โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม

โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม

ปกติแล้วความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่พื้นที่อนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตกและชาวบ้านในป่า ปรากฏขึ้นนับตั้งแต่กรประกาศพื้นที่อนุรักษ์ทับซ้อนกับชุมชน

หลายชุมชนในอดีตอาจจะอพยพเข้าไปอยู่ใหม่ มีทั้งชาวเมือง ชาวอีสาน หรือชนเผ่า เช่น ม้ง กะเหรี่ยงจากประเทศเมียนมาร์ หรือเป็นชุมชนชายขอบเชื้อชาติต่างๆ ดั้งเดิม โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณป่าเทือกเขาถนนธงชัย – ตะนาวศรี มาหลายร้อยปี บางส่วนมีการเคลื่อนย้ายอพยพตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติ การสู้รบสงคราม และการเมือง ส่วนใหญ่อยู่มาก่อนประกาศป่าสงวนแห่งชาติในระหว่าง พ.ศ. 2505 – 2527 แต่ไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากข้อกฏหมายไม่เข้มงวดรุนแรงเหมือนป่าอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติอุมยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติสงวนและรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ใช้ประกาศอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ) – 2534 (อุมยานแห่งชาติเขาแหลม)

สาเหตุที่มีการประกาศพื้นที่ทับชุมชนมีตั้งแต่การขาดข้อมูลการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ฐานคิดเรื่องเชื้อชาติชนเผ่าชาวเขาที่ไม่ใช่คนไทย ความคิดที่สามารถจะอพยพชุมชนออกจากป่าเพื่อความง่ายในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ แต่สาเหตุแท้จริงที่กรมป่าไม้ (ก่อนที่จะแยกมามีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) มีความขัดแย้งภายในของฝ่ายที่ต้องการให้สัมปทานหาประโยชน์จากการตัดไม้ และฝ่ายที่ต้องการป่าไว้เพื่อเป็นต้นน้ำลำธารและถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าเพื่อรักษาทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ

โดยฝ่ายที่ต้องการอนุรักษ์มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้ป่าที่เหลืออยู่เป็นป่าอนุรักษ์ให้มากที่สุดเพื่อให้พ้นจากสัมปทานตัดป่า จึงละเลยในการหาวิฑีคุ้มครองสิทธิของชุมชน กอปรกับในสมัยก่อนรัฐธรรมนูญก่อนปี 2540 ยังไม่มีหมวดบัญญัติสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

ความเร่งรีบที่จะรักษาป่าให้พ้นจากการสัมปทานไม้ของข้าราชการฝ่ายอนุรักษ์ส่งผลกระทบเรื่องสิทธิชุมชน และเมื่อไม่สามารถย้ายชุมชนออกจากป่า หลังจากมีความพยายามอย่างยิ่งในช่วงปลายทศวรรษที่ 30 จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีการรับรองสิทธิชุมชนในปี 2540 แต่อย่างไรก็ตามการเร่งผลักดันให้ประกาศเขตอนุรักษ์ที่ว่ามาดังกล่าว เป็นผลสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยังคงมีป่าปกคลุมพื้นที่มากกว่า 30% และป่าที่ประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ก็มีอัตราคดีบุกรุกต่ำกว่าป่าที่ยังคงเป็นป่าสงวนแห่งชาติอย่างชัดเจน

ดังนั้น หากกรมอุทยานแห่งชาติฯ สามารถจัดการปัญหาชุมชนในป่าโดยวิธีการมีส่วนร่วมที่เคารพสิทธิชุมชน จะนับว่าประเทศไทยมีการอนุรักษ์ป่าได้มากพอสมควร โดยก้าวข้ามความขัดแย้งและลดข้อครหาเรื่องละเมิดสิทธิ หรือรังแกคนยากจน คนชายขอบ การทำงานของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็น่าจะได้รับการยอมรับจากสาธารณชนทุกภาคส่วน และนำไปสู่ความร่วมมือในการอนุรักษ์ต่อไป

จริงแล้วมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เริ่มระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศร่วมกับกรมป่าไม้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 และมีบทบาทสำคัญในการประสานงานโครงการฝึกอบรมเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในผืนป่าตะวันตก การเกิดคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก และเกิดคณะกรรมการอนุรักษ์ป่าตะวันตก 6 จังหวัด รวมทั้งการศึกษาข้อมูลวิชาการในภาคสนามร่วมกับคณาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนกระทั่งได้ข้อมูลเชิงนิเวศและสังคม นำมาแบ่งเขตการจัดการพื้นที่เชิงนิเวศที่เป็นลหักฐานบ่งบอกความสมบูรณ์ของผืนป่า และสัตว์ป่า แต่อย่างไรก็ตามสารสนเทศที่ว่ามาก็มีข้อมูลชัดเจนว่ามีชุมชนประมาณ 400 ชุมชน เกี่ยวข้องอยู่กับป่าตะวันตก โดยเป็นชุมชนที่มีพื้นที่อยู่ในผืนป่าประมาณ 100 ชุมชน ชุมชนที่มีที่ทำกินล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่อนุรักษ์อีกประมาณ 100 ชุมชน นอกจากนี้ คือ ชุมชนที่เข้ามาเก็บหาทรัพยากรในป่าอนุรักษ์ ประมาณว่าขณะนั้นมีประชากรที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ถึงสองแสนคนมีพื้นที่ทำกินในป่าประมาณ 5% ของพื้นที่ป่า

ชุมชนในผืนป่าขณะนั้นมีแนวโน้มการขยายที่ทำกิน กระแสความนิยมในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว การพัฒนาเส้นทางคมนาคม และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเรื่องปัญหาความขัดแย้งในการบริหารจัดการตามกฏหมายที่เน้นปราบปราม จับกุม และอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่ และ/หรือ กันพื้นที่ทำกินออกจากพื้นที่อนุรักษ์เพียงมิติเดียวเพื่อให้ง่ายในการบริหารจัดการ แต่ไม่มีแนวทางปฏิบัติในการหนุนเสริมการร่วมอนุรักษ์ และยอมรับความมีอยู่ของชุมชนในด้านวิถีวัฒนธรรม สิทธิชุมชน โดยถือเป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่นๆ นำไปสู่ปัญหาการกระทบกระทั่ง ตรวจยึดแปลงทำกิน มีความขัดแย้งและไม่มีความร่วมมือใดๆ ในการอนุรักษ์กับราชการ

โครงการจอมป่า ที่เป็นชื่อเรียกของโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (Joint Management of Protected Area – JoMPA) พยายามแสดงให้เห็นโมเดลการจัดการความขัดแย้งและการสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรมระหว่างเจ้าหน้าที่อนุรักษ์และชาวบ้านโดยให้ความสำคัญต่อคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ และความสมดุลของระบบนิเวศ แต่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชน คือ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำหน้าที่เป็นคนกลางในการอำนวยความสะดวก (Facilitator) มีเป้าหมายการทำงาน 3 ระดับ

1. ระดับผืนป่าตะวันตก เป็นการทำงานระหว่างสำนักงานอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทั้ง 17 แห่ง โดยการสนับสนุนของสำนักบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ 3 แห่ง ที่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ นโยบาย ให้มีการทำงานการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และเกิดภาคีในการร่วมอนุรักษ์จากภาคประชาชน

2. ระดับพื้นที่คุ้มครอง ในแต่ละพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแต่ละแห่งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เกี่ยวข้องในการจัดการพื้นที่จากภาคส่วนราชการและประชาชนที่เกี่ยวข้อง

3. ระดับชุมชนเป้าหมาย เกิดการตกลงกติกาการใช้ประโยชน์ชุมชน และสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการชุมชนที่จะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่พื้นที่คุ้มครอง รวมถึงการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผลผลิตที่สำคัญของโครงการจอมป่าในสิบปีที่ผ่านมา

1. มีการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองชุมชนในพื้นที่คุ้มครอง มีการสำรวจฐานข้อมูลชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับและมีแผนที่แสดงกำกับแนวเขต รวม 115 ชุมชน จากทั้งหมด 129 ชุมชน และกำลังขยายผลสู่การจัดทำแผนผังแสดงการใช้ที่ดินเพื่อควบคุมขอบเขตตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ภายใต้แนวทางปฏิบัติในการดำเนินการตามข้อกฎหมายในพื้นที่อนุรักษ์ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ มาตรา 19 ประกอบระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2549 ข้อ 4 (11) และพระราชบัญญัติสงวนและรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มาตรา 38 วรรค 2 ประกอบระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (ฉบับที่2) พ.ศ.2537 ข้อ 3 ตามแผนงานที่ได้มีการเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมอุทยานฯและมูลนิธิสืบฯ โดยกิจกรรมต้องกระทำโดยพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองดูแลรักษาพื้นที่คุ้มครอง และจัดประชุมร่างกติกาการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อควบคุมดูแลทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม

2. ชุมชนขอบผืนป่าตะวันตก 158 ชุมชน ได้ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เสนอจัดตั้งป่าชุมชนต่อกรมป่าไม้ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติซึ่งไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนป่าชุมชนจากกรมป่าไม้แล้ว 102 ชุมชน คงเหลือ 56 ชุมชนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

3. สนับสนุนกิจกรรมเพื่อการดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการส่งเสริมอาชีพเพิ่มรายได้แต่ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อระบบนิเวศ มีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อผืนป่า สัตว์ป่า หลายร้อยกิจกรรม จนเกิดบ้านเรียนรู้ที่มีการดำเนินวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า 34 ครอบครัว และยกระดับเป็นศูนย์ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่สาธารณะชน 10 แห่ง กระจายอยู่ในผืนป่าตะวันตก

4. สนับสนุนให้คณะคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่คุ้มครอง ดำเนินกิจกรรมตามบทบาทและภารกิจได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีการประชุมสม่ำเสมอใน 13 พื้นที่คุ้มครอง และมีประชุมบ้างตามสถานการณ์ใน 4 พื้นที่คุ้มครอง

5. โครงการได้ผลักดันให้พื้นที่คุ้มครอง มีบุคลากรด้านงานชุมชน ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ประจำทุกพื้นที่คุ้มครองทำหน้าที่รับผิดชอบการประสานงานกับชุมชนอย่างชัดเจน พร้อมทั้งสนับสนุนและเสริมศักยภาพการทำงานโดยการสร้างทีมวิทยากรกระบวนการทำงานในพื้นที่ร่วมกัน

ไม่น่าเชื่อว่าองค์กรอนุรักษ์เล็กๆ อย่างมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะสามารถระดมทุนเพื่อทำโครงการสำคัญในป่าใหญ่ ที่เรียกกันว่า “ผืนป่าตะวันตก” ผืนป่าอนุรักษ์ที่มีพื้นที่ประกาศเกือบสองหมื่นตารางกิโลเมตร หรือราวๆ สิบสามเท่าของกรุงเทพมหานครในตลอดสิบปีที่ผ่านมาได้กว่า 130 ล้านบาท มาทำกระบานการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญเรื่องการจัดการความขัดแย้งในการอนุรักษ์ป่าอย่างเรื่องพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมที่ถูกประกาศทับด้วยกฎหมายป่าอนุรักษ์ที่นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวบ้านกว่าร้อยชุมชนมานานหลายสิบปี แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านกลางป่าที่ว่าหลายๆ แห่งก็ถากถางที่ขยายที่ทำกินรุกป่าไปเรื่อยๆ อย่างไม่สิ้นสุด ทั้งๆ ที่หลายชุมชนอยู่บนพื้นที่ต้นน้ำและระบบนิเวศที่มีความสำคัญยิ่ง

ปัญหาใหญ่ที่ว่ามาปัจจุบันคลี่คลายความขัดแย้งไปได้มากมาย การขยายพื้นที่แทบจะไม่มีแปลงคดี ในชุมชนที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเข้าไปทำงาน และการส่งเสริมอาชีพเพื่อสนับสนุนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่ากำลังก้าวหน้าไปได้ด้วยดี ยังไม่นับงานขยายผลสู่การทำงานกับชุมชนตามแนวขอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อสนับสนุนการจัดการป่าชุมชนของชาวบ้านร่วมกับกรมป่าไม้

งบประมาณที่ว่ามาจากกองทุนดั้งเดิมของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่เก็บสะสมไว้จากการบริจาคของสาธารณชน การรับการสนับสนุนจากประเทศเดนมาร์ก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ธนาคารไทยพาณิชย์ กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ และกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์

หากถามว่าเงินร้อยสามสิบล้านที่สร้างตึกได้หลังไม่ใหญ่นักในเมือง สามารถนำไปทำงานอะไรได้สำเร็จบ้างใน “ป่าตะวันตก” ? คำตอบที่เราเชื่อว่าคุ้มค่าคือ

1. เกิดสันติสุขในผืนป่าตะวันตก

จากเดิมที่มีการขัดแย้งกันอย่างมาก ระหว่างชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานใน PAs และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ บริหารจัดการ PAs (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ) การที่ร่วมกันดำเนินโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ด้วยการร่วมกันทำ Landuse demarcation และ Development of agreement and regulation ใน 85 ชุมชนของ 129 ชุมชนในผืนป่า จากข้อมูลภาคสนามพบว่าตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการที่ผ่านมาไม่ปรากฏการณ์ขยายพื้นที่ทำกินของชุมชนที่ร่วมดำเนินโครงการออกนอกแนวเขตสำรวจพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชน อีกทั้งไม่ปรากฏคดีการบุกรุกพื้นที่  ทำกินของชุมชนในพื้นที่คุ้มครอง ทำให้ชุมชนและเจ้าหน้าที่มีความเป็นมิตรกันมากขึ้น และนำไปสู่ความร่วมมือกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งภายในวงรอบของ Landuse demarcation และภายนอก

2. เกิดความร่วมมือจากชุมชนในการรักษาทรัพยากร ธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม

จากการที่ชุมชนลุ่มน้ำแม่จัน 14 ชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก จัดให้มีเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในปี 2551 จนมีปลาตะพากตัวยาวประมาณ 25-30 ซม. เริ่มกลับขึ้นมาวางไข่ในลำน้ำ แม่จันในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม โดยเฉพาะที่บ้านกุยเลอตอ ซึ่งชาวชุมชนได้ร่วมกันเฝ้าระวังมิให้มีการทำอันตรายปลาเหล่านี้ ปัจจุบันอำเภออุ้มผางได้ขยายแนวความคิดดังกล่าวจัดทำเป็น 1 ชุมชน 1 วังปลา เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่คุ้มครองที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนแล้ว ได้มีการเดินลาดตระเวนเพื่อรักษา กติกา การดูแลพื้นที่ใช้ประโยชน์โดยชุมชนร่วมกับเจ้าหน้าที่พื้นที่คุ้มครองเดินร่วมกัน รูปธรรมของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรมอีกประการหนึ่งคือเกิดจุดสกัดประตูป่าที่อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ บนถนนซึ่งเป็นทางเดียวที่ผ่านเข้าไปยังผืนป่าของอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ และอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ด้านตำบลเขาโจด ได้มีผลสัมฤทธิ์เพิ่มคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครชุมชน 150 คนได้ร่วมกันจัดสร้างจุดสกัดมีเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ และอาสาสมัครชุมชน ทำหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจตรายานพาหนะต้องสงสัยที่ผ่านเข้าออก หลังจากจัดสร้างจัดสกัดประตูป่า

นอกจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายชุมชน ที่ดำเนินการเพื่อรักษาต้นน้ำ กำหนดพื้นที่อนุรักษ์ เข้มข้น ของชุมชน พื้นที่คุ้มครอง ฯลฯ

3. การดำเนินชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

วิถีชีวิตของชุมชนในผืนป่าตะวันตกอาจแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 5 กลุ่ม คือ กลุ่มกะเหรี่ยงดั้งเดิม กลุ่มกะเหรี่ยงที่รับวิถีชนบทไทยเกษตรเชิงเดี่ยว กลุ่มม้ง กลุ่มไทยอีสาน และกลุ่มไทยภาคกลาง โดยกลุ่มกะเหรี่ยงมีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของชุมชนทั้งผืนป่า กลุ่มที่สองรองลงมาคือไทยอีสานและไทยภาคกลาง กลุ่มม้ง มีจำนวนบ้านเพียงประมาณ 10% แต่เป็นกลุ่มที่ใช้พื้นที่กว้างขวาง กลุ่มกะเหรี่ยงดั้งเดิมมีวิถีเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้วทำไร่หมุนเวียนรวมถึงมีการพึ่งตนเอง เช่น มีหมอยาพื้นบ้าน สิ่งที่ต้องพึ่งจากภายนอกที่สำคัญคือเกลือ โครงการนี้พยายามช่วยให้กลุ่ม ได้รักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมเสริมรายได้จากการตั้งกลุ่มทอผ้าพา จนเกิดเป็นสมาชิกชุมชนผ้าทอที่ส่งผลผลิตขายอย่างกว้างขวาง การเสริมแหล่งอาหารด้วยการเพิ่มต้นไม้กินได้ใกล้บ้าน สำหรับกลุ่มที่สองคือ กลุ่มกะเหรี่ยงที่รับเกษตรเชิงเดี่ยวปลูกข้าวโพด ก็ใช้วิธีชักชวนให้ฟื้นป่าด้วยการทำเกษตรผสมผสาน สวนสี่ชั้น ฯลฯ เช่นเดียวกับกลุ่มไทยอีสานที่ปลูกพืช เชิงเดี่ยว ส่วนกลุ่มไทยภาคกลางเช่นที่แม่น้ำน้อยที่  อุทยานแห่งชาติไทรโยค เขาทำสวน และพออยู่พอกินอยู่แล้ว จากการทำงานต่อเนื่องสิบปีเกิดบ้านเรียนรู้ที่ครอบครัวสามารถเป็นเกษตรพึ่งตนเองได้จริงหลายสิบครอบครัว พร้อมที่จะเป็นต้นแบบขยายผลในชุมชนต่อไป

ปัจจุบันโครงการที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือการส่งเสริมให้ชุมชนขยายผลการปลูกสมุนไพรอินทรีย์เพื่อส่งให้มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนำรายได้นับล้านบาทสู่ชุมชนหลายชุมชนในผืนป่า

4. คณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่คุ้มครอง (PAC)

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่ครบทั้ง 17 PAs โดยมีหัวหน้า PA เป็นเลขานุการ ซึ่งผลจากการดำเนินงานของ PAC ได้ช่วยงานแก้ปัญหาวิกฤติต่างๆ ที่กระทบ PA ได้เป็นอย่างดี การแต่ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่คุ้มครองดำเนินการโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยมีการกำหนดกรอบคณะกรรมการ PAC ว่าควรประกอบด้วยสาขาอาชีพใดบ้าง มีบทบาทหน้าที่อะไร จำนวน 15-25 คน โดยดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี

จนถึงปัจจุบันโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก ระยะที่ 2 ได้แสดงให้เห็นบทเรียนสำคัญว่างานประสานงานชุมชนของ PA เป็นส่วนหนึ่งของงานป้องกันเป็นหน้าที่ประการหนึ่งของการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองที่ต้องให้ความสำคัญในการดูแลใกล้ชิดชุมชนที่ตั้งอยู่ในหรือประชิดพื้นที่คุ้มครองนั้นๆ โดยถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงและมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่างานด้านอื่นของพื้นที่คุ้มครอง และการทำงานเป็นทีมระหว่างรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชน ทำความเข้าใจงานไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ ความคงอยู่ของทรัพยากรผืนป่า สัตว์ป่า และคนอยู่ได้ โดยปกติสุข เป็นแนวทางที่เป็นไปได้ สุดท้ายการหมายแนวเขต (land demarcation) อย่างมีส่วนร่วมเป็นแนวทางที่ดี และได้ประโยชน์จริงแต่ทั้งนี้ ต้องดำเนินงานต่อเมื่อได้ทำงานร่วมกันกับชุมชนในระยะหนึ่งจนเข้าใจร่วมกัน การหมายแนวเขตนี้จะต้องทำกันโดยผู้ปฏิบัติมีจริยธรรม คือ มิใช่การรู้เห็นให้ขยายที่ทำกินหรือยกที่ดินให้กับชุมชนแต่เป็นการแสดงแนวเขตที่เจ้าหน้าที่จะบริหารจัดการเพื่อไม่ให้ผืนป่าที่อยู่ติดกันถูกใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพดำรงอยู่ได้

ถอดบทเรียนของโครงการจอมป่า

– ถือว่างานประสานงานชุมชนของ PA เป็นส่วนหนึ่งของงานป้องกันเป็นหน้าที่ประการหนึ่งของการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองที่ต้องให้ความสำคัญในการดูแลใกล้ชิดชุมชนที่ตั้งอยู่ในหรือประชิดพื้นที่คุ้มครองนั้นๆ โดยถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงและมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่างาน ด้านอื่นของพื้นที่คุ้มครอง

– การทำงานเป็นทีมระหว่างรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชน โครงการนี้ให้บทเรียนว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐ NGO และชุมชนทำความเข้าใจงานไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ความคงอยู่ของทรัพยากรผืนป่า สัตว์ป่า และคนอยู่ได้โดยปกติสุข เป็นแนวทางที่เป็นไปได้

– การสร้างฐานข้อมูลชุมชนอย่างมีส่วนร่วมเป็นแนวทางที่ดีและได้ประโยชน์จริง แต่ทั้งนี้ต้องดำเนินงานต่อเมื่อได้ทำงานร่วมกันกับชุมชนในระยะหนึ่งจนเข้าใจร่วมกัน การหมายแนวเขตนี้จะต้องทำกันโดยผู้ปฏิบัติมี จริยธรมคือ มิใช่การรู้เห็นให้ขยายที่ทำกินหรือยกที่ดินให้กับชุมชน แต่เป็นการแสดง แนวเขตที่เจ้าหน้าที่จะบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้ผืนป่าที่อยู่ติดกันถูกใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพดำรงอยู่ได้


ทำความรู้จักโครงการจอมป่า เพิ่มเติมได้ที่
วารสารสาส์นสืบ ฉบับ 10 ปี โครงการจอมป่า
หนังสือคู่มือการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก