โครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก

โครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก

ความเป็นมา

ผืนป่าตะวันตก เป็นผืนป่าที่อยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ประกอบด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 15 กลุ่มป่า และผืนป่าอนุรักษ์ 17 แห่ง มีขนาดพื้นที่รวม 20 ล้านไร่ ผืนป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทั้งผืนป่าและสัตว์ป่าที่สำคัญหลากหลายชนิดพันธุ์ เช่น เสือโคร่ง ช้าง กระทิง วัวแดง สมเสร็จ นกเงือก นกยูง ฯลฯ เป็นแหล่งต้นน้ำให้กับประชาชนในลุ่มน้ำแม่กลอง ท่าจีน และบางส่วนของเจ้าพระยา ความกว้างใหญ่ของผืนป่าตะวันตก หากต้องการที่จะรักษาไว้จึงต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน

ในปี 2559 กรมป่าไม้ ได้ดำเนินโครงการเสริมศักยภาพชุมชนในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติบริเวณขอบป่าตะวันตก ร่วมกับมูลนิธิสืบฯ เพื่อหนุนเสริมให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทการบริหารจัดการผืนป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่โดยรอบชุมชน ให้เกิดการจัดตั้งป่าชุมชนตามกระบวนการขั้นตอนของกรมป่าไม้ รวมถึงมีการฟื้นฟูดูแลทรัพยากรธรรมชาติ มีการสร้างกติกาโดยมีคณะกรรมการชุมชนร่วมกันดูแลเดินลาดตระเวนกับเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งมีการหนุนเสริมวิถีชีวิตของคนในชุมชนให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างปกติสุข เพื่อลดการใช้ทรัพยากรในพื้นที่คุ้มครอง และเกิดกระบวนการบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมเพื่อการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน

เมื่อโครงการเสริมศักยภาพชุมชนในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติบริเวณขอบป่าตะวันตก ได้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่เป้าหมายแล้ว แต่ภารกิจการร่วมดูแลรักษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติผืนป่าตะวันตก ยังมีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบการลาดตระเวนดูแลพื้นที่ การจัดทำข้อมูลเพื่อใช้ในการพิจารณาบริหารจัดการพื้นที่กลุ่มป่าสงวนแห่งชาติผืนป่าตะวันตก และการมีส่วนร่วมในการสนับสนุน แนะนำ พิจารณาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่กลุ่มป่าสงวนแห่งชาติ การหนุนเสริมชุมชนให้มีวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า กรมป่าไม้ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงดำเนินโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก เพื่อสนับสนุนและเสริมศักยภาพงานอนุรักษ์ให้กับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติผืนป่าตะวันตก รวมถึงเชื่อมประสานการทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการบริหารจัดการพื้นที่ผืนป่าตะวันตกที่ต่อเนื่องกันให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกับทั้งผืนป่าตะวันตกไป

 

วัตถุประสงค์

พัฒนาระบบการบริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบกลุ่มป่า โดยกระบวนการมีส่วนร่วมรับผิดชอบและรับผลได้จากการจัดการอย่างยั่งยืนของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ และสาธารณชนทั่วไป วางเป้าหมาย ให้ดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมใน 4 เป้าหมาย คือ

1. สนับสนุนการดูแลรักษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติผืนป่าตะวันตก ผ่านงานลาดตระเวนร่วมกับคณะกรรมการชุมชนในพื้นที่ป่าชุมชนในโครงการ และร่วมกับพื้นที่คุ้มครองในพื้นที่เป้าหมายหลักเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศที่มีความสำคัญของผืนป่าตะวันตก เป็นแนวป่ากันชนของพื้นที่คุ้มครอง และการเชื่อมระบบนิเวศทางธรรมชาติ

2. จัดทำฐานข้อมูลการจัดการกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติผืนป่าตะวันตก เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของกรมป่าไม้ในการบริหารจัดการพื้นที่ ที่จะรักษาคุณค่าความสำคัญของระบบนิเวศในผืนป่าตะวันตกให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

3. สนับสนุนให้เกิดคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่กลุ่มป่าสงวนแห่งชาติผืนป่าตะวันตก ทั้ง ๑๕กลุ่มป่า(รายละเอียดตามเอกสารโครงการ) เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมให้คำแนะนำ คำปรึกษาและร่วมพิจารณาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่กลุ่มป่าสงวนแห่งชาติผืนป่าตะวันตก

4. การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนนำร่อง 5 แห่ง ที่ดำเนินอาชีพเป็นมิตรกับผืนป่า ให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนจนสามารถนำรายได้มาเป็นกองทุนใช้สนับสนุนกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ผืนป่ารวมถึงศึกษาและพัฒนาแนวทางการนำเอาหลักการของค่าแทนคุณระบบนิเวศ หรือ Payments for Ecosystem Services (PAS) มาใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับประโยชน์ร่วมให้เกิดความยั่งยืน

 

องค์ประกอบของโครงการ

การดำเนินโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก มุ่งรักษาคุณค่าความสำคัญของผืนป่าตะวันตกให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและเชื่อมร้อยการบริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบที่ต่างกันโดยใช้คุณค่าความสำคัญของระบบนิเวศเป็นข้อพิจารณาดำเนินการ

การรักษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติผืนป่าตะวันตกที่เหลืออยู่ โดยใช้งานลาดตระเวนเป็นเครื่องมือ พิจารณาพื้นที่ที่เป็นตัวแทนระบบนิเวศที่สำคัญในผืนป่าตะวันตก และใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพแบบกลุ่มพื้นที่ การลาดตระเวนร่วมกับภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอมาเป็นกิจกรรมขับเคลื่อนงาน

การสำรวจ และจัดทำฐานข้อมูลป่าสงวนแห่งชาติผืนป่าตะวันตก เพื่อพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพ โดยกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วม

การพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชน เน้นต่อยอดการส่งเสริมกลุ่มอาชีพที่ดำเนินงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดความเข้มแข็ง มีตลาดที่ชัดเจน สามารถดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืนโดยกลุ่มสมาชิก และขยายกลุ่มภายในชุมชนเอง จนนำมาสู่การสร้างกองทุนคืนกลับมาใช้ในการทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรภายในชุมชน ประกอบด้วย

1. บ้านห้วยหนามตะเข้ ม. 10 ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
2. บ้านคลองห้วยหวาย ม. 21 ต.แม่เปิน อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์
3. บ้านคลองแบ่ง ม.4 ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์
4. บ้านป่าขี ม.7 ต.ห้วยขมิ้น อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี
5. บ้านกุยเลอตอ ม.6 ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก

รวมถึงศึกษาและพัฒนาแนวทางการนำเอาหลักการของค่าแทนคุณระบบนิเวศ หรือ Payments for Ecosystem Services (PAS) มาใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับประโยชน์ร่วมให้เกิดความยั่งยืน

 

ระยะเวลาการดำเนินโครงการ

รวม 4 ปี (1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2562)

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. คุณค่าความสำคัญของระบบนิเวศในผืนป่าตะวันตกได้รับการดูแลรักษา ฟื้นฟู ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนโดยกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วม

2. เกิดข้อมูลเพื่อนำมาพิจารณาวางแผนการบริหารจัดการป่าสงวนแห่งชาติผืนป่าตะวันตก

3. เกิดคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และมีบทบาทสำคัญในการร่วมพิจารณาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ และสนับสนุนการทำงานเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

4. เกิดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีอาชีพที่เป็นมิตรกับผืนป่า อย่างน้อย 5 แห่งนำร่อง ที่มีการบริหารจัดการกลุ่มที่เข้มแข็ง สามารถนำรายได้มาเป็นกองทุนสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ผืนป่ารวมถึงพัฒนานำหลักแทนคุณระบบนิเวศ หรือ Payments for Ecosystem Services (PAS) มาใช้นำร่องในผืนป่าตะวันตก

 

ร่วมสนับสนุนการทำงานรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร