ปี พ.ศ. 2541 เป็นปีที่ผมเริ่มต้นมาเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ช่วยจัดการอบรมเสริมศักยภาพของผู้พิทักษ์ป่าในผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการนำเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากว่า 200 คน จาก 17 พื้นที่อนุรักษ์ มาพบปะ เจอะเจอ และเรียนรู้การทำงานร่วมกันโดยลบขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์ของหน่วยงานตนเองตามกฎหมาย มาเป็นทีมงานเดียวกันในพื้นที่ที่ชื่อ ‘ผืนป่าตะวันตก’
ความรู้ที่ทีมงานวิทยากรเสริมเติมให้กับพี่ๆ ผู้พิทักษ์ป่า มีทั้งด้านงานการลาดตระเวน ดูแลผืนป่า สัตว์ป่า การจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย และด้านงานป้องกัน คือการทำงานเชิงรุก สร้างความเข้าใจ ความรัก และไม่เข้ามาบุกรุกทำลายทรัพยากรจากประชาชนโดยรอบพื้นที่ งานสื่อความหมายธรรมชาติ
ตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือน/ปี ที่มีผู้เข้ามาร่วมฝึกอบรมชุดละประมาณ 80-100 คน ทุกเช้า เรากายบริหาร ออกวิ่งเพื่อสร้างความพร้อมให้กับร่างกาย สร้างวินัยด้วยการฝึกแถว เรียนรู้ทฤษฎีและฝึกปฏิบัติเรื่องนิเวศวิทยาในผืนป่าตะวันตก กฎหมาย การดำเนินคดี ความปลอดภัย การใช้เครื่องมือในงานลาดลาดตระเวน เช่น แผนที่ เข็มทิศ และ GPS
ในช่วงต่อมา เพิ่มเติมด้วยหลักสูตรงานสื่อความหมายและประชาสัมพันธ์สำหรับผู้พิทักษ์ป่าที่ทำงานด้านนี้ ทำให้ตัวผมเองในฐานะทีมผู้จัดอบรม ต้องฝึกและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน จนได้มาเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร รับผิดชอบโครงการฝึกอบรมนี้ต่อในปี 2552 ซึ่งนั่นก็ทำให้ผมได้รู้จักพี่ๆ ผู้พิทักษ์ป่า และเข้าใจในวิถีชีวิต การทำงานและปัญหาของพี่ๆ ผู้พิทักษ์ป่า รวมถึงสิ่งสำคัญจากมิตรภาพในการอบรม คือเป็นพื้นฐานให้ได้เข้าไปทำงานอื่นๆ ร่วมกับพี่ๆต่อเนื่องในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
นับเป็นความภาคภูมิใจของผมเอง และความภูมิใจนี้ก็เกิดกับพี่ๆ ผู้พิทักษ์ป่าเช่นกันที่ได้รับรู้ว่ามีพวกเราคอยสนับสนุน สวัสดิการ สวัสดิภาพ ให้พร้อมที่จะออกไปทำงาน เพื่อเฝ้าป่าไว้ให้กับคนไทยทั้งชาติ
การฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพการทำงาน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันที่มีการนำระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาใช้ในการทำงาน โดยการสนับสนุนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หน่วยงานต้นสังกัดเอง และจากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การเพิ่มศักยภาพจากการฝึกอบรมสุดท้ายแล้ว ก็เพื่อลดการสูญเสียจากการทำงานที่เสี่ยงอันตรายทั้งจากการปะทะกับผู้กระทำผิดกฏหมายและอุบัติเหตุจากสภาพพื้นที่และสัตว์ป่า
ปัจจุบัน ผู้พิทักษ์ป่า(ส 1-4) ตามตำแหน่งทยอยเกษียรอายุ และจะหมดลงในอีก 8 ปีข้างหน้า โดยที่รัฐไม่มีนโยบายเปิดรับเพิ่ม และปรับมาจ้างพนักงานราชการ กับพนักงานจ้างเหมา ให้เข้ามาทำหน้าที่แทนตำแหน่งผู้พิทักษ์ป่า และค่อยๆ ปรับลดกรอบอัตราจ้างลงในที่สุดเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ทำงานแทน
สำหรับผม ยังคงยืนยันและขอเรียกร้องว่า แม้เราจะมีเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลรักษาป่าเพิ่มขึ้น แต่ ‘คน’ ยังคงมีความสำคัญสำหรับงานพิทักษ์ป่า และการให้การสนับสนุนดูแลตามที่ควรจะเป็น รวมถึงเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพผู้พิทักษ์ป่าก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกละเลย
เขียนโดย ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร