เดือนมกราคม พ.ศ. 2545 คณะเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ลงไปดำเนินการสำรวจพื้นที่เกาะพระทองซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เนื่องจากได้รับรายงานการพบนกตะกรุม สัตว์ป่าหายากที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ของประเทศในพื้นที่แห่งนี้
จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าพื้นที่เกาะพระทองและเกาะทุ่งทุมีลักษณะภูมิประเทศเป็นสันดอนทรายปากแม่น้ำประกอบด้วยสังคมพืชป่าชายเลน (Mangrove Forest) ป่าพรุ (Swamp Forest) ป่าชายหาด (Beach Forest) และป่าชายหาดที่มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าผสมป่าเสม็ดเนื้อที่กว้างใหญ่ ในส่วนของเกาะระมีลักษณะเป็นภูเขาสูงชันปกคลุมด้วยสังคมพืชป่าดิบชื้น (Evergreen Forest)
นอกจากนั้นยังพบว่านอกเหนือจากสัตว์ป่าหายากอย่างนกตะกรุมแล้ว ยังพบสัตว์ป่าอีกหลายชนิดดำรงชีวิตพึ่งพิงระบบนิเวศบนหมู่เกาะแห่งนี้ เช่น กวาง หมูป่า นกแก็ก นิ่ม เต่ากระ เต่ามะเฟือง เต่าหญ้า และเหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา เป็นต้น
ในส่วนของชุมชนประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านทุ่งดาบ บ้านท่าแป๊ะโย้ย บ้าเกาะระ และบ้านปากจา มีประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งเป็นหลัก อีกทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม การประกอบอาชีพของชุมชนยังมีความผูกพันเชื่อมโยงกับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ นอกจากนั้นยังพบว่าชุมชนได้พยายามอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ให้ดำรงอยู่ ด้วยความตระหนักว่าความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติสุดท้ายย่อมต้องส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กิจกรรมที่ชุมชนดำเนินการ อาทิ การอนุรักษ์กวางป่า การอนุรักษ์เต่าทะเล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน การพัฒนาตามแนวคิดกระแสหลักขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมท่อเที่ยวและการพัฒนาสาธารณูประโภคเพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน นอกจากนั้นยังพบปัจจัยคุกคามอื่นๆ อาทิ การล่าสัตว์ป่า การลับลอบเก็บกล้วยไม้ ปัญหาเนื่องจากการทำงานของหน่วยงานและองค์กรในพื้นที่ ปัญหาการเตรียมจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเกาะระ – เกาะพระทอง ปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความอยู่รอดของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงวิถีวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เกาะระ – เกาะพระทองทั้งสิ้น
ด้วยความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าว มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงได้จัดทำโครงการอนุรักษ์ระบบนิเวศพื้นที่เกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา โดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในระยะที่ 1 (ปี พ.ศ. 2546) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานทั้งด้านกายภาพและชีวภาพ ตลอดจนสภาพของสังคม ชุมชน ในพื้นที่ของเกาะระและเกาะพระทอง เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการอนุรักษ์และบริหารจัดการพื้นที่และทรัพยากรท้องถิ่น รวมไปถึงการให้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ของชุมชนเพื่อเป็นการเรียนรู้การทำงานร่วมกัน ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องข้อมูลพื้นที่สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนดำเนินการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม อันเป็นประโยชน์แก่ชุมชนในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เกาะระ เกาะพระทองอย่างยั่งยืน
หนังสือสรุป การศึกษาวิจัยพื้นที่เกาะระ-เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา
จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร