กลางเดือนกรกฏาคม เราได้มีโอกาสพบกับพี่สมชาย ในภารกิจลาดตระเวน หรือ Smart Patrol ครั้งนี้เป็นแผนการเดินเก็บช่องว่างเส้นทางที่ยังไม่ค่อยได้เดินลาดตระเวน ในเส้นทาง เขาบันได-เขานางรำ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้พื้นที่ของเสือโคร่งและสำรวจภัยคุกคามต่อผืนป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
เมื่อดูแผนที่และฟังแผนการเดินเก็บข้อมูลของเจ้าหน้าที่ชุดนี้ พอสรุปได้ว่า การเดินลาดตระเวนรอบนี้จะใช้เวลาประมาณ 8 วัน เมื่อดูจากแผนที่ตารางกริด จากจุดเริ่มต้น ไปถึงจุดหมายปลายทางนับได้ 24 ช่อง คิดเป็นระยะทาง ช่องละ 1 กิโลเมตร นั่นหมายถึง ระยะทางรวม 24 กิโลเมตร หากนับตามจำนวนช่อง แต่สำหรับระยะทางที่ต้องเดินจริงๆนั้น คือ เกือบร้อยกิโลเมตร เพราะในแต่ละช่องตารางกริด เราอาจต้องเดินวกไปวนมาเพื่อหลบเลี่ยงหน้าผา ตัดลำห้วย ขึ้น-ลงเขา หรือหลบหลีกสิ่งกีดขวางต่าง ๆ
หลังจากจัดเตรียมเสบียง เสื้อผ้า เครื่องนอน และอุปกรณ์จำเป็นลงกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว การเดินทางจึงเริ่มต้นขึ้น…
ณ ใจกลางผืนป่าห้วยขาแข้ง ริมลำห้วยทุรัง ลำห้วยสายหนึ่งในแคมป์พักคืนแรกของการเดินลาดตระเวน บทสนทนาเริ่มขึ้นหลังจากการทดลองดริปกาแฟของพี่สมชาย
ตอนนี้ทำหน้าที่อะไร
ปัจจุบันเป็นหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได มารับหน้าที่นี้ได้ 8 ปี แล้ว หน้าที่หลักคืองานลาดตระเวน อย่างน้อย 15 วัน ต่อเดือน ส่วนงานทั่วไปก็มีพัฒนาหน่วย ซ่อมแซมเส้นทาง และทำกิจกรรมกับเยาวชนที่มาเข้าค่ายเพื่อศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็จะมีเล่าเรื่องของสัตว์ป่าที่สามารถพบเห็นได้ในพื้นที่บริเวณนี้ เวลาเด็กมาค่ายก็เตรียมรูปภาพที่ถ่ายไว้ให้เด็กดู พาเด็ก ๆ เดินสำรวจริมลำห้วย ดูรอยเท้าสัตว์ป่า สอนเด็กสังเกตและแยกรอยเท้าสัตว์ป่า วาดรูประบายสี
มาทำงานพิทักษ์ปาได้อย่างไร
แต่เดิมเรียนอยู่ที่โรงเรียนเขาหินแดง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อยู่กับป่ามาตั้งแต่เด็ก ๆ เห็นเจ้าหน้าที่ทำงานกัน เพื่อนในโรงเรียนก็เป็นลูกหลานของเจ้าหน้าที่ในเขตฯ เราก็เลยอยากเข้ามาทำงานตรงนี้บ้าง เข้ามาทำงานตั้งแต่อายุ 18 ถึงตอนนี้ก็เกือบ 30 ปีแล้ว ทำได้ 10 ปี ก็ได้บรรจุเป็นพนักงานราชการ
เส้นทางการทำงาน
ตอนแรกเริ่มจากทำงานในสำนักงานเขตฯ แล้วก็ย้ายไปเรื่อย ๆ ตามภารกิจที่หัวหน้าให้ไปทำ เคยอยู่ที่หน่วยฯ คลองเสลา 10 ปี แม่ดี 3 ปี แล้วก็มีอยู่ที่ เขาเขียว กะปุกกะเปียง น้ำตื้น เกือบทุกหน่วยเลย นานสุดก็มีคลองเสลา กับเขาบันได เขาบันไดนี่มาอยู่ตั้งแต่ปี 2556 ตอนนี้ก็ได้ 6-7 ปีแล้ว
ถ้าไม่ได้มาทำงานพิทักษ์ป่า คิดว่าตอนนี้ตัวเองจะทำอาชีพอะไรอยู่
ก็น่าจะทำไร่ เข้าในเมืองนี่ไม่ไปอยู่แล้ว อยู่บ้านดีกว่า
เริ่มถ่ายภาพได้อย่างไร
ตอนแรกถ่ายเพราะหัวหน้าสั่งให้ไปเก็บข้อมูลสัตว์ป่าที่มาใช้ประโยชน์จากโป่งและเก็บภาพสัตว์ป่า มาใช้เป็นภาพประกอบการทำข้อมูล เสาร์-อาทิตย์ ก็เข้าไปเฝ้าโป่ง
ก็ถ่ายแต่สัตว์หลัก ๆ เช่น ช้าง เสือ กระทิง วัวแดง เพราะช่วงนั้นเป็นฟิล์มสไลด์ (ประมาณปี 2536) ถ้าถ่ายทุกอย่างนี่ไม่ไหว เพราะฟิล์มแพง จะกดชัตเตอร์แต่ละครั้งต้องมั่นใจ
หลัง ๆ มาหัวหน้าก็เริ่มสอนให้ใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพ แล้วก็เริ่มทดลองทำกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่ากันเอง เหมือนอย่างตอนนี้ที่ใช้คาเมร่าแทร็ปกันนั่นแหละ เมื่อก่อนกล้องแต่ละตัวหัวหน้าก็จะเก็บเงินซื้อ บางทีเห็นเก็บเงินเดือนหลายเดือนเลยกว่าจะได้กล้อง 1 ตัว มีครั้งหนึ่ง พอได้กล้องมาใหม่ หัวหน้าก็เอามาให้ทดลองทำกล้องดักถ่ายภาพ ยังไม่ทันได้สักภาพกล้องก็ตกลงมาพังไปซะก่อน
กล้องตัวแรก
กล้องตัวแรกหัวหน้าเสือให้มา ให้ลูกน้อง 4-5 คน ที่ถ่ายภาพเก็บข้อมูลให้ นอกจากสอนใช้กล้องแล้วก็สอนล้างฟิล์มสไลด์ด้วย ช่วงนั้นหัวหน้าใช้ห้องในหน่วยกะปุกกะเปียงทำเป็นห้องล้างฟิล์ม มีตู้กรอฟิล์ม แต่พอใช้น้ำยาก็ออกมาทำในพื้นที่โล่ง ๆ
เคยหยุดถ่ายภาพไปช่วงหนึ่ง แล้วมาถ่ายอีกทีตอนมาประจำอยู่ที่เขาบันได ตอนนั้นเริ่มใช้กล้องดิจิทัล ก็มีช่างภาพให้มาใช้งานอีกเหมือนกัน เป็นกล้องตัวเล็ก ๆ พอมาเมื่อสัก 4 ปีก่อน ก็ได้กล้อง DSLR มาจากคุณหมอวิโรจน์ มีเวลาว่างก็ออกไปเดินถ่ายรูปแถว ๆ หน่วย บางทีก็เข้าโป่ง ไปเช็กดูว่าแต่ละช่วงมีสัตว์อะไรลงมาบ้าง บางทีไปลาดตระเวนมีโอกาสก็เก็บภาพสัตว์ที่ได้เจอ คือมีโอกาสก็ถ่าย
ปัจจุบันพี่สมชายใช้เลนส์ขนาด 70-300 mm. ในการถ่ายภาพ เมื่อถามถึงชนิดสัตว์ป่าที่ถ่ายได้นั้น คำตอบที่ได้ก็เรียกได้ว่าแทบจะทุกชนิดที่มีในผืนป่าห้วยขาแข้งแห่งนี้เลยทีเดียว แต่มีสัตว์ชนิดหนึ่งที่พี่สมชายยังถ่ายภาพไม่ได้ นั่นคือ สมเสร็จ หนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทย ที่ใครต่อใครเรียกว่าสัตว์ปริศนา
ระหว่างเดินลาดตระเวนพี่สมชายเคยได้พบกับสมเสร็จหลายครั้ง ส่วนมากตามลำห้วย ก็จะเห็นเจ้าสัตว์ลายขาวดำนี่เดินท่อม ๆ อยู่ แต่พอได้เจอกันเจ้านี่ก็ตกใจวิ่งเตลิดทุกครั้งไป ทำให้ยังไม่มีโอกาสได้ถ่ายภาพสักที
เมื่อเป็นคนที่ชอบการถ่ายภาพแล้ว ไม่ว่าจะถ่ายภาพนก หรือ สัตว์ป่าก็ตาม เลนส์ขนาด 300 mm. เมื่อใช้ไปสักพัก ก็จะมีความอึดอัด อยากขยับทางยาวไปอีกสักนิด เพื่อที่จะได้รูปสัตว์ที่ใกล้เข้ามาอีกหน่อย เมื่อได้ลองถามพี่สมชายถึงความรู้สึกแบบนี้ พี่สมชายกลับตอบมาอย่างไม่ต้องเสียเวลาคิด ว่า
“ไม่ได้มีความรู้สึกว่าอยากขยับไปใช้เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสที่มากไปกว่าที่มีอยู่ เพราะคิดว่าที่มีก็เพียงพอแล้ว แค่ชอบถ่ายรูป ไม่ได้หวังว่าภาพจะต้องสวยต้องคมชัดอะไรหรอกแค่ถ่ายมาไว้ดู บางทีใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายมาให้ลูกดู มีเรื่องเล่าให้ลูกฟัง ก็ภูมิใจแล้ว อีกอย่างพี่มีโอกาสได้เจอกับสัตว์ป่าบ่อย มีโอกาสถ่ายได้เรื่อย ๆ ก็มีระยะที่สัตว์ป่ามาอยู่ใกล้ ๆ บ้าง ก็อาศัยถ่ายแบบนั้น เวลาจะใช้ก็มาเลือกเอา”
ประสบการณ์การถ่ายรูปที่ประทับใจ
ที่ประทับใจก็น่าจะเป็นครั้งล่าสุด ขากลับจากเดินลาดตระเวนแล้วไปเจอซากกระทิง ก็เข้าไปตรวจดูซาก พอลองถอยออกมานั่งเฝ้าดู ไม่ถึง 10 นาที เสือเจ้าของซากก็ออกมา ตอนแรกก็ไม่คิดว่าเสือจะลงมากินเร็วขนาดนี้ อีกอย่างก็ถอยออกมาไม่ไกลด้วย นั่งดูอยู่พักใหญ่ก็เลยถ่ายภาพมาด้วย
ตั้งแต่ทำงานมา มีประสบการณ์ครั้งไหนที่เสี่ยงอันตรายที่สุด
คำถามนี้ทำเอาพี่สมชายคิดอยู่นาน เหมือนพยายามนึกย้อนเหตุการณ์ที่ผ่านมา ก่อนที่จะตอบว่า จริง ๆ การเข้ามาทำงานตรงนี้ก็มีความเสี่ยงอยู่ตลอด จะว่าไปเข้าป่าลาดตระเวนนี่ก็เสี่ยงแล้ว มีความเสี่ยงทุกฝีก้าว เสี่ยงทั้งสัตว์ป่า และพรานที่เข้ามาล่า แม้กระทั่งตอนนอนก็ยังเสี่ยง
ช่วงแห่งความเหนื่อยยาก
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่หน่วยเขาบันได มีเจ้าหน้าที่อยู่เพียง 3-4 คน และเป็นช่วงใกล้หมดปีงบประมาณ จึงไม่ได้มีการจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่ม แต่งานลาดตระเวนก็ยังคงต้องเป็นไปตามแผน ตอนนั้นที่หน่วยต้องไปยืมเจ้าหน้าที่จาหน่วยข้างเคียงมาช่วยเดินลาดตระเวน เพราะมีกำหนดว่า 1 ชุด ลาดตระเวนต้องมีอย่างน้อย 5 คน ก็เป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่หน่วยเขาบันไดทุกคนต้องออกลาดตระเวนทุกรอบ เฉลี่ยเดือนนึงก็ 15-20 วันเมื่อก่อนยังได้สลับกันพัก สลับกันเฝ้าหน่วย ไม่ได้ออกเดินทุกรอบอย่างนี้ พอคนขาด ก็อาศัยไปยืมคนหน่วยอื่นมา พอถึงเวลาเราก็ต้องไปเดินช่วยคืนตามที่ยืมมาด้วย ก็ต้องช่วยกันไป ตอนนั้นก็เหนื่อยเหมือนกัน แต่เราก็ต้องยึดเอางานลาดตระเวนเป็นหลัก อย่างงานอื่น เช่น ซ่อมทาง หรืออะไร ก็ต้องปล่อยไปก่อน
อะไรที่ทำให้ยังคงทำงานพิทักษ์ป่ามาได้ยาวนานขนาดนี้
จริง ๆ ก็ต้องบอกว่าทำด้วยใจรักเลยแหละ เราอยู่ป่ามาตั้งแต่เล็กแต่น้อย เมื่อก่อนบ้านก็อยู่ในป่า (บริเวณโป่งช้างเผือกปัจจุบัน เมื่อก่อนเป็นหมู่บ้าน) เดินลาดตระเวนแล้วเจอสัตว์ป่าเราก็ภูมิใจแล้วว่าเรายังรักษาป่า รักษาสัตว์ป่าไว้ได้
หากครั้งไหนที่เราไปลาดตระเวนแล้วเจอรอยสัตว์ชนิดหนึ่งเป็นประจำ ถ้ารอบไหนเข้าไปแล้วไม่เจอ ก็จะเริ่มเป็นห่วงแล้วว่ามันหายไปไหน มันจะเป็นยังไง
อย่างเมื่อวานที่เราเดินผ่านลำห้วยมา เจอรอยเสือโคร่ง ตอนแรกก็หาอยู่ว่าทำไมไม่เห็นรอยเลย แต่พอมาเจออีกลำห้วยหนึ่งก็ดีใจ ที่มันยังวนเวียนอยู่แถวนี้ และมีลูกน้อยมาเพิ่มอีกต่างหาก
ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในผืนป่าห้วยขาแข้งแห่งนี้ เราเห็นพี่สมชายทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา ยามเข้าป่าเราจะเห็นเขาแบกเป้ใบโต สะพายปืนเฉียงข้าง แต่เมื่อเวลาว่าง เขามักจะมีความสุขกับการถ่ายรูปและดูรูปที่ถ่ายมาได้
ผู้ชายท่าทางขี้อาย พูดน้อย หากชวนคุยถึงเรื่องสัตว์ป่า พี่สมชายดูจะมีเรื่องมาเล่าให้ฟังมากมาย หลายครั้งที่เล่าไปมือก็เลื่อนหน้าจอโทรศัพท์หารูปมาประกอบเรื่องราว
ทุกครั้งที่บทสนทนาสิ้นสุดลง สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ คือทุกคำพูดของพี่สมชายที่กลั่นออกมา เต็มไปด้วยความจริงใจ และความสุขใจ ของชายผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการดูแลผืนป่าแทนพวกเราทุกคน
ผู้เขียน
ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส