ธงรบ ย่างสุข ผู้พิทักษ์กวางผา แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว

ธงรบ ย่างสุข ผู้พิทักษ์กวางผา แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว

ดอยหลวงเชียงดาว ยอดเขาที่มีความสูงที่สุดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว สถานที่หนึ่งที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นแหล่งพืชหายากอันดับ 1 ของประเทศ เป็นต้นกำเนิดของสายน้ำแม่ปิง เป็นสถานที่ที่รวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืช และสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของ ‘กวางผา’ หนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทย

หลายคนรู้จักดอยหลวงเชียงดาว ด้วยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม และเป็นยอดเขาที่สูงเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ กับเส้นทางที่ไต่ระดับความสูงขึ้นไปจนถึงยอด จบด้วยวิวรอบตัวแบบอลังการ สมดังคำเปรียบ ดอยหลวงเชียงดาว ‘สวรรค์บนดิน’ นั้นคงไม่ไกลเกินจริง นั่นจึงเป็นเป้าหมายในใจของนักผจญภัยหลาย ๆ คน ในการเดินทางเข้ามาสัมผัสดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้

สำหรับผู้ที่เคยมาดอยหลวงเชียงดาว จะต้องเริ่มต้นออกเดินทางจากหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก หรือที่หลายคนมักเรียกกันว่า (หน่วยฯ เด่นหญ้าขัด) ซึ่งเป็นหน่วยพิทักษ์ป่า 1 ใน 8 ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว

เจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำหน่วยแห่งนี้มี 7 คน มีหน้าที่หลักในการเฝ้าระวัง รักษาผืนป่า และสัตว์ป่า โดยรอบบริเวณดอยหลวงเชียงดาว มีการออกลาดตระเวนอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทุกเส้นทาง

สำหรับครั้งนี้มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะพาไปรู้จักกับหนึ่งในเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่อายุน้อยที่สุดแห่งหน่วยฯเด่นหญ้าขัด ด่อน – ธงรบ ย่างสุข เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว

จากเด็กช่างสู่งานพิทักษ์ป่า

ด่อน ธงรบ ย่างสุข อายุ 23 ปี ปัจจุบันประจำอยู่ที่หน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่นหญ้าขัด) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เป็นคนเมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ด่อนได้เข้าทำงานเป็นช่างไฟฟ้า เมื่อมีทักษะและฝีมือดีขึ้นก็เริ่มรับงานเองเรื่อยมา จนถึงจุดหนึ่งชีวิตก็เริ่มพลิกผัน ด่อนกลับมาอยู่บ้านเฉย ๆ อยู่พักหนึ่ง จนกระทั่ง อาของเขาได้ชักชวนให้เข้ามาสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว

ด้วยความที่ได้รับรู้เรื่องราวของผืนป่าแห่งนี้มาตั้งแต่เด็ก จากคำบอกเล่าของปู่และพ่อ ซึ่งเคยเป็นไกด์นำเที่ยวและพานักวิจัยขึ้นไปยังดอยหลวงเชียงดาวอยู่หลายครั้ง ทำให้ด่อนซึมซับเรื่องราวของสถานที่แห่งนี้มาตลอด และเมื่อโอกาสมาถึง ด่อนจึงตัดสินใจเข้ามาทำงานพิทักษ์ป่า ตามคำชวนของอา

เมื่อถามถึงความประทับใจของการทำงานนี้ ด่อนถึงกับไม่รู้จะเริ่มเล่าตั้งแต่ตรงไหน เพราะตั้งแต่มาทำงานที่นี่ได้มีโอกาสทำอะไรหลายอย่าง และมันเป็นเรื่องใหม่ที่มาพร้อมกับความสนุก

