“ถ้าสถานการณ์ทางบ้านผมดีขึ้น ผมจะกลับมาทำงานที่นี่อีกครั้ง”
.
คำอธิษฐานของต๊อก ที่เป็นเสมือน สัญญาใจ ณ หน้ารูปปั้น สืบ นาคะเสถียร
พบปะพิทักษ์ป่าเดือนเมษายนนี้ พาผู้อ่านมานั่งกลางผืนป่าห้วยขาเเข้ง ณ หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เพื่อทำความรู้จักกับ ต๊อก ทวีป ธรรมสัตย์ พนักงานจ้างเหมาบุคคลภายนอกช่วยพนักงานราชการ ปฏิบัติงานประจำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
จากหนุ่มชาวไร่ สู่เส้นทางผู้พิทักษ์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผืนป่าอันเป็นมรดกโลก ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดเเห่งหนึ่งของประเทศไทย ทั้งยังเป็นพื้นที่ต้นเเบบงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพเเละการทำงานที่เข้มข้น โดยที่ผ่านมาพบว่า ทีมลาดตระเวนของห้วยขาเเข้ง มีการเดินลาดตระเวนเฉลี่ยถึงปีละร่วมสองหมื่นกิโลเมตร
.
.
ใจกลางผืนป่าห้วยขาเเข้ง ณ หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า…
ต๊อกเล่าให้เราฟังว่าเข้ามาทำงานที่ห้วยขาแข้งประมาณปี พ.ศ. 2552 ตอนนั้นประจำอยู่ที่หน่วยพิทักษ์ป่ากะปุกกะเปียง ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทำงานอยู่ได้สองปี ก่อนลาออกไปช่วยที่บ้านทำงาน
ในช่วงที่ช่วยทางบ้านทำงาน ต๊อก ได้มีโอกาสร่วมงานกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเเละหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ 1 (นว.1) ในการสำรวจแนวเขตที่ดินทำกินเเละจัดทำข้อมูลชุมชนรอบผืนป่า เเละงานอาสาอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
เมื่อครั้งได้มีโอกาสกลับเข้ามาเยี่ยมเยือนผืนป่าใหญ่ ซึ่งเคยเป็นที่ทำงานเก่า ต๊อกได้ไปยืนหน้ารูปปั้น สืบ นาคะเสถียร พร้อมอธิษฐาน “ถ้าสถานการณ์ทางบ้านผมดีขึ้น ผมจะกลับมาทำงานที่นี่อีกครั้ง”
จวบจนเวลาล่วงเลยผ่านไปหลายปี เมื่อสถานการณ์ทางบ้านดีขึ้น ประจวบกับโอกาสเหมาะทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้งประกาศรับสมัครเจ้าหน้าที่ ต๊อก จึงไม่ลังเลที่จะคว้าโอกาสนี้ไว้อีกครั้ง
การเข้ามาเริ่มงานในรอบนี้ ต๊อกประจำอยู่ที่นำนักงานเขตฯ เป็นเวลา 5 เดือน ก่อนจะย้ายไปอยู่จุดสกัดคลองขุนชาติ อีกราวๆ หนึ่งปี จนกระทั้งปัจจุบันได้มาประจำอยู่ที่หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า
ด้วยความที่ต๊อกเป็นคนรุ่นใหม่ มีความสนใจในเทคโนโลยี ทำให้สามารถใช้ วิทยุสื่อสาร GPS แผนที่ เข็มทิศ ฯลฯ ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนสามารถกรอกข้อมูลการลาดตระเวนลงในระบบ SMART Patrol ได้ จึงเคยถูกเทียบเชิญจากฝ่ายวิชาการเขตฯ ให้ไปอยู่เป็นเจ้าหน้าที่คอยลงข้อมูลประจำห้องสมาร์ท แต่เจ้าตัวปฏิเสธด้วยเหตุผลผลว่า ชอบงานลาดตระเวนมากกว่า
.
.
