แต่เดิมก่อนที่จะมีการเก็บกักน้ำในเขื่อนเชี่ยวหลาน (เขื่อนรัชชประภา) จะต้องมีการทำไม้ออกและจะต้องแผ้วถางเผาป่าที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 70 เพื่อป้องกันมิให้เกิดน้ำเน่าในอ่างเก็บน้ำ งานทำไม้และเผาป่าในความรับผิดชอบของ ออป. (องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้) ซึ่งตามแผนการดำเนินงานแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดจากการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จะต้องทำไม้ออก และแผ้วถางป่าให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการเก็บกักน้ำ
นั่นคือจะต้องแล้วเสร็จก่อนวันที่ 3 เมษายน 2529 แต่จนกระทั่งบัดนี้นับเป็นเวลาล่วงเลยมาแล้ว 3 ปี คือตั้งแต่เมษายน 2529 จนถึงเมษายน 2532 โดยเหตุผลที่ว่ายังคงมีไม้หลงเหลืออยู่ในอ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมาก
ก่อนที่จะถึงเดือนมีนาคม 2532 ได้มีหนังสือจากบริษัททำไม้จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงส่วนทำไม้สุราษฎ์ธานีเพื่อขอต่อสัญญาการทำไม้บริเวณขอบอ่างเก็บน้ำ (พื้นที่โดยรอบขอบล่าง ตั้งแต่ระดับน้ำปกติถึงระดับเก็บกักสูงสุด คือจากระดับน้ำปัจจุบันประมาณ 78 ม.รทก.ถึงระดับเก็บกักสูงสุดที่ 95 ม.รทก.ซึ่งเจ้าหน้าที่ กฟผ. เขื่อนเชี่ยวหลานยืนยันว่าระดับน้ำปกติจะไม่สูงถึงระดับเก็บกักสูงสุด เพราะจะต้องเผื่อในเวลาที่มีน้ำหลาก ซึ่งอาจจะมีสักครั้งหนึ่งในรอบ 100 ปี หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็เก็บได้) ต่อไปอีก 1 เดือนจนถึง 30 เมษายน 2532 แต่ด้วยเหตุผลของส่วนทำไม้สุราษฎร์ธานี ประกอบกับหน่วยพิทักษ์ป่าเชี่ยวหลานที่ว่ามีไม้เหลืออยู่น้อยและมีไม้ที่ไม่มีรูปตราอนุญาตถูกตัดฟันเป็นจำนวนมาก จึงไม่อาจต่อสัญญาให้บริษัทได้
สำหรับแนวเขตทำไม้ก็มีเพียงหมายสีแดงไว้กับต้นไม้ ตั้งแต่สมัยที่มีการสำรวจในเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งแนวดังกล่าวไม่แน่นอน บางแห่งหมายไว้เห็นเด่นชัด บางแห่งเพียงแต่เห็นเป็นสีแดงป้ายไว้พอให้รู้เท่านั้น นอกจากนี้บางแห่งยังมีหมายสีแดงเป็น 2 ระดับ จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าแนวที่ระดับใดสามารถใช้ยืนยันได้ ประกอบกับแนวเครื่องหมายดังกล่าวสามารถทำให้ลบเลือน เปลี่ยนแปลงและสูญหายได้ จึงทำให้เกิดปัญหาว่าบริเวณใดเป็นพื้นที่ทำไม้ หรือบริเวณใดเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มีเฉพาะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงเท่านั้น เนื่องจาก พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามิได้อนุญาตให้มีการกระทำใดๆ ที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าธรรมชาติได้เลย ดังนั้น ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า จึงต้องเพิกถอนพื้นที่ออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเสียก่อน ส่วนอุทยานแห่งชาติเขาสกที่อยู่คนละฟากของคลองแสง มิได้ถูกเพิกถอนออกไป จึงทำให้การทำไม้ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาสกได้รับการควบคุมอย่างกวดขันรัดกุมมากกว่าพื้นที่บริเวณที่ถูกเพิกถอนออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง
บริษัททำไม้จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ขอทำไม้ในอ่างเก็บน้ำเป็น 2 ลักษณะคือ 1. ขอทำไม้ในบริเวณขอบอ่างเก็บน้ำซึ่งอยู่ติดต่อกับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าคลองแสงโดยขอทำต่อไปอีกจนถึง 30 เมษายน 2532 (ตามสัญญาจะสิ้นสุดวันที่ 30 มีนาคม 2532) และ 2. ขอทำไม้ที่ยืนต้นตายอยู่ในบริเวณที่ถูกน้ำท่วม โดยอ้างว่ายังมีไม้ยืนต้นตายอยู่ในน้ำอีกเป็นจำนวนมาก
การขอต่อสัญญาตามข้อ 1 ส่วนทำไม้สุราษฎร์ธานี (ออป.) ไม่เห็นควรอนุญาตตามผลการสำรวจของเจ้าหน้าที่ ออป.ร่วมกับลูกจ้างของบริษัทปรากฏสามารถนำตรวจไม้ได้เพียงจุดละ 30 – 40 ต้นเท่านั้น ประกอบกับได้รับหนังสือจากหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าเชี่ยวหลานประจำเขตรักษาพันธุ์สัตว์คลองแสงว่า มีการตรวจพบไม้ที่ไม่มีรูปรอยตราอนุญาตถูกตัดฟันทิ้งในพื้นที่ทำไม้และนอกพื้นที่ทำไม้ (พื้นที่เขตคลองแสง) จึงขอให้เจ้าหน้าที่ ออป. ร่วมออกไปตรวจสอบด้วย ดังนั้น ส่วนทำไม้สุราษฎร์ธานีจึงไม่อนุญาตต่อสัญญาให้และได้สั่งการให้บริษัทฯ หยุดการทำไม้ภายในวันที่ 30 มีนาคม 2532
ส่วนการขอทำไม้ตามข้อ 2 ขอทำไม้ที่ยืนต้นตายอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจากข้อเท็จจริงในการที่ข้าพเจ้าลงไปปฏิบัติงานในอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน ตั้งแต่สมัยที่มีการอพยพสัตว์ป่าที่จะถูกน้ำท่วมเนื่องจากการเก็บกักน้ำ ปรากฏว่าต้นไม้ที่ยืนต้นตายมีเหลือแต่ไม้ขนาดเล็ก จะมีต้นใหญ่เหลืออยู่บ้าง แต่เป็นไม้ที่ยืนต้นตายจมน้ำเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีลักษณะคดงอ รูปทรงไม่ตรงเหมือนไม้ที่เลือกตัดออกมาตั้งแต่สมัยที่เริ่มมีการทำไม้ออก จึงดูว่าไม่น่าจะคุ้มที่จะทำไม้ที่ยืนต้นตายในอ่างเก็บน้ำ และถ้าจะต้องทำออกจริง ก็สมควรให้ ออป. เป็นผู้ทำไม้แต่เพียงผู้เดียว มิให้อนุญาตให้ลูกช่วงหรือบริษัททำไม้จังหวัดไปทำ เพราะการควบคุมเป็นไปได้ยาก
แต่ก่อนอื่นควรผนึกพื้นที่ของอ่างที่น้ำจะไม่มีวันท่วมในรอบร้อยปีเข้ามาในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง และผนวกพื้นที่น้ำทั้งหมด (ที่เพิกถอนออกไปจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาสกเสียก่อน เพื่อที่จะได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของเขตฯ คลองแสงและอุทยานเขาสกได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกไม้ตีตราชักลาก และควบคุมบัญชีไม้ที่จะถูกลากออกไปจากอ่างเก็บน้ำ ทั้งนี้โดยการตีตราร่วมกัน มิใช่เป็นเพียงให้มารับรู้โดยการเซ็นชื่อร่วมกันเท่านั้น แล้วพิจารณาว่าไม้ที่ยืนต้นตายอยู่เฉพาะในบริเวณที่ถูกน้ำท่วมจะคุ้มค่าต่อการทำไม้ออกโดย ออป. เป็นผู้ดำเนินการแต่ผู้เดียวได้หรือไม่
ในช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปปฏิบัติงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก กฟผ. อีกครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้พบเห็นตอไม้จำนวนมากที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ทำไม้ ทั้งที่อยู่ในแนวแดง (พื้นที่เพิกถอนให้มีการทำไม้) และเหนือแนวแดง (เหนือระดับ 95 ม.รทก.) ซึ่งเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ตอไม้ดังกล่าวไม่มีรูปรอยตราอนุญาตให้ตัดฟันทั้งไม้หวงห้ามและไม้เนื้ออ่อน ทั้งที่โดยปกติตามระเบียบการทำไม้ในอ่างเก็บน้ำ จะต้องมีการตีตราคัดเลือกก่อนที่จะตัดไม้นั้น และการตีตราชักลาก (ตรา ช. ลาก) ก็จะต้องตีตราคอตอ คือเมื่อคัดโค่นแล้วท่อนไม้จะต้องอยู่ห่างจากตอไม่เกิน 40 เมตร แต่ปรากฏว่าท่อนซุงจำนวนมากถูกลากลงมาผูกเป็นแพ และถูกถากเปลือกเตรียมไว้ให้เจ้าหน้าที่มาตีตรา ช. ลาก ซึ่งนอกจากจะไม่ถูกต้องตามระเบียบการทำไม้แล้ว ยังเป็นการยุ่งยากที่จะนำไปพิสูจน์ว่าท่อนซุงนั้นมาจากตอไม้ใด เพราะเท่าที่ตรวจดูปรากฏว่าตอไม้จำนวนมากไม่มีรูปรอยตราให้ตัดฟัน และบนหน้าเชียงตอก็ไม่ปรากฏว่ามีตราอนุญาตให้ชักลากออกไป ไม้ซุงนี้นำมาผูกเป็นแพลอยอยู่และรอการตีตราชักลาก หลายท่อนมีลักษณะเป็นไม้เก่า มีตะไคร่น้ำจับแสดงถึงอายุที่จมอยู่ หรือลอยน้ำรอคอยการตีตราชักลากของเจ้าหน้าที่อยู่เป็นเวลานาน และไม่พบเห็นว่ามีตอไม้อยู่ใกล้บริเวณที่ผูกแพชุงซึ่งชัดเจนว่า มีการลากไม้ออกมาจากตอก่อนที่จะได้รับอนุญาต
จากที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นจะเห็นได้ว่าถึงแม้จะมีระเบียบวิธีการควบคุมการทำไม้ เพื่อป้องกันการลักขโมยไม้ หรือทำไม้สวมตอ แต่ก็ยังปรากฏว่ามีตอไม้เถื่อนที่มิได้อนุญาตให้ตัดฟันจำนวนมากหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ทำไม้ และในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง แล้วไม้เถื่อนเหล่านั้นออกไปนอกเขตอ่างเก็บน้ำได้อย่างไร ?
ในระหว่างวันที่ 20 – 29 มีนาคม 2532 เจ้าหน้าที่ ออป. (จากส่วนทำไม้สุราษฎร์ธานี) เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่า (สฏ.15) ที่ควบคุมพื้นที่ป่าไม้ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ได้ร่วมกันทำการตรวจยึดไม้ซุงท่อนที่ถูกตัดฟันโดยไม่มีรูปรอยตรา และไม้ซุงที่ผูกเป็นแพลอยน้ำโดยไม่มีรูปรอยตราใดๆ ปรากฏบนท่อนซุงนั้น จำนวนรวมทั้งสิ้น 60 ท่อนคิดเป็นปริมาตรรวม 350 ลบ.ม. คิดเป็นค่าเสียหายที่รัฐพึงได้รับทั้งสิ้นประมาณ 550,000 บาท แต่ค่าเสียหายมหาศาลที่สูญไปกับท่อนไม้ที่ถูกขโมยตัดออกไปจนเหลือแต่ตอที่อยู่ในป่า
ป่าไม้เป็นทรัพยากรของชาติเป็นสมบัติส่วนรวมของคนทั้งประเทศ ไม่ได้ให้ประโยชน์เฉพาะต้นไม้ที่ตัดออกมาขายได้เท่านั้น แต่ยังเป็นทรัพย์ส่วนรวมที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ดินและน้ำ ควบคุมความผันแปรของดินฟ้าอากาศ เป็นทรัพยากรที่เกิดมาคู่กับแผ่นดิน เป็นสมบัติส่วนรวมของคนทั้งชาติที่คนไทยทุกคนควรจะได้ร่วมกันปกป้องคุ้มครองไว้ให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ไม่เฉพาะแต่คนรุ่นนี้เท่านั้น แต่สมควรจะได้รับการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องเพื่อที่จะให้ทรัพย์ส่วนรวมนี้คงอยู่เป็นมรดกตกทอดไปยังลูกหลานไทยทุกคนมิใช่หรือ