กรณีของสัตว์ป่าพลัดหลง ก็จะเป็นกรณีของสัตว์ป่าที่ออกมาจากพื้นที่อนุรักษ์ ที่มีแนวเขตติดกันกับพื้นที่ชุมชน เช่น ช้าง กระทิง หมี หรืออาจจะเป็นพวกนก พวกสัตว์ขนาดเล็ก พวกนาก พวกลิ่น พวกชะมด อีเห็น อะไรต่างๆ ก็จะพลัดหลงมา
ซึ่งสาเหตุของการพลัดหลงส่วนหนึ่ง ก็มาจากอาการบาดเจ็บ หรืออาการป่วย เพราะฉะนั้นสัตว์ป่าเหล่านี้เองเวลาเขาบาดเจ็บหรือป่วย สัญชาตญาณการดูแลตัวเขาเองโดยธรรมชาติจะมีอยู่แล้ว แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เขารู้สึกว่าไม่ไหวมันไม่รอดแน่ๆ ก็จะออกมาให้คนเห็น
เป็นสัญญาณขอความช่วยเหลืออย่างหนึ่ง ว่าเราไม่ไหวแล้วนะ ก็ออกมาให้คนเห็น ซึ่งเราก็ประเมินได้เลยว่า สัตว์เหล่านี้ถ้าออกมาให้คนเห็นแสดงว่าอาการมันหนักมากๆ การทำงานของเรามันเลยเป็นเรื่องที่ต้องแข่งกับเวลา เพราะว่าสัตว์ที่พบเจอแบบนี้ส่วนใหญ่ อยู่ในภาวะวิกฤต เราก็ต้องช่วยกันกู้ชีพ หรือในบางกรณีที่มีขบวนการลักลอบขนลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย กรณีแบบนี้เราก็มีหน้าที่ในการเข้าไปดำเนินการติดตาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้รอด เพราะว่าสัตว์เหล่านี้ การถูกจับจากธรรมชาติ หรือการถูกจับบังคับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม อยู่ในพื้นที่แออัดเขาจะเกิดความเครียด พอเกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันลดลง โอกาสที่เชื้อโรคในร่างกายจะเพิ่มมากขึ้นมันก็เป็นไปได้
ในขณะเดียวกัน คำว่าการลักลอบเนี่ย มันคือการแอบขนย้าย เพราะฉะนั้นพอขนย้ายเอง ความแออัด ขาดออกซิเจน ขาดอากาศหายใจ เกิดบาดแผลจากการดิ้นรนอะไรต่างๆ สัตว์จากของกลางจะถือว่าเป็นสัตว์ป่วย ไม่ว่าจะเป็นป่วยทั้งด้านร่างกาย หรือป่วยทางด้านจิตใจ เพราะฉะนั้นการกู้ชีพช่วยเหลือเขาในภาวะฉุกเฉินแบบนี้เอง มันเป็นอีกภารกิจหนึ่ง ที่เราก็ต้องรีบดำเนินการ
บางส่วนรายงาน Seub Inspire EP.10 พูดคุยกับ น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ประจำกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงการดูแลสัตว์ป่าภายใต้สถานการณ์โควิด-19
Seub Inspire รายการที่จะพาผู้ชมไปสืบและสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับสังคม