การวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแควใหญ่ตอนบน ด้านทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า จากรายงานและแผนการแก้ไขผลกระทบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแควใหญ่ตอนบน ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งประกอบด้วยการสร้างเขื่อนน้ำโจนและเขื่อนทิคอง ได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบของโครงการโดย กฟผ. และวิเคราะห์ความเหมาะสมของแผนการแก้ไขผลกระทบโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งผู้เขียนได้พิจารณาพบว่ามีข้อบกพร่องของหลักการวิเคราะห์หลายๆ ประการ ที่ผู้รายงานอาจมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาในการบิดเบือนข้อเท็จจริง แต่ข้อมูลที่ปรากฏก็สามารถทำให้ผู้มีอำนาจในการอนุมัติโครงการตัดสินใจผิดพลาดได้ จึงควรที่จะมีการโต้แย้งเพื่อความถูกต้อง และเพื่อเป็นตัวอย่างข้อควรระวังสำหรับการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
การวิเคราะห์โครงการสำหรับด้านทรัพยากรสัตว์ป่าและป่าไม้ ซึ่งจะต้องสูญเสียไปหลังจากการเก็บกักน้ำ ทั้งการสูญเสียจากถูกน้ำท่วมโดยตรงและทางผลกระทบที่เกิดตามมา ในการประเมินความเสียหายของทรัพยากรเหล่านี้บางส่วน (ซึ่งเป็นส่วนน้อย) สามารถตีราคาเป็นตัวเงินได้ เช่น มูลค่าของไม้ที่ถูกน้ำท่วม การตัดไม้เพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างและสร้างถนน แต่ทรัพยากรธรรมส่วนใหญ่ไม่สามารถประเมินเป็นเงินได้ อาทิ ชีวิตสัตว์ป่าที่ถูกน้ำท่วมตาย ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ความสมดุลของนิเวศวิทยา สภาวะอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ คุณภาพน้ำ ฯลฯ ล้วนมีค่ามหาศาลไม่สามารถนำกลับคืนมาได้ สิ่งเหล่านี้มักถูกละเลยโดยไม่มีการนำมารวมเป็นค่าเสียหายในโครงการ และไม่มีแม้แต่แผนการป้องกันใดๆ
การวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ และแผนการแก้ไขผลกระทบของโครงการแควใหญ่ตอนบนของ กฟผ. มีข้อผิดพลาดหลายด้าน
ด้านทรัพยากรป่าไม้
1. วิธีการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ (Forest Inventory)
ในการสำรวจชนิดและปริมาณของพืชที่สูญเสียไปหลังจากการกักเก็บน้ำ โดยจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ (Reservoir area) ได้ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือเพราะวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
1.1 ผู้สำรวจมิได้สำรวจในพื้นที่ที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ แต่สำรวจในพื้นที่ตัวแทนนอกอ่างเก็บน้ำ
1.2 พื้นที่สำรวจมีแปลงตัวอย่างจำนวน 336 แปลง คิดเป็นร้อยละ 0.25 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำเท่านั้น
1.3 รายงานมิได้ระบุระยะเวลาและช่วงเวลาของหารสำรวจ
2. วิธีประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของไม้ในพื้นที่ถูกน้ำท่วม
2.1 มูลค่าของไม้ที่สูญเสียไปในอ่างเก็บน้ำ คิดจากพื้นที่เหนือเขื่อนน้ำโจนเท่านั้น ส่วนพื้นที่เหนือเขื่อนทิคองซึ่งเป็นเขื่อนร่วมในโครงการแควใหญ่ตอนบนไม่ได้นำมาคิดด้วย
2.2 มูลค่าของไม้ในอ่างเก็บน้ำที่จะเพิ่มพูนเป็นประโยชน์ต่อการนำออกมาใช้สอยในแต่ละปี โดยไม่ตัดฟันไม้ส่วนที่เป็นต้นทุนจะได้ส่วนที่เพิ่มพูนปีละ 2.5 % คิดเป็นมูลค่าปีละ 53.1 ล้านบาท ซึ่งผลประโยชน์นี้จะต้องสูญเสียไปเมื่อมีการสร้างเขื่อน แต่รายงานของ กฟผ. คิดมูลค่าเพียงปีละ 15.8 ล้านบาท (โดยหักค่าใช้จ่ายในการทำไม้ออก) ทำให้มูลค่าความเสียหายลดลงจากความเป็นจริงมาก
2.3 มูลค่าไม้ที่เพิ่มพูนแต่ละปีจะอำนวยประโยชน์ตลอดไป ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล แต่รายงานฉบับนี้ประเมินค่าเพียง 50 ปีตามอายุโครงการ
2.4 มูลค่าของไม้ที่ถูกน้ำท่วมรวมทั้งมูลค่าเพิ่มพูนของไม้ควรจะถือเป็นความสูญเสีย ในรายงานกลับนำมูลค่าไม้ที่ตัดออกจากอ่างเก็บน้ำเป็นผลพลอยได้ของโครงการ เพื่อให้เห็นประโยชน์ของโครงการมากยิ่งขึ้น
3. แผนการแก้ไขผลกระทบของโครงการต่อทรัพยากรป่าไม้
3.1 งานควบคุมและป้องกันการทำลายป่าไม้ต้นน้ำลำธาร บริเวณที่จะก่อสร้างโครงการเขื่อนน้ำโจนและเขื่อนทิคอง เป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญของเขื่อนศรีนครินทร์ จึงจำเป็นต้องจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ป่าทั้งทางบกและทางน้ำ โดย กฟผ. จะจัดสรรงบประมาณป้องกันจนกว่าเขื่อนจะแล้วเสร็จ หลังจากนั้นกรมป่าไม้จะต้องจัดสรรงบประมาณเอง แสดงให้เห็นว่า กฟผ. ตระหนักดีว่าการสร้างเขื่อนจะเป็นการทำลายป่าต้นไม้ลำธาร แต่ก็ยังคงมีโครงการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องมีการตามแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่าต่อไปในทุกๆ ครั้ง
3.2 งานอพยพราษฎรประมาณ 200 ครอบครัว ที่ได้บุกรุกถือครองป่าสองข้างทางที่ กฟผ. ตัดผ่านเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์เป็นสิ่งยืนยันว่าการตัดเส้นทางผ่านพื้นที่อนุรักษ์ใดก็ตาม จะชักนำให้มีการบุกรุกทำลายป่าอย่างรวดเร็ว
3.3 งานทำไม้ออกและงานถางป่าในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ได้มีการกล่าวถึงมูลค่าไม้ที่จะได้จากการทำไม้และแผนการถางเผาป่า เพื่อลดผลกระทบต่อคุณภาพน้ำและระบบนิเวศน์ เป็นการเสนอวิธีการเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทนเชิงเศรษฐกิจ และเป็นการทำลายล้างระบบนิเวศน์ให้สูญสิ้นไป
3.4 โครงการนี้นอกจากจะสูญเสียป่าสำหรับเป็นอ่างเก็บน้ำ ยังจะต้องสูญเสียพื้นที่รองรับการตั้งถิ่นฐานใหม่ของราษฎรที่ถูกอพยพอีก 5.12 ตารางกิโลเมตร และต่อไปก็จะมีการบุกรุกพื้นที่รอบๆ ออกไปอีก
ทรัพยากรด้านสัตว์ป่า
1. วิธีการสำรวจสัตว์ป่า
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ได้ใช้วิธีการสอบถามจากชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประกอบการสำรวจ ทำให้ได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่เหมาะสมพอที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ ดังนี้
1.1 ในรายงานพบสัตว์ป่าประมาณ 195 สกุล ซึ่งควรจะเป็นการพบสัตว์ป่า 195 ชนิดมากกว่า
1.2 มิได้ระบุระยะเวลาและช่วงเวลาของการสำรวจ
1.3 มีการพบเห็นสัตว์หลายชนิด ที่มิได้มีถิ่นอาศัยในบริเวณภาคตะวันตกของประเทศ อาทิ บ่าง (Cynocephalus variegatus) เม่นใหญ่แผงคอยาว (Hystrix brachyura) นากใหญ่จมูกขน (Lutra sumatrana) และกระจงควาย (Tragulus napu) ล้วนเป็นสัตว์ที่มีการกระจายบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยทั้งสิ้น
2. การศึกษาการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์ป่า
ผู้สำรวจรายงานว่าไม่เชื่อว่าจะมีการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์ป่าในพื้นที่กว้างๆ และไม่ควรจะมีการอพยพไปมาระหว่างประเทศพม่าและประเทศไทย ซึ่งขัดแย้งกับการศึกษาของ Lakagul และ McNeely (1977) ที่ยืนยันว่าสัตว์ป่าขนาดใหญ่มีการอพยพย้ายที่หากินบริเวณกว้างในรอบปี ทั้งนริศและศักดิ์สิทธิ์ (2520) ซึ่งเป็นนักวิจัยสัตว์ป่าก็พบว่า ช้างซึ่งมีมากกว่า 300 เชือกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งจะหากินทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำแควใหญ่ในฤดูร้อนเพราะเป็นบริเวณป่าไม่ผลัดใบ มีแหล่งน้ำสมบูรณ์ แต่พอถึงฤดูฝนบริเวณนั้นจะชื้นเกินไป มีแมลงรบกวน ช้างจะอพยพข้ามลำน้ำแควใหญ่มาหากินทางทิศตะวันออกและเลยเข้ามาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นบริเวณอับฝน หมุนเวียนอย่างนี้ทุกๆ ปี
การสร้างเขื่อนในลำน้ำแควใหญ่ตอนบน จะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขวางกั้นการอพยพย้ายถิ่นของช้างและสัตว์อื่นๆ ทำให้พฤติกรรมของสัตว์เหล่านี้ต้องเปลี่ยนไป ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลกระทบติดตามมาอีกมากมาย ทั้งการอยู่รอด การสืบพันธุ์ การขยายพันธุ์ ฯลฯ
3. การช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ตกค้างออกจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ
3.1 ได้วางแผนการอพยพสัตว์ป่าโดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการเพียง 10 เดือน ซึ่งจะเริ่มต้นในช่วงท้ายของการเก็บกักน้ำ นับเป็นการวางแผนที่ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง ที่จะต้องมีสัตว์เสียชีวิตในช่วงต้นของการเก็บกักน้ำนั้นมากมาย โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือ
3.2 ได้มีการเสนอแนะว่าสมควรมีการติดตามผลในระยะยาวสำหรับสัตว์ที่ได้รับการช่วยเหลือว่า สามารถดำรงชีวิตแพร่พันธุ์ในสถานที่ใหม่หรือไม่ แต่ก็มิได้กำหนดไว้ในแผนการแก้ไขผลกระทบของโครงการแต่อย่างใด