อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อนโลกมัวมน part 1

อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อนโลกมัวมน part 1

หากเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก สมบัติที่พระเจ้าทิ้งไว้ให้มนุษย์หลังการสร้างโลกก็คือทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นทรัพย์ล้ำค่าที่มนุษย์จะเก็บเกี่ยวใช้สอยไปได้ตลอดหลายรุ่นคน และดูเหมือนดุลยภาพของสิ่งแวดล้อมในยุคเก่าก่อน จะทำให้ทุกชีวิตในขณะนั้นอยู่เย็นเป็นสุข

จนเมื่อโลกเดินทางมาถึง พ.ศ. ของการเร่งกินเร่งใช้ มนุษย์เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ‘สมบัติของพระเจ้า’ มากมายเกินจำเป็น ทำให้ทรัพยากรในปัจจุบันอยู่ในภาวะวิกฤต และกำลังสำแดงผลร้ายให้ปรากฏแก่ตาในคนรุ่นนี้

การพัฒนาประเทศโดยขาดความระมัดระวังถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เท่ากับมนุษย์กำลังลบวันดูโลกของตัวเองลงทีละวัน เพราะถ้าสิ้นป่าไม้ ขาดสัตว์ป่า น้ำเน่าเหม็น ทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ หดหาย ก็ยากที่มนุษย์จะดำรงชีพอยู่ได้โดยลำพัง

ก่อนถึงวันโลกมัวมน บางทีบทสนทนาของสองนักวิชาการด้านการอนุรักษ์ สืบ นาคะเสถียร และสุรพล ดวงแข อาจทำให้หลายคนได้คิด และชีวิตของโลกจะยืนยาวต่อไป

 


 

สารคดี : อยากให้ทั้งสองท่านช่วยอธิบายความหมายของคำว่า ‘อนุรักษ์’

สุรพล : ผมไม่ยึดถืออะไรมาก การอนุรักษ์นั้นเราควรจะมองในจุดที่ว่า ควรใช้ประโยชน์ในสิ่งที่มีอยู่ให้ได้ผลคุ้มค่าที่สุด สมมติว่าพูดถึงเรื่องป่าไม้ เราจะอนุรักษ์ป่าไม่ใช่ว่าเราเพียงรู้สึกว่ารักมัน และอยากจะเห็นอะไรเขียวๆ…เท่านั้นไม่พอ เราต้องมองลงไปให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้มันสำคัญ ให้ประโยชน์แก่เราอย่างไร ในจุดนี้มันคือจุดที่เราจะมองว่า ทำไมเราต้องอนุรักษ์มัน จะได้ตอบคำถามได้ ไม่งั้นมันมีสิ่งที่โต้กลับมาสำหรับหลายๆ ครั้งที่มีคนตั้งคำถามว่า พวกนักอนุรักษ์เป็นพวกคลั่งไคล้ต่อธรรมชาติจนเกินไป จนอะไรก็แตะต้องไม่ได้ ต้องออกมาต่อต้าน…จริงๆ แล้วไม่ใช่ จุดที่นักอนุรักษ์ต้องการก็คือ ให้มีการเลือกใช้ อย่างการสร้างเขื่อน ถ้าคิดว่าสร้างเขื่อนจำเป็นที่สุดแล้ว ไม่สร้างเขื่อนเราตายแน่…อย่างนี้ก็สมควร แต่ถ้ายังมีทางเลือกอื่น เช่น หาเทคโนโลยีอื่นๆ หรือว่ามีหนทางในการลดพลังงานเราก็ใช้วิธีนั้น ถ้าเราใช้ทรัพยากรโดยไม่คำนึงว่าใช้อย่างไร มันก็ไม่ใช่การอนุรักษ์

สืบ : ที่จริงแล้วคำว่า Conservation หรือการอนุรักษ์ คือการรักษาโดยไม่ทำให้มันเปลี่ยนสภาพ แต่ก็มีคำจำกัดความในอีกความหมายว่า การอนุรักษ์ก็คือการรักษาและนำบางส่วนมาใช้ประโยชน์ แต่การใช้ประโยชน์นั้น ตัวมันเองจะต้องคงอยู่ด้วย เราต้องรู้ว่ามีต้นทุนอยู่เท่าไหร่ แล้วมันงอกเงยเท่าไหร่ เราก็ใช้แต่ส่วนที่งอกเงยนั้น นั่นคือเราต้อง ‘รู้จักใช้ประโยชน์’ และ ‘ฉลาดใช้’ แต่ก็มีคนเอาความหมายนี้ไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง คือใช้ทรัพยากรโดยไม่ได้มองถึงคุณค่าในแง่อื่นมากไปกว่าคุณค่าทางเศรษฐกิจ เรามองแต่ว่าทำอย่างไรถึงจะเอาทรัพยากรนั้นมาใช้ให้ได้มากที่สุด

สิ่งที่ผมมักพูดอยู่เสมอก็คือ ป่าเราเก็บไว้เฉยๆ ก็เป็นการอนุรักษ์ที่เราได้ประโยชน์ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปตัดมาใช้ ต้นไม้ให้อากาศ ให้น้ำ…นี่ก็เป็นการใช้ใช่ไหม ใช้โดยที่เราไม่ต้องไปตัดส่วนของมันออกมาใช้

สารคดี : หมายความว่าทางที่ดีเราไม่ควรไปแตะต้นทุนเลย

สืบ : ปกติแล้วการใช้ทรัพยากรควรจะให้มีต้นทุนเหลืออยู่ เพราะทรัพยากรมีอยู่สองแบบ คือแบบที่งอกเงยได้กับแบบที่งอกเงยไม่ได้ ถ้างอกเงยไม่ได้เราก็ต้องรู้ว่าเราจะใช้มันอย่างไร แล้วมันจะหมดเมื่อไหร่ ถ้างอกเงยได้อย่างป่าไม้ เราตัดเอาส่วนที่มันเพิ่มพูนขึ้นมาเป็นรายปีต่อพื้นที่ เราสามารถตัดได้ตลอดไปโดยที่ตัวมันเองไม่ได้เสียหายอะไร แต่อย่างที่พูดแล้วว่า การใช้ประโยชน์ในบ้านเรา เรามองในแง่ว่าเราจะเอาประโยชน์จากมันโดยตรง โดยไม่ได้ให้คุณค่าในการใช้ประโยชน์ทางอ้อมก็เลยทำให้ทรัพยากรถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็ว จนถึงขนาดป่าไม้เหลือไม่ถึงยี่สิบเปอร์เซ็นต์ มันน่าจะอยู่ในช่วงวิกฤต ไม่น่าใช้ต่อไปแล้ว


ในความรู้สึกของผม เราไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงกันหรอกว่า
เราจะใช้ป่าไม้อย่างไร เพราะมันเหลือน้อยมากจนไม่ควรใช้
จึงควรจะรักษาส่วนนี้เอาไว้เพื่อให้เราได้ประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ทางอ้อม

 

ผมอาจจะพูดไม่ตรงประเด็น แต่มันมีอะไรที่ต้องพูดถึงเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะเคยมีการถกเถียงกันว่า พวกอนุรักษ์มันเอาแต่เก็บไว้… ไม่เกิดประโยชน์อะไร เทียบง่ายๆ อย่างป่าอนุรักษ์กับป่าสงวน ป่าสงวนคือป่าที่เรากำลังใช้ประโยชน์จากมันแล้วเราใช้ประโยชน์กับมันถูกต้องหรือยัง ถ้ามีการควบคุมอย่างดี ป่าสงวนก็จะมีการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง นั่นคือการอนุรักษ์อย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่าเรายกเอาคำนี้มาใช้ว่าป่าที่รักษาโดยไม่ให้มีการทำไม้ ไม่ให้มีการขุดแร่หรือเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นป่าอนุรักษ์ คำจำกัดความอาจจะเป็นอย่างหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติเพื่อจะรักษาอะไรสักอย่างหนึ่ง มันจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ จะต้องมองว่ามีการใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ป่าที่เก็บไว้ในรูปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยาน ควรจะใช้ประโยชน์ในทางอ้อม

สุรพล : ผมมีจุดเสริมนิดหนึ่งในแง่ที่ว่า มีบางคนแย้งขึ้นมาว่า จริงๆ แล้วในธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เช่น ถ้าพูดถึงเรื่องทางโบราณคดี ที่เขาพบว่าในเขตประเทศอาหรับเมื่อก่อนเคยเป็นป่า แต่ต่อมาได้กลายเป็นทะเลทราย บางแห่งเป็นทะเลทรายเพราะมีการใช้ทรัพยากรป่าไม้มากเกินไป แต่หลายแห่งเป็นทะเลทรายโดยธรรมชาติ อย่างเช่น ซาเฮลในแอฟริกา เป็นรอยต่อของทะเลทรายซาฮาร่ากับบริเวณป่าในแอฟริกา ซึ่งซาเฮลจะขยายไปทุกปี เป็นไปโดยธรรมชาติของมัน ในจุดนี้ถ้าเรามาพูดถึงคำจำกัดความที่ว่า อะไรคือเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติ แล้วอาจจะพูดอีกว่า เอาละเมื่อธรรมชาติเปลี่ยนแปลงได้มันก็จริงอยู่ แต่ว่าขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติมันมีความละเอียดอ่อน ไม่เหมือนกับการที่มนุษย์กระโดดเข้าไปเปลี่ยนแปลงมันจากป่าดงดิบกลายเป็นทะเลทราย เราจะเห็นว่าหนังสารคดีชีวิตสัตว์ที่เราเคยชมกันทางโทรทัศน์ ในทะเลทรายก็มีความเป็นชีวิตชีวาเหมือนกัน มีสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย งู หนู แมลงต่างๆ มีช่วงที่ทะเลทรายจะมีดอกไม้บานเต็มทุ่ง มันต่างจากบริเวณที่คนเข้าไปแล้วตัดไม้ เผาทิ้งหมดกลายเป็นดินสีแดง เวลาฝนตกก็ชะลงมาเป็นลำธารสีแดงข้น…มันต่างกัน สิ่งเหล่านี้มันผ่านขั้นตอนว่า เมื่อสิ่งนั้นหายไปก็จะมีสิ่งอื่นเกิดมาทดแทน นั่นคือสิ่งที่ว่าทำไมเราต้องอนุรักษ์ เราควรจะรู้ก่อนว่า เราใช้อย่างนี้แล้วจะไม่เกิดปัญหาขึ้น นอกจากนั้นยังเกิดประโยชน์

เพราะว่าในธรรมชาตินั้น อะไรหายไป อะไรถูกทำลายไป มันจะมีสิ่งอื่นขึ้นมาแทนที่ เหมือนกับคนพิการตาบอด เขาเสียตาไปแต่หูเขาจะดีมาก จะไปทางไหนเขาเคาะไม้ทีเดียวก็รู้ว่าห้องนั้นกว้างยาวเท่าไหร่ ตรงนี้ผมอยากเสริมในเรื่องข้อแย้งเรื่องความเปลี่ยนแปลง ที่เราจะมาเน้นตรงจุดนี้ว่าอนุรักษ์ก็คือเราไม่ได้อนุรักษ์สิ่งนั้นเอาไว้บูชา แต่ว่ารักษาสิ่งนั้นไว้เพื่อรู้จักคุณค่าและรู้จักใช้ในวิถีทางที่ถูกต้อง เหมาะกับกาลเวลา บางสิ่งบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้ ตอนนี้น้ำมันอาจจะต้องใช้ตอนนี้…ใช่ แต่ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่าง ภูเขาหลายๆ ลูกก็ไม่จำเป็นต้องระเบิดตอนนี้ หรือว่าในทะเล เกาะหลายเกาะที่ยังมีสภาพปะการังดีอยู่ก็ไม่ควรจะไปแตะต้อง ยังไม่ควรจะไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น แต่ที่ไหนที่ใช้ไปแล้วหรือบริเวณที่ควรใช้ก็ใช้ไป

สารคดี : คุณสืบบอกว่าตอนนี้ป่าไม้อยู่ในช่วงวิกฤต ควรหยุด‘ใช้’ป่าได้แล้ว คุณสุรพลก็บอกว่าต้องใช้ทรัพยากรให้เหมาะกับกาลเวลา แต่ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาประเทศ และแน่นอนว่า จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการนี้… ทางออกในประเด็นนี้ควรเป็นเช่นไร

สืบ : ผมคิดว่าต้องใช้ทรัพยากรอย่างระมัดระวังเพื่อให้การพัฒนาสามารถต่อเนื่องและ ยืนยาวต่อไปได้ ถ้าเราไม่ระมัดระวังในการใช้ ทรัพยากรอาจจะหมดไปก่อน เมื่อถึงวันนั้นเราจะไม่สามารถไปหาทรัพยากรที่ไหนได้อีก

สมัยที่มีการล่าประเทศอาณานิคม ประเทศที่มีกำลังมากๆ ก็อาจจะได้ทรัพยากรต่างๆ จากประเทศอาณานิคมของตน เขาจะรู้สึกว่าเขาสามารถอยู่ต่อไปได้อีกนาน แต่ในปัจจุบันหมดยุคของประเทศอาณานิคมแล้ว ส่วนประเทศไทยนั้นแม้ไม่เคยตกเป็นประเทศอาณานิคม แต่เราก็เอาทรัพยากรไปขายเพื่อแลกกับวัตถุสำเร็จรูป ทรัพยากรจึงถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็ว ผมคิดว่าในยุคนี้ควรจะหยุดใช้ได้แล้ว ยกตัวอย่างป่าไม้หรือสัตว์ป่า สัตว์ป่าหลายชนิดสูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะเรียนรู้ว่ามันให้คุณค่าให้ประโยชน์อย่างไร พร้อมๆ กับพื้นที่ป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าก็หมดไป ป่าไม้หมดไปจนกระทั่งต้องเลิกให้สัมปทาน แต่ในขณะเดียวกันป่าสงวนที่เหลืออยู่รอบๆ พื้นที่อนุรักษ์ก็ไม่ได้อยู่อย่างปลอดภัย ยังมีการบุกรุกเพื่อจะยึดครองพื้นที่ ทุกวันนี้ยังมีการใช้อยู่ ถ้าบอกว่าเราหยุดแล้วตามหลักการ ไม่มีการใช้ ที่จริงมันไม่ใช่ ผมอยากเห็นว่าเราควรจะเปลี่ยนแนวทางที่จะพัฒนา ในความเห็นส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการพัฒนาโดยใช้ทรัพยากรที่เหลืออยู่น้อยนิดนี้ ผมไม่เห็นด้วยที่มัวพูดกันว่า เราจะใช้ทรัพยากรอย่างไรเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่เราควรจะหันมาสนใจว่า เราจะรักษาสภาวะแวดล้อมหรือทรัพยากรที่เหลือยู่จำกัดได้อย่างไร เราต้องประหยัดการใช้ใช่ไหม เราจะต้องหามาตรการควบคุมในทางปฏิบัติให้ได้

สุรพล : ในส่วนของผมค่อนข้างจะตรงกันอยู่จุดหนึ่งคือเรื่องของการประหยัด ทุกวันนี้เรายังไม่ค่อยพูดถึงเรื่องการประหยัดนัก เมื่อเรามองถึงความจำเป็นในการใช้ เรามองว่าคนเราต้องการปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ทุกวันนี้เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน อย่างเรื่องอาหาร เรากินอย่างประหยัดหรือไม่ เรากินอย่างจะให้มีกินตลอดไปหรือไม่ ทุกวันนี้เราไม่ค่อยประหยัดกันเท่าไหร่ แม้จะกินข้าวในสำนักงานก็ซื้อเผื่อกัน เหลือเราก็ทิ้ง กินนิดเดียวก็ทิ้ง ตามร้านอาหารก็มีเศษอาหารเหลือเยอะแยะ
.
พูดง่ายๆ เรื่องน้ำ เรามองว่าประเทศไทยมีน้ำเยอะแยะ เราไม่เคยคิดประหยัดว่าจะใช้น้ำให้คุ้มค่าที่สุด เช่น น้ำเหลือจากการซักล้างเราก็เอาไปรดน้ำต้นไม้… ความประหยัดเป็นจุดหนึ่งของการลดความต้องการที่เพิ่มขึ้น การที่เราจะต้องการพื้นที่การเกษตรปลูกผลิตผลการเกษตรให้มากขึ้น ถ้าเรารู้จักประหยัด เราก็จะไม่ต้องการเพิ่มมากขึ้น เรื่องอาหารก็จะลดลงไป เรื่องพื้นที่ที่จะต้องไปทำลายธรรมชาติก็ลดลงไป อย่างกาแฟ การประชุมหลายแห่งแม้แต่การประชุมนานาชาติ ผมไม่รู้ว่าเทกาแฟทิ้งกันครั้งละเท่าไหร่ แล้วกาแฟมาจากไหน ก็มาจากป่าเขตร้อน ป่าเขตร้อนที่โดนทำลายไปเพราะว่าคนพื้นเมืองต้องการทำลายป่า เพื่อขยายพื้นที่ปลูกกาแฟ เพราะกาแฟราคาดี…มันมีผลถึงกันหมด

พูดถึงเรื่องการใช้ไฟฟ้า เราไม่ได้พูดถึงเรื่องการประหยัดกันเลย ไม่เคยมีคำแนะนำจากหน่วยงานหรือองค์กรไหนว่าตรงไหนบ้างควรจะปิดไฟ ใช้ไฟแบบไหนถึงจะประหยัด ไม่มีใครบอกว่าตู้เย็นใช้ยังไงถึงจะประหยัด คำแนะนำต่างๆ ที่จะรู้ว่าตู้เย็นไม่ควรจะเปิดบ่อยนัก หรือว่าเปิดไว้แค่ไหนจึงจะมีความเย็นพอเหมาะ หรือการใช้พัดลม การใช้เครื่องปรับอากาศ บ้านหลายๆ บ้านไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ถ้ารู้จักหาวัสดุกันความร้อนที่ตอนนี้มีขายอยู่มากมาย หรืออย่างรถยนต์บางครั้งก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้กันมากมายอย่างที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นส่วนหนึ่งว่า


เรายังไม่ได้พูดถึงการประหยัด
เพราะฉะนั้นในยุคนี้
ถ้าพูดถึงความประหยัดมากขึ้น
มันน่าจะลดการใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็นมากยิ่งขึ้น

 

อย่างเช่นเขาอ้างว่าไฟฟ้าไม่พอต้องสร้างเขื่อน ขณะที่เรายังไม่พูดถึงการประหยัดพลังงาน เรายังไม่ได้พูดถึงว่าคนของเราเปิดไฟทิ้งเท่าไหร่ในตอนกลางคืน บ้านแต่ละบ้านเปิดไฟทิ้งเท่าไหร่ บางจุดไม่จำเป็นก็เปิด…เราไม่ได้พูดถึงเลย เราไม่ได้พูดถึงการออกแบบบ้านที่เหมาะสมที่จะลดการใช้พลังงาน ถ้าเราทำในส่วนนั้นแล้ว แล้วยังไม่ดีขึ้น และมันมีความจำเป็นกับปัจจัยของเรา เราค่อยมาพิจารณากันอีกทีว่าควรสร้างเขื่อน แล้วเมื่อสร้างเขื่อนขึ้นมาแล้วมันกระทบกับอะไร เราต้องศึกษาต่อ ในส่วนนี้ผมว่าเราไม่ประหยัดอย่างที่คุณสืบพูด

อีกส่วนหนึ่งคือการดัดแปลงสิ่งที่เรามีอยู่หรือใช้อยู่ สิ่งที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้อีกเราก็ไม่ได้พูดถึง อย่างเช่นขยะ ถ้าเรามองแยกส่วนแล้ว มันไม่ใช่ขยะทั้งหมด แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์ พลาสติกเอาไปใช้ใหม่ได้ แก้ว โลหะ ก็เอาไปหลอมนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่วนที่เป็นขยะจากครัว พวกซากพืชซากสัตว์ พวกนี้ไม่จำเป็นต้องไปกองให้เน่าเหม็น มันสามารถที่จะย่อยสลายได้เร็ว ถ้าเรามีกระบวนการที่เหมาะสม

เช่นเดียวกับน้ำเน่าเสีย มีวิธีการหลากหลายที่จะทำให้น้ำคืนสภาพดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนมาก สิ่งเหล่านี้เรายังไม่ได้พูดถึงเลย ถ้าเรารู้จักนำสิ่งที่เราใช้แล้วหมดไปแล้ว เอากลับมาใช้ใหม่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราลดความต้องการในการใช้ทรัพยากรต่างๆ ลงอีกมากมาย หรือแม้แต่ในคำสอนทางพุทธศาสนาก็ยังพูดถึงเรื่องการใช้จีวรพระสงฆ์ว่า ใช้ได้ตั้งแต่ห่ม ห่มไม่ได้ก็ยังใช้รองนั่ง รองนั่งไม่ไหวแล้วก็เอามาเช็ดพื้น ท้ายที่สุดก็ยังเอาไปผสมโคลนยาฝากุฎิได้

…ผมว่าถ้าเรานึกถึงสิ่งเหล่านี้ว่า จะใช้อะไรให้คุ้มค่า รู้จักนำกลับมาใช้ในบางสิ่งบางอย่าง และมองจุดที่ว่า เรามีความต้องการจริงหรือเปล่า อยู่ในปัจจัยสี่หรือว่าเกินเลยมามากกว่านั้น เราต้องการไฟฟ้าเพื่อมาขยายดิสโก้เธค อาบอบนวด หรืออะไรอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตเราหรือเปล่า หรือว่าเราต้องการไฟฟ้าเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งไปขายต่างประเทศ เพื่อความร่ำรวยของคนบางกลุ่มหรือเปล่า สิ่งนี้เราต้องพิจารณากันให้มาก


อ่านต่อ อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อนโลกมัวมน part 2


นิตยสารสารคดี ฉบับ 65 กรกฎาคม 2533