หนังแสดงสัญลักษณ์มากมายโดยเฉพาะการสื่อสารผ่านชีวิตของร้อยโทจอห์น ดันบาร์ กับหมาป่าเถื่อนที่ค่อยๆ ผูกสัมพันธ์จนกลายเป็นเพื่อนกัน นั่นคือสัญลักษณ์ใหญ่ที่ตาลุงหน้าหล่อเลือกที่จะคิดเอาหมาป่าจริงๆ มาล้อกับความหมายของสำนวน ‘เต้นรำกับหมาป่า’
ความขบถของพระเอกที่คบกับสัตว์ร้ายจนพบมิตรภาพ เลยเถิดไปถึงสัมพันธภาพกับอินเดียนเผ่าซู และเลือกที่จะ ‘เปลี่ยนข้าง’ ซึ่งเป็นการทรยศต่อหน้าที่และเชื้อชาติในภาวะที่คนขาวกำลังยึดดินแดนและเข่นฆ่าปล้นชิงคนต่างผิวอย่างโหดร้าย ไม่คิดถึงความเป็นธรรมในแง่ของมนุษยชาติและมนุษยธรรม
หนังพยายามจะ ‘แรง’ ให้สุดผ่านเรื่องราวของนายทหารที่ ‘กลาย’ เป็นอินเดียนแดง และไม่ยอมกระทั่งจะ ‘พูด’ ภาษาอังกฤษ
คอสต์เนอร์ไม่ได้ถึงกับสร้างให้ดันบาร์ กลายไปเป็นนักรบอินเดียนนำพาเผ่าซูรบจนแพ้ชนะ แต่ให้ดันบาร์เลือกที่จะ ‘หาย’ หรือ ‘สาบสูญ’ ไปพร้อมกับการล่าถอยของเผ่าซูจากการรุกดินแดนของคนขาว
จำได้ว่าสมัยนั้นเราก็อยู่ในการหาทิศทางของชีวิต หาความหมายและเส้นทางเดินของชีวิตตัวเองที่อยากจะอยู่บนเส้นทางของ ‘ความหมาย’ เช่นกัน
ถ้าจะใช้วิธีแบบดันบาร์ ผมรู้สึกว่าวิธีนี้ออกจะ ‘แรง’ และใช้ความระห่ำบ้ามากเกินขนาดหัวใจในขณะนั้นพอสมควร
แต่เนื้อหาแบบ ‘ฝุดๆ’ แม้จะเว่อร์หน่อย ก็ตรึงอยู่ในใจมาหลายปี
รับฟังพอดแคสต์ ตอน เต้นรำกับหมาป่า
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)