นิตยสารสารคดีฉบับเก่าเล่มนี้เป็นหนังสือฉบับแรกๆ ที่ตีพิมพ์เรื่องราวเหตุการณ์ช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างที่เขื่อนเชี่ยวหลาน เขียนโดย คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ผู้เขียน ได้ตั้งชื่องานเขียนชิ้นนี้เอาไว้ว่า “อพยพสัตว์ป่า ไม่มีพรุ่งนี้สำหรับลมหายใจ”
ทำไมวันพรุ่งนี้ถึงไม่มีลมหายใจ เราได้ยกเนื้อหาท่อนหนึ่งจากสารคดีมาให้ได้ลองอ่านกันดู
“เจ้าค่างแว่นแม่ลูกอ่อน กำลังพยายามโหนตัวจากกิ่งไม้ต้นนี้ไปยังอีกต้นหนึ่งเพื่อหาลูกไทรมาประทังชีวิต มันไม่ได้กินอะไรมาหลายวันแล้ว และการโหนตัวจากกิ่งไม้ไปมาก็พาเอาเรี่ยวแรงของมันอ่อนล้าลงเรื่อยๆ
ยามนี้สงสารแต่ลูกอ่อนที่เกาะติดแน่นอยู่บนหน้าอกเหี่ยวแห้งของมัน น้ำนมที่เคยคัดแน่นเต็มเต้า ก็เหือดแห้ง… ไม่มีแม้แต่ให้ลูกได้ดูดกินประทังความหิวโหย มีก็แต่เพียงความอบอุ่นของความเป็นแม่เท่านั้นที่จะให้แก่ลูกน้อยได้ในเวลาที่ทุกข์เข็ญเช่นนี้
มันยังคงพยายามปีนป่ายไปตามต้นไม้ต่างๆ ที่ยืนต้นตายกลางท้องน้ำอันเวิ้งว้าง ขอเพียงมีผลหมากรากไม้อยู่บ้าง ความหวังแห่งลมหายใจของชีวิตก็ยังไม่สิ้น
อนิจจา มีเพียงใบไม้ที่แห้งตายรอวันให้สายลมพัดพาร่วงหล่นสู่พื้นน้ำและยามเมื่อสายฝนพัดโปรยกระหน่ำ ความหนาวเหน็บก็แผ่ซ่านไปทั่วร่างผอมซีด สองแม่ลูกได้แต่กกกอดเพื่อหาไออุ่น เพราะปราศจากร่มไม้ชายคาเหมือนเมื่อครั้งก่อน
มันมิอาจเข้าใจได้ว่า ทำไมน้ำจึงท่วมรวดเร็วนัก… รวดเร็วจนมิอาจหนีไปสู่แผ่นดินใหญ่อีกฟากฝั่งได้ทันท่วงที ป่าที่เคยสมบูรณ์ด้วยผลหมากรากไม้… ที่เคยครองชีวิตอย่างสงบสุขไฉนกลายเป็นผืนน้ำกว้างใหญ่ไพศาล
ดวงตากลมใหญ่และสดใส บัดนี้เศร้าหมองและดูอ่อนล้า…
มันคงต้องห้อยโหนกิ่งไม้ต่อไปตราบที่ยังมีความหวังอยู่รังรอง
หลายวันต่อมา…
ขณะที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งแล่นเรือออกไปในท้องน้ำอันกว้างไพศาล พวกเขาก็ได้พบเห็นเจ้าค่างคู่นี้เกาะอยู่บนยอดไม้ที่ยืนตายซากอยู่ไกลลิบ ต่างพากันดีใจที่ยังมีโอกาสได้ช่วยชีวิตเจ้าสัตว์น้อยๆ นี้ก่อนที่มันจะอดตายหรือจมน้ำตาย
แต่เมื่อนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเหล่านั้นแล่นเรือเข้าไปใกล้ มันกลับเป็นซากแห้งๆ ของค่างตัวเมียที่เกาะติดแน่นอยู่บนต้นไม้ โดยมีชิ้นส่วนเล็กๆ ที่สันนิษฐานว่าเป็นลูกน้อยของมันหลงเหลืออยู่ที่บริเวณหน้าอก”
ซึ่งนอกจากเนื้อหาสะท้อนภาพชีวิตของสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น สารคดีชิ้นนี้ยังได้นำเสนอเรื่องราวรูปแบบและกลวิธีการของการอพยพสัตว์ป่าครั้งแรกของประเทศไทย ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคไว้ครบทุกแง่มุม พร้อมมีบทสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ อันประกอบไปด้วย
สัมภาษณ์ คุณบรรลือ ธีรเมธาวิทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการเขื่อนเชี่ยวหลาน
สัมภาษณ์ คุณสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่า อ่านบทสัมภาษณ์
สัมภาษณ์ คุณสุมาลี ชัยพรรถพานิช นักสัตวบาลประจำโครงการ
ผู้สนใจสามารถอ่าน สารคดี “อพยพสัตว์ป่า ไม่มีพรุ่งนี้สำหรับลมหายใจ” ได้ที่ นิตยสารสารคดี