บันทึกทุ่งนาน้อย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

บันทึกทุ่งนาน้อย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

เป็นอีกครั้งที่ได้มีโอกาสกลับไปเยือนหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งนาน้อย หน่วยพิทักษ์ป่าลึก (แต่ไม่ลึกที่สุด) ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก จ.ตาก หลังจากที่ไม่ได้เข้าไปนานถึง 5 ปีเเล้ว

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก อันเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ทิศตะวันออกติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้ง ทิศตะวันตกติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ส่วนทิศใต้นั้นก็จดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้งเเละเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันตก 

การเดินทางในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการเดินทางเข้าสู่ใจกลางของผืนป่ามรดกโลก เเละเเน่นอนว่าทุกๆ การเดินทางมักให้ประสบการณ์ที่มีคุณค่าเสมอ การเดินทางสู่เส้นทางใหม่ๆ พาให้เราได้พบเจอกับสิ่งที่ไมคาดคิด ทั้งสภาพเเวดล้อม ผู้คน อาหาร ที่ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 

และการเดินทางกลับไปยังสถานที่เดิมๆ ยังทำให้เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนเเปลง ตามความเป็นไปของกาลเวลา ได้พบปะผู้คนที่รู้จัก กระชับความสัมพันธ์กันให้มากขึ้น กลับไปให้หายคิดถึง 

เพื่อที่กลับมา เราจะได้นึกถึงสิ่งต่างๆ เหล่านั้นอีกครั้ง…

ออกการเดินทาง…

จากสำนักงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมุ่งหน้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก จ.ตาก รวมระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร ผ่านทางคดเคี้ยวมากกว่า 1,000 โค้ง หากเริ่มเดินทางออกจากนนทบุรีเเต่เช้าตรู่ กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางก็หมดวันพอดี

เส้นทางอันเเสนยาวไกลนี้ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรใช้เป็นทางสัญจรหลักในการเข้าไปทำงานในพื้นที่อำเภออุ้มผาง ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนในป่าเเละสองพื้นที่อนุรักษ์ คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เเละ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก หลากหลายภารกิจตามเเผนงานยุทธศาสตร์ขององค์กร

สำหรับภารกิจหนนี้เป็นการลงพื้นที่เยี่ยมหน่วยพิทักษ์ป่า ตามเเผนงานผู้พิทักษ์ป่ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งจะลงพื้นที่เพื่อพูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบกับพี่น้องเจ้าหน้าที่ฯ พร้อมมอบอุปกรณ์การลาดตระเวนที่จำเป็น เเละเป็นการประชาสัมพันธ์กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่าให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้ทราบโดยตรง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้อุ่นใจว่า “อย่างน้อยก็มีผู้คนอีกมากมายที่พร้อมสนับสนุนเเละดูเเลเเนวหน้าในการดูแลป่าอย่างพวกเขา” 

เราเดินทางมาถึงกะเเง่คี หรือที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เวลาใกล้ค่ำพอดี เมื่อรถจอดสนิท เจ้าหน้าที่ที่คุ้นหน้าคุ้นตาก็เข้ามาทักทายเเละชวนให้พวกเราร่วมวงอาหารเย็นกับคณะหัวหน้าฯ เเละเจ้าหน้าที่เขตฯ ซึ่งมาพร้อมกันอยู่เเล้ว

บรรยากาศในวันนั้นครึกครื้นพอดู ด้วยจำนวนคนที่ค่อนข้างเยอะ หลังมื้ออาหารจบลงจึงมีการกระจายวงพูดคุยกันเจื้อยเเจ้ว บ้างปักหลักอยู่ที่โต๊ะอาหาร อีกกลุ่มยึดพื้นที่ในครัว ส่วนวงข้างกองไฟจะคนเยอะหน่อย เพราะมีฉากบรรยากาศที่ดี เเละมีไออุ่นจากกองไฟช่วยขับไล่ละอองหนาว 

หลายชั่วโมงผ่านไปการสนทนาไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลง อาจด้วยคล้ายเพื่อนเก่าที่กลับมาเจอกันในรอบปี เรื่องเล่าจึงถูกสะสมมาเต็มอัตรา เพื่อรอเวลามาเล่าสู่กันฟังในค่ำคืนนี้

ถึงคราวใช้บริการ ศูนย์ซ่อมฯทุ่งใหญ่ฯ

ด้วยสภาพเส้นทางสุดหฤโหดของทุ่งใหญ่ มีเหตุให้ต้องมีการซ่อมบำรุงรถยนต์กันเป็นว่าเล่น ยังดีที่เจ้าหน้าที่หลายคนสามารถสังเกตุอาการเเละซ่อมบำรุงขั้นพื้นฐานได้ 

ส่วนคนที่มีฝีมือมากหน่อย ต้องยกให้ฝ่ายช่าง ประจำศูนย์ซ่อมรถภายในสำนักงานเขตฯ หากเคสไหนที่หนักหนาสาหัสเกินไป ก็จะถูกส่งไปยังตัวอำเภออุ้มผางหรือไม่ก็แม่สอด ซึ่งก็ต้องเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลาอีกไม่ใช่น้อย

ระหว่างเปลี่ยนล้อรถให้เหมาะกับสภาพเส้นทางที่ (อาจ) จะต้องเจอ แอบสังเกตุว่าบริเวณศูนย์ซ่อมนี้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก ภายในห้องเก็บอุปกรณ์ก็ถูกจัดระเบียบไว้อย่างดี สัมผัสได้ถึงความใส่ใจต่อข้าวของ เเละดูเหมือนว่าของทุกชิ้นจะต้องได้ทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มที่จริงๆ

หลังเสร็จสิ้นจากอาหารเช้าพวกเราเตรียมข้าวของพร้อมสำหรับการเดินทางเข้าไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งนาน้อย ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปอีกราว 30-40 กิโลเมตร 

รถทุกคันผ่านการเช็คสภาพก่อนนำเข้าพื้นที่ รวมทั้งรถของเขตฯ เองที่ใช้งานอยู่เป็นประจำในเส้นทางนี้ เพราะการเตรียมพร้อมไว้ก่อนย่อมดีกว่าเป็นไหนๆ

นอกจากสัมภาระต่างๆ เเล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องมีติดรถไปด้วย คือ มีดเเละเลื่อยยนต์ เพราะในช่วงวันสองวันที่ผ่านมานี้มีฝนตกในพื้นที่ จากปริมาณน้ำฝนอาจพอเดาได้ว่าสภาพเส้นทางคงไม่ถึงกับโหดร้ายนัก เเต่อาจมีต้นไม้ล้มขวางในเส้นทางที่เรากำลังมุ่งหน้าไป

เสบียงบางส่วนถูกลำเลียงขึ้นท้ายรถกระบะ เพื่อส่งให้กับหน่วยพิทักษ์ป่าอุตะคี หน่วยพิทักษ์ป่าเบ้คี ซึ่งเป็นหน่วยที่จะเเวะไป ก่อนไปจบสุดท้ายที่หน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งนาน้อย

มุ่งหน้าสู่หน่วยฯ ทุ่งนาน้อย

เส้นทางที่มุ่งหน้าไปนั้นเป็นทางแคบๆ ผ่านป่าหลายชนิด เดี๋ยวขึ้นสูง เดี๋ยวลงต่ำ บ้างโผล่ออกกลางทุ่งหญ้า บ้างเข้าดงไม้สูงชะลูดเเละเขียวครึ้ม เเวดล้อมไปด้วยภูเขา เหล่าไก่ป่า เก้ง เเละนกนานาชนิด ผลัดกันออกมาทักทาย ลำห้วยหลายสายที่ผ่านมาน้ำเเห้งเกือบหมดเเล้ว นึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่าตอนที่น้ำท่วมทั้งทุ่งบริเวณนี้มันจะเป็นเป็นอย่างไร 

“เกือบทุกปีในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน น้ำจะขึ้นสูงและท่วมพื้นที่ทุ่งบริเวณนี้ มองไปทางไหนก็ขาวโพลนไปหมด จากหน่วยฯทุ่งนาน้อย ถ้าจะออกไปข้างนอกหรือกลับบ้านก็ต้องเดินไปอย่างเดียว แวะนอนระหว่างทาง 1 คืน อีกวันนึงกว่าจะถึงบ้าน แต่ถ้าไม่ออกไปข้างนอกเลยก็ได้เหมือนกัน วิทยุไปสั่งเสบียงที่สำนักงานเขตฯ  เพราะทางเขตฯก็จะมีรถไถคอยส่งเสบียงในช่วงฤดูเเบบนี้ แต่รถไถก็เข้ามาไม่ถึงตรงนี้หรอก ต้องเดินเท้าออกไปอีกหน่อย ตรงห้วยก่อนเข้ามาหน่วยฯน้ำจะขึ้นสูง ต้องส่งเสบียงข้ามน้ำมา”

คำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ฯ ผ่านประสบการณ์ที่พบเจอจนดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องเเสนสามัญ

หน่วยฯทุ่งนาน้อยแห่งนี้ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ 6 คน ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องปกาเกอะญอจากหมู่บ้านใกล้เคียง พี่จอเเบ หัวหน้าหน่วยฯ คนใหม่ เพิ่งเข้ามารับหน้าที่นี้ได้ไม่นาน เป็นผู้ดูแลคณะผู้มาเยือนในครั้งนี้

หลังพักผ่อนจากการเดินทาง บ่ายกว่าๆ เจ้าหน้าที่ฯพาพวกเราเดินเท้าเข้าไปยังพรุน้ำจืด ที่อยู่ถัดจากตัวหน่วยเข้าไปไม่มาก

ใช่ ไม่ไกลมาก แต่ทากเยอะมาก!! 

