‘โรงเรียนนักเดินป่า’ ที่มี ‘ผู้พิทักษ์ป่า’ เป็นคุณครู เเละมี ‘ผืนป่า’ เป็นห้องเรียน

‘โรงเรียนนักเดินป่า’ ที่มี ‘ผู้พิทักษ์ป่า’ เป็นคุณครู เเละมี ‘ผืนป่า’ เป็นห้องเรียน

เดือนกุมภาพันธ์ 2565

เรื่อราวของ ‘โรงเรียนนักเดินป่า’ National Park Outdoor Education อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ได้ปรากฎบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดรอบการสอนไปแล้ว 3 รุ่น

โรงเรียนเเห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้ความรู้ และสร้างมาตรฐานการเดินป่า ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีความเชื่อว่า ‘วัฒนธรรมการเดินป่าที่ถูกต้องสร้างได้’

โดยจัดเป็นหลักสูตรขึ้นมาเพื่อให้คนที่จะเริ่มต้นการเดินป่า ได้มีความรู้ การเตรียมตัว ที่ถูกต้องเเละเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ต่างๆ ในการเดินป่า

เพราะที่ผ่านมานั้น การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่เท่าที่ทราบยังไม่มีที่ใดที่สอนว่า การเดินป่าที่ถูกต้องนั้นต้องเตรียมตัวหรือปฎิบัติตัวอย่างไร

การที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ได้เริ่มต้น ‘โรงเรียนนักเดินป่า’ ขึ้นมา จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักเดินป่ามือใหม่ ที่จะได้รับการถ่ายทอดความรู้ที่ถูกต้องเพื่อการเป็นนักเดินป่าที่มีคุณภาพต่อไป

ซึ่ง คุณครู ของ ‘โรงเรียนนักเดินป่า’ แห่งนี้ ล้วนเป็นเหล่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า บ้างเป็นทีมสายตรวจ บ้างก็เป็นเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ตามหน่วยต่างๆ ของอุทยานเเห่งชาติดอยภูคา สลับสับเปลี่ยนกันมาแบ่งปันประสบการณ์ในโรงเรียนกลางไพร

เเละที่สำคัญคือทุกกิจกรรมที่ผ่านมา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคาและทีมผู้ช่วยฯ ก็เป็นกำลังหลักในการนำทีมจัดหลักสูตรการสอนมาเเล้วถึง 4 รุ่น
.

.
แม้ภารกิจหลักจะยังเป็นเรื่องของการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ แต่ด้านงานมวลชน ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะสุดท้ายเเล้ว สาธารณชนก็คืออีกหนึ่งกำลังสำคัญที่สามารถช่วยสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า ผู้ทำงานปกป้องทรัพยากรธรรมชาติอยู่ในเเนวหน้า

“การเดินป่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการนันทนาการและการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แต่ปัจจุบันเส้นทางเดินป่ามันเป็นระยะไกล สำหรับมือใหม่เองก็ยังคงขาดความรู้ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จึงได้สำรวจเส้นทางระยะใกล้ เพื่อที่จะทำเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติสำหรับนักเดินป่ามือใหม่ จึงพบว่าเส้นทางศึกษาธรรมชาติภูพันเจ็ด เป็นเส้นทางที่ไม่ไกลจนเกินไป ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ประกอบกับเส้นทางไม่ลำบาก จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับนักเดินป่ามือใหม่ที่จะมาหัดการเดินป่า ซึ่งจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมการเดินป่าที่ถูกต้อง ว่าเราจะต้องทำอย่างไรบ้าง จนกระทั่งสามารถขยายผลไปสู่นักเดินป่าคนอื่นๆได้”

หัวหน้าตี๋ หรือ นายฉัตรชัย โยธาวุธ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา กล่าวถึงที่มาที่ไปของโรงเรียนนักเดินป่าแห่งนี้

สำหรับปีนี้ ‘โรงเรียนนักเดินป่า’ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ถือเป็นการนำร่อง ซึ่งทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะพิจารณาประเมินผลโครงการ เพื่อขยาย ‘โรงเรียนนักเดินป่า’ ไปสู่อุทยานแห่งชาติ อื่นๆ ต่อไปในอนาคต
.

อยากเป็นนักเรียน ‘โรงเรียนนักเดินป่า’ ต้องทำอย่างไร

ก่อนที่จะเดินทางเข้าร่วม ‘โรงเรียนนักเดินป่า’ ผู้สมัครจะต้องมีการลงทะเบียนผ่าน https://nationalparkoutdoor-edu.com/ และเรียนออนไลน์จนครบหลักสูตร หลังจากนั้นจะได้ใบ Certificate เพื่อใช้ยื่นสมัครเข้าร่วมกิจกรรมเเต่ละรุ่นต่อไป (ผ่านช่องทาง Line official “Outdoor Education” ช่องทางเดียวเท่านั้น (ID line : @outdooreducation) โดยแจ้ง ชื่อ-สกุล อายุ เบอร์ติดต่อ และรุ่นที่สนใจสมัคร)

เมื่อทุกอย่างครบถ้วน เเละได้รับการยืนยันสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อย เหล่านักเรียน จึงเดินทางมาพร้อมกันที่อุทยานเเห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน เพื่อเริ่มต้นเรียนรู้เเละทดลองปฎิบัติจริงในพื้นที่ โดยทางโรงเรียนนักเดินป่า ได้จัดเป็นหลักสูตรเดินป่า 2 วัน 1 คืน ในเส้นทางภูพันเจ็ด ซึ่งเหล่านักเรียนจะต้องเตรียมสัมภาระในการดำรงชีพในป่าเองทั้งหมด และแน่น่อนว่า ต้องแบกของที่เตรียมไว้ด้วยตนเอง ทางโรงเรียนไม่มีลูกหาบให้บริการ
.


.

มาเเล้ว… เรียนอะไรบ้าง

ก่อนเริ่มหลักสูตรจะมีการพูดคุยแนะนำโรงเรียนนักเดินป่า และทบทวนบทเรียน หลังจากนั้นจะมีการทำแบบทดสอบ 30 ข้อ เพื่อเป็นการประเมินความรู้ความเข้าใจของเหล่านักเรียน ก่อนที่จะเริ่มเดินทางไปจุดเริ่มเดิน (จุดชมวิว 1715)

ตลอดเส้นทางการเดินป่า เจ้าหน้าที่จะพาเราไปสัมผัสธรรมชาติ เริ่มจากการยืนนิ่งๆ หลับตาลง เปิดใจเเละฟังเสียงต่างๆ รอบตัว ปรับตัว ปรับใจ เตรียมพร้อมสำหรับการเรียนรู้สิ่งต่างในธรรมชาติ เพราะเมื่อเราย่างเข้าสู่ผืนป่า ให้พึงระลึกไว้เสมอว่า เราไม่รู้อะไรเลย

พี่เปรม หนึ่งในเจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญพันธุ์ไม้เป็นอย่างดี เคยนำนักวิจัยหลายต่อหลายคณะในการสำรวจพันธุ์ไม้ในพื้นที่อุทยานเเห่งชาติดอยภูคา ครั้งนี้เหล่านักเรียนก็ได้รับความรู้ต่างๆ ตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางพันธุ์ไม้เเละสัตว์ป่าที่พบเห็นได้ระหว่างทาง พืชชนิดที่กินได้เเละกินไม่ได้ วิธีการหาเเหล่งน้ำในธรรมชาติ ตลอดจนการเลือกพื้นที่ตั้งเเคมป์ ทั้งในกรณีของการผูกเปล และกางเต้นท์

ที่นี่สอนจนกระทั่งเรื่องของการขับถ่ายในป่า ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานมาก เเต่ไม่เคยมีที่ใดสอนกันแบบนี้ หลายคนเมื่อจะเข้าป่าอาจเตรียมอุปกรณ์กันไปพร้อมสรรพไม่ว่าจะเป็นหมวดหมู่ของการกิน การนอน ชุดยาสามัญ ฯลฯ แต่จะมีสักกี่คน ที่จะเตรียม พลั่ว สำหรับขับถ่ายเข้าป่าไปด้วย

บางอย่างเป็นทริกเล็กๆ ที่เราอาจคิดไม่ถึง เเต่สำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า พวกเขาใช้ชีวิตในป่ามาอย่างยาวนาน การที่เหล่านักเรียนจะได้มาเรียนรู้โดยตรงกับ คุณครู ในระดับชำนาญการแบบนี้จึงนับเป็นโอกาสที่ไม่ควรพลาด

หลังจากที่เลือกพื้นที่ตั้งเเคมป์กันเเล้ว กิจกรรมช่วงเย็นเริ่มต้นด้วยการ ทำอาหาร นักเรียนทุกคนจะนำอาหารเเละอุปกรณ์ประกอบอาหารที่นำมา มารวมกันบริเวณพื้นที่ส่วนกลางที่โรงเรียนนักเดินป่าจัดไว้ให้ เเล้วเริ่มลงมือรังสรรค์เมนูที่เตรียมมา อีกส่วนทีมเจ้าหน้าที่ก็เตรียมอาหารบางส่วนไว้สำรองให้กับคณะนักเรียนเช่นกัน ซึ่งก็เป็นเมนูง่ายๆ ที่มักทำกินกันยามเมื่อออกลาดตระเวนในป่า

เมื่อค่ำลงหน่อย ทุกคนก็จะมานั่งล้อมวงรวมกัน เพื่อเตรียมเข้าสู่กิจกรรมพิเศษ ที่ทางโรงเรียนนักเดินป่าจัดไว้ให้ โดยในครั้งนี้เป็นครั้งเเรกที่มีวิทยากรพิเศษมาร่วมทริปด้วย นั่นคือ หม่อมเชน มล.ปริญญากร วรวรรณ นักเขียน/ช่างภาพสัตว์ป่า บุคคลผู้เป็นเเรงบันดาลใจ ของคนทำงานงานอนุรักษ์มาอย่างยาวนาน มาร่วมเเบ่งปันประสบการณ์เเละทัศนคติที่มีต่อป่าเเละสัตว์ป่า

เเละเเน่นอนว่าเหล่านักเรียนก็จะได้มีโอกาสในการซักถามข้อสงสัยต่างๆ พร้อมเเลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากทั้งวิทยากรพิเศษเเละทีมคุณครู ซึ่งในช่วงนี้เอง…หากจะว่ากันตามจริงเเล้ว ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน นั้นดูเหมือนจะน้อยเกินไป
.

พูดคุยแนะนำโรงเรียนนักเดินป่า และทบทวนบทเรียน
คุณครู สอนเรื่องการเตรียมอุปกรณ์เเละจัดกระเป๋า
เดินป่าพร้อมสายฝนปรอยๆ เป็นอะไรที่อลังการสุดๆ เเล้ว
ครูเปรม เจ้าหน้าที่อุทยานเเห่งชาติดอยภูคา พามาดูตาน้ำธรรมชาติ
ครูใหญ่ เเละ ครูป๊อป กับการสื่อความหมายธรรมชาติระหว่างทาง
นักเรียน โรงเรียนนักเดินป่า รุ่นที่ 4 พากันเดินข้ามมิติ
เเละเเล้วก็มาถึงบริเวณที่จะตั้งเเคมป์
เหล่านักเรียนมารอฟังเรื่องเล่าของของคุณครูบนจุดชมวิวยอดภูพันเจ็ด
ผอ.เป้ : ชิดชนก สุขมงคล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 มาร่วมเป็นนักเรียนโรงเรียนนักเดินป่าในครั้งนี้ด้วย
ครูศักรินทร์ เล่าให้ฟังถึงการทำงานในพื้นที่อุทยานเเห่งชาติดอยภูคา
หัวหน้าตี๋ : ฉัตรชัย โยธาวุธ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา พร้อมบริการกาแฟร้อนๆบนยอดภูพันเจ็ด
เป็นทั้งคุณครู เป็นทั้งพ่อครัว
นักเรียนก็อยากชิมฝีมือคุณครูเหมือนกันนะ
ล้อมวงเตรียมเข้าสู่ช่วงพิเศษ
หม่อมเชน มล.ปริญญากร วรวรรณ นักเขียน/ช่างภาพสัตว์ป่า ร่วมเเบ่งปันประสบการณ์เเละทัศนคติที่มีต่อป่าเเละสัตว์ป่า
ท่ามกลางอุณหภูมิที่ลดต่ำลง เเต่อุณหภูมิหัวใจกลับอุ่นขึ้น

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code

ผู้เขียน

+ posts

ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส