เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ร่วมภารกิจตามหาปลอกคอกวางผา หลังการ drop off ร่วมกับทีมสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ซึ่งเส้นทางในการค้นหานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องลัดเลาะไปตามหน้าผา และพื้นที่สูงชัน
.
เราได้บันทึกภาพการทำงานบางส่วนมาเพื่อใช้ประกอบการอัพเดทการดำเนินงานในโครงการฟื้นฟูประชากรกวางผาฯ ผ่านทางสื่อต่างๆ ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพการใช้อุปกรณ์เชือกในการโรยตัวลงไปตามหาปลอกคอกวางผา ภาพหนึ่งที่เผยแพร่ออกไป ได้ไปสะดุดตา พี่หมอตูน (นายแพทย์ประสาน เปี่ยมอนันต์) นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ จากหน่วยงานอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งพี่หมอตูนเป็นนักปีนผาและมีความสนใจในเรื่องของการปฐมพยาบาลในพื้นที่ทุรกันดาร โดยผ่านการฝึกอบรมจากหลายหน่วยงานในต่างประเทศ และได้เริ่มมีการวางหลักสูตรของตนเอง (มีการใช้ในการอบรมมาแล้วในพื้นที่แม่ฮ่องสอน) ซึ่งพี่หมอได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ในการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว เพราะจากภาพที่ปรากฏ มีเพียงเชือกหนึ่งเส้น กับเจ้าหน้าที่หนึ่งคน ในการปฏิบัติงาน โดยไร้ซึ่งอุปกรณ์เซฟตี้ใดๆ
การดำเนินงานที่ผ่านมาทีมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงชัน และหน้าผา ซึ่งการทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก บางครั้งต้องมีการโรยตัวในบริเวณที่เป็นพื้นที่ลาดชันเพื่อเก็บข้อมูลกวางผาและค้นหาปลอกคอสัญญาณดาวเทียม แต่เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีการฝึกอบรมหรือให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ปีนผา โรยตัว หรือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีฉุกเฉิน อย่างจริงจัง
ในครั้งนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงเห็นควรให้มีการจัดฝึกอบรมขึ้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพงานลาดตระเวนและงานศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าในพื้นที่
โดยมีเป้าหมายในการฝึกอบรมประกอบด้วยข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ ตำแหน่งพิทักษ์ป่า และพนักงานจ้างเหมาทำหน้าที่ลาดตระเวนป่าและสนับสนุนการทำงานพิทักษ์ป่า ทุกตำแหน่งซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ จำนวน 30 คน
และนั่น คือจุดเริ่มต้นของการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการใช้ระบบเชือกในการโรยตัว การช่วยเหลือเบื้องต้น และปฐมพยาบาลเบื้องต้นในพื้นที่ทุรกันดาร (Basic Wilderness First Aid) ในครั้งนี้
ก่อนหน้านี้เราได้มีการพูดคุยกันในทีมทำงาน มีเจ้าของพื้นที่อย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว มาร่วมพูดคุยและกำหนดหลักสูตรด้วยกัน รวมถึงได้ ครูต่อ (นพดล อุปคำ) จากทีมชมรมกู้ภัยทางสูงประเทศไทย (TRRT : Thailand rope rescue team) มาร่วมแลกเปลี่ยนด้วย
การฝึกอบรมจัดขึ้นในวันที่ 19-21 ตุลาคม 2564 ณ สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ในระยะเวลาสามวัน เราแบ่งการอบรมออกเป็น 2 ช่วง คือ
Part 1 การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในพื้นที่ทุรกันดาร (Basic Wilderness First Aid)
ด้วยสภาพพื้นที่ในการปฏิบัติงานเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชัน การเข้าถึงค่อนข้างยาก อาจมีโอกาสที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้ หากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า มีความความรู้ในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในถิ่นทุรกันดารก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง เพื่อนผู้ร่วมงาน ตลอดจนนักท่องเที่ยวผู้เข้ามาศึกษาธรรมชาติในพื้นที่
เพราะด้วยความที่เป็นพื้นที่ห่างไกล ผู้ที่ให้การช่วยเหลือจึงมักจะไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ไม่มีอุปกรณ์ขั้นสูงและขาดทักษะในการดูแลผู้ป่วย การได้เรียนรู้ถึงวิธีการการประเมินอาการเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของผู้ป่วย การช่วยเหลือผู้ป่วยในเบื้องต้น และการติดต่อประสานงานเพื่อส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency medical system [EMS]) เพื่อการรักษาขั้นสูงในโรงพยาบาลได้อย่างเหมาะสมรวดเร็วต่อไปจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งดำเนินการฝึกโดยทีมวิทยากรครูฝึกจากหน่วยงานอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลนครพิงค์ และ นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ฝึกสอน
Part 2 การใช้ระบบเชือกในการโรยตัว และการใช้ระบบเชือกในการช่วยเหลือเบื้องต้น
จากภารกิจตามหาปลอกคอกวางผา และงานสำรวจประชากรกวางผาและวิจัยสัตว์ป่าชนิดต่างๆ พื้นที่ปฏิบัติงานมักเป็นภูเขาสูงชัน และหน้าผา ซึ่งการทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก บางครั้งต้องมีการโรยตัวในบริเวณที่เป็นพื้นที่ลาดชันเพื่อเก็บข้อมูล การเสริมสร้างความรู้และเทคนิคการใช้อุปกรณ์การปีนผา/โรยตัว อย่างถูกต้องและปลอดภัย เพื่อเสริมสร้างทักษะการปฏิบัติงานในพื้นที่สูงจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยครั้งนี้จะเป็นการเรียนรู้อุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น เงื่อนสำคัญๆ ที่จะต้องใช้ รวมถึงจุดยึดโยงต่างๆ
ช่วงท้ายๆ ของการฝึกอบรมได้มีการเซ็ทเหตุการณ์สมมุติโดยเป็นการบูรณาการความรู้ทั้งหมดที่ได้เรียนมาทั้งในส่วนของการปฐมพยาบาลฯและการใช้ระบบเชือกในการช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งมีการสรุปจากทีมวิทยากรในตอนท้าย ทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ทบทวนความรู้ทั้งหมดและได้ฝึกใช้ในเหตุการณ์เสมือนจริง ทำให้เห็นภาพการทำงานที่ชัดเจน และเห็นถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน รวมทั้งวิธีการที่จะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกวิธี โดยผู้ที่ดำเนินการสอนในครั้งนี้คือทีมวิทยากรจากชมรมกู้ภัยทางสูงประเทศไทย (TRRT : Thailand rope rescue team)
ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมเยี่ยมชมการฝึกฯและมอบใบประกาศนียบัตรให้กับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรการใช้ระบบเชือกในการโรยตัว/การช่วยเหลือเบื้องต้น และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในพื้นที่ทุรกันดาร (Basic Wilderness First Aid)
โดยกิจกรรมในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดพันธมิตรหลักอย่าง บริษัท เบอร์แทรม (1958) จำกัด หรือ เจ้าของแบรนด์ เซียงเพียวอิ๊ว ที่หลายๆ คนคุ้นเคย มาเป็นเจ้าภาพหลักในการสนับสนุนงบประมาณในการฝึกอบรมในครั้งนี้
ซึ่งนอกจากทีมเจ้าหน้าที่จะได้รับความรู้ และความมั่นใจในการปฏิบัติภารกิจแล้ว ก็ได้รับชุดอุปกรณ์เชือกในการปีนผา/โรยตัว พร้อมอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยต่างๆ จำนวน 3 ชุด เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงานต่อไป
ภาพ : เกศรินทร์ เจริญรักษ์ / คชานพ พนาสันติสุข
ผู้เขียน
ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส