“สืบ นาคะเสถียร” เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 5

“สืบ นาคะเสถียร” เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 5

“ผมคิดว่า ชีวิตผมทำดีที่สุดแล้วเท่าที่ผมมีชีวิตอยู่
ผมคิดว่า ผมได้ช่วยเหลือสังคมดีแล้ว
ผมคิดว่า ผมได้ทำตามกำลังของผมดีแล้ว
และผมพอใจ ผมภูมิใจสิ่งที่ผมทำ”

 


 

สืบเริ่มออกรณรงค์เคลื่อนไหวต่อต้านการทำลายป่าและสัตว์ป่าทุกรูปแบบ ตั้งแต่การสร้างเขื่อนแก่งกรุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี การสร้างเขื่อนเหวนรก ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2531 หนังสือพิมพ์มติชน ได้ลงพาดหัวข่าวว่า “กรมป่าไม้ทำแสบ อนุมัติให้บริษัทไม้อัดไทยเข้าทำไม้ 3 แสนไร่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งอุดมสมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย หวั่นสัตว์ป่าหายากแตกหนีกระเจิง ร้องให้ยับยั้งด่วนก่อนพินาศ”

บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ที่ป่าห้วยขาแข้งตอนใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีควายป่าอาศัยอยู่ สืบและเพื่อนพ้องได้ออกโรงต่อต้านอย่างเข้มแข็ง ในเดือนตุลาคมมีการจัดนิทรรศการและการอภิปรายในจังหวัดอุทัยธานีให้ชาวเมืองเห็นคุณค่าของป่าห้วยขาแข้งและมีการขอประชามติไม่สนับสนุนให้มีการทำสัมปทานไม้ครั้งนี้ มีผู้ลงชื่อนับหมื่นคน สืบขึ้นอภิปรายด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อน เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกวิพากษ์วิจารณ์กรมป่าไม้อย่างตรงไปตรงมา

“คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน ของนี้จะใส่ในมือซ้ายหรือมือขวาดี ถ้าใส่มือขวา มือซ้ายก็อด”

“ถ้าเรามีพื้นที่ป่าที่ดีที่สุดคือห้วยขาแข้ง แล้วเรายังไม่รักษา แม้แต่กรมป่าไม้เองก็ยังไม่สนใจรักษา ก็อย่าหวังว่าจะรักษาที่อื่นให้รอดได้”

จนกระทั่งเมื่อเกิดกรณีซุงนับพันท่อนถล่มอำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน บ้านเรือนถูกทะเลโคลนถมทับ อันมีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลให้รัฐบาลประกาศยกเลิกสัมปทานทำไม้ทั่วประเทศรวมถึงสัมปทานไม้ในป่าห้วยขาแข้งด้วย

ปลายปี 2532 ผมได้รับโทรศัพท์จากพี่สืบให้มาคุยกันที่โรงแรมแห่งหนึ่ง พี่สืบเล่าให้ผมฟังว่ากำลังตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิต คือพี่สืบได้รับทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในขณะเดียวกันทางผู้ใหญ่ก็สั่งให้ไปดำรงตำแหน่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

หากเป็นคนทั่วไป ก็คงจะเลือกการไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่สำหรับสืบแล้ว ป่าห้วยขาแข้งเปรียบเสมือนบ้านของเขา เขาเคยพูดเสมอว่าหากมีโอกาสไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว เขาขอเลือกสองแห่งคือ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าห้วยขาแข้ง

ธันวาคม 2532 สืบ นาคะเสถียรเดินทางเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตฯ ด้วยความมุ่งมั่นและใจเต็มร้อยที่จะรักษาผืนป่าที่นี่ให้ดีที่สุด เขาสบายใจที่เห็นลูกทีมของเขามีคุณภาพ และในอนาคต เขาหวังว่าป่าห้วยขาแข้งและป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่มีเพื่อนสนิทของเขาคือ วีรวัธน์เป็นหัวหน้า จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งอื่นๆ

สืบบอกกับคนรอบข้างว่า “ตอนนี้ผมสามารถให้ทุกสิ่งกับห้วยขาแข้งได้”

ห้วยขาแข้งเป็นป่าที่มีพื้นที่ขนาด 1 ล้าน 6 แสนกว่าไร่เศษ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งเดียวที่ไม่มีราษฎรบุกรุกอาศัยอยู่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าหายากจำนวนมาก เช่น กระทิง วัวแดง ควายป่า นกยูงไทย สมเสร็จ เสือโคร่ง เสือดาว ช้างป่า ฯลฯ

วันแรกที่เขาเข้ารับตำแหน่ง เขาก็ออกจับไม้เถื่อน ไปดูพื้นที่ในป่าประดู่ที่ต้นไม้ถูกโค่นกว่า 200 ต้นเพื่อแปรรูปในป่า สืบไม่พูดอะไร เดินก้าวยาวๆ ออกมาดูท่อนไม้ตามทางในป่าโดยไม่สนใจว่าใครจะตามมาทันหรือไม่ ไม่กลัวหลงป่า ไม่กลัวถูกลอบทำร้าย แล้ววิทยุติดต่อเจ้าหน้าที่สั่งการให้รายงานเป็นระยะๆ

แล้วสืบก็พบว่า ป่าจำนวน 1 ล้าน 6 แสนกว่าไร่ อยู่ในความรับผิดชอบของข้าราชการ 12 คน เจ้าพนักงานพิทักษ์ป่า 30 คน และลูกจ้างชั่วคราว 120 คน แบ่งไปประจำหน่วยพิทักษ์ป่า 12 หน่วย แต่ละหน่วยจะต้องรับผิดชอบพื้นที่ป่าถึงหน่วยละ 1 แสนกว่าไร่

และที่ตลกก็คือ งบประมาณในการดูแลป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งนี้ได้เพียงไร่ละ 80 สตางค์ต่อปี ในขณะที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกจนเสื่อสภาพแล้ว รัฐให้เงินถึงไร่ละ 1,000 บาทต่อปี

“จะให้ผมไปรักษาอะไร มาเคี่ยวเข็ญให้ผมรักษาป่า แถมยังต้องมาชี้แจงอีกว่ารักษาอย่างไร” สืบเคยพูดอย่างเหลืออด

สืบพบว่าปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบล่าสัตว์ เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกวันในเวลานั้น

“ผมพูดได้เลย มันมีการยิงกันทุกวัน ไปตามก็เจอแต่กองไฟ เจอซากที่ชำแหละไว้เรียบร้อย จับมันได้ครั้งหนึ่งมันพร้อมจะล่าสิบครั้งกว่าจะโดนจับ ถูกปรับแค่ 500 บาท คุกก็ไม่ติด กว่าเราจะจับมันได้ ต้องไปอดหลับอดนอนแบกข้าวสารไปกินในป่า มันหนีเราแต่เราต้องตามจับ อย่างเมษายนปีที่แล้ว ลูกน้องผมถูกยายพรานยิงตายสองคน เจ้าหน้าที่ยิงก่อนก็ไม่ได้ ถือว่าเกินกว่าเหตุ ผู้ต้องหามันเห็นหน้าเรา มันยิงใส่เราแล้ว เราก็ตาย เรามีค่าเหรอ ตายไปอย่างดีก็เอาชื่อมาติดที่อนุสาวรีย์หน้ากรมป่าไม้”

สืบรู้ดีว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำงานด้วยความยากลำบากยิ่งนักในป่าเปลี่ยวที่พร้อมจะโดนยิงเมื่อไหร่ก็ได้ โดยไม่มีหลักประกันใดๆ ทั้งสิ้นให้แก่ครอบครัวและตัวเขา นอกจากเงินเดือนของลูกจ้างชั่วคราวไม่เกินคนละ 1,500 บาทต่อเดือน ไม่มีสวัสดิการหรือประกันชีวิตใดๆ ทั้งสิ้น และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ พวกเขาขาดวิทยุสื่อสารที่จะติดต่อกันได้ในพื้นที่มหาศาล และรถก็ไม่เพียงพอแม้กระทั่งอาวุธประจำกายก็มีเพียงปืนลูกซอง ขณะที่นักล่าสัตว์มีปืนเอ็ม 16 เป็นอาวุธล่าสัตว์

สืบเชื่อว่าการจะแก้ปัญหาการบุกรุกป่ารอบห้วยขาแข้ง คือต้องการศึกษาแก่ชาวบ้านรอบๆ พื้นที่ โดยเฉพาะกับเด็กๆ ให้เห็นถึงความสำคัญของป่าห้วยขาแข้ง สืบจึงให้ความสำคัญกับงานเผยแพร่มาก

ด้านตะวันออกของป่าห้วยขาแข้งอยู่ติดกับหมู่บ้านหลายแห่ง ชาวบ้านเองมักจะลักลอบเข้ามาล่าสัตว์ หรือเป็นคนนำทางให้แก่พรานในเมือง บางครั้งก็มีใบสั่งจากกลุ่มอิทธิพลว่าต้องการสัตว์ป่าประเภทไหน เขากระทิงจะมีราคาประมาณ 4,000-5,000 บาท ถ้าเป็นเขาควายป่าอาจจะมีราคาสูงเป็นหมื่นบาทขึ้นไป ร้านอาหารสัตว์ป่ารอบห้วยขาแข้งก็มีอาหารสัตว์ป่าไว้บริการลูกค้าได้ตลอดปี

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของห้วยขาแข้งส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหลานของคนในหมู่บ้านเช่นกัน การจับกุมพี่น้องกันเองก็เป็นเรื่องสะเทือนใจ เมื่อลูกน้องมารายงานว่าพบซากสัตว์ พบกระทิงถูกตัดหัว พบซากวัวแดง เขาจะนิ่งเงียบและเจ็บปวดอยู่ในใจ จับนักล่าไม่ได้แต่สัตว์ตายตลอด แต่พอจับคนล่าได้ คนเหล่านี้ก็ล้วนเป็นคนยากคนจน ไม่สามารถลากคอผู้บงการหรือเจ้าของร้านอาหารสัตว์ป่ามาลงโทษได้สักครั้ง

“ลำพังชาวบ้านอย่างเดียวมันไม่หนักหนาหรอก ถ้าหากไม่มีเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง เดี๋ยวนี้ชาวบ้านจะขนไม้เถื่อนหรือล่าสัตว์ ก็มักจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมด้วย มันก็เลยกลายเป็นว่า ถ้าเราอยากจะทำหน้าที่ของเรา อยากจะรักษาป่า รักษาสัตว์ป่าเราต้องขัดแย้งกับทั้งฝ่ายภาครัฐและฝ่ายประชาชนที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน”

จิตประพันธ์ กฤตาคม พนักงานพิทักษ์ป่าผู้ใกล้ชิดสืบ เปิดเผยว่า “พอพี่สืบมาเป็นหัวหน้าเขตฯ วงการค้าไม้เถื่อนหรือล่าสัตว์ป่ามีการเคลื่อนไหว เพราะอาจรู้กิตติศัพท์ที่ว่าหัวหน้าสืบเป็นคนทำงานจริงจัง ไม่กลัวอิทธิพลใดๆ แต่การล่าสัตว์เป็นปัญหาที่หนักมากในเวลานั้น ทุกคืนพี่สืบจะฟังเสียงปืนด้วยความอดทน ถ้าเราไปเราก็เสียเปรียบ คือเราได้ยินเสียงแต่ไม่รู้ว่าเป็นเสียงปืนล่าสัตว์ หรือเขาต้องการล่อให้เจ้าหน้าที่ออกไปโดนยิง พี่สืบเป็นห่วงความปลอดภัยของลูกน้องมาก”

สืบเริ่มตระหนักว่า ปัญหาในป่าห้วยขาแข้งดูจะยิ่งใหญ่และสลับซับซ้อนมากกว่าที่เขาประเมินไว้แต่แรก สืบพยายามขอความร่วมมือจากหน่วยราชการนอกป่าห้วยขาแข้ง ในการช่วยกันป้องกันการทำลายป่าและการล่าสัตว์โดยเฉพาะบริเวณป่าสงวนรอบๆ ป่าห้วยขาแข้งซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของเขา เขาพยายามเดินเข้าหาผู้ใหญ่ ไปพูดคุยกับทุกคน แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง กรมป่าไม้เองก็ไม่สนับสนุนสิ่งใด

แต่สืบก็ยังมุ่งมั่นเดินหน้าแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เขาเชื่อว่าจะต้องรีบเร่งให้การศึกษาแก่ชาวบ้านรอบๆ พื้นที่ โดยเฉพาะกับเด็กๆ ให้เห็นถึงความสำคัญของป่าห้วยขาแข้ง สืบจึงให้ความสำคัญกับงานเผยแพร่มาก เขาจะลงมือทำด้วยตนเอง ออกแบบงานนิทรรศการ เขียนโปสเตอร์ เขียนบอร์ดเอง หากไม่ดีก็ทำใหม่ ตัดภาพเอง ไม่สวยทำใหม่ ภาพที่นำมาใช้ล้วนเป็นภาพสวยงามจากฝีมือของเขา เขาจะควักเงินเป็นค่าอัดขยายภาพเอง ออกไปบรรยายเองตามโรงเรียน ตามที่ชุมชนต่างๆ จนถึงเก็บข้าวของเครื่องมือฉายสไลด์เอง ทำทุกอย่างตั้งแต่เช้าจนค่ำ บางครั้งเที่ยงคืนเขายังอุตส่าห์ขับรถจากในเมืองเข้ามาในป่า ตื่นแต่เช้ามืดมาเขียนงานเอกสารที่คั่งค้างไว้ พอรุ่งสางก็ขับรถออกไปตามโรงเรียนบรรยายให้เด็กนักเรียนฟังต่ออย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

แต่ดูเหมือนปัญหาที่ยากที่สุดจะรอเขาอยู่เบื้องหน้า – ระบบราชการ

 

อ่านต่อ สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 6


บทความโดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการอาวุโสส่วนงานข่าวที่ PPTV ได้รับรางวัลศรีบูรพา พ.ศ.2554 เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (2535- 2543) และรองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (2550-2558) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร