โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อเชื่อมต่อป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
หลักการและเหตุผล
การแตกกระจายของผืนป่า นำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายในระดับชนิดพันธุ์ พันธุกรรม และระบบนิเวศ เนื่องจากเกิดการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยจากการแบ่งแยกพื้นที่ หรือการทำลายพื้นที่บางส่วน และถูกแทนที่ด้วยการใช้ประโยชน์รูปแบบอื่นระหว่างหย่อมป่า จนเกิดการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มป่า
กลุ่มป่าตะวันตก (Western Forest Complex) เป็นผืนป่าที่มีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ และมีความต่อเนื่องของพื้นที่มากที่สุด อีกทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีความหลากหลายสูง การจัดการให้ผืนป่าแห่งนี้คงสภาพไว้ซึ่งความต่อเนื่องของพื้นที่ และมีการเชื่อมต่อของระบบนิเวศที่คงอยู่ นับว่าเป็นความท้าทายที่ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมถึงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม การดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ที่จะเอื้อให้เกิดการเชื่อมต่อของระบบนิเวศ จึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้กระบวนการเชื่อมต่อระบบนิเวศของผืนป่าให้สมบูรณ์
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง กับ อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติ รวมถึงเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำ แต่เนื่องจากพื้นที่ถูกตัดผ่านด้วยถนนหลวงแผนดินหมายเลข 1116 และพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน ทำให้พื้นที่ที่จะเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ การแลกเปลี่ยนพันธุกรรมของชนิดพันธุ์ลดลง
การฟื้นฟูดูแลให้สองพื้นที่ สามารถกลับมาเชื่อมต่อเป็นผืนป่าที่ต่อเนื่อง จำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงการสื่อสาร เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญจึงจะนำไปสู่การร่วมดูแลพื้นที่อย่างยั่งยืน
โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อเชื่อมต่อป่าตะวันตก สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นโครงการที่บูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่เคยเชื่อมต่อกันระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง กับอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ให้กลับมาเชื่อมต่อกันอีกครั้ง โดยกระบวนการป่าเศรษฐกิจ ที่ชุมชนยังสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ในการดำรงชีพ ภายใต้กติกาการใช้ประโยชน์และการจัดการ เพื่อให้ระบบนิเวศสองผืนป่าสามารถเชื่อมต่อกัน ส่งเสริมให้มีการแพร่กระจายของสัตว์ป่า และพืชป่าให้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนพันธุกรรม เพื่อสมดุลแห่งระบบนิเวศ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ให้เกิดแนวเชื่อมต่อป่าระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง กับอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า
2. เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของสัตว์ป่าระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง กับอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า
3. เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการพื้นที่ป่าสงวนด้วยกระบวนการป่าเศรษฐกิจ และพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรกับผืนป่า
4. เพื่อสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อป่าระหว่างชุมชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เป้าหมาย
1. ดำเนินการสำรวจรับรองที่ดินในพื้นที่โครงการ ภายใต้ความร่วมมือกับกรมป่าไม้
2. ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำฐานข้อมูล ป่าไม้ สัตว์ป่า ในพื้นที่โครงการ
3. ดำเนินการส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจในพื้นที่เป้าหมายของโครงการ
4. ดำเนินกิจกรรมดูแลพื้นที่แนวเชื่อมต่อป่าระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่
5. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนกับชุมชน
พื้นที่ดำเนินโครงการ
ชุมชนเป้าหมาย 3 ชุมชน ในอำเภอโกสัมพีนคร คือ บ้านหนองบัวสามัคคี บ้านไร่พิจิตร และบ้านหนองแดน
ชุมชนเป้าหมาย 1 ชุมชน ในอำเภอเมืองกำแพงเพชร คือ บ้านปางขนุน
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อเชื่อมต่อป่าตะวันตก สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วางกรอบเวลาการดำเนินโครงการไว้ที่ 10 ปี โดยแบ่งช่วงการดำเนินโครงการเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 5 ปี ช่วงที่ 1 (พ.ศ. 2564 – 2568) ช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2569 – 2573)
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.เกิดพื้นที่ต้นแบบการเชื่อมพื้นที่ป่า
2. เกิดความเชื่อมโยงของระบบนิเวศระหว่างพื้นที่อนุรักษ์
3. เกิดความมั่นคงด้านพื้นที่ ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของชุมชน จากป่าเศรษฐกิจ และอาชีพที่เป็นมิตรกับผืนป่า
4. เกิดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน