การทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

การทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

ในการจัดการแหล่งที่อยู่อาศัยเพื่อให้นกได้มีโอกาสขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้น จำเป็นต้องมีการศึกษาและวิจัยเพื่อให้รู้ถึงฤดูผสมพันธุ์ของนกชนิดต่างๆ สภาพพื้นที่ที่นกใช้ทำรัง วัสดุที่ใช้ทำรัง พฤติกรรมการเกี้ยวพาราสี ตลอดจนช่วงเวลาที่นกแต่ละชนิดทำรัง ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้เป็นแนวทางที่จะให้ความคุ้มครอง และจัดหาอุปกรณ์เพื่อตอบสนองความต้องการของนกในช่วงฤดูผสมพันธุ์ได้

การศึกษาการทำงานของนกในบริเวณอ่างเก็บน้ำบางพระ เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2523 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2524 โดยใช้วิธีการสังเกตติดตามพฤติกรรม เสาะหารังนกแล้วบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับขนาด รูปร่าง และลักษณะของนกจัดสร้างซุ้มกำบังในบริเวณใกล้รังที่พบ ให้มีลักษณะกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เพื่อใช้พรางตัวขณะนั่งสังเกตพฤติกรรมและบันทึกภาพโดยมิทำให้นกตื่นตกใจ

การศึกษาครั้งนี้พบนกจำนวน 23 ชนิด ได้แก่

 

1. เหยี่ยวขาว (Black-shouldered Kite)

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Elanus caeruleus  ในเดือนมกราคม พบสร้างรังอยู่บนต้นข่อย 2 รัง รังหนึ่งอยู่สูงจากพื้นดิน 5.5 เมตร ส่วนอีกรังหนึ่งอยู่สูงจากพื้นดิน 6.5 เมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางรังกว้างประมาณ 25 – 30 เซนติเมตร สูง 6.7 เชนติเมตร ลูก 1 – 2 เซนติเมตร

รังสร้างจากกิ่งข่อยและกิ่งพุทราแห้งวางขัดซ้อนกัน และพื้นรังปูด้วยหญ้าแพรกเพื่อรองรับไข่จำนวน 3 ฟอง ซึ่งเมื่อฟักออกเป็นตัว ลูกนกตัวเล็กสุดจะตายหรือสูญเสียไปโดยไม่ทราบสาเหตุ

พ่อแม่นกจะช่วยกันหาอาหารมาป้อนลูก เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่จนเย็น โดยเฉลี่ยจะหาเหยื่อมาป้อนลูกทุกๆ ชั่วโมง แต่ละครั้งจะใช้เวลาป้อนนาน 15 – 20 นาที ขณะที่ตัวหนึ่งป้อนอาหาร อีกตัวหนึ่งจะเกาะเฝ้าระวังภัยอยู่ใกล้ๆ เหยื่อที่นำมาป้อน ได้แก่ นกชายเลน นกอัญชัน นกหนูแดง นกหัวโต นกกาเหว่า นกเขา จิ้งเหลน และหนู พ่อแม่นกจะฉีกเหยื่อป้อนขณะที่นกยังไม่แข็งแรงพอที่จะฉีกกินเองได้ เหยื่อที่เป็นนกจะถูกถอนขนออกก่อนนำมาที่รัง ส่วนที่เป็นกระดูกหัวและเท้าพ่อแม่นกจะกินเอง พ่อแม่นกจะพยายามเฉลี่ยอาหารให้ลูกๆ เท่าๆ กัน แต่ลูกตัวโตมักจะแย่งอาหารจากลูกตัวเล็กเสมอ บางครั้งพ่อแม่ต้องใช้เท้ายันไว้เพื่อส่งอาหารให้ลูกตัวเล็ก เหยี่ยวขาวจะใช้เวลาเลี้ยงลูกประมาณ 1 เดือน

ลูกเหยี่ยวขาวขณะเกิดใหม่มีขนอุยสีเทาอ่อนเต็มตัว เมื่ออายุประมาณ 10 วันจะเริ่มมีขนสีน้ำตาล ขอบขนจะมีจุดะสีขาว ขนอุยจะหลุดออกหมดประมาณ 24 วัน ขนปกคลุมตัวเปลี่ยนเป็นสีเทาดำและขาว ตาสีน้ำตาลขอบดำ ปากดำ เล็บดำ เท้าสีเหลืองอ่อน

 

2. นกเขาใหญ่ (Spotted-necked Dove)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Streptopelia chinemsis สำรวจพบ 6 รัง ในระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมิถุนายน รังมีลักษณะสร้างแบบหยาบๆ ด้วยต้นหญ้าแพรก เถาผักบุ้งดิบ กิ่งไม้และใบไม้แห้งวางสานซ้อนกันอยู่ตามกิ่งของต้นสาบเสือ ข่อย และกอไผ่ ซึ่งอยู่สูงจากพื้นดิน 1 – 4 เมตร รังมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 – 15 เซนติเมตร และลึก 1 – 2 เซนติเมตร ปกตินกเขาใหญ่จะวางไข่ในรัง 2 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 13 – 14 วัน ลูกนกจึงฟักออก แม่นกจะออกไปหาอาหารเป็นพวกเมล็ดหญ้าและเมล็ดธัญพืช โดยเก็บไว้ในถุงอาหารที่คอแล้วนำกลับมาป้อนให้ลูกกิน มันจะใช้เวลาในการเลี้ยงและกกลูกนกประมาณ 10 วัน ลูกนกจะโตมีขนปกคลุมเต็มตัว

 

3. นกกาแวน (Racket –tailed Tree pie)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crysirina temia พบทำรังในเดือนเมษายน 1 รัง อยู่บนต้นข่อยซึ่งสูงจากเดิม 3 – 4 เมตร รังมีลักษณะคล้ายรูปถ้วยสร้างจากกิ่งไม้และหญ้าแห้ง ไข่ในรังมีจำนวน 2 ฟอง เปลือกไข่สีน้ำตาลอ่อนและมีจุดสีน้ำตาลเข้มล้อมเป็นวงด้านป้าน

 

4. นกอีเสือหัวดำ (Black-headed Shrike)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lanius schach ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน พบรังนกอีเสือหัวดำ จำนวน 7 รัง สร้างอยู่บนต้นพุทรา ข่อย ตับเต่าและมะเดื่อ โดยรังจะอยู่สูงจากพื้นดิน 2.5 – 3.5 เมตร นกอีเสือหัวดำวางไข่ในรัง 50 ฟอง ไข่เป็นสีขาวนวลและมีจุดสีม่วงอ่อนบริเวณด้านป้าน

 

5. นกกระจาบธรรมดา (Baya Weaver)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ploceus Philippinu พบรังในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม นกกระจาบธรรมดาสร้างรังอย่างประณีตด้วยการฉีกใบหญ้าคาเป็นเส้นเล็กๆ แล้วสานขัดเป็นรูปคล้ายลูกน้ำเต้า มีปล่องทางเข้าออกต่อยาวลงมา ภายในมีผนังกั้นระหว่างทางเข้าออก ซึ่งจะบุด้วยดอกหญ้าสำหรับรองไข่ รังจะห้อยแขวนอยู่กับกิ่งข่อย สีเลือด และพุทรา สูงจากพื้นดินประมาณ 3 – 4 เมตร จากการวัดรังขนาดนกกระจาบธรรมดา 24 รัง ปรากฏว่ามีขนาด 15 เซนติเมตร หนา 10 เซนติเมตร และยาว 75 เซนติเมตร ภายในรังจะพบไข่จำนวน 4 ฟอง ซึ่งมีสีขาวนวลและมีขนาดเฉลี่ย 1.15 x 1.75 เซนติเมตร

 

6. นกปรอดก้นแดง (Black-capped Bulbul)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pycnonotus aurigaster สร้างรังในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม รัง 34 รังที่พบสร้างอยู่บนต้นกระท้อนป่า ตับเต่า และข่อย ซึ่งอยู่สูงจากพื้นดิน 2.3 – 3.0 เมตร รังมีลักษณะเป็นรูปถ้วยสร้างด้วยเส้นใยมะพร้าว ใยแมงมุม กิ่งไม้ และใบไม้แห้งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางรัง 6 เซนติเมตร ภายในรังลึก 3.5 เซนติเมตร พบไข่ 3 ฟอง มีจุดประสีน้ำตาลอยู่บนเปลือกสีส้มอ่อน

 

7. นกปลอดสวน (Blanfor’s Bulbul)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pycnonotus blanford ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน พบสร้างรังบนต้นขนุนป่า กระท้อนป่า และใยมะพร้าว มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.5 เซนติเมตร ลึก 2.3 เซนติเมตร สามารถรองรับไข่จำนวน 2 ฟอง

 

8. นกปรอดหน้านวล (Yellow-vented Bulbul)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pycnonotus goiavier ในเดือนมีนาคมพบสร้างรังบนต้นสาบเสือ สูงจากพื้นดิน 80 เซนติเมตร รังมีลักษณะเป็นรูปถ้วยสร้างด้วยเศษใบไม้และหญ้าแห้ง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางรัง 6 เซนติเมตร ภายในรังซึ่งลึกประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีไข่ 2 ฟอง เปลือกไข่มีสีเนื้อและมีลายเป็นจุดสีน้ำตาลแดง พ่อแม่นกจะช่วยกันกกไข่ ประมาณ 11 วัน ลูกนกจึงจะฟักออกจากไข่ จากนั้นจะช่วยกันเลี้ยงลูกด้วยการหาตั๊กแตนและหนอนมาป้อนให้ลูกกินเป็นอาหาร

 

9. นกกินปลีอกเหลือง (Yellow-bellied Sunbird)

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Nectarinia jugularis มีฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนสิงหาคม มันจะสร้างรังบนต้นพุทรา ข่อย กระถินณรงค์ ไผ่และไทร รังอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 1 – 1.7 เซนติเมตร ยาว 17 – 20 เซนติเมตร สร้างด้วยดอกหญ้าคา ใยมะพร้าว ใบไม้และเปลือกไม้แห้ง ภายในรังจะพบไข่ 2 ฟอง พื้นสีขาวนวลน้ำตาล ขนาดกว้าง x ยาว 1.1 x 1.48 เซนติเมตร มันจะใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 10 วัน ลูกนกจึงฟักออก จากนั้นพ่อแม่นกจะช่วยกันหาอาหารมาป้อนลูกทุกๆ 3 – 8 นาทีต่อครั้ง ในช่วงที่แม่นก กกลูกอยู่ในรัง พ่อนกจะเกาะยืนอยู่ใกล้ๆ รัง นกกินปลีอกเหลืองจะใช้เวลาเลี้ยงลูกประมาณ 15 – 20 วัน ลูกนกจึงจะบินออกจากรัง

 

10. นกกระติ๊ดขี้หมู (Spotted Munia)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lonchura punctulata  พบสร้างรังเป็นทรงกลมรีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร สร้างด้วยใบหญ้าคาและหญ้าขน ซึ่งสานขัดกันและบุภายในด้วยดอกหญ้า เพื่อให้รองรับไข่ที่มีจำนวน 6 – 8 ฟอง ซึ่งมีสีขาวนวลขนาดกว้าง x ยาว 1.15 x 1.60 เซนติเมตร

 

11. นกกระจิบธรรมดา (Long tailed tailorbird)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Orthotomus-sutorius สร้างรังในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน รังจะสร้างด้วยความประณีตบนต้นมะเดื่อและต้นแสงจันทร์ โดยอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 1 – 1.5 เมตร ใบมะเดื่อหรือใบแสงจันทร์จะถูกดึงให้ขอบใบมาจรดกันเป็นถุง แล้วเย็บติดกันด้วยใยแมงมุม มีปากทางเข้ากว้า 4.4 เซนติเมตร ลึก 7.5 เซนติเมตร ส่วนที่เป็นถุงหรือก้นรังจะรองด้วยใบและดอกหญ้าแห้ง เพื่อรองรับไข่ 5 ฟอง

 

12. นกกระจิบหญ้าสีเรียบหางยาว (Plain Prinia)

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Prinia subflava สร้างรังในเดือนมิถุนายน รังจะถูกสานด้วยใบหญ้าห้อยอยู่ตามใบแซม สูงจากพื้นดิน 1 – 2 เมตร ในรังมักพบไข่ 3 ฟอง ซึ่งมีเปลือกไข่สีนวลแต้มด้วยจุดสีน้ำตาล

 

13. นกสีชมพูสวน (Scarlet-backed Flowerpecker)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dicaeum cruentatum พบรังในเดือนมีนาคม รังมีลักษณะคล้ายโคมห้อยอยู่ที่กิ่งไม้ สานด้วยใบหญ้า เส้นใยมะพร้าว และบุภายในด้วยดอกหญ้า ขนาดกว้าง 6 เซนติเมตร ยาว 8 เซนติเมตร ปากทางเข้ารังกว้าง 2.7 เซนติเมตร ภายในรังพบไข่สีนวล 3 ฟอง เมื่อลูกนกฟักออกจากไข่ พ่อแม่นกจะช่วยกันหาอาหารซึ่งได้แก่ผลกาฝากและหนอนมาป้อนลูก หลังจากป้อนเสร็จแล้วจะรอคาบเอาของเสียที่ลูกนกคายออกมาทิ้งนอกรัง

 

14. นกกระรางหัวขวาน (Hoopoe)

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Upupaepops พบรังในระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม มันจะทำรังอยู่ในโพรงมะพร้าว ไข่ในรังมีจำนวน 4 – 5 ฟอง สีฟ้าอ่อนขนาดกว้าง x ยาว  1.7 x 2.4 เซนติเมตร มันจะใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 15 – 16 วัน ลูกนกจึงฟักออก จากนั้นพ่อและแม่นกจะช่วยกันหาอาหารมาป้อนลูก ซึ่งได้แก่ ลูกกบ ลูกเขียด จิ้งหรีด แมลงปีกแข็ง ด้วงและหนอน ลูกนกในรังจะโตมีขนขึ้นเต็มตัวเมื่ออายุ 25 วัน

 

15. นกกางเขนบ้าน (Magpie Robin)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Copsychus saularis พบรังระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน มันจะทำรังอยู่ในโพรงมะพร้าว โพรงไม้ไผ่ และคอคบต้นมะพร้าว ซึ่งอยู่สูงจากพื้นดิน 1.5 – 2.5 เมตร มีใยมะพร้าวและหญ้าแห้งรองรัง ไข่ที่พบในรังมีจำนวน 4 ฟอง เปลือกไข่มีจุดสีน้ำตาลอยู่บนพื้นสีเขียวอ่อน พ่อแม่นกจะใช้เวลากกไข่ประมาณ 14 – 16 วัน ลูกนกจึงฟักออก

 

16. นกจาบคาเล็ก (Little Green Bee-eater)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Merops orientalis พบทำรังอยู่ในโพรงดินตอนเดือนเมษายน มันใช้ปากและเท้าขุดดินตามหน้าผาและฝั่งลำห้วยให้เป็นโพรง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร ลึกเข้าไปในแนวลาด 45 เซนติเมตร ไข่ในรังที่พบมีจำนวน 5 ฟอง มีสีขาวนวล ขนาดกว้าง x ยาว 1.75 x 2.03 เซนติเมตร

 

17. นกกระเต็นอกขาว (White-breasted Kingfisher)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Halcyon smyrnensis สร้างรังในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน โดยขุดดินเป็นโพรงลึก 40 – 50 เซนติเมตร ปากโพรงกว้าง 4 – 4.5 เซนติเมตร พบจำนวน 4 รัง แต่ละรังมีไข่ 4 ฟอง ซึ่งมีลักษณะกลมมนและมีสีขาวนวล

 

18. นกกระจาบฝนปีกแดง (Rufous-winged Bush Lark)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Mirafra assamica พบจำนวน 5 รัง ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน รังมีลักษณะเป็นกระโจมอยู่บนพื้นดินตามโคนหญ้าแห้ง สร้างโดยใช้ใบหญ้าแห้งสานขัดกันกว้าง 7 – 8 เซนติเมตร มีช่องทางเข้าออกกว้าง 3 – 3.5 เซนติเมตร ภายในรังพบไข่ 2 – 3 ฟอง ไข่มีสีน้ำตาลอ่อนและมีจุดประสีน้ำตาลแก่กระจายอยู่ที่เปลือกไข่ขนาดกว้าง x ยาว 1.4 x 1.9 เซนติเมตร ขณะที่เฝ้าสังเกตการณ์เลี้ยงลูกของนกจาบฝนปีกแดงพบว่า พ่อและแม่นกจะช่วยกันหาอาหาร ซึ่งได้แก่ ตั๊กแตน แมลงปอ และหนอนต่างๆ มาป้อนลูก

 

19. นกตบยุงเล็ก (Indian Nightjar)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Caprimulgus asiatica   พบทำรังตามพื้นที่ดินในช่วงเดือนธันวาคม รังมีลักษณะเป็นแอ่งดินตื้นๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร ไม่มีวัสดุรองรับ ไข่ในรังจำนวน 2 ฟอง ซึ่งมีลายจุดสีน้ำตาลอ่อนอยู่พื้นสีส้ม ขนาดกว้าง x ยาว 1.82 x 2.72 มันจะใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 18 – 20 วัน ลูกนกจึงฟักออกจากไข่ แม่นกจะใช้เวลาส่วนใหญ่กกลูกในตอนกลางวัน และออกหาเหยื่อตอนกลางคืนมาป้อนลูก

 

20. นกกระแตแต้แว้ด (Red-wattled Lapwing)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vanellus indicus สำรวจ 30 รัง ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ทำรังอยู่บนพื้นที่โล่ง เช่น บริเวณที่เพิ่งถูกไฟไหม้ใหม่ๆ ทุ่งที่มีหญ้าสั้นๆ บางรังอยู่บนกองขี้วัวแห้ง บางรังอยู่บนเนินกรวดขนาดเล็กและบนพื้นทราย โดยหาวัสดุเช่นพวกเมล็ดกรวด กิ่งไม้แห้งสั้นๆ ที่มีสีและลักษณะที่กลมกลืนกับสภาพของบริเวณรอบๆ รังมาเรียงเป็นวง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 – 13 เซนติเมตร ลึก 1 – 1.5 เซนติเมตร แต่ละรังจะพบไข่จำนวน 4 ฟอง ซึ่งมีพื้นสีน้ำตาลเทา มีลวดลายสีน้ำตาลดำเป็นปื้นเล็กอยู่ทั่วไป แม่นกจะวางไข่วันละฟองติดต่อกันจนครบ 4 ฟอง โดยเอาส่วนแหลมของไข่ชิดกัน ขนาดกว้าง x ยาว 3.05 x 4.24 เซนติเมตร พ่อแม่นกจะช่วยกันกกไข่โดยพลัดเปลี่ยนกันกกไข่ทุกครึ่งชั่วโมง จนกระทั่งลูกนกออกเป็นตัว ใช้เวลา 29 – 30 วัน ลูกนกจะใช้ส่วนของปลายปากซึ่งมีสีขาวคล้ายหินปูนเจาะเปลือกไข่ออกมา หลังจากฟักออกประมาณ 3 ชั่วโมง ขนอุยปกคลุมตัวจะแห้ง และเมื่อลูกนกฟักออกจนครบ 4 ตัวแล้ว พ่อแม่นกจะพาลูกออกเดินทางไปจากรังคุ้ยหาอาหารกินและเมื่อมีศัตรูเข้ามาใกล้ พ่อแม่นกจะรีบบินขึ้นพร้อมส่งเสียงเรียกกระแตแต้แว้ดๆๆ แล้วบินแถไปมา ลูกนกจะรีบเดินไปซุกตัวอยู่ตามกอหญ้าเพื่อกำบังตัวหลบภัยจากศัตรู เมื่อปลอดภัยจึงกลับมาหาลูก

 

21. นกกระทาทุ่ง (Francolin)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Francolinus pintadeanus พบสร้างรังในเดือนเมษายน รังสร้างอยู่กับพื้นใต้กอหญ้า ลักษณะเป็นกระโจม กว้าง 12 เซนติเมตร ลึก 3.5 เซนติเมตร ไข่ในรังมีจำนวน 4 ฟอง สีขาวเหลืองขนาด 2.8 x 3.5 เซนติเมตร

 

22. นกกระทาพันธุ์จีน (Migratory Quail)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coturnix coturnix พบรังในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน รังสร้างอยู่บนพื้นดินใต้กอหญ้า โดยใช้ใบหญ้าแห้งมาสานเป็นกระโจมกว้าง 13 – 15 เซนติเมตร มีปากทางเข้าออกอยู่ด้านข้าง ในรังมีไข่อยู่ 4 ฟอง ขนาดกว้าง x ยาว 1.75 x 2.05 เซนติเมตร ไข่มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลแดงกระจายอยู่บนพื้นสีน้ำตาลอ่อน

 

23. นกเป็ดแดง (Whistling Teal)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendrocygna javanuca  พบทำรังในเดือนพฤษภาคม รังสร้างอยู่บนกอหญ้าสูงจากพื้นดินประมาณ 40 เซนติเมตร ส่วนบนของรังจะรกปกคลุมด้วยใบหญ้าคาที่อยู่โดยรอบเพื่อช่วยอำพรางรังไว้ ไข่ในรังมีจำนวน 11 ฟอง  สีขาวนวล ขนาดกว้าง x ยาว 4.2 x 4.75 เซนติเมตร ซึ่งปกตินกเป็ดแดงจะวางขันละฟอง และขณะที่นกเป็ดแดงตัวหนึ่งกกไข่ อีตัวหนึ่งจะยืนเฝ้าระวังภัยอยู่ข้างๆ รัง แต่เวลาออกไปหากินจะบินออกไปหาพร้อมกัน