Seub Talk EP.30 อ.พิเชษฐ นุ่นโต จากเครือข่าย “เสียงคน เสียงช้าง” กลับมาพูดคุยในรายการอีกครั้ง ถึงเรื่องราวระหว่างคนกับช้างป่า เนื่องในโอกาส วันช้างไทย 13 มีนาคม ที่กำลังจะมาถึงในสัปดาห์หน้า
ปัจจุบันปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่า เข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตร กำลังเป็นปัญหาที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับชุมชนที่มีพื้นที่ติดกับเขตป่าอนุรักษ์ บางพื้นที่มีความรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บ และเสียชีวิต
หน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ก็ได้มีพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด ที่ผ่านมาดำเนินการอะไรไปบ้าง ได้ผลและไม่ได้ผลอย่างไร ชวนติดตามเรื่องราวใน Seub Talk EP.30 เสียงคน เสียงช้างป่า เสียงสะท้อนปัญหาที่รอการแก้ไข ก่อนจะถึงวันช้างไทย
ปัญหาช้างป่าออกมาหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ ถ้ามองจากมุมประชาชนในความต้องการแก้ไขปัญหา โดยข้อเสนอหนึ่งที่ประชาชนเสนอ คือ การปรับปรุงระเบียบการเยียวยาเพื่อคุ้มครองคน ซึ่งตอนนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา
แต่หากต้องการให้กองทุนมีความยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง เราต้องมองหลักในเรื่องความยั่งยืน เท่าเทียม และทั่วถึง
ในด้านความยั่งยืนต้องมองกลไกการเยียวยาไปในระดับท้องถิ่น ที่ต้องรวดเร็วในการเข้าไปช่วยประชาชน ซึ่งมันจะช่วยลดความรุนแรงในการตอบโต้กันระหว่างคนกับช้าง ถ้าเราชดเชยเยียวยาเขาได้ทันท่วงที
แต่ที่ผ่านมาเราเห็นปัญหาการส่งต่อเรื่องการเยียวยาใช้เวลาค่อนข้างมาก ต้องมีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติก่อน ชาวบ้านส่งเรื่องไปที่องค์การบริหารส่วนตำบล อบต.ส่งเรื่องไปยังอำเภอ แล้วจึงส่งมายังส่วนกลางอีกต่อหนึ่ง
บางกรณีถ้าองค์การบริหารส่วนตำบลมีงบประมาณก็สามารถชดเชยเยียวยาได้เลย แต่ส่วนหนึ่งที่เราเจอปัญหาก็คือ อบต.ไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับช่วยเหลือประชาชนในกรณีนี้ ดังนั้นจึงต้องส่งต่องบประมาณไปยังส่วนกลางเพื่อขอเงินชดเชยเยียวยา
อีกด้านนั้น หน่วยงานในพื้นที่เองก็ไม่กล้าดเชยเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบ เพราะไม่แน่ใจว่ามันถูกหลักเกณฑ์ไหม หรือทำได้หรือไม่