ผลงานภาพถ่ายของ สืบ นาคะเสถียร
ณ ช่วงเวลานับจาก สืบ นาคะเสถียร ได้ผันตัวเองจากนักวิชาการสู่การเป็นนักอนุรักษ์ ทั้งในฐานะคนเบื้องหน้าท้าชน และเบื้องหลังคอยทำข้อมูลสนับสนุน ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ถือเป็นบ้านอีกหลังที่ สืบ นาคะเสถียร ให้ความสำคัญและเดินทางมาเก็บข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศในพื้นที่นี้อยู่บ่อยครั้ง
เริ่มจากการคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน จนสำเร็จ และต่อยอดขยายงานอนุรักษ์ในมิติของการเสนอให้พื้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางโลกธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย
สืบ นาคะเสถียร และเพื่อนพ้องได้ร่วมทำงานทางด้านวิชาการที่สำคัญออกมาหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็น รายงานเรื่อง ความสำคัญของป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กับการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน (จุลสารนักนิยมธรรมชาติ ปีที่ 4 ฉบับที่ 21 พฤศจิกายน – ธันวาคม 2530) การวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแควใหญ่ตอนบน ตลอดจนรายงาน Nomination of The Thung Yai – Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary to be a U.N.E.S.C.O. (เขียนร่วมกับ เบลินดา สจ๊วต-ค็อกซ์)
แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับ สืบ นาคะเสถียร คือ การบันทึกเรื่องราวที่พบไว้ในภาพถ่าย
ภาพจำหนึ่งของคนรู้จัก ดังที่ปรากฎต่อมาบน รูปปั้น สืบ นาคะเสถียร ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง คือ สืบ นาคะเสถียร จะสะพายกล้องถ่ายภาพติดตัวไปด้วยเสมอ และผลงานที่ สืบ นาคะเสถียร ได้บันทึกไว้ ก็ถูกนำมาใช้ประกอบงานวิชาการดังเช่นที่กล่าวไป ตลอดจนนำไปผลิตสื่อการเรียนรู้ต่อสาธารณชน (โดยเฉพาะกับเยาวชน) หลายต่อหลายครั้ง
สำหรับเรื่องราวของผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา มีสภาพเป็นอย่างไร ทำไม สืบ นาคะเสถียร ถึงทุ่มเทเพื่อรักษาผืนป่าแห่งนี้ไว้เท่าๆ กับที่ สืบ นาคะเสถียร อุทิศตนให้กับผืนป่าห้วยขาแข้ง ชวนหาคำตอบได้ในภาพถ่ายชุดทุ่งใหญ่นเรศวร จากผลงานการถ่ายภาพของ สืบ นาคะเสถียร ณ ที่นี้