โครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ WEFCOM Ecosystem Management Project

โครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ  WEFCOM Ecosystem Management Project

หลักการพื้นฐานของการจัดการผืนป่าตะวันตก

1. ต้องถือว่าผืนป่าตะวันตกโดยธรรมชาติเป็นป่าผืนเดียวกันทั้งผืน คือเป็น Western Forest Complex หรือ Western Forest Ecosystem

2. ต้องวางแผนเพื่อการอนุรักษ์เป็นกรอบการปฏิบัติเดียวกันทั้งผืนป่า

3. ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ผืนป่า ภายใต้หลักการที่ว่าป่าเป็นสมบัติของคนทั้งชาติ

4. ต้องรักษาและคงไว้ซึ่งคุณค่าของผืนป่าอย่างยั่งยืน

 

ทิศทางและการดำเนินการสู่การจัดการเชิงระบบนิเวศ

การดำเนินงานในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จะสำเร็จผลมากน้อยเพียงใดมักขึ้นกับองค์ประกอบที่สำคัญ คือ มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มีแผนการดำเนินงานที่เป็นไปได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีทีมงานที่เข้มแข็งและมุ่งมั่น มีงบประมาณสนับสนุนที่ต่อเนื่อง และมีความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การผลักดันในการจัดการผืนป่าตะวันตกให้เป็นไปบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเน้นด้านนิเวศวิทยา โดยมองผืนป่าเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่เช่นนี้ นับเป็นงานที่ท้าทายและต้องการความเข้าใจในหลักการทางวิทยาศาสตร์และความร่วมมือจากทั้งผู้ดูแลจัดการ คือ กรมป่าไม้ นักวิชาการ มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชนด้านอนุรักษ์ และชุมชนท้องถิ่น ที่เห็นคุณค่าของผืนป่าตะวันตก ปัจจัยหนึ่งที่เอื้อประโยชน์แก่การดำเนินงานตามโครงการนี้ก็คือ สถานการณ์ต่างๆ ในผืนป่าตะวันตก มักจะได้รับความสนใจจากสาธารณชน และองค์กรอนุรักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมักได้รับข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากผู้สนใจอยู่เสมอ

บทความนี้มุ่งที่จะอธิบายให้เห็นถึงคุณค่าพื้นฐาน เป้าหมาย และวัตถุประสงค์และการดำเนินงานในช่วงปี 2540 – 2545 ดังมีรายละเอียด ดังนี้

 

คุณค่าพื้นฐานด้านทรัพยากรชีวภาพ

ผืนป่าตะวันตกเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่ใหญ่เป็นอันดับแรกๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบไปด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง อุทยานแห่งชาติ 9 แห่ง และพื้นที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง* รวมเป็นพื้นที่อนุรักษ์จำนวน 17 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 18,727 ตารางกิโลเมตร หรือ 11.7 ล้านไร่

พื้นที่ใจกลางของผืนป่าตะวันตก คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย* โดยได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกจากองค์การสหประชาชาติ เมื่อปี พ.. 2534

ผืนป่าตะวันตกให้ความคุ้มครองแก่พืชกว่า 2,500 ชนิดพันธุ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 120 ชนิดพันธุ์ นกกว่า 400 ชนิดพันธุ์ และยังคุ้มครองสัตว์ป่าขนาดใหญ่ ที่หายากอีกหลายชนิด เช่น ช้าง กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง สมเสร็จ ฯลฯ ซึ่งสัตว์ป่าเหล่านี้ได้สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ป่าหลายๆ แห่งในประเทศไทย

 

ปัญหาพื้นฐานที่คุกคามผืนป่าตะวันตก

ผืนป่าตะวันตกกำลังถูกกดดันโดยชุมชนที่อาศัยอยู่ทั้งในและรอบผืนป่า โดยการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบต่างๆ เช่น การเปลี่ยนสภาพผืนป่าใหญ่เป็นหย่อมหญ้า (Habitat fragmentation) การเปลี่ยนโครงการสร้างป่าจากการลักลอบตัดไม้ การล่าสัตว์ป่า การเก็บหาของป่าอย่างไม่จำกัดขอบเขต นอกจากนี้ ผืนป่าแห่งนี้ยังประสบปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับผู้อพยพจากชายแดนไทยพม่า ที่ครอบครองและแผ้วถางพื้นที่ป่าตามแนวชายแดน

โครงการพัฒนาของรัฐที่ก่อตัวขึ้น เช่น การสร้างเขื่อน การตัดถนน การทำเหมืองแร่ และการพัฒนาทางการท่องเที่ยวโดยไม่จำกัดขอบเขต ล้วนแต่มีผลต่ออนาคตของการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพในผืนป่าตะวันตก

 

ปัญหาการอนุรักษ์และจัดการ

– นโยบายการอนุรักษ์พื้นที่ป่าที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินการบนพื้นซานด้านนิเวศวิทยา แต่เป็นการแบ่งแยกการจัดการตามขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์

– พื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 17 แห่ง ไม่มีโครงสร้างการจัดการบนพื้นฐานความร่วมมือที่เป็นระบบและมั่นคง

– ขาดระบบการเก็บวิเคราะห์และการเผยแพร่ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ด้านนิเวศและสังคมวิทยา

– เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในผืนป่าตะวันตกไม่ได้รับการฝึกปรับปรุงประสิทธิภาพให้ทันกับแนวทางการอนุรักษ์ในปัจจุบันและอนาคต

– ขาดการร่วมมือระหว่างหน่วยงานในภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่นทั้งที่อยู่ในผืนป่าตะวันตกและพื้นที่ป่ากันชน (Bufferzone)

– เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในผืนป่าตะวันตก (คนงานลาดตระเวน) ยังได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่ต่ำ ล่าช้าและยังขาดสวัสดิการในการยังชีพที่ดีพอ

 

เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการ

เป้าหมายสุดยอดของโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศก็เพื่อที่จะรักษาคุณภาพของระบบนิเวศของผืนป่าตะวันตก ให้สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งแบ่งวัตถุประสงค์ออกเป็น

1. วัตถุประสงค์ในภาพรวม คือ เพื่อให้ระบบนิเวศผืนป่าตะวันตกดำรงอยู่ และมีความสมบูรณ์

2. วัตถุประสงค์เฉพาะหน้า คือ เพื่อให้แนวทางการดำเนินงานเชิงระบบนิเวศได้ก่อเกิดขึ้นและดำเนินการได้

ดังนั้นเป้าหมายในช่วงแรก ตั้งแต่ปี 2542 – 2545 มีดังนี้

1. โครงสร้างการจัดการและระบบการทำงานของโครงการจัดการผืนป่าตะวันตก ได้รับการจัดตั้งและยอมรับ

2. ระบบจัดการข้อมูล (Management Information System หรือ MIST) และระบบการตรวจสอบข้อมูลได้รับการจัดตั้ง

3. แผนการจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินและการแบ่งโซนเชิงนิเวศวิทยาได้รับการพัฒนาจากการประเมินสถานภาพอย่างรวดเร็ว (Rapid Assessments)

4. แผนงานสร้างเครือข่ายงานอนุรักษ์ประจำจังหวัด (Provincial Conservation For a หรือ PCFs) ได้รับการจัดตั้งและพัฒนาเพื่อสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์

5. นโยบายและแผนการจัดการด้านนันทนาการ ได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นแนวทางที่ชัดเจน

6. การอบรมเจ้าหน้าที่ดูแลผืนป่าตะวันตก (Ranger training) และสมาชิกองค์กรอนุรักษ์ประจำจังหวัด (PCF training) เพื่อได้รับการพัฒนาเป็นหลักสูตรที่มีการอบรมอย่างต่อเนื่อง

7. กองทุนกิจกรรมนำร่อง (Pilot Activity Funds) เพื่อการอนุรักษ์ได้รับการสนับสนุน เพื่อให้เกิดกิจกรรมบนความร่วมมือขององค์กรท้องถิ่น

การดำเนินงานใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับชุมชนท้องถิ่น องค์กรอนุรักษ์ท้องถิ่น การเมืองท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกระดับนั้น ต้องอยู่บนหลักการสำคัญคือทรัพยากรธรรมชาติเป็นสมบัติของคนทั้งชาติ

เช่นเดียวกับงานริเริ่มอื่นๆ โครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศประสบกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ นานัปการ บางปัญหาก็ได้รับการแก้ไข โดยการทำความเข้าใจและปรึกษาหารือปรับปรุงแผนงาน แต่บางปัญหาก็ยังต้องใช้เวลาในการแก้ไข อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ในโครงการยังคงความตั้งใจและมุ่งมั่นให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จตามความมุ่งหวังที่จะได้เห็นการจัดการและการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก เป็นไปในเชิงวิทยาศาสตร์บนพื้นฐานความร่วมมืออย่างแท้จริงและยั่งยืน

 

ผลที่ได้รับจากการทำโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ

1. ด้านการปรับปรุงระบบและโครงสร้างในการบริหารงาน กรมป่าไม้ได้จัดตั้งสำนักงานจัดการผืนป่าตะวันตก เรียกสั้นๆ ว่าสำนักงาน WEFCOM ทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานกิจกรรมด้านต่างๆ เพื่อให้งานอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์

2. ด้านการสร้างฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศ ในการจัดการและระบบการจัดการด้านนิเวศวิทยาของผืนป่าตะวันตก มีการสำรวจอย่างรวดเร็วในด้านของสัตว์ป่า ชนิดป่า การชะล้างพังทลายของดิน ชุมชน พื้นที่ท่องเที่ยว นับเป็นครั้งแรกที่ระบบนิเวศวิทยาของผืนป่าตะวันตก รวมถึงข้อมูลทางภูมิศาสตร์ สังคม ได้รับการสำรวจวิจัยในเชิงวิทยาศษสตร์ และวิเคราะห์ ให้เห็นภาพรวมและความต่อเนื่องกันของผืนป่าทั้งผืน

3. แผนที่เขตการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ โดยการรวบรวมข้อมูลทั้งทุติยภูมิและปฐมภูมิ โดยวิธีการประเมินสถานภาพอย่างรวดเร็ว (Rapid Asesment) นำไปวิเคราะห์จัดทำฐานข้อมูล GIS (ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์) จัดประชุมผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชนหลายคณะ หลายครั้ง จนท้ายที่สุดได้แผนที่เขตการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ (Ecosystembased Management Zones of Western Forest Complex) แสดงปัจจัยสำคัญในผืนป่า 4 อย่างได้แก่ความชุกชุมของสัตว์ป่าชนิดสำคัญความสำคัญของชนิดป่าและความเป็นเอกลักษณ์อัตราการชะล้างพังทลายของดินและการใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งในส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยและทำเกษตรกรรมของชุมชนและแหล่งนันทนาการ

4. เพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร มีคณะบุคคลสามคณะที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการอนุรักษ์ป่าตะวันตก ได้แก่ คณะที่หนึ่ง คณะเจ้าหน้าที่ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า รวมถึงลูกจ้างชั่วคราวคณะที่สอง คือ ประชาชน ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในป่าอนุรักษ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และคณะที่สามก็คือภาคประชาสังคมและเครือข่ายของ 6 จังหวัด การดำเนินการในเรื่องนี้ มีการฝึกอบรม ศึกษาดูงานร่วมระหว่างคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก(กอต.) และหัวหน้าเขตฯ หัวหน้าอุทยานฯ และมีการอบรมตามหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นสำหรับผู้ทำหน้าที่พิทักษ์ป่า มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมถึง 600 คน โดยให้ความรู้หลักสองด้าน คือ ด้านการสื่อความหมายเผยแพร่คุณค่า ประชาสัมพันธ์ และด้านการป้องกันและปราบปราม พร้อมทั้งฝึกผู้มีความสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกอบรมแก่รุ่นต่อๆ ไปด้วย

5. การมีส่วนร่วมและความร่วมมือ คือ การประสานความร่วมมือระหว่างหัวหน้าเขตฯ และหัวหน้าอุทยานฯ กับ กอต. ซึ่งก่อนมีโครงการ WEFCOM ในแต่ละจังหวัดล้วนมีผู้เอาใจใส่งานอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกอยู่แล้ว แต่มีระดับความเข้มข้นในการทำงานแตกต่างกัน และรูปธรรมของความร่วมมือก็ได้ปรากฎชัดขึ้นในตอนนี้ โดยในช่วงเวลาของการทำโครงการ WEFCOM ได้มีผู้เข้าร่วมในกอต.และเครือข่ายชัดเจนขึ้น มีการเสริมความรู้ ความเข้าใจ โดยการอบรมศึกษาดูงานในพื้นที่ป่ารวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนที่เขตการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ

 


*ข้อมูล ณ วันจัดทำรายงาน