รำลึก สืบ นาคะเสถียร – ทุกเช้าวันที่ 1 กันยายน เพื่อนพ้องน้องที่ที่รู้จักมักคุ้นกับ คุณสืบ นาคะเสถียร และเครือข่ายที่เคยทำงานร่วมกัน จะมารวมตัวกันที่อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เพื่อร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คุณสืบ และทุกสรรพชีวิตที่ล่วงลับไปในป่าแห่งนี้ อันถือเป็นธรรมเนียมของพุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดในอดีต
จำได้ว่าเมื่อครบปีแรกที่คุณสืบจากไป ในเช้าวันที่ 1 กันยายน 2534 นอกจากพิธีสงฆ์แล้วยังมีพิธีวางศิลาฤกษ์ฐานรูปปั้นคุณสืบ มีท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัน เป็นประธาน ส่วนพิธีสงฆ์นั้นจัดกันยังบ้านที่คุณสืบเสียสละชีวิต อาศัยพื้นที่ตรงระเบียงบ้านใช้ทำพิธี ก่อนย้ายมาใช้พื้นที่อาคารอนุสรณ์สถานเมื่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2536
เมื่อทำบุญกันเป็นที่เรียบร้อย ในช่วงสายจะเป็นพิธีรำลึกคุณสืบ โดยการวางพวงมาลาที่หน้ารูปปั้น ปกติมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีเป็นประธาน มีองค์กรหลากหลายเข้าร่วมพิธี ทั้งภาครัฐ สถานศึกษา และประชาชน มีข้อสังเกตว่าที่นั่นนิยมใช้พวงมาลาที่ผลิตจากผ้าขาวม้า เมื่อเสร็จงานผ้าขาวม้าเหล่านี้จะมอบต่อไปยังผู้พิทักษ์ป่า เหมือนเป็นของฝากเล็กๆ น้อยๆ จากพี่สืบถึงน้องๆ
เดิมทีงานทำบุญในเช้าวันที่ 1 กันยายน เป็นเรื่องที่รู้กันของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่อยากทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้มิตรผู้จากไป ไม่ได้ตั้งใจจะจัดงานให้ใหญ่โต แต่ก็มีสาธารณชนที่รู้จักเรื่องราวของคุณสืบเดินทางไปร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกๆ ปี มีผู้คนเดินทางมาแสดงความเคารพคุณสืบอย่างไม่ขาดหาย
โดยเฉพาะในปีแรกๆ ที่ต้องขอขอบคุณไปยังสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวสารเรื่องราวของคุณสืบ และการทำงานของมูลนิธิอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สาธารณชนทราบข่าวเรื่องการทำบุญและเดินทางมาร่วมงานกันคับคั่ง บางท่านที่เดินทางมาจากที่ไกลๆ ก็เข้าพักค้างแรมกันในคืนวันที่ 31 สิงหาคม ฟังเสียงธรรมชาติและหมู่เหล่าสรรพสัตว์ ก่อนจะร่วมพิธีทำบุญในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้นแล้วเดินทางกลับไปทำงานกันตามปกติ
ตรงนี้ต้องขอแสดงความนับถือในน้ำใจของผู้เดินทางมาร่วมงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงสองสามปีแรกที่คุณสืบจากไป ถนนหนทางยังไม่สะดวกสบายเหมือนในปัจจุบัน ถนนสายลานสักที่ตัดผ่านหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายังเป็นเพียงเส้นทางดินลูกรัง ส่วนทางเข้าป่าห้วยขาแข้งเรื่อยมาจนถึงบ้านคุณสืบนั้นยิ่งเต็มไปด้วยความทุลักทุเล ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝนความลำบากก็ยิ่งมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว แต่กระนั้นสาธารณชนก็ยังเดินทางมุ่งหน้ามาเคารพดวงวิญญาณของคุณสืบด้วยจิตศรัทธามหาศาล
เมื่อทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเห็นว่ามีสาธารณชนเข้ามาร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก จึงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะได้บอกเล่าเรื่องราวผืนป่าสัตว์ป่า ถ่ายทอดให้คนที่ไม่ค่อยได้สัมผัสหรือรับรู้ได้เข้าใจว่าสิ่งที่คุณสืบพยายามรักษานั้นมีคุณค่าอย่างไร จึงได้จัดเวทีบรรยายให้ความรู้เรื่องผืนป่าสัตว์ป่าโดยเจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้ง บางปีก็เป็นการบรรยายของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ บอกเล่าถึงทรัพยากรสัตว์ป่าในห้วยขาแข้ง บางปีก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับป่าไม้ อย่างเช่นในปีแรกได้มีเวทีพูดคุยในหัวข้อ “1 ปีที่ผ่านมาของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง” โดย นายชัชวาลย์ พิศดำขำ “ป่ากันชน” โดย ป่าไม้เขตอุทัยธานี “กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า” โดย นายบุญเลิศ อังศิริจินดา
เมื่อทำกิจกรรมซ้ำเข้าหลายๆ ปี งานรำลึกคุณสืบจึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีรูปแบบกิจกรรมมากขึ้นเพื่อรองรับประชาชนที่อยากเข้ามารำลึกถึงคุณงามความดี บางปีมีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก นับรายชื่อที่จุดลงทะเบียนได้เป็นหลักพัน บางปีก็มีไม่มาก ขึ้นอยู่กับว่ามีกิจกรรมอะไร และช่วงคืนวันที่ 31 สิงหาคมตรงกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือไม่
ปกติกิจกรรมรำลึก สืบ นาคะเสถียร เริ่มกันตั้งแต่ในช่วงเช้าของวันที่ 31 สิงหาคม มีกิจกรรมเดินศึกษาธรรมชาติบนเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติในป่าห้วยขาแข้ง มีการจัดแสดงนิทรรศการชีวประวัติของคุณสืบ นิทรรศการงานอนุรักษ์ผืนป่าสัตว์ป่า บางปีมีหน่วยงานเครือข่ายนักอนุรักษ์หลายแห่งมาร่วมจัดนิทรรศการเพิ่มความหลากหลายของเนื้อหา บางปีมีศิลปินและช่างภาพมาร่วมแสดงผลงานภาพวาด ภาพถ่าย ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า สัตว์ป่า ให้ผู้มาร่วมงานได้เห็น ส่วนเวทีบอกเล่าความรู้ทางวิชาการก็ยังคงจัดกันไม่ขาดหาย
อีกภาคหนึ่งของกิจกรรมวันรำลึก สืบ นาคะเสถียร คือเวทีในช่วงหัวค่ำทอดยาวไปจนถึงกลางคืน เวลาประมาณสองถึงสามทุ่มผู้ร่วมงานจะรวมตัวกันที่ลานหินโค้งรูปครึ่งวงกลมอันมีเพดานเป็นหมู่ดาวของอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร ฟังเสวนา ดนตรี เรื่องเล่ารำลึกความคิดและกิจกรรมอนุรักษ์ของคุณสืบ จากเพื่อนพ้องน้องพี่ เมื่อได้เวลาอันสมควร ก็จะเดินต่อแถวกันบนถนนกลีบดอกกุหลาบไปจุดเทียนรอบรูปปั้นคุณสืบ เป็นห้วงเวลาของความสงบที่ต่างคนต่างมีความในใจที่จะพูดคุยกับคุณสืบ และต่างสัญญาว่าจะสืบสานเจตนาของคุณสืบ ดั่งแสงเทียนที่ไม่เคยดับ…
ในช่วงปีหลังๆ นี้ เครือข่ายป่าชุมชนในเขตพื้นที่ป่ากันชนห้วยขาแข้งได้กำหนดให้วันรำลึกคุณสืบ (31 สิงหาคม) เป็นวันที่เครือข่ายและเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจะได้มาพบปะร่วมประชุมหารือครั้งใหญ่ เพื่อวางแผนการทำงานป้องกันรักษาผืนป่าร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในบางปียังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่นเข้ามาร่วมจัดกิจกรรมเผยแพร่เรื่องราวของคุณสืบ แนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของป่าไม้ มีกิจกรรมเดินขบวนรณรงค์กันในตลาดอำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี หรือบางปีก็มีกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมละแวกใกล้เคียงจำลองบรรยากาศจุดเทียนรำลึกถึงคุณสืบ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือตลาดนัด ไว้ให้สำหรับคนที่ไม่สะดวกเดินทางเข้าไปชมในบริเวณที่ทำการสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้มีโอกาสร่วมกิจกรรม
สำหรับบางคนที่ไม่สะดวกในการเดินทางไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มูลนิธิสืบฯ ได้จัดงานรำลึกที่กรุงเทพฯ ไว้เป็นอีกงานหนึ่งเพื่อเปิดโอกาสให้คนในเมืองได้รับรู้เรื่องราว แนวคิด งานอนุรักษ์ และการทำงานของ คุณสืบ นาคะเสถียร รวมถึงบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของมูลนิธิสืบฯ ว่าในแต่ละปีได้ดำเนินกิจกรรมอะไรไปแล้วบ้าง
การจัดงานรำลึกคุณสืบที่กรุงเทพฯ นับเป็นอีกหนึ่งงานที่มูลนิธิสืบฯ ให้ความสำคัญและดำเนินกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่ปี 2534
ในระยะแรกงานที่กรุงเทพฯ แบ่งกิจกรรมเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ การนำเสนอผลงานมูลนิธิสืบฯ กิจกรรมสัมมนาเรื่องราวผืนป่าสัตว์ป่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อม กับอีกกิจกรรม คือ คอนเสิร์ตระดมทุนหารายได้เพื่อใช้ในการทำงานต่อไป
งานรำลึกสืบ นาคะเสถียร ที่กรุงเทพฯ ในปีแรกจัดขึ้นที่สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา (เอ.ยู.เอ) ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน มีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายหัวข้อ “รู้จักใช้ รู้คุณค่า และรู้รักษาสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นการจัดประกวดภาพถ่ายโดยนิตยสารสารคดี มีการแถลงข่าวผลงาน 1 ปี แรกของมูลนิธิสืบฯ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า ที่ต้องบันทึกลงรายละเอียดในงานรำลึกคุณสืบครั้งแรกเป็นสำคัญ เพราะเป็นดังจุดเริ่มต้นของการจัดงานเรื่อยมาและมีกิจกรรมสำคัญในปีแรก คือ ผู้แทนจาก UNEP ได้มอบรางวัล Global 500 Award ให้แก่คุณสืบ นาคะเสถียร มีคุณสลับ นาคะเสถียร บิดาของคุณสืบเป็นผู้แทนรับมอบ และมูลนิธิสืบฯ ยังได้ก่อตั้ง “รางวัลสืบนาคะเสถียร” เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่คนทำงานอนุรักษ์อย่างเข้มแข็ง รางวัลสืบ นาคะเสถียร ในปีแรกได้มอบให้แก่ คุณวีรวัธน์ ธีระประสาธน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร (ในเวลานั้น) และเป็นเพื่อนสนิทคุณสืบที่ร่วมกันคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนมาด้วยกัน
กิจกรรมวันรำลึกคุณสืบ นาคะเสถียร ในภาคเมืองเน้นจัดในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ บางปีอาจไม่ตรงกับวันที่ 1 กันยายน แต่พยายามให้อยู่ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน ไม่ให้วันห่างออกไปไกลมากนัก รูปแบบงานค่อยๆ ขยับขยายทั้งใหญ่ทั้งเล็กกันตามโอกาส เน้นภาควิชาการ ความรู้ และผลงานองค์กร สลับกับภาคบันเทิง มีศิลปินทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็กมาร่วมงานกันมากมาย ศิลปินบางท่านใช้โอกาสนั้นเขียนเพลงเล่าเรื่องราวของคุณสืบให้ได้ฟังกันในหลายๆ แง่มุมตามแต่ที่ศิลปินแต่ละคนจะตีความ งานคอนเสิร์ตจะไปจัดกันที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพราะมีพื้นที่กว้างขวาง พอสำหรับการจัดแสดงนิทรรศการ และจัดกิจกรรมระดมทุน
บางปีจัดกันวันเดียวบ้าง บางปีก็จัดหลายวัน ที่เห็นใช้เวลาจัดงานนานๆ ก็ตอนรำลึก 20 ปี สืบ นาคะเสถียร ปีนั้นจัดกันยาวถึง 20 วัน (ใช้ชื่องานว่า 20 วัน 20 ปี สืบ นาคะเสถียร หรือ 20 Days 20 Years Seub Nakhasathien) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก็มีเสียงตอบรับค่อนข้างดี มีสาธารณชนเดินทางมาร่วมชมงานตลอดทุกวัน
ในบางแง่มุมของงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงผลงานขององค์กร แต่เหมือนวันรวมญาติ รวมคนทำงานสิ่งแวดล้อมให้เพื่อนพ้องน้องพี่มาพบกันปีละครั้ง ในบางปีมีกิจกรรมช่วยเหลือเพื่อนฝูงและเครือข่าย เช่น การจัดระดมทุนเพื่อหารายได้ให้แก่องค์กรสิ่งแวดล้อมที่ทำงานร่วมกันในฐานะเครือข่ายกันมาอย่างยาวนาน เช่นเมื่อวาระ 26 ปีที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรมระดมทุนหารายได้มอบให้มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกไว้ใช้สำหรับทำงาน
ในระยะหลังรูปแบบการจัดงานได้พัฒนามาเป็นงาน “จากป่าสู่เมือง” มีคอนเส็ปต์นำเสนอเรื่องราวจากผืนป่าผลัดเปลี่ยนกันตามวาระโอกาสและประเด็น คงรูปแบบการจัดงานไว้ 3 วัน ตั้งแต่วันศุกร์จนถึงวันอาทิตย์ ในช่วงสัปดาห์แรกหรือสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายน ใช้พื้นที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเป็นสถานที่หลัก เพราะอยู่ใจกลางเมืองและเดินทางสะดวก มีกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์สำคัญ คือ การผลิตรายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทยประจำปี ที่มีทั้งสื่อมวลชนและสาธารณะชนเฝ้าติดตามเนื้อหามาโดยตลอด
สำหรับวันรำลึกถึงคุณสืบ นอกจากในส่วนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และมูลนิธิสืบฯ ที่ได้ดำเนินการจัดต่อเนื่องมาทุกปี ยังมีอีกหนึ่งพลังสำคัญที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวของคุณสืบให้ยังคงเป็นที่จดจำ คือ ชมรมหรือชุมนุมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสถาบันอุดมศึกษา ที่ให้ความสำคัญกับวันที่ 1 กันยายน และต่างก็ช่วยกันจัดงานสืบสานปณิธานคุณสืบอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น นิสิต นักศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัศรีนครินทรวิโรฒ ฯลฯ
แม้คุณสืบจะจากไปกว่าสองทศวรรษ และกำลังจะเข้าสู่ทศวรรษที่สามในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่วันนี้คนไทยหลายๆ คนยังระลึกถึงคุณสืบ ซึ่งคงไม่ได้หมายความแต่มาร่วมงานรำลึกเท่านั้น แต่เพราะหลายๆ คนได้ระลึกและสืบทอดเจตนานั้นไว้ด้วยกาย วาจา และใจ เหมือนเช่นเมื่อยามที่คุณสืบยังมีชีวิตอยู่
เขียนโดย รตยา จันทรเทียร ประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยแพร่ครั้งแรก หนังสือ บนถนนงานอนุรักษ์ จัดพิมพ์ในวาระ รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร
ผู้เขียน
พร้อมที่จะทำงานในมูลนิธิสืบนาคะเสถียรโดยเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสืบสานเจตนาของคุณสืบ ผู้เสียสละได้แม้ชีวิตของตน เพื่อชีวิตของสัตว์ป่าและป่า และเพื่อสนองคุณแด่ทุกพระองค์และทุกท่านที่มีศรัทธาต่อคุณสืบ ได้ให้ความช่วยเหลือแนะนำ ร่วมทำงาน รวมถึงบริจาคทรัพย์สิ่งของเพื่อให้ได้ทำหน้าที่เป็นแกนกลาง ในการสืบสานเจตนาของคุณสืบ นาคะเสถียร ไปนานเท่านาน