่ที่เป็นหัวใจของป่าทุ่งใหญ่ฯ ไม่สามารถนำมาเป็นตัวแทนของการประมาณคุณค่าความสำคัญเฉพาะพื้นที่ได้

2. พื้นที่อนุรักษ์ที่กำหนดไว้ตามนโยบายการป่าไม้ของประเทศไทยให้มีร้อยละ 15 แต่ในปัจจุบันได้รับการกำหนดไปแล้วเพียงร้อยละ 9.4 ของพื้นที่ประเทศ ประกอบกับพื้นที่อนุรักษ์บางแห่งยังถูกบุกรุกทำลายด้วยการยึดถือครอบครองของราษฎร และการพัฒนาพลังงานด้วยการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ เหตุการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นการขัดต่อนโยบายของรัฐในการทำลายทรัพยากรที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ไว้ ถึงแม้จะเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด แต่ก็เป็นการทำลายโดยตรงโดยหน่วยงานของรัฐ

3. พืชพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าหลายชนิดที่เกิดอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำของลำน้ำแควใหญ่ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ประกอบกับเป็นแหล่งรวมของพันธุกรรมที่มีการพัฒนาตัวเองและแพร่กระจายพันธุ์ไปยังพื้นที่ป่าส่วนอื่นโดยรอบ สมควรได้รับการดูแลรักษาเป็นพิเศษ

จะเห็นได้ว่าทรัพยากรที่เหลืออยู่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา เพราะไม่สามารถหาแหล่งอื่นมาทดแทนได้ และในปัจจุบันพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ก็กำลังถูกทำลายให้หมดไป ดังจะเห็นได้จากอัตราการบุกรุกทำลายป่าปีละ 1.5 ล้านไร่ จนทำให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศเหลืออยู่เพียงร้อยละ 29 ของพื้นที่ประเทศ (320 ล้านไร่) ในปี 2528 (ฝ่ายพื้นที่ภาพถ่ายทางอากาศและดาวเทียม กองจัดการป่าไม้ กรมป่าไม้) แทนที่จะเหลืออยู่ร้อยละ 40 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

อนึ่ง การปลูกป่าทดแทนป่าธรรมชาติที่ถูกทำลายไปโดยกิจการของรัฐหรือโดยการบุกรุก ของประชาชน มิควรได้เรียกว่าเป็นป่า เพราะป่าไม้ธรรมชาติที่มีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ของระบบนิเวศวิทยานั้น มิสามารถปลูกหรือสร้างขึ้นมาแทนได้ ประกอบกับระยะเวลาของการพัฒนามาเป็นป่าธรรมชาติต้องใช้เวลานับร้อยปี จึงไม่สามารถนำมาทดแทนกันได้

4. อ่างเก็บน้ำที่จะเกิดกับโครงการจะแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็นสองส่วน สัตว์ป่าขนาดใหญ่จำนวนช้างป่า กระทิง สมเสร็จ ซึ่งเคยย้ายถิ่นหากินตามฤดูกาลจะไม่สามารถย้ายถิ่นได้อีก สัตว์ป่าเหล่านี้จะต้องถูกตัดขาดให้อยู่ในพื้นที่จำเพาะ นอกเขตอ่างเก็บน้ำที่มีสภาพป่าและชนิดของพืชอาหารแตกต่างไปจากบริเวณลุ่มห้วยแควใหญ่ที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด่านสัตว์ป่าที่เคยใช้ในอดีตจะถูกตัดขาด สัตว์ป่าไม่สามารถเดินตัดป่าหรือภูเขาได้ตามใจชอบ ทำให้สัตว์ป่าต้องจำกัดจำนวนประชากรให้สัมพันธ์กับปริมาณพื้นที่และอาหารที่เหลืออยู่ และการพัฒนาทางด้านกรรมพันธุ์โดยการผสมข้ามระหว่างสัตว์ที่อาศัยอยู่นอกกลุ่มจะถูกจำกัด ทำให้เกิดการผสมกันเอง เกิดลูกหลานที่มีลักษณะด้อยเกิดขึ้นมามาก อันจะเป็นผลต่อการพัฒนาพันธุ์จนทำให้ต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด

5. สูญเสียแหล่งโบราณคดีและแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ สำหรับการขุดค้นทางโบราณคดี ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ ถ้าจะต้องกระทำให้ทั่วพื้นที่ ไม่เหมือนกับการสร้างเขื่อน เนื่องจากข้อจำกัดในการศึกษาแตกต่างกัน ประกอบกับในปัจจุบัน พื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ยังถูกทำลายให้ลดน้อยลง โดยมิได้มีการศึกษาหรือสำรวจอย่างรอบคอบก่อนที่จะถูกใช้ไปเพื่อการพัฒนาทางด้านใดด้านหนึ่ง

6. สูญเสียแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและปลาธรรมชาติ การสร้างเขื่อนน้ำโจนเป็นการปิดกั้นปลาหลายชนิดที่จะขึ้นมาวางไข่และเลี้ยงลูกอ่อนบริเวณต้นน้ำของลำแควใหญ่ตอนบน ผลก็คือจะทำให้ปลาหลายชนิดขาดแหล่งวางไข่ ส่วนปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหลเป็นปลาที่ต้องการปริมาณออกซิเจนสูง ปกติมีอยู่ในลำน้ำแควใหญ่ตอนบนและตามลำห้วยแยกของลำน้ำแควใหญ่ ปลาชนิดดังกล่าวจะสูญพันธุ์ไป เพราะน้ำในอ่างเก็บน้ำเป็นน้ำนิ่งและลึก ปริมาณออกซิเจนมีน้อย ประกอบกับการสำรวจถึงชนิดปลาที่หายากในลุ่มน้ำนี้ยังมิได้มีการกระทำอย่างจริงจัง อาจจะมีปลาชนิดใหม่ที่ยังมิได้มีการพบในประเทศไทยมาก่อน

7. สูญเสียแหล่งกำเนิดและชนิดของสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เนื่องจากการศึกษามิได้กระทำพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ อาศัยการเปรียบเทียบพื้นที่ข้างเคียงเป็นหลัก ดังนั้นการสูญเสียสัตว์ป่าในกลุ่มนี้ไปอาจมากเกินไปกว่าที่จะประเมินไว้

8. สูญเสียปริมาณน้ำที่มีอยู่เดิมในบริเวณต้นน้ำแควใหญ่ เนื่องจากเขื่อนน้ำโจนจะต้องเก็บกักน้ำส่วนหนึ่งไว้เป็นน้ำสำรอง เพื่อที่จะให้เป็นตัวหนุนน้ำส่วนที่จะใช้หมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้สูงขึ้นถึงระดับปากอุโมงค์ น้ำส่วนนี้จะถูกกักเก็บไว้ตลอดไปไม่สามารถปล่อยมาใช้ได้ จึงทำให้ปริมาณน้ำจากต้นน้ำแควใหญ่ตอนบนไม่สามารถไหลลงสู่ที่ราบลุ่มบริเวณ ปากแม่น้ำได้

9. สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ เนื่องจากเขื่อนจะกั้นเอาตะกอนที่มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชไว้ ดังนั้น น้ำส่วนที่เหลือจากการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการกสิกรรมของเกษตรกรบริเวณปากแม่น้ำ เกษตรกรต้องปรับปรุงดินโดยการใส่ปุ๋ยมากขึ้น เพราะปุ๋ยธรรมชาติที่จะมากับน้ำถูกกักเก็บเอาไว้

 

สรุป

การก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนจะทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อทรัพยากรที่มีเหลืออยู่เป็นแหล่งสุดท้ายของประเทศ ถึงแม้จะมีการแก้ไขผลกระทบที่ดีเพียงใดก็ตาม แต่พื้นที่ป่าที่ลุ่มต่ำไม่น้อยกว่า 140 ตารางกิโลเมตรของลุ่มน้ำแควใหญ่ตอนบนจะต้องสูญหายไปอย่างแน่นอน แหล่งรวมทางพันธุกรรมของพืชและสัตว์ในบริเวณที่จะถูกน้ำท่วม จะต้องสูญสิ้นไป

ในที่นี่ยังไม่รวมถึงผลกระทบในทางอ้อมที่จะเกิดจากการก่อสร้าง อาทิ การตัดถนนเข้าไปบริเวณหัวงาน การตัดเส้นทางชักลากไม้ออกจากบริเวณอ่างเก็บน้ำและการกระทำอย่างอื่นๆ ที่เป็นการละเมิดกฎหมายที่จะเกิดขึ้นติดตามมาเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้น และกำลังเกิดอยู่ในพื้นที่ที่มีการเปิดประตูป่าเข้าไปเพื่อการพัฒนา จนทรัพยากรที่สำคัญของชาติโดยส่วนรวมที่ยังเหลืออยู่ต้องหมดสิ้นไปและไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้

มาตรการที่ดีสำหรับใช้ในการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้หมดไป หากจะนำมาใช้ในการป้องกันส่วนที่เหลืออยู่ให้คงอยู่และอำนวยประโยชน์อันยาวนานต่อไป สำหรับการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ย่อมจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้องสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย

เพราะประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายในโลกต่างก็รู้ซึ้งถึงการทำลายทรัพยากรเพื่อการพัฒนาประเทศ จนต้องหันมาอนุรักษ์ทรัพยากรที่กำลังจะหมดไปในภูมิภาคส่วนอื่นของโลก

แล้วเหตุใดเราจะมาทำลายมรดกชิ้นสุดท้ายให้สูญสิ้นไป

 


ที่มา จุลสารนักนิยมธรรมชาติ ปีที่ 4 ฉบับที่ 21 พฤศจิกายน – ธันวาคม 2530