สืบ นาคะเสถียร เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมสนใจงานวิชาการมากกว่าไปวิ่งไล่จับคน” และนั่นทำให้สืบตัดสินใจย้ายจากการเป็น ‘หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ’ เข้ามาทำงานวิชาการในกองอนุรักษ์สัตว์ป่า
สืบเป็นคนช่างสังเกต ชอบจดบันทึก สเก็ตช์รูป ถ่ายรูป ซึ่งทำให้งานวิจัยสัตว์ป่าของเขามีคุณค่าและความน่าสนใจ ผลงานของสืบมีภาพสัตว์ป่าหายากไม่ว่าจะเป็นกวางผา เลียงผา นกกระสาคอขาวปากแดง ไปจนถึงภาพการบุกรุกทำลายป่าทุกรูปแบบ
ในวันที่เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบให้ความสำคัญเรื่องการเผยแพร่ความรู้และรณรงค์เรื่องการรักษาป่าแก่ชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบห้วยขาแข้ง สืบจะออกแบบงานนิทรรศการ เขียนโปสเตอร์ เขียนบอร์ดเอง ภาพที่นำมาใช้ล้วนเป็นภาพสวยงามจากฝีมือของเขา และแน่นอนว่าเมื่อครั้งที่สืบได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขาก็ได้บันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ด้วยตัวของเขาเองเช่นกัน
ในเหตุการณ์ที่สืบเข้าร่วมคัดค้านเขื่อนน้ำโจนที่จะก่อสร้างในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี สืบได้เล่าเรื่องการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานและผลกระทบจากการสร้างเขื่อนพร้อมฉายภาพสไลด์จนทำให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังต่างรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดของสัตว์ป่าผ่านผลงานและน้ำเสียงของเขา
บุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี แกนนำของกลุ่มอนุรักษ์เมืองกาญจน์ และผู้เข้าร่วมคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนได้เล่าให้ฟังว่า “คืนหนึ่งในงานนิทรรศการ คุณสืบ ฉายสไลด์เกี่ยวกับการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน แกเป็นคนบรรยายทำให้เรารู้สึกว่าสัตว์ป่าในภาพมีชีวิต มันร้องขอชีวิต มันครวญคราง เจ็บปวดรวดร้าว มันออกมาพร้อมกับน้ำเสียงของคุณสืบ จากเหตุการณ์นั้น ทำให้มองเห็นวิญญาณการต่อสู้และปกป้องสัตว์ป่าจากคำพูดของคุณสืบที่เราไม่เคยพบจากใครมาก่อน”
บางส่วนจากผลงานการถ่ายภาพของ สืบ นาคะเสถียร ในเหตุการณ์อพยพสัตว์ป่าตกค้างที่เขื่อนรัชชประภา