ยังไม่ถึงครึ่งทางมีสมาชิกเลือดอาบไปแล้วหลายคน 

ผ่านไปหนึ่งเหนื่อยใหญ่ๆ ก็มาถึงบริเวณที่เป็นพรุน้ำจืด หลายคนอาจรู้จักป่าพรุแถบภาคใต้ อย่างป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส  ซึ่งหากเอยถึงป่าพรุน้ำจืดก็คงหนีไม่พ้นสถานที่เเห่งนี้ ขยับจากภาคกลางขึ้นมาแทบนึกไม่ออกเเล้วว่ามีป่าพรุที่ไหน

ป่าพรุทุ่งนาน้อยเเห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งขุมทรัพย์ทางทรัพยากรอันมีคุณค่ายิ่งที่ซ่อนตัวอยู่ในผืนป่ามรดกโลกเเห่งนี้ 

…ป่าพรุเเห่งนี้เกิดจาก ลำห้วยบี้ ลำน้ำสาขาหนึ่งของลำน้ำแม่กลอง ลำน้ำสายนี้ในช่วงปลายน้ำก่อนไหลลงสู่ลำน้ำแม่กลองนั้น มีพื้นที่สอบเเคบถูกขนาบด้วยภูเขาสูงทั้งสองข้าง ปริมาณน้ำจำนวนมากที่ไหลมารวมในลักษณะของคอขวดทำให้เกิดการเอ่อล้น กินอาณาบริเวณโดยเฉลี่ยกว้างถึง 2 กิโลเมตร และยาวหลายกิโลเมตร เเหล่งน้ำเอ่อขังเช่นนี้เองคือปัจจัยการก่อกำเนิดสังคมป่าพรุน้ำจืดขึ้นกลางป่าทุ่งใหญ่ฯ…

ข้อมูลส่วนหนึ่งจากหนังสือ อุ้มผาง ขุนทรัพย์ทรัพยากร โดย ดร.โดม ประทุมทอง ที่บอกถึงที่มาของการเกิดป่าพรุแห่งนี้

บริเวณหน่วยฯ ทุ่งนาน้อย ในอดีตเคยมีกลุ่มคนเข้ามาอยู่อาศัย และตั้งชุมชน พื้นที่บางส่วนยังคงมีร่องรอยของการทำการเกษตร ภายหลังได้มีการอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งจัดสรรที่ดินทำกินให้ใหม่ ใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะอพยพคนออกจากป่าได้ทั้งหมด เเละใช้เวลาหลังจากนั้นอีกไม่น้อยเลยทีเดียวกว่าผืนป่าแห่งนี้จะฟื้นตัวกลับมาได้เฉกเช่นทุกวันนี้

การนำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) เเละเครื่องมือต่างๆมาใช้ในการดูเเลรักษาป่า นั้นทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลดีทั้งต่อผืนป่า สัตว์ป่า และผู้พิทักษ์ป่า 

ส่วนกฏ กติกา มิตรภาพเเละความสัมพันธ์กันของคนในหน่วยงานก็เป็นเเรงขับเคลื่อนทั้งร่างกายเเละหัวใจในการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งบางครั้งอาจเเสดงออกมาผ่านกิจวัตรประจำวัน เเละความเป็นอยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเมนูอาหารที่ธรรมดา แต่เลือกใช้วัตถุดิบแสนพิเศษ ของใช้ที่ประดิษ์ขึ้นง่ายๆ เพื่ออำนวนความสะดวกในชีวิตประจำวัน บริเวณที่พักที่เเสนสะอาด สวนผักที่บรรจงปลูกอย่างดี ศาลากาเเฟที่ดูเนี๊ยบทุกระเบียดนิ้ว 

และความเอื้อเฟื้ออย่างจริงใจดังที่พวกเราได้สัมผัสอยู่ในขณะนี้ จึงไม่น่าเเปลกใจเลยที่ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ แห่งนี้ จะเป็นบ้านที่ปลอดภัยเเละอบอุ่นหัวใจของทั้งคนเเละสัตว์ป่า

ผู้เขียน

+ posts

ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส