โครงการสร้างกรงชั่วคราวเพื่ออนุบาลลูกพญาแร้งตัวแรกในถิ่นอาศัยเดิม ภายใต้โครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ
หลักการและเหตุผล
แร้ง หรือ อีแร้ง เป็นนกที่อยู่ในตระกูลนกนักล่า (Bird of prey) แต่วิธีการหาอาหารของแร้งไม่เหมือนกับเหยี่ยวหรือนกอินทรี แร้งจะไม่ฆ่าสัตว์อื่น แต่จะรอเวลาให้สัตว์ตาย แล้วกินเนื้อจากซากสัตว์เหล่านั้น นกตระกูลแร้งจึงเปรียบเสมือน ‘เทศบาลประจำผืนป่า’ หรือกองควบคุมโรค ผู้มีหน้าที่รักษาความสะอาด และด้วยจะงอยปากที่หนาและแข็งแรง พวกมันสามารถฉีกกินเอ็นและพังผืด ซึ่งสัตว์ชนิดอื่นทำไม่ได้ มันจึงเป็นนักเก็บกวาดซากได้อย่างหมดจด
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นกในกลุ่มแร้งในอนุทวีปอินเดีย มีจำนวนประชากรลดลงถึงร้อยละ 95 จากสภาพปัญหาการได้รับสารพิษจากยาไดโคลฟีแนค (diclofenac) ปนเปื้อนในซากวัว ทำให้องค์กรด้านการอนุรักษ์ต่างให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์นกในกลุ่มแร้ง เพราะแร้งได้ชื่อว่าเป็นเทศบาลที่คอยกำจัดของเสียหรือกองควบคุมโรคแห่งผืนป่า ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้เกิดการหมุนเวียนของห่วงโซ่อาหารที่สำคัญในระบบนิเวศ “แร้งเป็นผู้ที่ทำให้ระบบนิเวศในผืนป่าเกิดความสมดุล และคงความหลากหลายทางชีวภาพ หากที่ไหนมีแร้งพื้นที่แห่งนั้นจะต้องมีซากสัตว์ และแสดงว่าต้องมีสัตว์ป่าผู้ล่าอาศัยอยู่ ทำให้เห็นว่านกเทศบาลตัวนี้ คือสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชนิดที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าใหญ่”
สำหรับประเทศไทยในอดีตเคยพบแร้ง 5 ชนิด เป็นแร้งอพยพ 2 ชนิด และเป็นแร้งประจำถิ่น 3 ชนิดประเทศไทยแต่สถานะปัจจุบันของแร้งประจำถิ่นทั้ง 3 ชนิด อาจเรียกได้ว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ แต่ยังคงเหลือพญาแร้งอยู่ในกรงเลี้ยงทั้งหมด 7 ตัว และแร้งเทาหลังขาว 1 ตัว ที่ยังพอเป็นพ่อแม่พันธุ์กำเนิดลูกแร้งรุ่นต่อ ๆ ไป ปัจจุบันประเทศไทยมีพญาแร้งในกรงเลี้ยงที่ได้มาจากการพลัดหลงจากการอพยพผ่านประเทศไทยและนำมาดูแลเพื่อฟื้นฟูสภาพที่สวนสัตว์นครราชสีมาและสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งจำนวน 6 ตัว ถือเป็นโอกาสดีในการที่จะฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในธรรมชาติถิ่นอาศัยเดิมในผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง จึงมีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการช่วยกันฟื้นฟูประชากรพญาแร้งและเพาะขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์กินซาก (Scavenger) ผ่านโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ โดยความร่วมของ 4 องค์กร ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
โครงการฯ ได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายพญาแร้ง จำนวน 1 คู่ เข้ากรงฟื้นฟูบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งในสภาพกรงฟื้นฟู ปัจจุบันพ่อแม่พันธุ์พญาแร้งสามารถฟักลูกเป็นตัวสำเร็จ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยเดิม และเนื่องจากกรงฟื้นฟูมีขนาด 20x40x20 เมตร รองรับพญาแร้งได้เพียง 2 ตัว จึงจำเป็นต้องดำเนินการสร้างกรงชั่วคราวเพื่ออนุบาลลูกพญาแร้ง กรงขนาด 5x10x6 เมตร และเพิ่มโอกาสการจับคู่ผสมพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์
วัตถุประสงค์
1. ฟื้นฟูประชากรพญาแร้งโดยการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งเป็นพื้นที่ถิ่นอาศัยเดิมตามธรรมชาติ
2. ปรับพฤติกรรมและเตรียมความพร้อมของพญาแร้งในกรงเลี้ยงเพื่อเตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
3. ศึกษาแนวทางในการเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งในกรงเลี้ยงและในพื้นที่ธรรมชาติ
เป้าหมาย
สร้างกรงชั่วคราวเพื่ออนุบาลลูกพญาแร้งตัวแรกในถิ่นอาศัยเดิม บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เพื่อเตรียมความพร้อมในการเพาะขยายพันธุ์
พื้นที่ดำเนินงาน
หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี
ระยะเวลาดำเนินการ
1. ดำเนินการแยกลูกพญาแร้งหลังจากที่ลูกนกบินออกจากรังครั้งแรก (คาดว่าประมาณ 6-8 เดือน) และจะมีการตรวจสุขภาพพร้อมตรวจเพศ ทั้งนี้การแยกลูกนกออกจากพ่อแม่ จะช่วยให้พ่อแม่นกมีพฤติกรรมผสมพันธุ์เร็วขึ้นในปีถัดไป
2. ดำเนินการสร้างกรงชั่วคราวเพื่อใช้อนุบาลลูกพญาแร้ง ห่างจากกรงฟื้นฟู ประมาณ 50-200 เมตร กรงมีขนาด กว้าง 5 เมตร ยาว 10 เมตร สูง 6 เมตร
3. เก็บข้อมูลพร้อมติดตั้งกล้อง CCTV ในกรงชั่วคราวเพื่อใช้อนุบาลลูกพญาแร้ง พร้อมทั้งประเมินผลและรายงานต่อคณะทำงานพญาแร้ง
งบประมาณ
ขอรับการสนับสนุนจากภายนอก จำนวนเงิน 150,000 บาท
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
สามารถฟื้นฟูประชากรและพื้นที่ถิ่นอาศัยของพญาแร้งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยการใช้องค์ความรู้ในเรื่องของการเพาะเลี้ยง การฟื้นฟูถิ่นอาศัย รวมถึงการสร้างความเข้าใจกับชุมชุนในพื้นที่โดยการเรียนรู้จากทัศนคติของชุมชน
ผู้รับผิดชอบโครงการ
- นางสาวชฎาภรณ์ ศรีใส โทร. 0655182970 อีเมล์ [email protected]
- นางสาวปารีณา ธนโรจนกุล โทร. 0843282151 อีเมล์ [email protected]