ระหว่างทางเดินกลับจากหมู่บ้านจะแก หมู่บ้านที่ลึกที่สุดของป่าทุ่งใหญ่ฯ กลับมายังหมู่บ้านทิไล่ป้าของลุงหม่องเป ผมปรึกษากับพี่หลงและลุงหม่องเปเรื่ององค์ความรู้และรูปแบบการจัดการพื้นที่ที่น่าสนใจมาตลอดทาง
ผมใช้มีดเดินป่าจากอยุธยาตัดไม้ไผ่ ตัดฟืนเพื่อต้มกาแฟกินกัน มิตรภาพและความสัมพันธ์ เกิดขึ้นอย่างประทับใจท่ามกลางควันไฟและควันยามวนแล้วมวนเล่าระหว่างประโยคสนทนา
ผมกลับมาค้างบ้านลุงหม่องเปอีกหนึ่งคืนก่อนเดินทางกลับ วินาทีที่ผมจำได้คือลุงหม่องเปเดินไปหยิบของบางอย่างจากในห้อง มายื่นให้ผม พร้อมกับบอกว่าแลกกับมีดเดินป่าบ้านอรัญญิกของผมที่เครื่องหมายมูลนิธิสืบนาคะเสถียรปั๊มลึกอยู่บนใบมีด
ผมขนลุกซู่ยกมือไหว้ขอบคุณลุง พร้อมทั้งรับวัตถุนั้นมาพิจารณา
สิ่งที่ลุงขอแลกกับผมเป็นดาบเล่มแคบยาวด้ามไม้ไผ่เก่าสีเหลืองอ่อนมันเลื่อม ตัวฝักไม้ทำโดยใช้ไม้สองซีกเหลาเรียบมาประกบกัน จากนั้นก็มัดไว้ด้วยวงถักหวายสามวง เมื่อชักออกจากฝักก็ปรากฏเป็นดาบแคบสั้นปลายแหลม ส่วนท้องของมีดเว้าแคบกว่าส่วนหัวดาบเล็กน้อย รูปทรงตรงเป๊ะสวยงาม ใบมีดและคมดาบยังสภาพดีแม้จะเห็นร่องรอยความเก่าแก่ที่ผ่านการใช้งานมา
ลุงเล่าว่าดาบเล่มนี้ตีจากเหล็กลูกระเบิดของกองทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะป่าทุ่งใหญ่ฯ เมืองกาญจน์เองก็ไม่รอดพ้นจากการทิ้งระเบิด สมัยลุงเป็นหนุ่มจึงนำเหล็กจากระเบิดมาตีมีดดาบและใช้มาตลอด ทรงดาบเล่มนี้เหมาะกับการใช้ในป่าเพราะไม่ยาวเกินไปสามารถใช้ได้เพื่อการต่อสู้ป้องกันตัว หรือใช้ตัดไม้เจียดฟืนก็ทำได้ในเล่มเดียว
Light it up
รายการ Podcast ชิ้นแรกของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ว่าด้วยเรื่องราวแรงบันดาลใจของนักอนุรักษ์ ที่ถูกบันทึกไว้ในคอลัมน์ไฟป่า บนหน้านิตยสาร a day และนำกลับมาเล่าใหม่ โดยเจ้าของคอลัมน์ ศศิน เฉลิมลาภผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)