สัมปทานป่าไม้ บทเรียนจากสายน้ำเลือด

สัมปทานป่าไม้ บทเรียนจากสายน้ำเลือด

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2518 คนภาคใต้ยังไม่ลืมอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต หลายคนสูญเสียญาติพี่น้อง บ้านเรือน และเรือกสวนไร่นา หลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว แต่ก็ยังคงกัดฟันต่อสู้ชีวิต พยายามสร้างเนื้อสร้างตัวเริ่มต้นชีวิตใหม่กันอีกครั้ง แต่ใครจะคาดคิดว่าอีกสิบกว่าปีต่อมา สิ่งที่พวกเขาอุตสาห์สร้างสมอดออมกันมา จะพินาศยับเยินซ้ำอีกเพียงชั่วคืนเดียว

อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 40 ปี เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2531 ฝนได้เทกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตาตลอดวันตลอดคืนในบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย

น้ำป่าได้โถมกระหน่ำลงมาจากภูเขาอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง……

แค่ชั่วระยะเวลาเพียงสองวัน เกิดน้ำท่วมฉับพลันครอบคลุม 9 จังหวัดภาคใต้ คือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ผืนแผ่นดินทั้งเก้าจังหวัดกลายเป็นดินแดนที่มีแต่น้ำจรดฟ้า… ไร้แผ่นดิน ไร้บ้านเรือนและเรือกสวนไร่นา

คืนวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี น้ำป่าที่ส่งเสียงคำรามครืนโครมอย่างน่าสยดสยองตลอดทั้งคืน ก็พัดพาเอาท่อนซุงนับหมื่นมุ่งหน้าเข้าถล่มอำเภอบ้านนาสารจนวอดวายป่นปี้ไป เกือบหมดทั้งอำเภอ และเมื่อน้ำลดลง สิ่งที่เหลืออยู่คืนทะเลโคลนและท่อนซุงกองมหึมาที่นอนสงบนิ่งไร้พิษสงอยู่ แทนที่บริเวณตัวอำเภอและบ้านเรือนซึ่งถูกทำลาย หายไปพร้อมกับสายน้ำ เช่นเดียวกับที่ตำบลกระทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านก็ถูกกวาดเรียบหายไปจากแผนที่ประเทศไทย

น้ำป่าที่โถมทะลักพุ่งลงมาจากภูเขาได้เปลี่ยนภูมิประเทศบริเวณนั้นให้เป็นทะเลโคลนสุดลูกหูลูกตา และภายใต้กองไม้ซุงขนาดมหึมาคือซากศพของผู้เสียชีวิตนับร้อยๆ คน บ้างถูกไม้ซุงพุ่งใส่จนร่างแหลกเหลว บ้างจมน้ำหายวับไปต่อหน้าต่อตาญาติพี่น้อง เพราะไม่อาจสู้แรงกระแสน้ำที่ไหลอย่างบ้าคลั่ง

ไม้ซุงดูเหมือนเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของการเกิดสภาวะน้ำท่วมอย่างฉับพลันไม่มีใครปฏิเสธว่านี่คือผลพวงจากการตัดไม้ทำลาย ป่าของมนุษย์ ทั้งโดยผิดกฎหมายและใช้กฎหมายสัมปทานมาเป็นเงื่อนไขบังหน้าในการตักตวงเอาผลประโยขน์จากป่า

จากสถิติพื้นที่ป่าไม้ของไทยที่มีการบันทึกไว้ในปี พ.ศ. 2504 พบว่าขณะนั้นป่าไม้ทั่วประเทศมีอยู่ถึง 273,628 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณร้อยละ 53 ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด 513,115 ตารางกิโลเมตร และเมื่อไล่ดูปีต่อๆ มาก็ปรากฎว่าพื้นที่ป่าได้ลดน้อยถอยลงตามปีที่เพิ่มขึ้น

2516 พื้นที่ป่าไม้เหลือ 221,707 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 43.21
2521 พื้นที่ป่าไม้เหลือ 175,434 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 34.15
2528 พื้นที่ป่าไม้เหลือ 149,053 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 29.05

เพียงชั่วระยะเวลา 24 ปี ป่าไม้ได้ลดลงเฉลี่ยปีละประมาณ 5,190 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 3 ล้าน 2 แสนไร่ต่อปี นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ป่าตามหลักการอนุรักษ์ ที่จะต้องมีไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด เพื่อคงไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ

ดังนั้น จึงเกิดคำถามตามมาว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ป่าจำนวนมากถูกทำลายลง ทั้งๆ ที่รัฐได้มีการออกกฎหมายไว้ควบคุม มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเอาใจใส่ มีการวางหลักการสัมปทานทำไม้ที่มุ่งนำเอาทรัพยากรธรรมชาติด้านนี้มาใช้ให้ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ตลอดจนการวางนโยบายป่าไม้ของชาติที่จะอนุรักษ์พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ให้ดำรงอยู่ แต่ดูเหมือนว่ามาตรการที่กล่าวมาไม่เพียงแต่จะไม่สัมฤทธิ์ผลทว่ายังกลายเป็น ต้นเหตุแห่งการทำลายป่าอย่างขนานใหญ่อีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาสัมปทานป่าไม้ที่กำลังได้รับความสนใจและมีเสียงเรียกร้องให้ยก เลิกอยู่ในขณะนี้

 

บทเริ่มต้นของกรมป่าไม้และสัมปทานป่า “มีกรมป่าไม้ ก็มีสัมปทานป่า”

ประโยคบอกเล่าสั้นๆ ที่มีความหมายแฝงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ด้านป่าไม้กับกิจกรรมการทำไม้ที่มีความเป็นมา เกือบจะพร้อมกัน… ในอดีตก่อนที่จะมีการตั้งกรมป่าไม้ การทำไม้และการใช้พืชผลจากป่าในประเทศไทยมิได้อยู่ในความควบคุมของรัฐบาล ราษฎรสามารถตัดฟันเอาไปใช้สอยหรือทำการค้าได้โดยเสรี เว้นแต่ในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศซึ่งเป็นแหล่งที่มีไม้สักอุดมสมบูรณ์ เจ้าผู้ครองนครเขตแคว้นต่างๆ ได้ยึดเอาป่าไม้สักในท้องที่ของตนเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ผู้ใดประสงค์จะทำไม้สักในป่าท้องที่ใด ต้องขอรับอนุญาตจากเจ้าผู้ครองนครนั้น โดยยอมเสียเงินให้ตามจำนวนต้นสักที่ตัดฟันลง ซึ่งเรียกว่า “ค่าตอไม้”

การถือสิทธิ์ในป่าของเจ้าผู้ครองนครได้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเจ้าของป่าส่วนมากเห็นแก่ได้ เปิดอนุญาตให้มีการทำไม้อย่างไม่ยุติธรรม จึงเกิดกรณีพิพาทระหว่างผู้ขออนุญาต ผู้รับอนุญาตและเจ้าผู้ครองนครซึ่งเป็นเจ้าของป่าอยู่เนื่องๆ ทำให้รัฐบาลในกรุงเทพฯ จำเป็นต้องเข้าแทรกแซงแก้ไข ด้วยการออกพระราชบัญญัติสำหรับผู้รักษาเมือง พ.ศ. 2417 มาใช้ แต่ยังคงให้สิทธิ์ถือครองแก่เจ้าผู้ครองนครเช่นเดิม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2426 เมื่อรัฐบาลทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ ก็ได้มีบริษัทต่างประเทศเข้ามาประกอบอาชีพในการทำไม้กันมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นผลร้ายแรงต่อมา เนื่องจากเมื่อมีผู้ต้องการทำไม้มากขึ้นก็ต้องแก่งแย่งกันเพื่อจะได้รับอนุญาต ต่างฝ่ายต่างให้เงินกินเปล่าเป็นจำนวนมากๆ แก่เจ้าผู้ครองนครเพื่อจะได้สิทธิในการทำไม้ ทำให้บรรดาผู้ขอทำไม้ได้รับความเดือดร้อน

นอกจากนั้นยังปรากฎว่าการเก็บเงินค่าตอไม้ได้กระทำกันอย่างหละหลวม รัฐบาลจึงพิจารณาเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดการควบคุมการทำไม้ให้รัดกุมยิ่ง ขึ้น ดังนั้นในปี พ.ศ. 2436 รัฐบาลจึงยืมตัวนายเอช ชเลค ชาวอังกฤษ ผู้ชำนาญการป่าไม้ของพม่ามาเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ช่วยวางแผนการจัดการป่าไม้ของไทย ซึ่งนายชเลค ได้สำรวจและชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องอันเนื่องมาจากสาเหตุ 2 ประการ คือ ประการแรก การทำป่าไม้ทั้งหมดอยู่ในความครอบครองของเจ้านายเจ้าของท้องที่ ทำให้เกิดการเรียกเงินกินเปล่าตามอำเภอใจ และประการที่สอง การทำป่าไม้เท่าที่เป็นอยู่ยังไม่อยู่ในระเบียบอันถูกต้อง คือ ขาดหลักการเกี่ยวกับการคุ้มครองรักษาป่าเพื่อที่ป่าไม้จะสามารถอำนวยผลได้ อย่างถาวร นั่นก็คือ ได้มีการทำไม้ในป่าไม้สักจนเกินกำลังของป่าไม้มาก ซึ่งเป็นการผิดหลักการของวิชาการป่าไม้ที่ถือว่า “ป่าไม้ที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นเสมือนต้นทุนซึ่งเป็นของประเทศ และปริมาณเนื้อไม้ที่งอกเงยขึ้นทุกปีนั้นเป็นดอกเบี้ยที่เราอาจจะนำออกใช้ สอยได้เป็นรายปี ต้นทุนที่มีอยู่ไม่สมควรไปแตะต้องเป็นอันขาด คงใช้แต่ดอกเบี้ยเท่านั้น มิเช่นนั้นแล้ว ป่าไม้ที่มีอยู่ก็จะไม่สามารถอำนวยประโยชน์อย่างถาวรได้ตลอดไป”

นายชเลค ได้เสนอวิธีแก้ไขไว้หลายประการ แต่ที่สำคัญก็คือ การชี้ให้เห็นว่าป่าไม้เป็นเสมือนต้นทุนซึ่งเป็นของประชาชาติโดยส่วนรวม จึงเป็นสิ่งที่ควรคุ้มครองรักษาไว้และจัดการให้อำนวยประโยชน์แก่รัฐและประชาชนอย่างสม่ำเสมอตลอดไป ไม่ควรปล่อยให้อยู่ในมือของเอกชนคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้รับรายงานดังกล่าวแล้ว จึงพิจารณาเห็นชอบและนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งทรงมีพระราชดำริเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชหัตเลขา ที่ 62/……. ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2439 ทรงราชการจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนากรมป่าไม้ พร้อมๆ กับการจัดการป่าไม้ในประเทศไทยก็เริ่มดำเนินการโดยรัฐบาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในระยะแรกเป็นการทำไม้สักแต่อย่างเดียว จนมาในสมัยหลังเมื่อประชาชนมีความต้องการไม้มากขึ้น จึงเปิดให้มีการทำไม้กระยาเลย แต่ยังเป็นการทำไม้กันอย่างไม่มีโครงการ จนเมื่อปี พ.ศ. 2496 ก็เริ่มมีการวางแผนการทำสัมปทานป่าไม้ครั้งแรกขึ้นในเมืองไทย โดยเป็นโครงการชั่วคราว อนุญาตให้ทำปีละแปลง ต่อมาขยายเวลาอนุญาตให้ผูกขาดทำ 3 ปี แต่ปรากฎว่าผู้ทำไม้รายย่อยเห็นแก่รายได้ส่วนตัว ไม่ได้เอาใจใส่ดูแลป่า ทำให้ป่าถูกทำลายเสื่อมโทรม ดังนั้นในปี พ.ศ. 2509 จึงมีการเสนอให้วางโครงการทำไม้ในระยะยาว โดยกำหนดอายุสัมปทานเต็มรอบตัดฟันเป็นระยะเวลา 30 ปี ทั้งนี้ให้เหตุผลว่า เพื่อควบคุมการทำไม้ให้เป็นไปโดยสะดวก เนื่องจากป่าหนึ่งๆ มีผู้ทำไม้เพียงบริษัทเดียว การทำไม้ก็ให้ทำเป็นแปลง แปลงละปี รวมเป็น 30 แปลง มีขอบเขตป่าไม้ที่ให้ทำไม้เป็นที่แน่นอน

เพื่อให้ผู้รับสัมปทานมีโอกาสทำไม้เป็นเวลานาน ซึ่งถือเป็นอาชีพที่ยั่งยืน จะได้กล้าลงทุนในการป้องกันรักษาป่าที่ตนได้รับสัมปทาน ตลอดจนทุนปลูกบำรุงป่าตามหลักวิชาการที่เจ้าหน้าที่จะได้กำหนดและให้คำแนะนำ

เพื่อให้ผู้รับสัมปทานเป็นกำลังในการป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เนื่องจากเห็นว่าป่านั้นๆ เป็นทรัพย์สมบัติอันจะยังประโยชน์แก่ตนเองและลูกหลานต่อไป และเมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับความร่วมมือในเรื่องนี้แล้ว ย่อมจะบังเกิดผลในด้านการป้องกันรักษาป่าได้ดียิ่งขึ้น

รัฐบาลสามารถกำหนดเงื่อนไขและวิธีการให้ผู้รับสัมปทานทำการปลูกบำรุงป่าตามความประสงค์ของ ทางราชการได้ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบางบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินได้เป็นอันมาก

ในที่สุดวันที่ 19 พฤศจิกายน 2511 รัฐบาลจึงมีมติเห็นชอบกับหลักการดังกล่าว กำหนดให้ผู้ประกอบการและประกอบอาชีพเกี่ยวกับป่าไม้ และราษฎรแต่ละจังหวัดรวมตัวกันจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดขึ้น เรียกว่า “บริษัททำไม้ประจำจังหวัด” ซึ่งจะเป็นผู้รับสัมปทานทำไม้ในป่าโครงการที่อยู่ในท้องที่จังหวัดนั้นๆ

นอกจากนี้ยังให้อำนาจแก่บริษัททำไม้ในการดูแลรักษาป่า โดยแต่งตั้งให้กรรมการผู้จัดการบริษัททำไม้ประจำจังหวัดหรือผู้รับสัมปทาน และผู้จัดการฝ่ายป่าของบริษัทเป็นพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย มีอำนาจจับกุมผู้ผ่าฝืนกฎหมายป่าไม้ภายในเขตสัมปทานของตนได้ ต่อมาได้มีมติของคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้กำหนดให้

(1) ผู้รับสัมปทานจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าเส้นทางเข้าสู่ป่าสัมปทาน เพื่อตรวจบุคคลและยานพาหนะอย่างเข้มงวดกวดขัน โดยต้องมีด่านกั้นเส้นทาง

(2) ผู้รับสัมปทานทำลายเส้นทางชักลากไม้ที่เลิกใช้แล้วเสียให้สิ้น

(3) ผู้รับสัมปทานจัดเวรยาม สายตรวจลาดตระเวนในพื้นที่ป่าสัมปทาน เมื่อพบการกระทำผิดก็ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบโดยทันที และ

(4) หากทางราชการตรวจพบการกระทำผิดภายในเขตสัมปทานและปรากฎว่าผู้รับสัมปทานมิได้ปฏิบัติตามแนวข้อ 1 – 3 ก็ให้เจ้าหน้าที่เสนอเรื่องให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาเพิกถอนสัมปทานต่อไป

 

ใครคือผู้ถือสิทธิ์ในสัมปทาน

การทำสัมปทานป่าบกในบ้านเรามีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ สัมปทานป่าไม้สักและสัมปทานป่าไม้กระยาเลย โดยผู้มีสิทธิ์ในสัมปทานป่าไม้สักนั้น ได้แก่ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้หรือ ออป. ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดไว้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2500 สำหรับสัมปทานป่าไม้กระยาเลยส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของบริษัทป่าไม้ประจำจังหวัด ที่ก่อตั้งขึ้นตามนโยบาย และหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2511 เว้นแต่ป่าโครงการไม้กระยาเลยที่มีลักษณะเป็น 1) ป่าที่ล่อแหลมต่ออันตราย มีการบุกรุกลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอยู่เสมอ 2) ป่าต้นนำลำธาร และ 3) ป่าสาธิตที่จะอยู่ในความควบคุมดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ นอกจากนั้นมีรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน และองค์การของรัฐบางแห่งที่ได้รับสัมปทานทำไม้ด้วย

ปี พ.ศ. 2511 พื้นที่ป่าไม้ที่เป็นป่าสัมปทานมีรวมทั้งสิ้นประมาณ 230,000 ตารางกิโลเมตร แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 คณะรัฐมนตรีมีมติปิดป่าสัมปทานทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่สัมปทานทั้งหมด ทำให้พื้นที่สัมปทานถูกปิดไป 122,784 ตารางกิโลเมตร จนปี พ.ศ. 2527 รัฐบาลมีมติเปิดป่าสัมปทานเพื่อผ่อนคลายให้มีการทำไม้ได้อีกเป็นพื้นที่ 24,063 ตารางกิโลเมตร รวมแล้วเป็นพื้นที่ป่าสัมปทานทั้งสิ้น 130,815 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 25.5 ของพื้นที่ประเทศ ส่วนป่าที่เหลืออยู่ร้อยละ 3.5 ของประเทศถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (พื้นที่ที่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ และป่าต้นลำธาร ซึ่งไม่ซ้อนทับกับพื้นที่ป่าสัมปทานและไม่รวมพื้นที่ที่เป็นพื้นน้ำของ อุทยานแห่งชาติทางทะเลบางแห่ง)

จากตัวเลขล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2531 จากกองคุ้มครอง กรมป่าไม้ พบว่า มีการให้สัมปทานป่าไม้สักเป็นจำนวน 42 สัมปทาน (พื้นที่ซ้อนทับป่าโครงการไม้กระยาเลย) และสัมปทานไม้กระยาเลยรวม 274 สัมปทาน โดยมีบริษัทจังหวัดทำไม้ครอบครองมากที่สุด คือ 48 บริษัท ครอบครอง 218 สัมปทาน รองลงมา คือ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 29 สัมปทาน องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 8 สัมปทาน การรถไฟแห่งประเทศไทย 7 สัมปทาน บริษัทไม้อัดไทย จำกัด 7 สัมปทาน และอื่น ๆ (ดูรายละเอียดในตารางที่ 1)

สำหรับสัมปทานป่าเลนนั้น มีการให้สัมปทานระยะยาวเช่นกัน โดยมีอายุสัมปทาน 15 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2509 และ 6 กันยายน 2509 จากสถิติปัจจุบันของกองคุ้มครอง กรมป่าไม้ ระบุว่า มีบริษัทและเอกชนอื่น ๆ เป็นผู้รับสัมปทานป่าเลนจำนวน 249 สัมปทาน เป็นเนื้อที่ 1,451.40 ตารางกิโลเมตร

 

วนวัฒนวิธีแบบเลือกตัด หลักการทำไม้ในปัจจุบัน

หลังจากที่รัฐบาลมีมติให้สัมปทานระยะยาวแล้ว ก็ได้มีการจัดวางโครงการทำไม้ โดยการจัดการไม้สักใช้รอบตัดฟัน 30 ปี ด้วยการแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็น 10 ตอน ตอนละ 3 แปลง เปิดให้ทำไม้ปีละ 1 แปลง แล้วใช้วนวัฒนวิธี

ตารางที่ 1 สถิติผู้รับสัมปทานและจำนวนป่าสัมปทานทำไม้ทั่วราชอาณาจักร

สัมปทานไม้กระยาเลย     จำนวน (สัมปทาน)    
บริษัท (จังหวัด) ท่าไม้ จำกัด (48 บริษัท) 218
องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 29
องค์การสงเคราะหห์ทหารผ่านศึก 8
การรถไฟแห่งประเทศไทย 7
บริษัทไม้อัดไทย (จำกัด) 7
บริษัทศรีมหาราชา 2
บริษัทสงเคราะห์สหายร่วมรบเกาหลี จำกัด 2
เจ้าวัฒนา โชตนา 1
รวม 274

หมายเหตุ ปัจจุบันกำลังมีการเวนคืนสัมปทานบางแห่งอยู่

สัมปทานป่าไม้สัก     จำนวน (สัมปทาน) 
องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 36
องค์การสงเคราะหห์ทหารผ่านศึก 3
บริษัทสงเคราะห์สหายร่วมรบเกาหลี จำกัด 2
บรืษัทอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 จำกัด 1
รวม 42

ที่มา : กรมคุ้มครอง กรมป่าไม้

 

แบบเลือกตัด คือ ไม่ได้ทำการตัดไม้หมดทั้งแปลง แต่จะตัดไม้ที่โตได้ขนาดจำกัดบางส่วน อีกบางส่วนเหลือสงวนทิ้งไว้พร้อมกับไม้ที่ห้ามตัดฟัน อันได้แก่ ไม้โทน (ไม้ที่ขึ้นอยู่โดดเดี่ยวห่างจากกลุ่มไม้ชนิดเดียวกัน) ไม้สันเขา (ไม้ที่ขึ้นอยู่บนสันเขาหรือใกล้สันเขาที่จะโปรยปรายเมล็ดลงสองข้างไหล่เขาได้) และไม้เชื้อหรือแม่ไม้อีกด้วย ไม้ที่ได้ขนาดตัดฟันแต่เว้นไว้ไม่ตัด จะต้องเหลือไว้ 35 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนไม้สักที่เลือกตัดทั้งหมดในแต่ละแปลง เช่น มีไม้ที่ได้ขนาด 100 ต้น ต้องเหลือทิ้งไว้ไม่ตัด 35 ต้น ส่วนขนาดจำกัดของไม้สักที่เลือกตัดได้ต้องมีเส้นรอบวง 190 เซนติเมตร โดยวัดตรงบริเวณที่สูงจากพื้นดิน 130 เซนติเมตร

สำหรับการตัดไม้กระยาเลย มีพื้นที่แต่ละโครงการประมาณ 500 – 1,000 ตารางกิโลเมตร โดยแบ่งป่าโครงการออกเป็น 10 ตอน ตอนละ 3 แปลง ให้ทำไม้ปีละ 1 แปลง ด้วยการใช้วนวัฒนวิธีแบบเลือกตัดเช่นกัน แต่การกำหนดให้สงวนไม้กระยาเลยอื่นๆ (นอกจากไม้ยาง) ในแต่ละแปลงต้องเหลือไว้ 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนไม้ที่เลือกทั้งหมด ส่วนไม้ยางให้เหลือไว้ 50 เปอร์เซ็นต์ คือ ตัดต้นเว้นต้น

นอกจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ในปี พ.ศ. 2518 ได้มีการกำหนดให้หมายแนวเขตพื้นที่บางแห่งในป่าโครงการ ห้ามมิให้ทำการสำรวจคัดเลือกตีตราไม้ คือ ในบริเวณพื้นที่ที่เป็นต้นน้ำลำธาร พื้นที่ที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 30 องศาขึ้นไป และพื้นที่ที่อยู่ติดริมลำน้ำ ดังนั้น หลังจากที่มีการตัดฟัน ชักลากไม้ออกจากป่าสัมปทานแล้ว ป่าที่เหลืออยู่จะยังคงมีไม้ยืนต้นเหลืออยู่ หากแต่ไม่หนาแน่นดังเก่า ไม่ใช่สภาพป่าที่ถูกตัดฟันเหลือแต่ตอไม้ดังที่มักจะเข้าใจกันผิด ๆ

ส่วนการจัดการป่าชายเลน ได้ใช้วนวัฒนวิธีแบบตัดหมดในแนวสลับ กำหนดรอบหมุนเวียน 30 ปีและรอบตัดฟัน 15 ปี ป่าแต่ละหมวดแบ่งออกเป็น 15 แปลง ตัดฟัน เปิดให้ทำไม้ปีละแปลง โดยให้ตัดฟันไม้ออกเป็นแนวกว้าง 40 เมตร ตลอดแนวเว้นไว้ 1 แนวสลับกันไปทั้งหมวดตัดฟัน เมื่อตัดฟันออกแล้ว ผู้รับสัมปทานต้องทำการปลูกป่าในบริเวณที่ตัดฟันไม้ตามวิธีการที่กรมป่าไม้ กำหนด

จากระบบวิธีการทำไม้แบบเลือกตัดเช่นนี้ นักวิชาการป่าไม้มีความเห็นว่า เมื่อมีการตัดไม้ออกแล้วอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ จะไม่ทำให้ป่าสัมปทานนั้นเสื่อมโทรมลงและแทบไม่จำเป็นที่จะต้องมีการปลูกป่าขึ้นทดแทน เพราะไม้ที่เหลือยังไม่ได้ขนาดจะโตขึ้นทดแทนทันเมื่อถึงรอบตัดฟันครั้งต่อไป ส่วนไม้ที่สงวนไว้ไม่ตัดก็จะกลายเป็นแม่ไม้ ขยายแพร่พันธุ์ต่อไป แต่จากสภาพความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสาเหตุใดจะกล่าวต่อไป

 

ขั้นตอนและเงื่อนไขการทำไม้

ก่อนที่จะมีการให้สัมปทาน จะมีการวางโครงการโดยยึดถือแผนที่ระวางของกรมแผนที่ทหารมาตราส่วน 1:50,000 และภาพถ่ายทางอากาศเป็นบรรทัดฐาน จากนั้นส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจวางแนวเขตพื้นที่สัมปทาน โดยแต่ละโครงการมีพื้นที่ประมาณ 500 – 1,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนการอนุญาตให้สัมปทานเป็นมติของคณะรัฐมนตรีโดยอาศัยอำนาจตามพระราช บัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 63 เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติออกสัมปทานแก่ผู้ใดแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นผู้ลงนามในสัมปทานนั้น

ต่อมากรมป่าไม้จะกำหนดพื้นที่ภายในเขตสัมปทานออกเป็นแปลงๆ และทำบัญชีแสดงชนิดและจำนวนไม้ที่จะนำออกได้ในแปลงนั้นๆ โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการคัดเลือกไม้ที่จะตัดฟัน ตรวจแนวเขตพื้นที่ตอนที่คัดเลือกให้ตรงกับแผนที่โครงการ และไม้ที่จะทำการคัดเลือกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ คือ มีขนาดไม่ต่ำกว่าขนาดจำกัดที่กำหนดตามชนิดของไม้ อาทิ ไม้สักมีขนาดจำกัด 190 เซนติเมตร ไม้ยางมีขนาดเท่ากับ 250 เซนติเมตร เป็นต้น และไม้ที่ได้ขนาดจะไม่ตัดทุกต้น ต้องเหลือสงวนทิ้งไว้ตามจำนวนที่กำหนด แล้วทำเครื่องหมายกากบาทสีแดงลงบนลำต้น ส่วนไม้ที่เลือกตัดฟันให้ใช้ขวานถากบนต้นไม้แล้วเอาค้อนทุบลงไปตรงหน้าเขียงค้อน

ที่ทุบนั้นจะมีหมายเลขประจำตัวของเจ้าหน้าที่กำกับไว้ นอกจากนี้ระหว่างทำการคัดเลือกตีตราไม้เจ้าหน้าที่ต้องทำการนับจำนวนไม้ชั้น สอง (ไม้ที่จะโตขึ้นมาจนได้ขนาดตัดฟันในรอบต่อไป) ของตอนที่ทำการสำรวจ และให้ระบุไว้ในสมุดคัดเลือกไม้ด้วย ต่อมาจึงจัดทำรายงานตามแบบที่กำหนดพร้อมทั้งแผนที่สังเขปแสดงตำแหน่งไม้ เลือก และไม้สงวนกับแผนที่สังเขปแสดงภาพป่าให้ป่าไม้เขตทราบ ป่าไม้เขตจะจัดส่งเจ้าหน้าที่อีกชุดเข้าไปทำการตรวจสอบรับรองผลการปฏิบัติ งาน เมื่อตรวจผลเสร็จ ป่าไม้เขตจะส่งเจ้าหน้าที่ให้จัดทำบัญชีไม้เลือก โดยทำการแบ่งเฉลี่ยไม้ในตอนนั้นๆ ออกเป็น 3 แปลง แล้วส่งหลักฐานการสำรวจคัดเลือกไม้ให้กรมป่าไม้พิจารณาอนุมัติ

เมื่อถึงกำหนดทำไม้ ผู้รับสัมปทานก็จะตัดฟันไม้ตามบัญชีที่ได้รับอนุญาต แต่ก่อนที่จะตัดฟันผู้รับสัมปทานจะต้องชำระเงินค่าเปิดป่าเป็นรายปี เมื่อตัดฟันเสร็จ ป่าไม้เขตจะส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจวันและตีตราชักลาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดนี้ต้องเป็นคนละชุดกับผู้ทำการสำรวจคัดเลือกไม้ หลังจากประทับตราที่ท่อนไม้แล้ว ก็ให้ประทับตราที่ตอไม้ทุกตอด้วย การตีตราอนุญาตให้ชักลากต้องกระทำ ณ ที่ที่ไม้แต่ละต้นถูกตัดโค่นลงและยังคาตออยู่ ห้ามมิให้ตีบนต้นไม้ที่ยังยืนต้นอยู่หรือบนท่อนไม้ที่ชักลากออกมาห่างไกลจากตอเกิน 40 เมตร และเมื่อตีตราอนุญาตให้ชักลากแล้ว จะต้องวัดขนาดความยาว ความกว้างและรูปพรรณตำหนิของไม้ท่อนนั้นๆ ด้วย

เมื่อไม้ถูกชักลากออกจากป่ามารวมที่หมอนไม้เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องประทับตราเพื่อคำนวณค่าภาคหลวง โดยผู้รับสัมปทานต้องจ่ายชำระให้แล้วเสร็จก่อนนำไม้ออกจำหน่าย เป็นอันสิ้นสุดขั้นตอนการทำไม้

ต่อไปก็คือข้อกำหนดและเงื่อนไขสัมปทานเพิ่มเติมที่ผู้รับสัมปทานจะต้องปฏิบัติแม้จะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่ถ้าไม่กล่าวถึงแล้วก็จะทำให้การมองภาพกระบวนการทำสัมปทานป่าไม้ไม่ชัดเจน เนื่องจากการจะรู้ว่าผู้รับสัมปทานทำผิดข้อกำหนดหรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์การทำไม้และเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐได้วางไว้ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1. ผู้รับสัมปทานจะต้องชำระเงินค่าเปิดป่าอีกต่างหากจากเงินค่าภาคหลวงเป็นรายปี โดยกำหนดเป็นอัตราเหมารายตันตามชนิดไม้ที่ได้รับสัมปทาน เช่น ไม้ยาง มะค่าโมง ตะเคียนทอง และประดู่ ในอัตราต้นละ 100 บาท ไม้เต็ง รัง และไม้แดง อัตราต้นละ 35 บาท ไม้สยา หลุมพอ และไม้เคี่ยม อัตราต้นละ 50 บาท ส่วนไม้กระยาเลยชนิดอื่นๆ อัตราต้นละ 20 บาท เป็นต้น

2. ผู้รับสัมปทานต้องเข้าทำไม้ทุกชนิดตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้สำรวจคัดเลือกตีตราให้ตัดฟันในแปลงตัดฟันตามโครงการ

3. ผู้รับสัมปทานต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมรายต้นตามอัตราที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ออกประกาศกำหนดไว้ตามชนิดและจำนวนไม้ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้สำรวจตีตราให้ตัดฟัน

4. ผู้รับสัมปทานต้องชำระค่าภาคหลวงสำหรับไม้ที่ทำออกตามชนิดและอัตราที่กำหนด

5. ผู้รับสัมปทานต้องชำระเงินค่าใช้จ่ายในการรังวัดหมายแนวเขตป่า การจัดวางโครงการและการสำรวจคัดเลือกตีตราประจำต้นไม้เป็นเงินปีละ 10,000 บาท

6. ผู้รับสัมปทานต้องวางเงินประกันเพื่อเป็นหลักประกันในการที่จะต้องชำระเบี้ยปรับตามสัมปทานทำไม้ไว้เป็นเงิน 10,000 บาท

7. ผู้รับสัมปทานต้องจำหน่ายไม้ที่ทำออกจากป่าสัมปทานให้แก่บุคคลในท้องที่จังหวัด เป็นอันดับแรกในราคาพอสมควร

8. หากต่อไปภายหน้า ทางราชการจะเปลี่ยนแปลงในเรื่องป่าที่ให้สัมปทาน หรือแก้ไขความในสัมปทานประการใดก็ดี หรือจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการใด ๆ หรือบันทึกเพิ่มเติมใด ๆ ก็ดี ตลอดจนเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่กรมป่าไม้จะเรียกเก็บจากผู้รับสัมปทานก็ดี ผู้รับสัมปทานยินยอม ปฏิบัติตามที่ทางราชการสั่งทุกประการ

9. ผู้รับสัมปทานต้องดำเนินการปลูกบำรุงและดูแลรักษาป่าเพื่อให้ป่ามีสภาพสมบูรณ์ สามารถอำนวยผลได้สม่ำเสมอ โดยผู้รับสัมปทานใช้เครื่องมือสัมภาระอุปกรณ์ และต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น ตามวิธีการดังนี้

ก. การปลูกบำรุงป่า ทำการปลูกบำรุงป่าธรรมชาติภายในเขตป่าสัมปทาน และทำการปลูกสร้างสวนป่าเพิ่มเติมในที่ว่าง ตามแนวทางและวิธีการที่กรมป่าไม้กำหนด

ข. การดูแลรักษาป่า ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ดูแลรักษาป่าและป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าภายใน เขตสัมปทาน ตลอดจนดูแลรักษาป่าและธรรมชาติที่สวยงามตามกฎหมายว่าด้วยการสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่าและกฎหมายว่า ด้วยอุทยานแห่งชาติ ทำแนวป้องกันไฟป่าและกำจัดศัตรูพืชตามแนวทางและวิธีการที่กรมป่าไม้กำหนด โดยให้ผู้รับสัมปทานจัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำตามหลักวิชาการ ที่กล่าวไว้ในข้อ ก. และ ข.

10. ถ้าผู้รับสัมปทานไม่ดำเนินการตามข้อ 9 หรือดำเนินการไม่เป็นผลผู้ให้สัมปทานอาจรับดำเนินการปลูกบำรุงป่าเองทั้งหมด หรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้ แต่ผู้รับสัมปทานต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกบำรุงป่าตามที่ผู้ให้ สัมปทานจะแจ้งให้ทราบ

11. ถ้าผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขสัมปทานดังกล่าวในข้อ 1-10 ผู้ให้สัมปทานมีอำนาจที่จะสั่งพัก การทำไม้ตามสัมปทานแต่ขั้นหนึ่งขั้นใด หรือเพียงส่วนหนึ่งส่วนใด หรือสั่งเพิกถอนสัมปทานดังกล่าวได้

อนึ่ง มีข้อกำหนดในสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สัก ข้อที่ 7 กำหนดไว้ว่า “สัมปทานนี้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย กฎ และข้อบังคับทั้งปวงที่ประกาศใช้บังคับอยู่แล้วในขณะนี้ และที่จะได้ประกาศใช้บังคับต่อไปภายหน้า ผู้รับสัมปทานจะอ้างเอาข้อกำหนดหรือเงื่อนไขใด ๆ ในสัมปทานนี้เป็นข้อยกเว้นมิให้ต้องถูกบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับนั้น ๆ หรือจะอ้างเหตุที่ได้รับ หรือจะได้รับโทษตามกฎหมายมาเป็นเหตุไม่ต้องถูกบังคับตามสัมปทานนี้หาได้ไม่”

 

บทพิสูจน์ความล้มเหลว

เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์และวิธีการทำไม้ในป่าสัมปทานตามที่กล่าวแล้ว น่าจะเป็นผลให้ป่าสัมปทานหรือป่าเศรษฐกิจของประเทศคงอยู่ และอำนวยประโยชน์แก่รัฐและประชาชาติโดยส่วนรวมได้ตลอดไป แต่ข้อเท็จจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับปรากฏว่าพื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดลง โดยเฉลี่ยปีละ 3 ล้าน 2 แสนไร่ จากร้อยละ 53.3 ของพื้นที่ประเทศในปี พ.ศ. 2504 ลงมาเหลือร้อยละ 29 ในปี พ.ศ. 2528 และในระหว่างปี พ.ศ. 2524-2528 ประเทศไทยมีอัตราการทำลายป่าเป็นอันดับ 10 ของโลก

จากตัวเลขในปี พ.ศ. 2528 พื้นที่ป่าไม้ของประเทศเหลืออยู่ประมาณร้อยละ 29 ของพื้นที่ประเทศหรือประมาณ 149,053 ตารางกิโลเมตร แต่ปรากฎว่าพื้นที่สัมปทานทำไม้กระยาเลย (รวมพื้นที่ป่าสัมปทานไม้สักที่ซ้อนทับ) ที่กระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ มีพื้นที่รวมกันถึงร้อยละ 36.3 หรือประมาณ 186,317 ตารางกิโลเมตร (ดูตารางที่ 2) แสดงว่าพื้นที่ป่าสัมปทานบางส่วนหมดสภาพความเป็นป่าไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่เพิ่งจะผ่านการทำไม้ไปเพียงครึ่งรอบตัดฟันเท่านั้น (รอบตัดฟัน 30 ปี เริ่มให้ดำเนินการป่าสัมปทานประมาณปี พ.ศ.2515) และหากนำมาเทียบกับพื้นที่ป่าไม้ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ประเทศหรือประมาณ 149,053 ตารางกิโลเมตร ก็จะยิ่งชี้ชัดว่าพื้นที่ป่าสัมปทานได้ถูกทำลายลงไปเป็นจำนวนมาก

ตารางที่ 2 เปรียบเทียบพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ในปี พ.ศ. 2528 กับพื้นที่ป่าสัมปทานทำไม้กระยาเลย ในปี พ.ศ.2530

ภาค
เหนือ

(17 จังหวัด)

ภาค
ตะวันออก
เฉียงเหนือ
(17 จังหวัด)
ภาค
กลางและ
ตะวันออก
(25 จังหวัด)
ภาค
ใต้

(14 จังหวัด)

รวม   เปอร์เซ็นต์
พื้นที่ป่าไม้ 84,126 24,224 25,218 15,485   149.053 29.0
พื้นที่ป่าสัมปทาน 81,307 17,816 36,821 20,372 186,317 36.3

จากสถิติรายงานการป่าไม้ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2530 กรมป่าไม้
จากรายงานประจำปี พ.ศ. 2530 กรมป่าไม้

 

นอกจากนี้ จากกราฟบริเวณไม้ที่ได้รับอนุญาตให้ตัดฟันปี พ.ศ.2520 – 2529 (ตารางที่ 3) ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณไม้ที่อนุญาตให้ตัดฟันในช่วงระยะเวลา 9 ปี มีปริมาตรไม่ต่างไปจากกันเท่าไร ทั้ง ๆ ที่ในปี พ.ศ.2522 คณะรัฐมนตรีปิดป่าสัมปทานทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 324 ป่า ในจำนวนนี้เป็นป่าสัมปทานไม้สัก 36 ป่า จากทั้งหมด 43 ป่า และป่าสัมปทานไม้กระยาเลย 176 ป่าจากทั้งหมด 292 ป่า

แม้ว่าป่าสัมปทานถูกปิดไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนป่าทั้งหมด แต่ปริมาณไม้ที่ได้รับอนุญาตให้ตัดฟันออกจากป่าสัมปทานหลังจากนั้นมิได้ลดลงเป็นสัดส่วนเดียวกันกับปริมาณ ของป่าที่ถูกปิดไป แสดงว่าได้มีการทำไม้เกินกำลังผลิตของป่า

จากข้อมูลดังกล่าวไม่เพียงแต่จะบ่งบอกถึงข้อผิดพลาดของการจัดการป่าไม้ในบ้านเรา หากยังชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2528 ซึ่งกำหนดจะให้มีพื้นที่ป่าทั่วประเทศอย่างน้อยในอัตราร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ โดยแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็น 2 ประเภท คือ ป่าเพื่อการอนุรักษ์ 15 เปอร์เซ็นต์กับป่าเศรษฐกิจอีก 25 เปอร์เซ็นต์ แต่จากตัวเลขพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศในขณะนี้เหลืออยู่แค่ 29 เปอร์เซ็นต์ เป็นป่าสัมปทานเพื่อการผลิตถึงร้อยละ 25.5 ของประเทศ ที่เหลืออีก 3.5 ก็คือป่าอนุรักษ์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ทางราชการจะมีนโยบายส่งเสริมการปลูกป่า สร้างสวนป่าขึ้นทดแทนป่าธรรมชาติที่เสื่อมโทรมไป แต่ก็เป็นการปลูกเพื่อหวังผลทางด้านเศรษฐกิจมิได้เป็นการปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าธรรมชาติให้กลับคืนมา จากรายงานผลการปลูกป่าเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของกรมป่าไม้ รัฐวิสาหกิจและเอกชนปลูกป่าตามเงื่อนไขสัมปทาน ตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันรวมเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 6,335.54 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราการทำลายป่าธรรมชาติโดยเฉลี่ยปีละ 5,190 ตารางกิโลเมตร จะเห็นว่าพื้นที่สวนป่าทั้งหมดที่ปลูกขึ้นมาทดแทน มิอาจนำมาชดเชยพื้นที่ป่าธรรมชาติที่ถูกทำลายไปในแต่ละปีได้เลย

นอกจากนี้สถิติการทำไม้ในปี พ.ศ. 2530 เราพบว่าเพียงช่วงปีเดียวไม้สักถูกทำออกจากป่าสัมปทานรวมทั้งสิ้น 37,278 ลูกบาศก์เมตร เป็นของกลางที่เกิดจากการกระทำผิด 822 ลูกบาศก์เมตร ส่วนไม้กระยาเลยถูกทำออกรวมทั้งสิ้น 2,027,551 ลูกบาศก์เมตร เป็นของกลางที่เกิดจากการกระทำผิด 30,495 ลูกบาศก์เมตร และรายได้ที่กรมป่าไม้ได้จากสัมปทาน โดยเก็บจากค่าภาคหลวง ค่าขายไม้ ค่าใบอนุญาต ค่าธรรมเนียม และอื่น ๆ ระหว่างปี พ.ศ. 2524-2529 รวมเป็นเงินเฉลี่ยปีละ 220 ล้านบาท ในขณะที่รายจ่ายของงบประมาณในช่วงระหว่างปีดังกล่าว เป็นเงินเฉลี่ยปีละ 1,350 ล้านบาท เมื่อเทียบเป็นอัตราส่วนระหว่างรายได้กับรายจ่ายต่อปีเท่ากับ 1 ต่อ 6 ทีเดียว

 

กฎหมายสัมปทาน ทางสู่ความพินาศของป่าไม้

แม้จะมีความพยายามที่จะวางกฎเกณฑ์การทำไม้ให้รัดกุมแล้วก็ตาม แต่ปรากฎว่าสิ่งที่กำหนดขึ้นกลับกลายเป็นเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่ที่ทำการควบ คุมหลีกเลี่ยงและอาศัยเป็นช่องทาง ในการทุจริต จนทำให้ป่าต้องถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งพอจะสรุปมูลเหตุสำคัญที่ทำให้สัมปทานป่าไม้ของไทยต้องล้มเหลวอันเนื่อง มาจาก…..

การตั้งบริษัทจังหวัดทำไม้ขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้ประชาชน มีส่วนร่วมได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้รวมถึงดูแลป่าสัมปทานเป็น ประโยชน์แก่ลูกหลานในวันหน้า แต่ปรากฎว่าบริษัทจังหวัดทำไม้ได้กลายเป็นแหล่งที่นายทุนเข้ามาแสวงหากำไร โดยประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์เลย ทั้งนี้ดูจากเงื่อนไขการจดทะเบียนบริษัทที่กำหนดว่าให้ อ.อ.ป. ถือหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ผู้มีอาชีพทำไม้รายใหญ่ 15 เปอร์เซ็นต์ โรงงานไม้แปรรูปด้วยแรงคนหรือได้รับอนุญาตทำโรงค้าไม้แปรรูปถือหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ และประชาชนในท้องถิ่นและประชาชนจังหวัดใกล้เคียงซึ่งไม่มีป่าสัมปทานถือหุ้น 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าบรรดานายทุนทำไม้ หรือเจ้าของโรงเลื่อยขนาดใหญ่มักกะเกณฑ์ญาติพี่น้องและพรรคพวกของตนเองมา เป็นผู้ถือหุ้นในส่วน ของประชาชน ประกอบกับ อ.อ.ป. เองก็ไม่ได้ทำไม้เอง อาศัยให้มีผู้มารับช่วงทำสัญญาทำไม้กับ อ.อ.ป.อีกต่อหนึ่ง ซึ่งผู้รับช่วงมักเกี่ยวพันกับเจ้าของโรงเลื่อยในจังหวัดนั้น และปฏิเสธไม่ได้ว่าการทุจริตคอรับชั่นได้แทรกแซงอยู่ในทุกวงการ

นอกจากนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และบริษัทสงเคราะห์สหายร่วมรบเกาหลี ก็ล้วนใช้วิธีประมูลให้เอกชนเข้าทำไม้แทบทั้งสิ้น

การกำหนดแปลงตัดฟันรายปี มิได้อาศัยกำลังผลิตของป่าหรือความเพิ่มพูนรายปีของป่ามาใช้เป็นหลักในการ คำนวณปริมาตรไม้ที่อนุญาต ให้ตัดออก ทำให้ปริมาณไม้ที่ได้ไม่สมดุลกับกำลังผลิตของโรงเลื่อยที่มีอยู่ จึงได้เกิดการลักลอบทำไม้ นอกเหนือไปจากปริมาณที่ได้รับอนุญาตในแต่ละปี และเมื่อไม้ที่เหลืออยู่ในแปลงตัดฟันต่อไปเหลืออยู่ไม่เพียงพอ ก็มักจะมีการขอทำไม้ควบแปลง ซึ่งปกติแล้วต้องทำไม้ปีละแปลง ก็ขอทำปีละ 2 หรือ 3 แปลง ทำให้อายุของป่าสัมปทานสั้นลง ไม่เป็นไปตามหลักการของวิธีเลือกตัดที่ถูกต้อง

ข้อกำหนดและเงื่อนไขสัมปทานเปิดโอกาสให้ผู้รับสัมปทานไม่ต้องปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกบำรุงป่าธรรมชาติและการป้องกันการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า เพราะบริษัทสามารถนำเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกป่า บำรุงป่ามาเข้าบัญชีธนาคารเพื่อที่กรมป่าไม้จะได้ปลูกป่าขึ้นมาทดแทนให้ ส่วนในกรณีที่มีการบุกรุกทำลายป่าขึ้นในพื้นที่สัมปทาน ผู้รับสัมปทานก็สามารถอ้างและพิสูจน์ได้ว่าการไม่ปฏิบัติตามหรือการกระทำผิด นั้นเกิด จากผู้อื่นที่ไม่อยู่ใต้การบังคับบัญชาของผู้รับสัมปทานและผู้รับสัมปทานมิ ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย เป็นต้น

ขั้นตอนการทำไม้มิได้รับการปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ เนื่องมาจากเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจกับผู้รับสัมปทาน ดังเป็นที่ทราบกันดีและมีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์เนื่องๆ เช่น หนังสือพิมพ์เดลินิว คอลัมน์ “ปลายนิ้ว” ของนายกำแหง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2531 เปิดโปงการทุจริตของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไว้ว่า

“เจ้าหน้าที่ผู้คัดเลือกไม้ไม่ได้ทำตามหลักเกณฑ์ โดยส่งตรา ต.ตัด และช.ลาก ให้กับโรงเลือยไปจัดการตีคัดเลือกไม้เอาเองตามสะดวก ส่วนเจ้าหน้าที่ก็จะไปนอนตีพุงอยู่ที่โรงแรมหรือที่บ้านพักของโรงเลือยใน เมือง แถมเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักจากหลวงอีก แล้วยังได้ค่าส่งตรา ต.ตัด และตรา ช.ลาก จากโรงเลื่อยอีกต่างหาก แต่ละป่าจะมีไม้ทำออกได้หลายหมื่นลูกบาศก์เมตร คิดดูว่าจะเป็นเงินเท่าใดที่เจ้าหน้าที่จะได้รับ เงินพิเศษนี้จะถูกแบ่งกันไปตั้งแต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน หัวหน้าฝ่าย ป่าไม้จังหวัด ป่าไม้เขต จะเห็นว่าหากเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเคร่งครัดแล้ว ความเสียหายจากการทำไม้ในป่าของโรงเลื่อยจะมีน้อยมาก แถมเจ้าหน้าที่บางคนยังทำบัญชีไม้ในป่าสัมปทานเกินจำนวนที่มีอยู่จริง เรียกว่า “บัญชีลม” ไว้ให้โรงเลื่อยไปหาตัดไม้จากที่อื่นมาสวมว่าตัดจากแปลงที่ได้รับสัมปทาน จึงไม่น่าแปลงอะไรเลยที่ต้นไม้ในป่าเมืองไทย ต้นหนึ่ง ๆ หากจะวัดกันที่ท่อนซุงที่โรงเลื่อยตัดท่อนละ 5 เมตรแล้ว ต้นหนึ่งจะทอนเป็นไม้ซุงได้ถึง 10-20 ท่อน รวมความแล้วต้นหนึ่งต้องสูงถึง 100 เมตร บางต้นโคนใหญ่กว่าตอที่ถูกตัด บางต้นท่อนปลายใหญ่กว่าท่อนโคน เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมรู้แต่เพียงว่า ยิ่งโรงเลื่อยตัดไม้ได้มากเท่าไรตนก็จะได้เงินมากขึ้นเท่านั้น”

เมื่อมีทางชักลากไม้ การเดินทางเข้าป่าก็จะเป็นไปโดยสะดวก ราษฎรก็จะติดตามเข้าไปบุกรุกแผ้วถางและยึดครองป่าที่เหลือเพื่อทำไร่เลื่อน ลอยต่อไป โดยหวังจะได้กรรมสิทธิ์ในอนาคต และแล้วที่ดินดังกล่าวก็จะตกเป็นของนายทุนที่สามารถครอบครองที่ดินในป่าเป็น จำนวนนับร้อยนับพันไร่ ชาวบ้านที่ยากจนได้ถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือสำหรับการบุกรุกทำลายป่าต่อไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้แปลงตัดฟันที่ผ่านการทำไม้ไปแล้วถูกทำลายจนสิ้นสภาพ และไม่สามารถฟื้นคืนสภาพขึ้นมาให้สามารถตัดฟันได้ใหม่ในรอบตัดฟันรอบต่อไป ซึ่งหมายถึงว่าป่าสัมปทานสูญสิ้นสภาพไปเมื่อสิ้นอายุสัมปทานที่ให้ไปแล้วนี้ เท่านั้น

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับป่าสัมปทานมิได้จำกัดเฉพาะในป่าบกเท่านั้น แม้แต่ป่าชายเลนก็ประสบปัญหาเดียวกัน

มาถึงจุดนี้คงพอจะตอบคำถามได้บ้างกระมังว่า ใครกันแน่ที่ได้ผลประโยชน์จากสัมปทานป่าไม้ และทำไมการจัดการป่าไม้ของไทยจึงไม่อาจบรรลุหลักการที่ว่า “ป่าไม้ที่มีอยู่เดิมเปรียบเสมือนต้นทุนของประชาชาติโดยส่วนรวมซึ่งสมควร รักษาไว้ จะใช้ได้ก็เฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยหรือปริมาณเนื้อไม้ที่งอกเงยขึ้นมาเป็น รายปีเท่านั้น มิเช่นนั้นแล้ว ป่าไม้ที่มีอยู่ก็จะไม่สามารถอำนวยประโยชน์อย่างถาวรได้ตลอดไป”

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลจะหันมาทบทวนนโยบายการให้สัมปทานป่าไม้ของประเทศเสียใหม่ เพราะการให้สัมปทานเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้มีการทำลายป่าและยึดครองพื้นที่โดยอาศัยเงื่อนไข ของกฎหมายและ ความหละหลวมในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

หยุดเสียทีสำหรับการตักตวงผลประโยชน์จากป่าที่ยังเหลืออยู่และหันมาฟื้นฟูสภาพป่าที่กำลังป่วย ไข้ให้กลับมีชีวิตสมบูรณ์เช่นเดิม ก่อนที่ป่าซึ่งเหลืออยู่เพียงน้อยนิดจะไม่สามารถควบคุมความสมดุลแห่งธรรมชาติได้ และถ้าถึงวันนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่อาจหลีกพ้นชะตากรรมจากภัยพิบัติที่เกิดจากการทำลายธรรมชาติ ดังเช่นที่พี่น้องภาคใต้กำลังประสบอยู่ในเวลานี้

 


ขอขอบคุณ : อาจารย์สุรเชษฐ์ บัวเชษฐ์ จากมูลนิธิหมู่บ้าน คุณอุทัย ตรีสุคนธ์ จากศูนย์วิจัยสัตว์ป่า ร.ท.บันลือ ฤทธิสมิต จากกองบินเกษตร ฝ่ายแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศและดาวเทียม กองจัดการป่าไม้ กรมป่าไม้ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ และโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติที่ให้ความช่วยเหลือและเอื้อเฟื้อข้อมูลสำหรับการตีพิมพ์