10 ที่สุดในรอบ 20 ปี มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

10 ที่สุดในรอบ 20 ปี มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ในรอบ 20 ปีของการก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เรามีผลงานที่ภาคภูมิใจตามภารกิจเพื่อ ส่งเสริมการอนุรักษ์ และปกป้องป่า สัตว์ป่า และแหล่งธรรมชาติของประเทศไทย เพราะมูลนิธิสืบนาคะเสถียรถือเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของคุณสืบ นาคะเสถียร 10 เรื่อง ได้แก่

 

1. การประกาศพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกโลกจากการเขียนรายงานการสำรวจของสืบ นาคะเสถียร

สืบ นาคะเสถียร และเพื่อน คือ วีรวัฒน์ ธีรประสาธ์น หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ในครั้งกระโน้น และ นพรัตน์ นาคสถิตย์ ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขาขางรำ เคยร่วมทีมเดินตัดป่าทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้ง ด้วยกันนับเป็นตำนานการเดินป่าของสามนักอนุรักษ์ผู้ยิ่งใหญ่ของยุคสมัยแต่ครั้งก่อนที่สืบจะมาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจคุณค่าผืนป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งที่คุณสืบ และคุณเบลินดา สจ๊วต ค๊อกซ์ได้ร่วมกันเขียนรายงาน “DOMINATION OF THE THUNG YAI-HUAI KHA KHAENG WILDLIFE SANCTUARY” ในช่วงปี 2533 ซึ่งเป็นงานวิชาการชิ้นสุดท้ายของสืบเพื่อเสนอต่อยูเนสโกให้ผืนป่าสมบูรณ์ผืนนี้ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ก่อนที่จะตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรม เมื่อ 1 กันยายน 2533 และ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 ผืนป่าแห่งนี้ก็ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ซึ่งนับเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายที่สืบมอบไว้ให้ประเทศไทย

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ใช้ข้อมูลวิชาการเหล่านี้ และใช้สถานภาพคุณค่ามรดกโลกที่ได้รับการยอมรับในการทำงานรณรงค์เพื่อให้สาธารณะชนร่วมกันเป็นแนวร่วมในการปกปักรักษาผืนป่าและสัตว์ป่าตลอดมา และนับครั้งไม่ถ้วนที่เราใช้เหตุผลนี้ในการคัดค้านโครงการที่จะมีผลกระทบต่อคุณค่าของระบบนิเวศในผืนป่ามรดกโลก

 

2. การก่อตั้งกองทุนผู้พิทักษ์ป่า

ในช่วงที่คุณสืบ นาคะเสถียร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขาให้ความสำคัญกับสวัสดิการและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเป็นอย่างมาก เพราะเขารู้ดีว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำงานด้วยความยากลำบาก ในป่าเปลี่ยวที่พร้อมจะโดนยิงได้ตลอดเวลา โดยมีแค่ปืนลูกซองไว้ป้องกันชีวิต ที่สำคัญทางราชการไม่มีหลักประกันใดๆ ทั้งสิ้นให้แก่ครอบครัว และตัวเขา ทั้งสวัสดิการหรือประกันชีวิต นอกจากเงินเดือนในอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเหล่านี้เปรียบเสมือนนักรบในสงครามปกป้องผืนป่า มีชีวิตที่เสี่ยงภัย นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สืบพยายามทุกวิถีทางที่จะหาเงินมาเป็นสวัสดิการ และประกันชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่

หลังการจากไปของคุณสืบ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้สานต่อเจตนารมณ์ด้วยการจัดตั้ง “กองทุนผู้พิทักษ์ป่า” เมื่อปี 2533 โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือพนักงานป่าไม้ในทุกๆพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ “ผู้พิทักษ์ป่า” ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมั่นใจและอุ่นใจว่า ทุกครั้งที่ต้องออกไปเสี่ยงภัยเพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ถ้าเขาต้องจบชีวิตลง หรือพิการ เขาจะมั่นใจได้ ว่าครอบครัวที่อยู่ข้างหลังจะไม่เดือดร้อน ด้วยค่าจ้างเพียงวันละร้อยกว่าบาท ผู้พิทักษ์ป่าเหล่านี้ ต้องทำงานหนัก บางครั้งต้องเสี่ยงเอาชีวิตเข้าแลก เช่นเดียวกับทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามชายแดน

ตลอดระยะเวลาการก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่าได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บ 53 ราย ช่วยเหลือครอบครัวผู้พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิต 65 ราย และช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่บุตร-ธิดา ของผู้พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิต จนถึงระดับปริญญาตรี จำนวน 27 ราย (ข้อมูลในวาระ 20 ปี สืบ นาคะเสถียร)

 

3. การก่อสร้างอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ผลงานที่ชัดเจนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรหลังการจากไปของคุณสืบ คือการสร้างอาคารอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร และรูปปั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้คนรำลึกระลึกถึงการสละชีวิตของคุณสืบ นาคะเสถียร และสานต่อเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยจัดสร้างรูปปั้นสืบ นาคะเสถียร และรักษาบ้านที่คุณสืบเคยใช้ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำ รวมถึงจัดสร้างอาคารเอนกประสงค์เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการ และนักท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเผยแพร่การอนุรักษ์แก่ผู้สนใจ

องค์ประกอบของสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อสื่อเรื่องราวความเป็นมาของบุคคล และสถานที่ต้องแสดงออกมาเป็นรูปธรรมให้ความรู้สึก รับรู้ และเกิดจินตนาการต่อเรื่องราวดังกล่าวได้ อนุสรณ์สถานแห่งนี้ต่างจากอนุสรณ์สถานอื่น ตรงที่ไม่ใช่อนุสาวรีย์ที่แสดงออกถึงวีรกรรมที่กล้าหาญ และเพื่อความทรงจำเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการแสดงออกถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ และการสานต่อทางความคิดของคุณสืบ จึงเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่ง

อาคารมีความทันสมัยในรูปแบบที่เรียบง่าย เพื่อแสดงถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างการพัฒนาของเทคโนโลยี และการอนุรักษ์ ซึ่งต่างก็เป็นสิ่งสำคัญ และจะต้องดำเนินไปทั้งสองด้าน รายละเอียดเพิ่มเติม อนุสรณ์สถาน สืบ นาคะเสถียร

 

4. การดำเนินโครงการ “ป่าตะวันตก” เพื่ออนุรักษ์ป่าผืนใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

ในช่วงปี 2541 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรก่อตั้งกองทุนป่าตะวันตก เพื่อสนับสนุนโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ ร่วมกับกรมป่าไม้ และร่วมผลักดันให้ได้รับการสนับสนุนโครงการระยะยาวจากประเทศเดนมาร์ก ทำให้เกิดผลงานการสำรวจข้อมูลเชิงนิเวศอย่างเป็นระบบทั่วทั้งผืนป่าตะวันตก นำไปสู่แนวคิดการจัดการพื้นที่ในลักษณะผืนป่าใหญ่ (Forest Complex) และเป็นผู้ประสานงานให้เกิดการฝึกอบรมเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในผืนป่าตะวันตกอย่างต่อเนื่อง

 

5. บทบาท NGO ที่ทำหน้าที่ Watchdog เฝ้าระวังป่าไม้ สัตว์ป่า และแหล่งธรรมชาติ ไว้ให้คนไทย

นับแต่ก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นต้นมา การเฝ้าระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผืนป่า สัตว์ป่า และแหล่งธรรมชาติ เป็นงานที่มูลนิธิฯให้ความสำคัญ เรานำเสนอข้อมูลเพื่อให้ประชาชนและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพอ เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้เข้าใจถึงหลักการอนุรักษ์ธรรมชาติ และตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้มูลนิธิฯมีปรัชญาข้อหนึ่งว่า จะปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่เกรงต่อปัญหาใดๆ เพื่อทำหน้าที่ทางศีลธรรมของมนุษย์ในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ และพิทักษ์ชีวิตของสัตว์ป่าที่ดำรงชีวิตตามวิถีธรรมชาติของสัตว์ป่าเหล่านี้ งานรณรงค์ที่สำคัญได้แก่

2534 : ร่วมรณรงค์คัดค้านถนน 48 สาย เพื่อความมั่นคง
2538 : คัดค้านการสร้างถนนสาย 3011 รอบป่ากันห้วยขาแข้ง
2540 : ร่วมคัดค้านท่อก๊าซไทยพม่าการบุกรุกอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด, คัดค้านนโยบายของกรมป่าไม้ในการร่างระเบียบอนุญาตให้เอกชนเช่าพื้นที่อุทยาน
2541 : คัดค้านการสร้างบ้านพัก VIP กลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง, รณรงค์หยุดเหมืองแร่ทุ่งใหญ่นเรศวร, ร่วมคัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอกหินกรูด
2544 : ร่วมคัดค้าน พรบ.แร่ และเหมืองแร่โปแตซ, คัดค้านการสร้างถนนผ่านป่าทุ่งใหญ่เนรศวรตะวันตก, คัดค้านการจัดแรลลี่ปล่อยเป็ดก่า ในพื้นที่เขาบันได้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
2545 : คัดค้านโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาธรรมชาติห้วยขาแข้ง ณ สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ, ร่วมรณรงค์คัดค้าน ร่าง พรบ.แร่, ร่วมคัดค้านการปล่อยสารตะกั่วลงลำห้วยคลิตี้
2547 : คัดค้านการตัดถนน คลองลาน – อุ้มผาง
2548 : คัดค้านการตัดถนนผ่านป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
2549 : คัดค้านการขุดอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ผ่านพื้นที่อนุรักษ์, คัดค้านการเปลี่ยนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางเป็นอุทยานแห่งชาติ, คัดค้านการสร้างถนนผ่านอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง, คัดค้านเหมืองแร่ และการขนส่งแร่ผ่านป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
2550 : คัดค้านกฎหมายใช้เช่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ
2551 : คัดค้านการให้เช่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล (อันดามัน)
2552 : ยังคงคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์

 

6. คัดค้านการก่อสร้างถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง และสายสังขละบุรี-อุ้มผาง

เมื่อพ.ศ.2547 รัฐบาลในสมัยนั้น มีโครงการให้ต่อขยายเส้นทางสายคลองลาน – อุ้มผางหรือทางหลวงหมายเลข 1117 ซึ่งเคยเป็นถนนเพื่อความมั่นคงในยุคปลายการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ แต่ได้ยุติการดำเนินการ หลังจากเหตุการณ์สู้รบได้ยุติลง

เส้นทางดังกล่าวจะตัดผ่านผืนป่าอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ที่เป็นระบบนิเวศต่อเนื่องกันของผืนป่าตะวันตกซึ่งเป็นป่าผืนเดียวกันของป่ามรดกโลกทางธรรมชาติคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง ส่งผลให้ระบบนิเวศผืนป่าตะวันตกแห่งนี้ถูกตัดขาดและเพิ่มภาวะเสี่ยงต่อการถูกบุกรุกทำลาย

เมื่อพ.ศ. 2548 ก็มีแนวความคิดของการสร้างถนนตัดผ่านผืนป่าตะวันตก ใกล้ชายแดนหม่าโดยจะตัดถนนผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก พื้นที่อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อ.อุ้มผาง จ.ตาก

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงขอทักท้วงการก่อสร้างถนนทั้ง 2 สาย พร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจข้อมูลทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการก่อสร้างถนนทั้ง 2 สายนี้ และทำงานสัมพันธ์มวลชน เผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการต่อสาธารณชนและผู้มีอำนาจตัดสินใจให้ทราบถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการก่อสร้างถนนตัดผ่านผืนป่าตะวันตก จนกระทั่งสามารถยับยั้งโครงการก่อสร้างถนนสายคลองลาน – อุ้มผาง และสายสังขละบุรี – อุ้มผางได้สำเร็จ

ถึงแม้ว่าความพยายามในการก่อสร้างถนนทั้ง 2 สายจะยุติลง แต่เราจะยังคงเฝ้าระวังภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นต่อผืนป่าตะวันตกอย่างต่อเนื่อง โดยหวังจะรักษาป่าผืนใหญ่ผืนสุดท้ายของคนไทยไว้ให้คงอยู่ต่อไป

 

7. คัดค้านเขื่อนแม่วงก์

อุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็น 1 ใน 17 พื้นที่อนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่มีเนื้อที่ติดต่อกันแห่งสุดท้ายของประเทศไทย เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญที่จะไหลรวมไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีป่าสักขนาดใหญ่ที่มีความหนาแน่น และยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าสำคัญหลายชนิด เช่น เสือโคร่ง ช้างป่า และสมเสร็จเป็นต้น

โครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน เป็นเขื่อนขนาดใหญ่มีความจุประมาณ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะสร้างขึ้นบริเวณเขาสบกก ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ. นครสวรรค์ และจะมีน้ำเอ่อท่วมป่าในบริเวณป่าแม่เรวา เขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 13,000 ไร่ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีป่าสักที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด นอกจากนี้อ่างเก็บน้ำจะเป็นตัวกีดขวางเส้นทางเดินของสัตว์ป่า ที่อาศัยหากินไปมาระหว่างป่าห้วยขาแข้ง และป่าแม่วงก์ รวมไปถึงการทำลายพื้นที่เก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญของประเทศอีกด้วย

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรในฐานะองค์กรพัฒนาเองชนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์มาโดยตลอด เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ของไทยไว้ให้คงอยู่สืบไป ดูรายละเอียดเพิ่มเติมการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์

 

8. คัดค้านกฎหมายให้เช่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

แนวความคิดการแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เมื่อปี พ.ศ.2528 เป็นต้นมาที่จะพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องตามนโยบายพิเศษของรัฐบาลในสมัยนั้น โดยเนื้อหาของกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่เอื้อต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า

ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ที่ร่างขึ้นใหม่แสดงเจตนาให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อผลทางธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบโดยมีเป้าที่ “เปิดป่า ค้าสัตว์” นำผืนป่าและทรัพยากรสัตว์ป่า ที่ได้รักษาไว้เพื่อประโยชน์ในการรักษาสมดุลธรรมชาติ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพของชาติ มาแปลงเป็นทุนให้เอกชนเช่าพื้นที่ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว เปิดช่องทางในการค้าสัตว์ป่าผ่านธุรกิจสวนสัตว์สาธารณะ และส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งธุรกิจค้าสัตว์ป่าที่ถูกกฎหมาย

ดังนั้น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชลอการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับต่อคณะรัฐมนตรี เพราะกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่นี้จะเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยไม่คุ้มค่า พร้อมทั้งขอคัดค้าน และร่วมเป็นองค์กรอนุรักษ์หนึ่งที่จะเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวการแก้ไขพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเรื่องนี้ยังถูกชลออยู่

 

9. ดำเนินโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน 129 ชุมชน ทั่วทั้งผืนป่าตะวันตก

ตั้งแต่พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ดำเนินกิจกรรม “โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม” (Joint management of Protected Areas-JoMPA (จอมป่า)) กับชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่คุ้มครอง 17 พื้นที่ ซึ่งต่อเนื่องกันเป็นผืนป่าตะวันตกครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ตั้งแต่ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และ กาญจนบุรี รวม 129 ชุมชนทั่วทั้งผืนป่าตะวันตก

โครงการจอมป่า เป็นแนวทางใหม่ในการอนุรักษ์ป่าควบคู่ไปกับการรักษาความเป็นชุมชน โดยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการประกาศเขตอนุรักษ์ทับพื้นที่ชุมชน ความขัดแย้งประเด็นการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง และความขัดแย้งในเรื่องการขยายพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนบนพื้นที่ต้นน้ำที่ส่งผลกระทบทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจาก เจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบ้าน และมูลนิธิฯ ซึ่งรับบทบาทเป็นคนกลางในการประสานความร่วมมือ สร้างกระบวนการร่วมกัน สำรวจพื้นที่ใช้ประโยชน์โดยชุมชน ผลักดันให้เกิดการยอมรับต่อกัน และพัฒนาไปสู่ข้อตกลงที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขและรักษาระบบนิเวศ คุณค่าดั้งเดิมของพื้นที่ไว้ให้ได้ด้วย โดยหลักการที่ว่า “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ เสืออยู่ได้”

 

10.จัดตั้งป่าชุมชนรอบผืนป่าตะวันตก และสร้างเครือข่ายภูมินิเวศ ร่วมอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก

ปี พ.ศ. 2549 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก จังหวัดอุทัยธานี (กอต.อน.) ดำเนินกิจกรรมกับชุมชนบริเวณขอบป่ากันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในอำเภอลานสัก อำเภอห้วยคต และอำเภอบ้านไร่บางส่วน ในชื่อ “โครงการป่าชุมชน 30 ป่ารักษาทุกโรค” เป้าหมายเพื่อหนุนเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนในการจัดตั้ง มีส่วนร่วมดูแลรักษาและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่าชุมชน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ร่วมกับมูลนิธิคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก (มอต.) ดำเนินโครงการจัดตั้งป่าชุมชนจังหวัดนครสวรรค์และกำแพงเพชร เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมป่าชุมชนของชุมชนบริเวณอำเภอแม่เปิน อำเภอแม่วงก์ และอำเภอชุมตาบง จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอโสสัมพีนครจังหวัดกำแพงเพชร รวม 39 ชุมชนโดยทั้ง 2 โครงการได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

และในปี พ.ศ. 2551 มูลนิธิสืบฯ ได้ขยายการทำงานป่าชุมชนให้ครอบคลุมพื้นที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อีก 34 ชุมชน และชุมชนรอบอุทยานแห่งชาติพุเตย อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และชุมชนในตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี รวม 29 ชุมชน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลประเทศเดนมาร์ก (DANIDA) พร้อมทั้งมีการประสานการทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ ในการหนุนเสริมการทำงานของคณะกรรมการในการจัดตั้งป่าชุมชน

รูปธรรมที่เกิดขึ้นจากการทำงานป่าชุมชนบริเวณแนวเขตกันชนรอบผืนป่าตะวันตก ทำให้ชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 135 ชุมชนมีการจัดตั้งป่าชุมชน สร้างกติกาป่าชุมชน และจัดให้มีคณะกรรมการชุมชนป่าชุมชนเข้ามารับผิดชอบดูแล

การทำงานเครือข่ายป่าชุมชน 135 ชุมชนรอบผืนป่าตะวันตก และการทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ในผืนป่าภายใต้โครงการจอมป่า 129 ชุมชนที่เริ่มทำงานมาก่อน ไม่มีการเชื่อมร้อยกัน ซึ่งชุมชนส่วนใหญ่ทั้งในและนอกป่าเป็นกลุ่มญาติพี่น้องกัน วิถีวัฒนธรรมเหมือนกัน มีระบบนิเวศของพื้นที่เชื่อมต่อกัน และแม้แต่ลักษณะปัญหาของชุมชนในแต่ละกลุ่มก็คล้ายคลึงกัน

“เครือข่ายภูมินิเวศป่าตะวันตก” จึงเป็นคำตอบ ด้วยการสร้างร้อยเครือข่ายเกี่ยวโยงชุมชนทั้งหมดด้วยกระบวนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการรักษาผืนป่าอย่างยั่งยืน เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อดูแลทรัพยากรระหว่างชาวบ้าน จากชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าอนุรักษ์ และชาวบ้านจากชุมชนที่อาศัยรอบผืนป่า (กันชน) เป็นการรวมเอาทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนในป่าอนุรักษ์ คนในป่ากันชน ที่ทำงานเพื่อรักษาป่า ขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 264 ชุมชน

 


หมายเหตุ 10 ที่สุดของผลงาน ในรอบ 20 ปี ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดทำขึ้นในวาระ รำลึก 20 ปี สืบ นาคะเสถียร