เก้งหม้อ สัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ กับการค้นพบที่ จ.สุราษฎร์ธานี

เก้งหม้อ สัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ กับการค้นพบที่ จ.สุราษฎร์ธานี

เก้งหม้อ หรือ Fea’s Muntiak (Muntiacus Feae Thomas and Daria 1889) เป็นสัตว์ป่าพื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่งที่ Red Data Book ของ IUCN (องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ) จัดให้เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ของโลก ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้มีอยู่น้อยมาก เท่าที่ทราบในประเทศไทยมีถิ่นที่อยู่กระจายเฉพาะทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดราชบุรีถึงจังหวัดตาก และแถบเทือกเขาตะนาวศรีของประเทศพม่าเท่านั้น

เก้งหม้อ หรือเก้งดำ หรือกวางจุด เป็นสัตว์จำพวกกวางขนาดเล็ก น้ำหนักตัวประมาณ 20 กิโลกรัม ขนาดเล็กกว่าเก้งธรรมดาหรือเก้งแดง ขนตามตัวจะเป็นสีเทาเข้มเกือบดำ ยกเว้นบริเวณกระหม่อมเป็นสีเหลืองอยู่รอบโคนเขา และที่โคนหูตรงส่วนกลางของโคนเขาจะมีขนสีดำเป็นแนวในแนวดิ่ง และการที่สีขนตามตัวของเก้งหม้อเป็นสีเข้มเกือบดำ ทำให้บริเวณหางทั้งสองข้างเป็นสีขาวชัดเจน

โดยปกติเก้งหม้อจะอยู่โดดเดี่ยวและจะจับคู่เฉพาะในฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น เก้งหม้อให้กำเนิดลูก 1 ตัว หลังจากการผสมพันธุ์ และตั้งท้องนานประมาณ 6 เดือน

นี่เป็นข้อมูลเท่าที่มีอยู่เกี่ยวกับเก้งหม้อในปัจจุบัน ข้อมูลอื่นๆ ของสัตว์ป่าชนิดนี้ยังไม่มีผู้ใดศึกษามาก่อน

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์ชนิดนี้ใกล้จะสูญพันธุ์ไป

มี 2 ประการ คือ

1. การทำลายป่าไม้ ที่เป็นแหล่งอาศัยและหาอาหารของสัตว์ป่า ซึ่งนับได้ว่าเป็นไปอย่างรุนแรงยิ่ง ป่าไม้ทั้งหมดที่เคยมีอยู่ในประเทศไทยถูกทำลายลงปีละไม่น้อย ระหว่างปี 2525 – 2528 ป่าไม้ถูกทำลายปีละ 1.751 ล้านไร่ ทำให้ความคาดหวังในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าหายากให้คงอยู่เป็นไปอย่างเลือนราง การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าโดยการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองแต่เพียงอย่างเดียวไม่เป็นการพอเพียง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการปกป้องรักษาสภาพป่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ให้คงอยู่อย่างพอเพียงด้วย แต่ปรากฏว่าพื้นที่ป่าไม้ที่เหลืออยู่ประมาณ 29 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ) ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ และพื้นที่อนุรักษ์แต่ละแห่งยังอยู่กระจัดกระจาย ไม่ต่อเนื่องกันเป็นป่าผืนใหญ่ พอที่จะให้สัตว์ป่าอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัยและสามารถคงเผ่าพันธุ์ไว้ได้ มีผู้ทำการศึกษาไว้ว่า ในบรรดาสัตว์ป่าที่หายากจำพวกช้างป่า วัวแดง กระทิง และสัตว์จำพวกนกเงือก จะต้องอาศัยพื้นที่ป่าอย่างน้อย 5,000 ตารางกิโลเมตร จึงจะทำให้สัตว์ป่าเหล่านี้สามารถรักษาพันธุ์ไว้ได้ โดยไม่สูญพันธุ์ไปจากการผสมพันธุ์กันเองในกลุ่มเลือดเดียว

ในประเทศไทยยังมีถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่หายาก และยังไม่ได้ผนวกเข้าไว้ในพื้นที่อนุรักษ์อีกมาก เนื่องจากยังขาดข้อมูลในการสำรวจที่แน่ชัด แต่เมื่อมีการสำรวจและพบว่าพื้นที่ป่าที่ยังเหลืออยู่เป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าที่หายาก แม้จะเป็นพื้นที่ป่าที่ได้รับสัมปทานในการทำประโยชน์อื่นใด ก็เห็นสมควรได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ โดยอาจผนวกเข้ากับพื้นที่อนุรักษ์เดิมที่มีอยู่ ก็จะทำให้พื้นที่อนุรักษ์สำหรับการสงวนพันธุ์สัตว์ป่าเปิดนั้นๆ ให้คงอยู่ในสภาวะที่จะไม่สูญพันธุ์ไปในอนาคต

2. การถูกล่าเพื่อเอาเนื้อเป็นอาหารและขายตัวเป็น สำหรับเก้งหม้อแม้ว่าจะถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่ห้ามล่าและห้ามทำการค้าขายแล้วก็ตาม แต่ก็มักถูกนายพรานล่าอยู่เสมอ เช่นเมื่อปี 2529 นายพรานจากอำเภอคีรีรัฐนิยม จังหวัดสุราษฎร์ธานี จับเก้งหม้อตัวแรกได้โดยบังเอิญจากการใช้แร้วดักสัตว์จำพวกหมูป่า เม่น และเก้งธรรมดา บริเวณที่จับได้เป็นภูเขาสูงในป่าดงดิบ มีชื่อเรียกตามประสาชาวบ้านว่า ควนคันไร่ บริเวณนี้มีภูเขาต่อเนื่องกับควนขี้ชัน เขาบางเน่า ทิวเขาแดนมุย ขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงเทือกเขาสูง ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและมีปริมาณของเก้งหม้ออยู่มาก หลังจากได้เก้งหม้อตัวแรกแล้ว พรานคนดังกล่าวได้ทำการจับเก้งหม้ออย่างเดียว เพื่อนำไปขายให้แก่ผู้ต้องการซื้อเอาไปเลี้ยงในราคาตัวละประมาณ 3,000 – 4,000 บาท แล้วแต่เพศและสภาพของเก้งที่จับมาได้ (เก้งหม้อเพศเมียราคาสูงกว่าเพศผู้) ระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคม ปี 2530 จับเก้งหม้อด้วยการวางแร้วจำนวน 300 ตาต่อครั้ง ได้เก้งหม้อมาทั้งสิ้น 15 ตัว ส่วนใหญ่จะตายในระหว่างการเลี้ยงดูก่อนนำไปขาย ส่วนที่เหลือรอดจนถึงมือผู้ซื้อมักจะตายด้วยความบอบช้ำ ที่เหลือรอดเท่าที่ทราบขณะนี้ 2 ตัว เป็นเพศผู้ทั้งคู่ สาเหตุที่ได้เก้งหม้อจำนวนมากในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากเป็นฤดูผสมพันธุ์ และมีลูกไม้ป่าเป็นอาหารของเก้งอยู่มาก ในบริเวณที่สำรวจพบร่องรอย

 

การสำรวจพื้นที่ที่พบเก้งหม้อ

หลังจากที่ทราบว่ามีการพบเก้งหม้อ ผมและเจ้าหน้าที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ทราบรายละเอียด ดังนี้

1. พื้นที่สำรวจ เป็นเทือกเขาต่อเนื่องกันระหว่างเขาขี้ชัน เขาแดนมุย และเขาสูง ทางด้านตะวันออกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าเตรียมการนำไม้ออก แบ่งเป็นตอนนำไม้ที่ 6, 7, 8, 9 และ 10 สำหรับตอนที่ 6 จะมีการนำไม้ออกในปี 2531 – 2533 ส่วนตอนที่ 7 ถึง 10 ยังไม่มีการนำไม้ออก แต่นับว่าโชคดีที่ต่อมารัฐบาลไทยได้มีพระราชกำหนดให้ปิดป่าสัมปทานทั่วประเทศ ซึ่งมีผลต่อพื้นที่แห่งนี้ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม บริเวณดังกล่าวราษฎรจำนวนมากเข้าไปตัดหวาย โดยใช้ช้างลากออกจาป่า และมาขอใบอนุญาตนำของป่าเคลื่อนที่ออกจากอำเภอคีรีรัฐด้วย

2. สภาพพื้นที่ เป็นเขาดินสูงชันปกคลุมด้วยป่าดงดิบที่ระดับความสูงประมาณ 670 เมตร ถึง 1,000 เมตร

3. การเคลื่อนย้ายถิ่นในช่วงปลายฤดูฝนต่อเนื่องกับฤดูหนาว (กันยายน – ธันวาคม) ของทุกปี เก้งหม้อจะเคลื่อนย้ายจากเทือกเขาสูง (1,000 เมตร) ลงมาทางทิศใต้ซึ่งมีความสูงน้อยกว่า (ประมาณ 900 เมตร ลงมาจนถึง 650 เมตร) ซึ่งมีเทือกเขาที่ลาดชันและป่าดงดิบต่อเนื่องขนานลงมาทางด้านตะวันออกของแนวเทือกเขาหินปูน ซึ่งเป็นแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงด้านทิศตะวันออก ประกอบกับบริเวณตอนใต้มีพันธุ์ไม้หลายชนิดที่จะออกลูกเป็นอาหารของเก้งหม้อในช่วงฤดูนี้ จึงทำให้เก้งหม้อเคลื่อนย้ายลงมาทุกปีติดต่อกัน โดยมากที่พบมักจะเป็นคู่ แล้วใช้เส้นทางด่านแนวเดียวกันลัดเลาะข้ามเขาสูงชันและปกคลุมด้วยป่าดงดิบ บริเวณที่เป็นที่อยู่ของเก้งหม้อจะไม่พบเก้งธรรมดาหรือเก้งแดงอาศัยอยู่ เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วเก้งธรรมดาชอบหาอาหารตามป่าโปร่งที่ราบซึ่งไม่สูงชัน

4. พฤติกรรมบางประการ เก้งหม้อจะจับคู่ในฤดูผสมพันธุ์และอยู่ด้วยกันตลอดฤดู ชอบหากินในช่วงเวลาพลบค่ำและในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวันซึ่งมักจะนอนหลับ โดยเฉพาะในฤดูที่มีลูกไม้กำลังแก่จัดและร่วงหล่นอยู่ตามพื้นป่า เก้งหม้อจะกินและนอนอยู่บริเวณใต้ต้นไม้นั้น ระยะทางที่เดินหากินแต่ละวันประมาณ 2 กิโลเมตร

5. ขนาดของพื้นที่อาศัย จากการคาดคะเนขนาดพื้นที่อาศัยที่เก้งหม้อจะใช้หมุนเวียนเพื่อหาอาหารและเป็นที่อยู่อาศัยประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร

6. อาหารของเก้งหม้อ จากการสำรวจพบว่า อาหารของเก้งหม้อในช่วงฤดูผสมพันธุ์คือ ลูกฉกหรือลูกด๋าว (Arenga pinnata) ลูกแซะ (Millettia atropurpurea) ลูกเหรียง (Parkia timorina) มะกอกป่า (Spondias pinnata) มะขามป้อม (Phyllanthus emblica) มะไฟ (Baccaurea sapida) สมอ (Terminalia bellerica) และพวกยอดพืชตามพื้นป่า ซึ่งยังไม่ได้ทำการสำรวจให้แน่นอนถึงชนิดอาหารตามฤดูกาล

7. การผสมพันธุ์และออกลูก เก้งหม้อจะผสมพันธุ์ในราวเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ในราวเดือนมีนาคม – เมษายน ตั้งท้องประมาณ 5 – 6 เดือน

8. ศัตรูธรรมชาติ สัตว์ป่าจำพวกเสือดาวและเสือโคร่ง แต่ยังไม่ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเสือที่พบในพื้นที่สำรวจ

ปัจจุบัน กองอนุรักษาสัตว์ป่ากำลังดำเนินการผนวกพื้นที่ที่เป็นแหล่งเก้งหม้อแห่งนี้ เข้ากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าหายากชนิดนี้

 


พิมพ์ครั้งแรกในเอกสารประกอบการสัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย ปีที่ 8 วันที่ 24 – 25 ธันวาคม 2530