1
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รับเชิญให้ไปเล่าเรื่องราวของงานพิทักษ์ป่า เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี สืบ นาคะเสถียร และบทบาทของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในการรักษาป่าผืนใหญ่ ในรายการ ซูเปอร์หม่ำ “Super Mum” ซึ่งออกอากาศทางช่อง เวิร์คพอยท์ หมายเลข 23 ในวันที่ 22 กันยายน 2563 ผ่านการพูดคุยระหว่าง หม่ำ จ๊กมก กับ ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ จิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ปรึกษามูลนิธิสืบฯ และสร้อยเพชร มุสิกะชาติ เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าหญิงแห่งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
2
กิจกรรม ONLINE – กิจกรรถ่ายทอดสด งานรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ‘การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง’ในช่วงกิจกรรมรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร งานพิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ทำจัดทำสื่อ เพื่อสื่อสารเรื่องราวของ “ผู้พิทักษ์ป่า” ผ่าน 2 คลิปวีดีโอ คือ 1) การแสดงดนตรีของวง “พยัคฆ์ไพรใจดี” ที่เป็นการสื่อสารสื่อสารเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมผ่านเสียงเพลงและสร้างการมีส่วนร่วมปกป้องผืนป่าและทรัพยากรธรรมขาติ
2) เรื่องราวการทำงานและความเสียสละของผู้พิทักษ์ป่าที่ทำงานอุทิศตน เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยกายใจที่อุทิศชีวิต สืบทอดเจตนาของ สืบ นาคะเสถียร ผ่านวีดีโอ “Spirit of the jungle” บทบาทคนเฝ้าป่าแห่งห้วยขาแข้ง สามารถรับชมได้ ซึ่งเผยแพร่ในส่วนหนึ่งของ ONLINE – กิจกรรถ่ายทอดสด งานรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ‘การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง’ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา
3
งานผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้มีแนวคิดที่จะใช้บทเพลงเพื่อสื่อสารเรื่องราวของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ผ่านศิลปินผู้มีชื่อเสียง โดยตัวแทนจากมูลนิธิฯ นำโดย คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิฯ และ หม่อมหลวงปริญญากร วรวรรณ กรรมการมูลนิธิฯ เข้าไปพูดคุยเรื่องราวของผู้พิทักษ์ป่ากับ วงนั่งเล่น เพื่อให้ทางวงถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงในสไตล์ของวงนั่งเล่นเอง
โดยเมื่อช่วงงานรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียรที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฯได้เผยแพร่ผลงานเพลง คนเฝ้าป่า ในส่วนหนึ่งของสารคดีสั้น “Spirit of the jungle” และ ลงใน YouTube SEUB CHANNEL : คนเฝ้าป่า – วงนั่งเล่น (Official Lyrics Video) ภายหลังจากงานเพลง คนเฝ้าป่า เสร็จสิ้นลง ทางวงนั่งเล่นได้ใช้ต้นแบบจากการทำเพลงนี้ใ นการทำงานเพลงโปรเจ็กต์ ‘เพลงเพ่งชีวิต’ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก็ได้เดินสายพูดคุยกับบุคคลที่น่าสนใจ เพื่อจะนำเรื่องราวมาบอกเล่าผ่านบทเพลง ซึ่งในขณะนี้มี 6 ท่าน ได้แก่
‘คนเฝ้าป่า’ คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา
‘ไม่มีอะไรดีกว่าอะไร’ คุณชาติ กอบจิตติ
‘ตีนที่มองไม่เห็น’ คุณสาธิต กาลวันตวานิช
‘คิดเอง ช้ำเอง’ คุณจิระ มะลิกุล
‘หมาข้างถนน’ คุณสันติ ลอรัชวี
‘คำตอบ’ คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
4
เป็นประจำทุกปี ในช่วงครบรอบงานรำลึกของสืบ นาคะเสถียร ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จะจัดให้มีการมอบทุนการศึกษาแก่บุตรธิดาของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในป่าห้วยขาแข้ง และนักเรียนในโรงเรียนรอบผืนป่า ในวาระครบรอบ 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ในปีนี้ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในการระดมเงินสำหรับมอบเป็นทุนการศึกษา เป้าหมายอยู่ที่จำนวน 60 ทุน (ทุนละ 3,000 บาท)
โดยเมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ได้มีการมอบทุนจำนวนทั้งสิ้น 68 ทุน เป็นเงินจำนวน 204,000 บาท ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หลังจากการทำบุญเลี้ยงพระ และ พิธีวางหรีด เพื่อรำลึกถึง สืบ นาคะเสถียร มูลนิธิสืบนาคะเสถียรขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมสนับสนุนครอบครัวของผู้พิทักษ์ป่า ร่วมกับเรา ในวาระครบรอบ 30 ปี สืบ นาคะเสถียร
5
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 บิ๊กเอ็ม – กฤตฤทธิ์ บุตรพรม นำรายได้ทั้งหมดหลังจากหักค่าใช้จ่ายจากการจำหน่าย Photobook เล่มแรกของตัวเอง ชื่อ The Journey Of A Ranger จำนวนเงิน 64,324 บาท สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผ่าน ‘กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า’ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยมี ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิฯ และ วัชรบูล ลี้สุวรรณ รองเลขาธิการมูลนิธิฯ เป็นผู้รับมอบ
6
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว พร้อมทั้งสถาปนิกอาสาลงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เพื่อดูพื้นที่การสร้างจุดสกัดชั่งคราว บริเวณสามแยกเด่นหญ้าขัด-ปางวัว (เส้นทางขึ้นดอยหลวงเชียงดาว) ด้วยดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูนสูงชันสลับซับซ้อน ซึ่งมีความสูงตั้งแต่ 300 – 2,225 เมตรจากระดับน้ำทะเล จัดได้ว่าเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งยังอุดมไปด้วยป่าดงดิบเขาและป่าหลายประเภทคละกันไป มีสัตว์ป่าหลากหลายชนิดอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าสงวนคือ กวางผา และเลียงผา นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ (subalpine) อีกด้วย ยอดเขาที่สูงที่สุดคือยอดดอยหลวงเชียงดาว มีความสูง 2,225 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
จากผลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพพบว่าพื้นที่บริเวณสามแยกเด่นหญ้าขัด – ปางวัว เป็นพื้นที่ที่กลุ่มพรานใช้เป็นเส้นทางเข้ามาล่าสัตว์ โดยที่ผ่านมาพบว่าผู้กระทำผิดเข้ามาทางเส้นทางปางวัว ทั้งบางช่วงยังมีนักท่องเที่ยวแอบใช้เส้นทางนี้เข้ามาท่องเที่ยวยังดอยหลวงเชียงดาว ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวจึงเห็นว่า ควรจะมีการสร้างจุดสกัดบริเวณสามแยกเด่นหญ้าขัด – ปางวัว เพื่อเป็นจุดสกัดกั้นการกระทำผิด และเป็นจุดที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่จะใช้เส้นทางนี้ในช่วงฤดูท่องเที่ยวดอยหลวงเชียงดาว
และด้วยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างไกลจากหน่วยพิทักษ์ป่าและยากแก่การเข้าถึง การที่มีจุดสกัดตรงส่วนนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวต่อไปในอนาคต
7
การจัดตั้งสมาคมผู้พิทักษ์ป่า (Thai Ranger Association – TRA )
จากการยืนเอกสารจัดตั้งสมาคมผู้พิทักษ์ป่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา บัดนี้สมาคมผู้พิทักษ์ป่าได้รับการประกาศจากนายทะเบียนสมาคมจังหวัดนนทบุรี เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม โดยมีคณะกรรมการสมาคมฯ ประกอบด้วย
- นายพลวีร์ บูชาเกียรติ นายกสมาคมผู้พิทักษ์ป่า
- นายเปลี่ยนประสพ ขาวนวล อุปนายกฝ่ายบริหาร
- นายธรรมรัฐ วงศ์โสภา อุปนายกฝ่ายกฎหมาย
- นางพีรนุช ดุลกูล แคพเพลลา อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ
- นายสมนึก แผนสมบูรณ์ เหรัญญิก
- นายประเสริฐ พ่านพัฒนกุล นายทะเบียน
- นางสาวเกศรินทร์ เจริญรักษ์ เลขานุการ
- หม่อมหลวง ปริญญากร วรวรรณ ประชาสัมพันธ์
- ว่าที่ ร.ต.วินัย เทพเสนา ปฏิคม
- นายภาณุเดช เกิดมะลิ กรรมการ
- นายบุญแถม ตามประสี กรรการ
- นางสาวอุษารดี ภู่มาลี กรรมการ
- นางสาวสร้อยเพชร มูสิกะชาติ กรรมการ
พร้อมทั้งสมาชิกชุดก่อตั้งสมาคมจากองค์กรต่างๆร่วมด้วย เช่น ชมรมผู้พิทักษ์ป่าแดนสยาม , องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) , Panthera , มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ มูลนิธิฟรีแลนด์
โดยวัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อ
- ส่งเสริมและพัฒนาผู้พิทักษ์ป่าไทยให้มีมาตรฐานระดับสากล รวมถึงความก้าวหน้าในสายงานอาชีพ พิทักษ์ป่า อันเป็นการตอบสนองต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศ แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทป่าไม้ แผนแม่บทของหน่วยงาน โดยสนับสนุนการจัดตั้งโรงเรียนพิทักษ์ป่า (Park Ranger School) หรือจัดหลักสูตร การฝึกอบรมพัฒนาผู้พิทักษ์ป่า เพื่อแบ่งปันความรู้ ทรัพยากร เทคโนโลยี ในประเทศไทย และกับองค์กร นานาชาติ
- สร้างการรับรู้ในสิทธิ และสวัสดิการของผู้พิทักษ์ป่า รวมถึงครอบครัวของผู้พทักษ์ป่า ที่พึงได้รับอัน เกิดจากการปฏิบัติภารกิจ รวมถึงส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี และความสามัคคีของกลุ่มสมาชิก
- สื่อสาร สร้างความภาคภูมิใจ และความตระหนักถึงบทบาท การทํางาน หน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่า ต่อผู้พิทักษ์ป่า และสาธารณะชน
- ส่งตัวแทนผู้พิทักษ์ป่าไทยเข้าร่วมประชุม World Ranger Congress ที่จัดขึ้นทุก 3 ปี
- เพื่อดำเนินการ หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศล เพื่อการกุศล และองค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อสาธารณประโยชน์
- กิจกรรมทุกประการ ต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง