วิกฤติปัญหาสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั่วประเทศไทย l SEUB TALK EP.2

วิกฤติปัญหาสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั่วประเทศไทย l SEUB TALK EP.2

จากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช ถูกปรับลดงบประมาณบางหมวดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานงานผู้พิทักษ์ป่า ในอีกด้านหนึ่งยังส่งผลต่อสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และคลีนิคสัตว์ป่า ทั่วประเทศ ที่จะขาดงบประมาณสำหรับซื้ออาหารเลี้ยงสัตว์ป่า
.

 

ตัวที่กระเทือนจริงๆ องค์ประกอบของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า งานหลักๆคือดูแลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่เล็กลงมา แล้วก็มีสัตว์ป่าชนิดที่จำเพาะ ส่วนอีกงบหนึ่งก็คือต้องดูแล สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สถานีวิจัยสัตว์ป่า รวมไปถึงศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า

สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ที่กำลังเข้าสู่วิกฤต ถึงขั้นว่าเราจะไม่มีเงินซื้ออาหารให้เสือที่อยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ไม่มีอาหารซื้อให้ลิงกว่า 100 ตัวกิน ไม่มีเงินซื้ออาหารให้กวาง ให้สัตว์กีบที่เพาะพันธุ์เพื่อปล่อยสู่ธรรมชาติ

เหตุผลที่ทำให้วิกฤตนี้เกิดขึ้น ดูได้จากงบดำเนินการและงบของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า จากเมื่อปี 2562 มีงบประมาณมากถึง 700 กว่าล้าน และลดลงมาเรื่อยๆ กระทั่งปี 2565 ลดมาถึง 241 ล้าน

ตัวอย่างหนึ่งเมื่องบตัวนี้หายไป ยกตัวอย่างเช่น กรณีย้ายช้างป่าเกเรไปยังศูนย์กักกันก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีงบสำหรับหารถที่มีประสิทธิภาพมาตรฐานสำหรับเคลื่อนย้าย (ในการเคลื่อนย้ายก็เพิ่งได้รับอนุมัติ)

ส่วนงบที่จะทำเพนียด รั้วกันช้าง ขุดคูกันช้าง หรือการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสัตว์ป่า ก็ได้รับผลกระทบ

สำหรับในส่วนอขงสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าที่กำลังประสบปัญหาอยู่นี้ หลักๆ แล้วจะดูแลสัตว์อยู่ 3 ประเภท ได้แก่ (1) สัตว์ที่ตั้งใจเพาะเลี้ยงเพื่อปล่อยคืนสู่ระบบนิเวศจริง ที่มีผลรับรองทางวิชาการ เช่น ละอง ละมั่ง เนื้อทราย

(2) สัตว์ป่าจากต่างประเทศ เช่น สิงโต หรือเสือเบงกอล หรือสัตว์ที่มีพฤติกรรมแย่ๆ จากสวนสัตว์ที่เป็นสัตว์ต่างประเทศ สัตว์พวกนี้ไม่สามารถปล่อยคืนสู่ป่าได้ ต้องเลี้ยงไว้ด้วยหลักมนุษยธรรมจนกว่าจะตาย

(3) สัตว์ป่าที่มาจากการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย แม้สัตว์บางชนิดจะเป็นสัตว์พื้นถิ่น แต่ก็ต้องเลี้ยงไว้ในฐานะสัตว์ของกลาง ซึ่งใช้เวลาในการคดีไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี สัตว์ที่ว่ามาเหล่านี้ต้องกินอาหาร ต้องดูแลรักษาโรค ต้องมีสวัสดิภาพสวัสดิการ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ากระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณ 23 แห่ง นอกจากนี้ยังมีคลีนิคสัตว์ป่าหรือว่าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าเป็นโรงพยาบาลสัตว์ป่า ซึ่งเป็นอีกส่วนงานที่มีความสำคัญ มีหน้าที่ตรวจสอบดูแลรักษาสัตว์ป่วย กักกันโรคระบาด เช่น โรคจากสัตว์ป่ามาสู่คน

สำหรับงบประมาณของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่านี้ เมื่อเทียบกับปี 2562 พบว่ามีงบประมาณอยู่ถึง 29.9 ล้านบาท จากนั้นปี 2563 ลดลงมาเหลือ 17.8 ล้านบาท และในปี 2564 ลดลงเหลือ 16.2 ล้านบาท แต่สำหรับปี 2565 กลับลดลงมาเหลือ 10.6 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้เกิดความร่วมมือระหว่างบริษัท สยามแม็คโคร และกรมอุทยานฯ ทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อนำอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย ส่งต่อไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าและศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า รวม 27 แห่ง ทั่วประเทศ

นำโดยนางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ และนายศศิน เฉลิมลาภ ตัวแทนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมเป็นพยานในการลงนาม

โดยข้อตกลงในครั้งนี้จะช่วยลดปัญหาอาหารส่วนเกิน (Food Waste) ที่เพิ่มสูงขึ้นของบริษัท สยามแม็คโคร และช่วยสนับสนุนให้นำไปเป็นอาหารและเสริมสร้างสวัสดิภาพของสัตว์ป่า สำหรับการช่วยเหลือในเบื้องต้น

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code