“ มีอยู่ครั้งหนึ่งไปเดินลาดตระเวนขึ้นเส้นทางดอยหลวงเชียงดาว ระหว่างที่เดินอยู่มองไปยังก้อนหินตรงหน้า ระยะทางไม่ไกลมาก มองผ่าน ๆ เห็นมีตัวอะไรยืนอยู่บนก้อนหินนั้น ตอนแรกนึกว่ากวางผา แต่สักพักตัวนั้นมันยืนขึ้นสองขาเหมือนอย่างคน จึงเห็นชัดว่า มันคือ หมีควาย ตอนนั้นตกใจมาก รีบวิ่งตามพี่ในชุดลาดตระเวนแทบไม่ทัน หรือบางครั้งไปเจอรอยนอนของเสือดาว เจอขนมันด้วย ก็เก็บข้อมูลไว้ จริง ๆ อยู่ที่นี่ได้เจอสัตว์เยอะอยู่นะ แต่ไม่มีรูปไว้เป็นหลักฐาน เพราะมักเจอแบบกะทันหัน ”

ด่อน เล่าให้ฟังด้วยสำเนียงละอ่อนเมืองเหนือ ซึ่งคำเมืองที่เปล่งออกมาได้ช่วยเพิ่มสีสัน และอรรถรสของเรื่องเล่าได้เป็นอย่างดี

ภารกิจผู้พิทักษ์ป่า

หากพูดถึงงานหลังของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า แน่นอนว่า หัวใจหลักยังคงเป็นงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ Smart Patrol รองลงมาก็คืองานดูแลหน่วยพิทักษ์ป่า งานทำแนวกันไฟ และงานประชาสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบ แต่ด้วยหน่วยฯ เด่นหญ้าขัด เป็นต้นทางของการเดินป่าศึกษาธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว เจ้าหน้าที่ของหน่วยนี้จึงมีอีกหนึ่งภารกิจ คือ การดูแลอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว

เกือบทุกปีนักท่องเที่ยวที่มาเดินป่าศึกษาธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว มักมีคนที่บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยระหว่างการเดินป่า บางรายไม่สามารถเดินต่อไปยังจุดหมายปลายทางได้ ชุดเจ้าหน้าที่ที่พบเห็นก็จะแจ้งมายัง หน่วยฯ เด่นหญ้าขัด ให้ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไปรับตัวลงมา บางครั้งเจ้าหน้าที่ 4 – 5 คน ต้องสลับกันพานักท่องเที่ยวขี่หลังลงมา

บทบาทการทำงานพิทักษ์ป่าช่วงที่ผ่านมา ด่อนได้พบเจออะไรมากมาย บางอย่างเหนือความคาดหมาย และหนักหน่วงเกินกว่าหัวใจของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งจะรับไหว

“ตอนที่เข้ามาทำงานแรก ๆ คิดว่าจะทำงานไม่ไหวแล้วเหมือนกัน เคยคุยกับพี่ในหน่วยฯ พี่ก็บอกให้ลองทำดูก่อน ทำนานเข้าก็จะชิน และปรับตัวได้เอง”

มาถึงตอนนี้ผู้เขียนได้รู้จักกับด่อนมาแล้วปีกว่า ๆ ด้วยการเริ่มโครงการฟื้นฟูประชากรกวางผา ร่วมกับทางสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ทุกครั้งที่เข้าพื้นที่ทำงาน ทางเขตฯ จะส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมงานด้วย  ด่อนคือหนึ่งในกำลังหลักที่เข้ามาช่วยงานทุกครั้งที่มีโอกาส

ด้วยความที่มีความสนใจด้านสัตว์ป่าอยู่ก่อนแล้ว ด่อนจึงเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและทำงานได้ว่องไว  ล่าสุดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2564) ทีมวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ทำการติดตามปลอกคอสัญญาณดาวเทียม ที่แบตเตอรี่ครบกำหนดการใช้งาน และดีดออกจากคอกวางผา โดยพวกเราใช้อุปกรณ์ติดตามจากสัญญาณวิทยุ และกำหนดพิกัดคร่าว ๆ ในส่วนการค้นหาในบริเวณใกล้เคียงกับพิกัดจริง ต้องอาศัยกำลังคนเดินเท้าในลักษณะปูพรมค้นหา ซึ่งด่อนก็เป็นหนึ่งในคณะค้นหาด้วย

งานวิชาการควบคู่ไปกับงานดูแลรักษาพื้นที่

ไม่เพียงแต่งานด้านสัตว์ป่าเท่านั้นที่ด่อนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้มีอีกหนึ่งงานในพื้นที่บริเวณสามแยกเด่นหญ้าขัด-ปางวัว ที่อยู่ไกลออกไปจากหน่วยพิทักษ์ป่า เกือบ 5 กิโลเมตร

งานที่ว่านี้คือการสร้างจุดสกัดชั่วคราวสำหรับเป็นทั้งที่ทำการ และที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่ งานนี้ต้องใช้กำลังคนเยอะพอดู เพราะเป็นงานประกอบโครงเหล็ก เอเฟรม แล้วยกขึ้นตั้งบนฐานในพื้นที่อันจำกัด และอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ก็จำกัดด้วย เนื่องจากจุดที่ทำการสร้างนั้นอยู่ห่างไกล และหนทางก็ไม่ได้สะดวกสบายมากนัก การนำอุปกรณ์แต่ละอย่างเข้ามาจึงจำเป็นต้องใช้กำลังคนในการขนถ่ายมาเท่านั้น

งานเชื่อมเหล็กเป็นอีกหนึ่งงานที่เราแทบไปกันไม่เป็น เพราะชุดที่ขึ้นมามีคนเชื่อมเหล็กเป็นเพียงคนเดียว พวกเรามารู้กันที่หลังว่าด่อนเชื่อมเหล็กได้ ตอนนั้นทีมงานทุกคนดีใจมาก และขอให้ด่อนไปช่วยงานสร้างจุดสกัด สองสามวันที่ด่อนมาทำงานจุดสกัด งานเดินหน้าไปไวมาก นอกจากงานเชื่อมแล้ว งานส่วนอื่น ๆ ด่อนก็ทำได้อย่างคล่องแคล่ว และยังช่วยคิดวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหน้างานได้ด้วย

ทุกวันหลังจากเลิกงาน ด่อน และทีมงานจะรับบทพ่อครัว โชว์ผีมือทำอาหาร สำหรับ 15 ชีวิต ที่อาศัยรวมกันอยู่ในหน่วยฯ

“ตอนแรกที่พี่จันทร์คำ (หัวหน้าหน่วยฯ) ให้ทำอาหารให้ทีมงานด้วย ก็ยังกังวลอยู่ว่า พี่ ๆ จะกินกันได้ไหม เพราะปกติก็จะทำกินกันง่าย ๆ ” ด่อน บอกด้วยท่าทางไม่ค่อยมั่นใจ

แต่ถึงอย่างนั้นไม่ว่าจะมื้อไหน ๆ พวกเราทั้ง 15 ชีวิตก็อิ่มท้องกันทุกมื้อ แถมบางวันก็ได้ฟังเพลงเพื่อชีวิต พร้อมเสียงบรรเลงกีต้าร์จากด่อน ในบรรยากาศรอบกองไฟท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บบนดอยสูง

เรื่องราวของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่นหญ้าขัด) ยังมีอีกหลากหลายมุมที่น่าสนใจ ด้วยความที่เป็นหน่วยพิทักษ์ป่าที่อยู่ห่างไกลกว่าหน่วยพิทักษ์ป่าอื่น ๆ และเจ้าหน้าที่ที่นี่ 5 ใน 7 คน เป็นคนปกาญอ ทุกคนที่มาอยู่ที่นี่จึงมีสตอรี่ และที่มาที่ไปที่น่าสนใจไม่ต่างจากด่อน

และทุกคนคือ ‘แนวหน้า’ ในการรักษาผืนป่าเชียงดาว และเป็นกำลังสำคัญในการเป็นผู้ปกป้องเหล่ากวางผา อันเสมือนเป็นตัวแทนผู้พิทักษ์ชีวิตและลมหายใจของดอยหลวงเชียงดาวแทนพวกเราทุกคน


ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code

ผู้เขียน

+ posts

ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส