สารคดี แสงไฟที่ไม่เคยดับ สืบ นาคะเสถียร

สารคดี แสงไฟที่ไม่เคยดับ สืบ นาคะเสถียร

พ.ศ. 2556 ในวาระใกล้วันครบรอบ 23 ปี การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้จัดทำสารคดีชุดหนึ่ง ชื่อ แสงไฟที่ไม่เคยดับ สืบ นาคะเสถียร บอกเล่าเรื่องราวของ สืบ นาคะเสถียร ให้กลับเป็นที่รู้จักกันอีกครั้ง หลังจากที่เราไม่ได้เห็นเรื่องราวของ สืบ นาคะเสถียร ในรูปแบบงานสารคดีขนาดยาวมานาน

แสงไฟที่ไม่เคยดับ สืบ นาคะเสถียร เป็นงานสารคดีขนาดยาว เรียงร้อยเรื่องราว จำนวน 3 ตอนจบ บอกเล่าเรื่องราวของ สืบ นาคะเสถียร ไปพร้อมๆ กับ ความเป็นต้นแบบ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานอนุรักษ์รุ่นใหม่ ที่เข้ามาทำงานเพื่อสานต่อเจตนารมย์นั้นให้ยังคงอยู่ และลุกโชนดังเช่นชื่อของสารคดี

สารคดีชุด แสงไฟที่ไม่เคยดับ สืบ นาคะเสถียร ออกอากาศวันที่ 23, 30 สิงหาคม และ 6 กันยายน 2556

 

สารคดี แสงไฟที่ไม่เคยดับ สืบ นาคะเสถียร : นักแสวงหา

เมื่อ 40 ปีก่อน “สืบยศ นาคะเสถียร” เด็กหนุ่มปราจีนบุรี ผู้ที่ใฝ่ผันอยากเรียนสถาปัตย์แต่สอบไม่ติด จึงได้มาเรียนป่าไม้ที่คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และออกไปทำงานในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่

40 ปีต่อมา “สันต์ภพ แซ่ม่า” เด็กหนุ่มวัย 27 ปี ได้เดินตามรอยทางของ “สืบ นาคะเสถียร” ในการเข้ามาเรียนป่าไม้และออกมาทำงานในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

สองชีวิต หนึ่งต้นแบบ และอีกหนึ่งคนได้รับแรงบันดาลใจ บนทางเดินของการแสวงหา

 

สารคดี แสงไฟที่ไม่เคยดับ สืบ นาคะเสถียร : ความหวังและศรัทธา

การทำงานช่วยเหลือสัตว์ป่าในการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งต้องพบกับอุปสรรคมากมาย หากแต่ “สืบ นาคะเสถียร” และทีมงานก็ไม่เคยย่อท้อต่อการทำงาน แสดงออกซึ่งความมุ่งมั่นทุ่มเทตั้งใจทำงาน ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

และพบกับเรื่องราวของ “สายัณห์ ข้ามหนึ่ง” นักต่อสู้การสร้างเขื่อน ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “สืบ นาคะเสถียร”

 

สารคดี แสงไฟที่ไม่เคยดับ สืบ นาคะเสถียร : ภาพฝัน

สืบ นาคะเสถียร” เลือกที่จะไม่เรียนต่อระดับปริญญาเอก เพื่อที่จะเข้าไปรับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ๆ เขาบอกกับทุกคนว่า ที่นี่คือหัวใจ ของผืนป่าตะวันตก และ เขาเข้ามาที่นี่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ทว่าเวลาเกือบปี ที่สืบทุ่มเทงานอย่างหนัก เพื่อเรียกร้องให้ผู้คนหันมาสนใจผืนป่าแห่งนี้ แต่สิ่งที่เขาได้รับกลับมานั่นคือความว่างเปล่า และ ความเฉยชา ของผู้คนเหล่านั้น

“วีรยา โอชะกุล” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผู้หญิงคนแรกที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งหัวหน้า ในผืนป่าแห่งนี้ หลายคนบอกว่าเธอเป็นหญิงแกร่ง แต่เธอจะบอกกับทุกคนว่า เธอไม่ได้แค่เข้ามาเป็นหัวหน้าที่นี่ แต่เธอแบกศักดิ์ศรี และ คำสบประมาท ในความเป็นผู้หญิงของเธอมาด้วย เธอจึงล้มไม่ได้ โดยคำที่เธอใช้เป็นหลักยึดในการทำงาน คือถ้อยคำของสืบ นาคะเสถียร “ผมคิดว่า ชีวิตผมทำดีที่สุดแล้วเท่าที่ผมมีชีวิตอยู่ ผมคิดว่า ผมได้ช่วยเหลือสังคมดีแล้ว ผมคิดว่า ผมได้ทำตามกำลังของผมดีแล้ว และผมพอใจ ผมภูมิใจสิ่งที่ผมทำ”