จากรุ่น… สู่รุ่น
“หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เป็นหน่วยฯที่มีความคึกครื้นอยู่ตลอด เพราะเจ้าหน้าที่ที่นี่ส่วนมากเป็นวัยรุ่น เวลาเข้าป่าลาดตระเวนกันเเต่ละครั้งก็ตื่นตัว ทำงานอย่างสนุกสนานกันตลอด อีกอย่างพวกผมสามคนนี่ก็เป็นญาติๆ กัน โตมาด้วยด้วยกันเลย”
ต๊อกเล่าให้ฟัง ก่อนจะชี้ไปที่บอมเเละเบียร์ สองคู่หู่ที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันในครั้งนี้
เมื่อได้พูดคุยกันสักพักเราจึงรู้ว่า เพื่อนใหม่เราในครั้งนี้แท้จริงเเล้วเป็นลูกหลานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุจากช้างป่า เมื่อปี พ.ศ. 2542
“สมคิด นั่น พี่ชายผมเอง พวกนี้ก็ลูกหลานทั้งนั้น ไม่รู้ยังไงตามๆ กันมาทำงานที่นี่กันหมด” ลุงถวิล พ่อของบอม เสริมขึ้น
ผู้เขียนจำชื่อนี้ได้ เพราะเป็นรายชื่อเเรกๆ ที่ปรากฏในรายงานการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บเเละเสียชีวิต ตามการให้การช่วยเหลือตามกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และทางมูลนิธิเองก็ยังคงให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุตรพิทักษ์ป่า รายนี้อยู่ ซึ่งน้องที่ได้รับทุนยังคงส่งผลการเรียนกลับมาให้มูลนิธิฯ อย่างสม่ำเสมอเเละตรงเวลา (ทางมูลนิธิฯ ไม่ได้กำหนดผลการเรียน เพียงแต่ให้เด็กที่ได้รับทุนฯ ส่งผลการเรียนกลับมาเพื่อยืนยันว่ายังคงศึกษาอยู่จริง)
ส่วนน้องเบียร์ น้องใหม่แห่งหน่วยฯ ซับฟ้าผ่า เพิ่งมาเริ่มงานได้ยังไม่ครบเดือน แต่เมื่อถามถึงการเดินลาดตระเวน ปรากฎว่าน้องได้ร่วมการลาดตระเวนกับพี่ๆ ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว
“ก่อนหน้านี้พี่ๆ ก็สอนอะไรให้หลายอย่าง อย่าง GPS ตอนนี้ก็เริ่มใช้เป็นแล้วครับ”
น้องเบียร์เล่าให้ฟังก่อนที่จะเริ่มเรียนรู้การกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มการลาดตระเวน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่น้องใหม่ประจำทีมลาดตระเวนจะต้องเรียนรู้เพื่อการใช้งานได้อย่างถูกต้องต่อไป ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาเข้าระบบ เเละจะมีการประชุมรายงานผลการลาดตระเวนประจำเดือนต่อไป โดยหัวหน้าชุดเเต่ละชุด หรือตัวเเทน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา ซึ่งข้อมูลจะปรากฏเส้นทางเดิน การตั้งเเคมป์ของเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยรูปแบบการกระทำผิดที่พบในตำเเหน่งต่างๆ (ถ้ามี) เช่น ร่องรอยพราน ร่องรอยสัตว์ป่าขนาดใหญ่ ฯลฯ
.
.
เส้นทางตระเวนไพร
หนุ่มชาวไร่ จากอำเภอเเม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ สู่หนทางคนตระเวนไพร ดูๆ ไปแล้ว ก็ออกจะแหวกแนวไปสักหน่อย แต่เมื่อถามถึงที่มาที่ไป เราก็ได้คำตอบ นั่นคือ ด้วยความที่มีญาตทำงานพิทักษ์ป่าอยู่ก่อนเเล้ว เเละตั้งเเต่เด็กๆ ต๊อก ก็จะได้ฟังเรื่องเล่าต่างๆ จากราวไพรมากมาย จนเกิดเป็นความอยากรู้อยากเห็น จนได้ลองเข้ามาสัมผัส และ กลายเป็นความชอบในที่สุด
ต๊อกมีความรู้ในด้านการสังเกตร่องรอยสัตว์ป่าค่อนข้างดี เมื่อพบเห็นร่องรอยตามทางด่านที่เราเดินผ่านเขาจะชี้ให้ดูร่องรอยเหล่านั้น “ตอนเเรกผมก็เเยกไม่ค่อยเป็นหรอก เเต่พอได้มีโอกาสร่วมทีมกับเพื่อนๆ นักวิจัย จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เพื่อนก็สอนให้สังเกตุดูร่องรอยสัตว์ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรอยเท้า รอยคุ้ย รอยเล็บบนต้นไม้ ลักษณะโพรงรังของสัตว์ชนิดต่างๆ ฝึกดูไปเรื่อยๆ ก็จำได้เอง อันไหนไม่เเน่ใจก็ถ่ายรูปไว้ เเล้วค่อยไปถามเค้าอีกที”
ตามโป่งต่างๆ ที่เราผ่านมา ปรากฎร่องรอยการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด จากการสำรวจจำนวนโป่งในพื้นที่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่าปรากฏว่ามีโป่งธรรมชาติ ทั้งที่เป็นโป่งน้ำซับ เเละโป่งดิน มากถึงร้อยกว่าโป่ง แน่นอนว่ายามแล้งเช่นนี้ สถานที่เหล่านี้จะเป็นชุมทางของเหล่าสัตว์ป่าที่เเวะเวียนมาจากทั่วทุกสารทิศ
“ปกติเดือนเมษายนอย่างนี้ น้ำในลำห้วยที่เห็นนี่เเทบจะไม่เหลือเเล้วนะครับ เเต่ปีนี้ฝนตกเยอะ ห้วยสายต่างๆ จึงยังพอมีน้ำ อีกอย่างปีนี้น้ำเเรง ทำให้ลำห้วยบางสายเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน บางครั้งเดินลาดตระเวนผ่านมาอีกทียังงงเลย นึกว่าเดินผิดทาง เเต่ที่ไหนได้สภาพโดยรอบมันเปลี่ยนไป”
“เเต่ก็ดีเหมือนกันนะ ลาดตระเวนจะได้มีน้ำกิน ไม่ต้องเเบกน้ำเดินไกลๆ”
“ก็ดีเเหละครับ ไม่งั้นจะตั้งเเคมป์กันเเต่ละที ต้องเดินหาน้ำกันเเทบหมดเเรง อย่างน้ำนี่ ไม่รู้เมื่อก่อนกินกันไปได้ยังไง มีอะไรอยู่บ้างก็ไม่รู้ที่เรามองไม่เห็น เดี๋ยวนี้ถ้าไม่กรองก่อนก็ไม่ค่อยกล้ากินเหมือนกัน”
หลายปีมานี้เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนจะพกเครื่องกรองน้ำเเบบพกพาไปด้วยทุกครั้งเมื่อเข้าป่า เนื่องจากการเดินลาดตระเวนเเต่ละครั้งต้องใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน การที่จะเเบกน้ำไปด้วยให้เพียงพอต่อการดื่มกินนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะสิ่งที่บรรจุอยู่ในเป้สนามของเจ้าหน้าที่เเต่ละคนเมื่ออกตระเวนไพรนั้น ถ้าไม่รวมน้ำดื่ม เเต่ละคนก็แบกกันร่วมยี่สิบกิโลกรัมอยู่เเล้ว การมีสิ่งอำนวนความสะดวกเล็กๆ น้อยๆ อย่างเครื่องกรองน้ำเเบบพกพานี้นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อย่างน้อย 1 ชิ้น ต่อ 1 ชุดการลาดตระเวนก็ยังดี…
.
.
ตลอดช่วงที่ผ่านมาทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้งส่งต๊อกไปเข้าร่วมการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดทักษะความเคยชินเเละเสริมความเป็นมืออาชีพในการปฏิบัติงาน
ถึงวันนี้ต๊อกสามารถนำความรู้ที่ได้จากการฝึกฝนพร้อมปฏิบัติจริงจนชำนาญถ่ายทอดสู่พี่น้องในหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้งได้อีกด้วย
จากข้อมูลที่ผ่านมาได้มีการระบุถึงจำนวนวันในการออกลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ (โดยการประมาณ) โดยผู้พิทักษ์ป่าที่ปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวน ในส่วนของอุทยานแห่งชาติ ใช้ระยะเวลาในการลาดตระเวนประมาณ 14 วัน ต่อเดือน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ออกเดินลาดตระเวน 20 วัน ต่อเดือน
จำนวนวันในข้างต้น เป็นตัวเลขที่บอกอะไรหลายๆอย่าง ทั้งจำนวนวันที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในป่า จำนวนวันที่ต้องห่างไกลจากครอบครัว ญาตมิตร หรือคนรัก
เเต่เหนือสิ่งอื่นใด จำนวนเหล่านี้ก็บอกถึงความทุ่มเท เเละความรักที่มีต่อผืนป่าเเละสัตว์ป่าได้เช่นกัน
.
.
ผู้เขียน
ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส