พื้นที่ป่าไม้ประเทศไทย 2566
31.47%
ของพื้นที่ประเทศไทย
หรือ 101,818,155.76 ไร่
ลดลงจากปี 2565
317,819.20 ไร่
จังหวัดที่ไม่พบพื้นที่ป่าไม้ ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี อ่างทอง
จากปี 2566 ถึงปี 2567 พบว่า ผืนป่าของไทยลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ถึง 317,819.20 ไร่ จากปี 2565 ที่มีพื้นที่ป่าไม้เหลือ 102,135,974.96 ไร่ หรือ 31.57% ของพื้นที่ประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ 101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47% ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ที่ยังคงสภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 101,627,819.86 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ ที่เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่ป่าไม้อีก 190,335.90 ไร่
ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าไม้ ได้มีการนำเทคนิคการซ้อนทับข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในแต่ละปี โดยทำให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพของพื้นที่ป่าไม้ได้ 3 รูปแบบ คือ 1. พื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้น 2. พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง และ 3. พื้นที่ป่าไม้ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น
สาเหตุหลัก ได้แก่ การขยายตัวของพื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติ (Natural Forest Expansion) การปลูกป่าเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เช่น สวนป่า (Plantation) หรือการปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายของต้นไม้และสิ่งมีชีวิต
พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง
สาเหตุหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) จากพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเกิดจากปัญหาไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้น (Forest Fire)
นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ความร้อนในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ของป่าผลัดใบและสวนป่าเกิดการร่วงหล่นของใบเป็นอย่างมาก ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้
สถิติการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ประเทศไทย
การเพิ่มขึ้น/ลดลงของพื้นที่ป่าไม้ประเทศไทย
ไฟป่า ภัยคุกคามพื้นที่อนุรักษ์
“ไฟป่า” สถานการณ์ที่มีสาเหตุหลักมาจากน้ำมือของมนุษย์ ปัจจุบันไฟป่าที่เกิดขึ้นในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเป็นผืนป่าบริเวณกว้าง มีความหลากหลายทางชีวภาพ สถานการณ์ไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้น มาพร้อมกับมลพิษฝุ่นควัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศ คร่าชีวิตของสัตว์ป่า รวมทั้งความเสี่ยงอันตรายของชีวิตเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีส่วนทำให้ไฟป่ามีความเลวร้ายมากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและช่วงฤดูแล้งยาวนานขึ้น รูปแบบหยาดน้ำฟ้า (Precipitation) ที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยที่พื้นผิวโลกสูงขึ้น การระเหยจะเกิดมากขึ้น แม้ปริมาณน้ำฝนโดยรวมจะเพิ่มขึ้น กลับส่งผลให้พืชพรรณในบางพื้นที่แห้งแล้งมากขึ้นและเสี่ยงต่อการติดไฟ และฤดูของไฟป่าก็ยาวนานขึ้นจากความแห้งของอากาศ จนนำไปสู่ไฟป่าที่ใหญ่และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นซึ่งยากต่อการจัดการ
หมายเหตุ: “ไฟป่า” สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งการเกิดจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ และไฟป่าในประเทศไทยมีสาเหตุหลักมาจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การหาของป่า และการเผาไร่ เป็นต้น
สถิติการเกิดไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์ ย้อนหลัง 10 ปี
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ของไทยได้ทำลายผืนป่าไปแล้วกว่า 1 ล้านไร่ และเจ้าหน้าที่ต้องต่อสู้เพื่อดับไฟป่ามากกว่า 60,240 ครั้ง
สถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติ
สถานการณ์คงที่ สถานการณ์ดีขึ้น สถานการณ์ควรเฝ้าติดตาม
ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
- ประกาศพื้นที่ป่าเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพิ่มขึ้น
- ประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- พื้นที่ป่าได้รับผลกระทบกับไฟป่าเพิ่มขึ้น
- สัตว์ป่าออกหากินนอกเขตป่าเพิ่มขึ้น เช่น ช้างป่า กระทิง ลิง เป็นต้น
- จำนวนนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติเพิ่มขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้โดยรวมคงที่
ทรัพยากรน้ำ
- ปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้น
- การใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมมากกว่าแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้
- ปริมาณน้ำท่าลดลง
- พบปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มบริเวณชายฝั่งด้านอ่าวไทย
- ระดับน้ำบาดาลลดลงในบางพื้นที่
ทรัพยากรแร่
- เหมืองแร่เปิดดำเนินการและการอนุญาตประทานบัตรเพิ่มขึ้น
- ปริมาณการผลิตและการใช้แร่ลดลง
- ปริมาณการส่งออกและการนำเข้าแร่ลดลง
- มูลค่าการนำเข้าและการส่งออกแร่เพิ่มขึ้น
ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน
- การชะล้างพังทลายของดินส่วนใหญ่
- ดินปนเปื้อนวัตถุอันตรายทางการเกษตรในบางพื้นที่
- ดินส่วนใหญ่มีคุณภาพดินต่ำที่ต้องปรับปรุง
- พื้นที่เกษตรกรรมลดลง ส่วนพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น
- มีการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสมในพื้นที่ลาดชันและพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม โดยพบมากที่สุดในภาคเหนือ
พลังงาน
- การผลิตพลังงานขั้นต้นลดลง
- การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น
- การนำเข้าพลังงานขั้นต้น (สุทธิ) เพิ่มขึ้น
- การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้น
- ประสิทธิภาพการใช้พลังงานลดลง
ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- ความสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงเพิ่มขึ้น
- พื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพเพิ่มขึ้น
- แนวปะการังส่วนใหญ่มีสภาพสมบูรณ์ดี
- พื้นที่แหล่งหญ้าทะเลส่วนใหญ่มีสถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง
- เต่าทะเลวางไข่เพิ่มขึ้น
- พื้นที่การกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงเพิ่มขึ้น
- สัตว์ทะเทหายากพบเกยตื้นลดลง แต่ยังคงเสียชีวิตจากขยะทะเล
ความหลากหลายทางชีวภาพ
- สัตว์มีกระดูกสันหลังมีดัชนีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ลดลง โดยกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด
- ถิ่นที่อยู่อาศัยบริเวณป่าชายเลนมีพื้นที่เพิ่มขึ้น แหล่งหญ้าทะเลมีพื้นที่เพิ่มขึ้น และมีสภาพสมบูรณ์ปานกลาง แนวปะการังมีแนวโน้มสมบูรณ์ขึ้น
- สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ส่วนใหญ่สำรวจพบในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ เกาะ ถ้ำ โดยพบชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นในแนวเขาหินปูนจำนวนมาก
- จำนวนชนิดพันธุ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามเพิ่มขึ้น
- ถิ่นที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่ธรรมชาติอื่น ส่วนแนวชายหาดถูกกัดเซาะรุนแรงเพิ่มขึ้น
สถานการณ์มลพิษและสิ่งแวดล้อม
สถานการณ์คงที่ สถานการณ์ดีขึ้น สถานการณ์ควรเฝ้าติดตาม
คุณภาพอากาศ
- ปริมาณฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ลดลง และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นสระบุรี (หน้าพระลาน)
- สารมลพิษชนิดอื่นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทั้งหมด ยกเว้น สารอินทร์ระเหยง่าย
- มลพิษอากาศในพื้นที่วิกฤตลดลง ยกเว้น พื้นที่ระยองที่เพิ่มขึ้นและเกินมาตรฐาน
- ปริมาณก๊าซโอโซนลดลง ยกเว้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ และปริมาณฑล
ระดับเสียง
- มลพิษทางเสียงส่วนใหญ่มีสาเหตมาจากการจราจร โดยเฉพาะในพื้นที่กรงเทพฯ และปริมณฑล
- ระดับเสียงพื้นที่ริมถนนและพื้นที่ทั่วไปอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและค่อนข้างคงที่
ขยะมูลฝอย/ของเสียอันตราย/ขยะมูลฝอยติดเชื้อ/และวัตถุอันตราย
- ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น
- สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เปิดดำเนินงานลดลง โดยมีสัดส่วนสถานที่ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเพียงร้อยละ 5 ของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยทั้งหมด
- ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น
- ของเสียอันตรายจากชุมชนและกากของเสียอุตสาหกรรม (ที่เป็นอันตราย) เพิ่มขึ้น
- ปริมาณขยะมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้น
- การนำเข้าวัตถุอันตรายภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมลดลง
สิ่งแวดล้อมและชุมชนเมือง
- ประชากรตามทะเบียนราษฎร์ในเขตเมืองค่อนข้างคงที่
- สิ่งแวดล้อมภูมิทัศน์ในเมืองใหญ่บางพื้นที่ บริเวณริมถนนสายหลักและริมคลองดีขึ้น
- พื้นที่สีเขียวต่อประชากรตามทะเบียนราษฎร์ในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น
- พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมดีขึ้น
สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม
- อุทยานธรณีในระดับท้องถิ่นได้รับการรับรองเพิ่มขึ้น
- จำนวนแหล่งศิลปกรรมเพิ่มขึ้น
- แหล่งมรดกโลกที่นำเสนอขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้น
- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี
คุณภาพน้ำ
- คุณภาพแหล่งน้ำผิวดินส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีถึงพอใช้
- คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีถึงพอใช้
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ
- อุณหภูมิเฉลี่ยใกล้เคียงกับค่าปกติ
- ปริมาณฝนเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติ
- ระดับน้ำทะเลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- ภัยพิบัติ โดยเฉพาะอุทกภัยและดินถล่มเพิ่มมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระยะสั้น (2 ปี)
การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรม
จากขยายตัวของพืชเศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งปลูกสร้างในเมืองหลัก และแหล่งท่องเที่ยว
การผลิตและการใช้แร่เพิ่มขึ้น
จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะแร่ที่ใช้เพื่อการก่อสร้าง ซึ่งอาจเกิดผลกระทยจากกระบวนการผลิต
การพึ่งพิงพลังงานภายนอกประเทศเพิ่มขึ้น
ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนจะกลับมาเพิ่มขึ้น
ความแปรปรวนของสภาพอากาศชัดเจนมากขึ้น
ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง
ความหลากหลายทางชีวภาพบนบกและในทะเลถูกคุกคาม
จากการสูญเสียถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ การกระทำผิดเกี่ยวกับสัตว์ป่า การจับสัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะขยะพลาสติก จากชีวิตวิถีใหม่และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระยะยาว (10 ปี)
สังคมสูงวัย พฤติกรรมผู้บริโภค การขยาย และกระจายตัวของเมือง
ส่งผลต่อการเกิดขยะและการใช้พลังงาน
ข้อตกลงระหว่างประเทศและการช่วยเหลือทางการเงิน
มีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการจูงใจเพิ่มพื้นที่ป่าไม้
ภาวะเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันดิบ
ส่งผลต่อการใช้ที่ดิน ขยะ ของเสีย และ GHG
ทิศทางการพัฒนาประเทศ
โมเดล BCG, LTS ฯลฯ จะมีผลต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการ และงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม
เงื่อนไขทางการค้า
มีทิศทางสนองต่อข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สภาพอากาศแปรปรวน
มีผลต่อปะการัง สัตว์ทะเล และผลผลิตการเกษตร
เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ช่วยให้การจัดการสิ่งแวดล้อมดีขึ้น แต่อาจใช้ทรัพยากรฯ ในอัตราเร็วขึ้น และเกิดซากอุปกรณ์หลังใช้งาน
ป่าไม้ (Forest) และพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ (Tree Cover)
แตกต่างกันอย่างไร
“ป่าไม้” มีการให้คำจำกัดความไว้หลายร้อยคำ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เป็นองค์ประกอบ เช่น ลักษณะการใช้ที่ดิน ขนาดของพื้นที่ องค์ประกอบของชนิดพันธุ์ ความหนาแน่นของทรงพุ่ม ความสูง ข้อกำหนดทางกฎหมาย และอื่นๆ ซึ่งมีการอาศัยตัวบ่งชี้ทางชีวฟิสิกส์ของพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ด้วยการวัดจากความสูงของต้นไม้ที่มีความสูงมากกว่า 5 เมตร และความหนาแน่นของทรงพุ่มมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ที่ความละเอียดภาพถ่ายดาวเทียม 30 เมตร
“พื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้” มีการกำหนดให้เป็นไม้ยืนต้นทุกชนิดที่มีความสูงอย่างน้อย 5 เมตร โดยไม่คำนึงถึงเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม หรือมีความสูงระหว่าง 3 ถึง 5 เมตร โดยมีขนาดทรงพุ่มเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 5 เมตร ไม่รวมพืชล้มลุก เช่น อ้อย กล้วย และไม้ยืนต้นขนาดสั้น เช่น ชาและกาแฟ พื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้อาจจะอยู่ในรูปแบบของต้นไม้ในป่าธรรมชาติ ต้นไม้ในเขตเมือง สวนป่า การปลูกต้นไม้ในเชิงอุตสาหกรรม และการปลูกต้นไม้เชิงเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา แอปเปิ้ล เป็นต้น
ป่าเขตเหนือ
(Boreal Forest)
มีลักษณะเป็นป่าสนในละติจูดทางตอนเหนือ คิดเป็น 24 % ของพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ทั่วโลกในปี 2020
ป่าเขตอบอุ่น
(Temperate Forest)
พบได้ในสภาพอากาศปานกลางระหว่างเขตร้อนและบริเวณทางตอนเหนือ ซึ่งประกอบด้วยป่าประเภทพืชใบกว้างและป่าสนผสมกัน คิดเป็น 15 % ของพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ทั่วโลกในปี 2020
ป่ากึ่งเขตร้อน
(Subtropical Forest)
ป่าเขตร้อน
(Tropical Forest)
ป่าเขตร้อนและป่ากึ่งเขตร้อน จะอยู่บริเวณใกล้กับเส้นศูนย์สูตร (Equator) คิดเป็น 61 % ของพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ทั่วโลกในปี 2020
** ต้นไม้ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก ยังสามารถพบได้ในเขตทุ่งหญ้าสะวันนา (Savanna) และเขตนิเวศอื่นๆ และยังมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศและเศรษฐกิจท้องถิ่น
พื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้
(Tree Cover)
ในปี 2000 (พ.ศ. 2543) โลกมีพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ครอบคลุมมากกว่า 30% ของพื้นที่บนโลกพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ได้กระจายอยู่ทั่วโลกและกระจายอยู่เกือบทุกประเทศ โดย 50% ของพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ทั้งหมดสามารถพบได้ใน 5 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ รัสเซีย บราซิล แคนาดา สหรัฐอเมริกา และจีน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่จึงมีสัดส่วนของพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ มากตามไปด้วย
ป่าดั้งเดิม
(Primary Forest)
“ป่าดั้งเดิม” คือ ป่าที่ยังไม่เคยถูกการแผ้วถางหรือเคยเกิดความเสื่อมโทรมจากกิจกรรมของมนุษย์มาก่อน ซึ่งผืนป่าดั้งเดิมจะไม่รวมถึงผืนป่าที่มีการปลูกขึ้นมาใหม่ผืนป่าดั้งเดิมประมาณ 50 % ของผืนป่าทั้งหมดจะอยู่ในป่าเขตร้อน 1.03 พันล้านเฮกแตร์ประเทศบราซิล สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และอินโดนีเซีย ถือว่ามีผืนป่าดั้งเดิมมากที่สุด
ความสำคัญ : โดยทั่วไปแล้วป่าดั้งเดิมจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าประเภทอื่นๆ และมักจะไม่สามารถทดแทนได้ในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ การสูญเสียป่าดั้งเดิมบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวของระบบนิเวศแม้ว่าจะมีการฟื้นฟูขึ้นในภายหลัง ซึ่งป่าทุติยภูมิหรือป่ารุ่น 2 ที่ได้รับการฟื้นฟู อาจจะสร้างความสามารถและประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอน รวมถึงการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพได้ แต่ยังไม่เทียบเท่าความสามารถและประสิทธิภาพของป่าดั้งเดิม
ประโยชน์ของป่าไม้
(The Many Benefits of Forests)
“ป่าไม้” ถือเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยสนับสนุนการดำรงชีวิต รวมถึงช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพได้
สภาพภูมิอากาศ: ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับ “คำเตือนครั้งสุดท้าย!!” เกี่ยวกับวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ การลดการตัดไม้ทำลายป่าถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่สุดที่ช่วยในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยป่าไม้เป็นทั้งแหล่งกำเนิดและแหล่งกักเก็บคาร์บอน ซึ่งสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศได้
สวัสดิภาพของมนุษย์: ประชากรบนโลกประมาณ 1.6 พันล้านคน รวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองเกือบ 70 ล้านคน มีการพึ่งพาทรัพยากรป่าไม้ในการดำรงชีวิต ซึ่งการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตร้อนส่งผลต่อการแปรผันของอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนในท้องถิ่น จนสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และผลผลิตทางการเกษตร
ความหลาหลายทางชีวภาพ: ป่าไม้เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่ถือว่ามีความหลากหลายมากที่สุดบนโลก โดยสิ่งมีชีวิตทุกชนิดพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่ามีบทบาทสำคัญในการรักษาระบบนิเวศ ทรัพยากร และการบริการ ที่จำเป็นจะต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน
การสูญเสียป่าและพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้
จากปี 2002 – 2023 (พ.ศ.2545 – 2566) ป่าดั้งเดิมเขตร้อนถูกทำลายไปแล้ว 76.3 Mha (ล้านเฮกแตร์) หรือลดลงไปถึง 7.4% ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันสามารถคิดเป็น 16% ของการสูญเสียพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ (Tree Cover) และมากกว่า 96% ของการตัดไม้ทำลายป่าจะเกิดขึ้นในป่าดั้งเดิมเขตร้อน โดยถือว่าเป็นผืนป่าที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การกักเก็บคาร์บอน และการควบคุมผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น
ในปี 2023 (พ.ศ.2566) โลกสูญเสียป่าดั้งเดิมเขตร้อนไปทั้งหมด 3.74 Mha (ล้านเฮกแตร์) นั่นเท่ากับ… “ป่าดั้งเดิมเขตร้อนถูกทำลายลงเกือบ 10 สนามฟุตบอลต่อนาที”
Mha = ล้านเฮกแตร์
1 ไร่ = 0.16 เฮกแตร์
1 เฮกแตร์ = 6.25 ไร่ หรือ 6 ไร่ 1 งาน
Top 10 ประเทศที่สูญเสียป่าดั้งเดิมเขตร้อนมากที่สุด ปี 2023
Global Annual Tree Cover Loss
โลกได้สูญเสียพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ (Tree Cover) ไปแล้ว 488 Mha (ล้านเฮกแตร์) นับตั้งแต่ปี 2001 – 2023 (พ.ศ.2544 – 2566) คิดเป็น 12% ของพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ในปี 2000 (พ.ศ.2543) และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไปทั้งหมด 207 Gt (กิกะตัน)
และในปี 2023 (พ.ศ.2566) โลกได้สูญเสียพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ไปถึง 28.3 Mha (ล้านเฮกแตร์)
- คำจำกัดความของ “พื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ (Tree Cover)” คือ มีการกำหนดให้เป็นไม้ยืนต้นทุกชนิดที่มีความสูงอย่างน้อย 5 เมตร โดยไม่คำนึงถึงเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม หรือมีความสูงระหว่าง 3 ถึง 5 เมตร โดยมีขนาดทรงพุ่มเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 5 เมตร ไม่รวมพืชล้มลุก เช่น อ้อย กล้วย และไม้ยืนต้นขนาดสั้น เช่น ชาและกาแฟ พื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้อาจจะอยู่ในรูปแบบของต้นไม้ในป่าธรรมชาติ ต้นไม้ในเขตเมือง สวนป่า การปลูกต้นไม้ในเชิงอุตสาหกรรม และการปลูกต้นไม้เชิงเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา แอปเปิ้ล เป็นต้น
- “การสูญเสียพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ (Tree Cover)” หมายถึง การนำพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ออกทั้งหมดไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม รวมถึงการสูญเสียที่เกิดจากมนุษย์และเหตุการณ์ทางธรรมชาติ การสูญเสียพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้อาจเป็นการสูญเสียแบบถาวรหรือชั่วคราวก็ได้ ตัวอย่างเช่น
- การสูญเสียพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ชั่วคราวอาจเกิดขึ้นเมื่อต้นไม้ถูกเก็บเกี่ยวผลผลิตจากเนื้อไม้ และต่อมามีการปลูกใหม่หรือปล่อยให้งอกใหม่ตามธรรมชาติ
- การตัดไม้ทำลายป่า โดยทั่วไปหมายถึง การกำจัดโดยถาวรซึ่งเกิดจากมนุษย์
Global Annual Tree Cover Loss (Mha)
Mha = ล้านเฮกแตร์ / 1 ไร่ = 0.16 เฮกแตร์ / 1 เฮกแตร์ = 6.25 ไร่ หรือ 6 ไร่ 1 งาน
TOP 5 ประเทศที่สูญเสียพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้
ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้
(Drivers of Tree Cover Loss)
การทำป่าไม้ (Forestry)
การทำป่าไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่าที่ได้รับการจัดการหรือมีการปลูกต้นไม้ทดแทน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นได้ใหม่ในอนาคต อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากการฟื้นฟูตามธรรมชาติหรือจากการปลูกต้นไม้
การทำเกษตรแบบหมุนเวียน
(Shifting Agriculture)
การทำเกษตรแบบหมุนเวียนเป็นการทำเกษตรกรรมที่มีการแผ้วถางป่า โค่นต้นไม้ เพื่อทำเป็นพื้นที่เพาะปลูก โดยจะใช้เวลาในการทำเกษตรกรรมประมาณ 2 –3 ปี แล้วจะละทิ้งพื้นที่ชั่วคราวเพื่อให้ต้นไม้และพืชพรรณได้ฟื้นฟูไปตามธรรมชาติ และจะไปทำเกษตรกรรมในพื้นที่อื่นแทน ซึ่งจะมีการละทิ้งพื้นที่โดยใช้เวลา 10 – 15 ปี หรือน้อยกว่านั้น แล้วจะมีการกลับใช้พื้นที่เดิมที่ละทิ้งไปเพื่อทำเกษตรกรรมอีกครั้ง
ไฟป่า (Wildfire)
การเกิดไฟป่าในปัจจุบันบางส่วนเกิดจากธรรมชาติ เช่น เกิดจากฟ้าผ่า อากาศร้อนขึ้น แสงตกกระทบกับผลึกหิน กิ่งไม้เสียดสีกัน ภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น และอีกสาเหตุของการเกิดไฟป่าเกิดขึ้นจากมนุษย์โดยเฉพาะในป่าเขตร้อน ซึ่งมักจะเผาเพื่อแผ้วถางพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรม
การขยายตัวของพืชเศรษฐกิจที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการส่งออก
(Commodity-driven deforestation)
โดยการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการส่งออก เป็นการเปลี่ยนป่าอย่างถาวรเพื่อการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงการเกษตร เหมืองแร่ หรือการผลิตน้ำมันและก๊าซ
การขยายตัวของเมือง
(Urbanization)
ซึ่งการขยายตัวของเมืองเป็นการเปลี่ยนพื้นที่ป่าไปเป็นพื้นที่อื่นอย่างถาวรเพื่อใช้เป็นการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
Drivers of Tree Cover Loss by Region, 2011-2023
Global Annual Tree Cover Loss From Fires
นับตั้งแต่ปี 2001 – 2023 (พ.ศ.2544 – 2566) มีพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้สูญหายไปจากการเกิดไฟป่า 138 Mha (ล้านเฮกแตร์) และอีก 350 Mha (ล้านเฮกแตร์) เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ซึ่งการเกิดไฟป่าเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกสูญเสียพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ถึง 28% ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
และปี 2023 (พ.ศ.2566) เป็นปีที่มีการสูญเสียพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้จากสาเหตุการเกิดไฟป่ามากที่สุด 11.9 Mha (ล้านเฮกแตร์)
การมีอยู่ของพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ ไม่ได้ทำให้เกิดผืนป่าเสมอไป
การสูญเสียพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ไม่ได้หมายถึงการสูญเสียผืนป่าหรือการตัดไม้ทำลายป่าเสมอไป
และการเพิ่มขึ้นของต้นไม้ก็ไม่ได้หมายถึงการได้รับการดูแลหรือการฟื้นฟูผืนป่าเสมอไป
Greenhouse Gas Fluxes from Forests
.
ระหว่างปี 2001 – 2023 (พ.ศ.2544 – 2566) ผืนป่าทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา 9.01 GtCO2e/year และสามารถกำจัดได้ 14.5 GtCO2e/year
ผืนป่าทั่วโลกเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ เฉลี่ยที่ 5.48 GtCO2e/year
GtCO2e/year : พันล้านตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี
GHG Fluxes จากป่าไม้ คืออะไร?
เมื่อป่าไม้หรือต้นไม้เจริญเติบโต จะสามารถลดระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในชั้นบรรยากาศได้ โดยการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ผ่านการสังเคราะห์แสง และกักเก็บคาร์บอนไว้ในพืชพรรณและดิน เมื่อต้นไม้หรือป่าไม้ถูกตัด แผ้วถาง หรือเผา หรือมีการไถพรวนระบายดินเพื่อการเกษตร ดังนั้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ (GHG) จะถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ
GHG Fluxes คือ ความแตกต่างระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดซับหรือการกำจัด เรียกว่า “ฟลักซ์สุทธิ” ดังนั้น ฟลักซ์สุทธิอาจเป็นค่าบวก (การเพิ่มของ GHG สู่ชั้นบรรยากาศ) หรือเป็นค่าลบ (การกักเก็บสุทธิหรือการนำ CO2 ออกจากชั้นบรรยากาศ) ขึ้นอยู่กับความสมดุลของฟลักซ์รวม
ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas)
ประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) และก๊าซอื่นๆ ที่มีต้นกำเนิดมาจากทุกแหล่ง ในขณะที่การให้ความสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้มีการมุ่งเน้นไปที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เนื่องจากเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ในช่วงปี 2001 – 2023 (พ.ศ.2544 – 2566) ป่าไม้ที่มีอยู่บนโลกสามารถกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ (GHG) ได้มากกว่าการปล่อยก๊าซเหล่านี้ออกมา ขณะที่ป่าเขตร้อน (Tropical Forest) มีทั้งการปล่อยและการกำจัดก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยต่อปีสูงสุดซึ่งมากกว่าป่าในเขตอื่นๆ แม้ว่าป่าเขตร้อนจะมีเพียง 30% ของพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ แต่กลับมีคาร์บอนถึง 50% ของโลกที่สะสมอยู่ในต้นไม้ของป่าเขตนี้ โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ย 5.7 GtCO2e/year และสามารถกำจัดได้โดยเฉลี่ย 7.1 GtCO2e/year
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าป่าเขตร้อน (Tropical Forest) จะสามารถกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณที่มากกว่าป่าในเขตอื่นๆ แต่การปล่อยก๊าซโดยรวมเฉลี่ยต่อปีที่เกิดจากการถูกรบกวนนั้นมากกว่าป่าเขตอื่น คิดเป็น 1.5 เท่าของการปล่อยก๊าซโดยรวมเฉลี่ยต่อปีที่เกิดจากการถูกรบกวนในป่าเขตอบอุ่น (Temperate Forest) และป่าเขตเหนือ (Boreal Forest) รวมกัน
ค่าเฉลี่ย GHG Fluxes จากป่าไม้ ปี 2001-2023
ADD VIDEO
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ปี 2001-2022
ปริมาณความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ปี 2001 – 2023
ป่าไม้มี ‘ความสำคัญ’ ต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร
ปี 2018 (พ.ศ.2561) ผืนป่า 782 Mha (ล้านเฮกแตร์) ได้รับการพิจารณาว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพครบถ้วนและอุดมสมบูรณ์ ในผืนป่าจำนวนนี้มี 32% ที่ได้รับสถานะคุ้มครองตามกฎหมาย โดยที่ผืนป่า 67% ตั้งอยู่ในป่าเขตร้อน และ 2 ใน 3 ถูกพบได้ใน 5 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ บราซิล แคนาดา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เปรู และรัสเซีย ถึงแม้ว่าป่าเขตอบอุ่นและป่าเขตเหนือจะได้รับความสนใจน้อยกว่าป่าเขตร้อน แต่ผืนป่าเหล่านี้มีความหลากหลายทางชีวภาพที่มีลักษณะเฉพาะและมีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน
ในจำนวนผืนป่า 782 Mha (ล้านเฮกแตร์) มีผืนป่า 455 Mha (ล้านเฮกแตร์) ถูกพิจารณาว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่ง 24% ได้รับสถานะคุ้มครองตามกฎหมาย โดยที่มีผืนป่า 25% ถูกพบในออสเตรเลีย บราซิล และอินโดนีเซีย และอีกเกือบ 41% มีที่ตั้งอยู่บนเกาะ
ปี 2023 (พ.ศ. 2566) มีการสูญเสียผืนป่าที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความหลากหลายทางชีวภาพถึง 2.6 Mha (ล้านเฮกแตร์) 29% เกิดขึ้นในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และมาดากัสการ์
พื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
การคุกคามชนิดพันธุ์และแหล่งที่อยู่อาศัย
สัตว์ป่าสำคัญหลายชนิด เช่น ช้างเอเชีย อุรังอุตัง และเสือ กำลังสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยอย่างน่าตกใจ กิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะการปลูกพืชเชิงเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ได้เข้ามาแทนที่พื้นที่ป่า ส่งผลให้แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายไป การกระจายพันธุ์ของชนิดพันธุ์ถูกจำกัด แหล่งอาหารลดลง และเพิ่มความเสี่ยงของความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า การลักลอบล่าสัตว์ และการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย
ผลกระทบของห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อทรัพยากรป่าไม้
(Impact of Supply Chains on Forest Resources)
ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)
80% ของสิ่งมีชีวิตบนบก มีถิ่นอาศัยอยู่ในผืนป่า
ขณะที่โลกของเรากำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 (The 6th extinction) ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ในอัตรา 1,000 – 10,000 เท่า ดังนั้น การปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยในผืนป่าจึงเป็นกุญแจสำคัญ
ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพที่เหลืออยู่
สภาพธรรมชาติ
ป่าไม้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของพันธุ์พืชและสัตว์ป่า ในทางกลับกันชนิดพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่ามีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพป่าไม้เช่นกัน
ปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงแหล่งที่อยู่อาศัยในป่า อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ได้ เมื่อมีชนิดพันธุ์น้อยลงส่งผลให้เกิดปัญหาต่อความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อาหารทั้งหมด
สภาพภูมิอากาศ (Climate)
ป่าไม้สามารถช่วยควบคุมอุณหภูมิของโลก ให้อยู่ต่ำกว่า 2°C ได้ 30%
ป่าไม้จะมีการกำจัดและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากชั้นบรรยากาศ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความคุ้มค่า ดังนั้น การสูญเสียป่าไม้หรือการเสื่อมโทรมของป่าไม้ ส่งผลให้ความสามารถในการกำจัดก๊าซเรือนกระจกลดลง (Greenhouse Gas: GHG)
สภาพธรรมชาติ
ป่าไม้ถือเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกจากชั้นบรรยากาศตามธรรมชาติ ซึ่งป่าไม้สามารถดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกจากชั้นบรรยากาศที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งรวมถึงถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน
ปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
ความสามารถของป่าไม้ในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกจากชั้นบรรยากาศ จะถูกลดความสามารถลงได้โดยการแปรสภาพพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม การผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ การขยายตัวของเมือง โรคภัยไข้เจ็บ และไฟป่าที่ทำให้เกิดการสูญเสียผืนป่า ฯลฯ เมื่อต้นไม้เกิดลุกไหม้หรือเน่าเปื่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่สะสมไว้จะถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงยิ่งขึ้น
สินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการส่งออก (Commodities)
40% ของการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลก เป็นผลมากจากสินค้าโภคภัณฑ์
การผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น เนื้อวัว ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม เยื่อกระดาษ กระดาษ พลังงาน และแร่ธาตุ เป็นต้น ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ดังนั้น การผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้และช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สภาพธรรมชาติ
สังคมมนุษย์มีการพึ่งพาป่าไม้เพื่อเป็นแหล่งอาหาร เชื้อเพลิง และยารักษาโรคมาเป็นเวลาหลายพันปี ซึ่งแนวทางปฏิบัติแบบดั้งเดิม เช่น วนเกษตร เกษตรกรรมขนาดเล็ก และเกษตรกรรมหมุนเวียน ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ แต่สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับชุมชนท้องถิ่นได้
ปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
เมื่อความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น การตัดไม้ทำลายป่าจากภาคการเกษตรในระดับอุตสาหกรรม การเก็บเกี่ยวไม้อย่างผิดกฎหมาย และการทำเหมืองแร่ที่เพิ่มขึ้น เมื่อขาดการตรวจสอบและติดตามแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์และขาดการคำนึงถึงผลกระทบต่อผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อม จะทำให้การควบคุมผลกระทบที่เกิดจากอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องยาก
น้ำ (Water)
ประชากรโลกเกือบ 20% จะเสี่ยงต่อเหตุการณ์น้ำท่วมภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593)
ป่าไม้ถือเป็นวิธีการทางธรรมชาติที่มีความคุ้มต้นทุน ในการช่วยให้มีน้ำสะอาดเพียงพอและป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ เช่น น้ำท่วมและภัยแล้ง
สภาพธรรมชาติ
ป่าไม้มีความสำคัญต่อการเป็นแหล่งต้นน้ำที่สะอาดและอุดมสมบูรณ์ ป่าไม้ที่มีสุขภาพดีจะมีความสามารถในการกรองน้ำ ลดการกัดเซาะ ควบคุมปริมาณน้ำฝน เติมน้ำใต้ดิน และป้องกันผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำท่วมได้ ส่วนพื้นที่ป่าชายเลนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันคลื่นและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่สำคัญสำหรับสัตว์ทะเล
ปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
การตัดไม้ทำลายป่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของลุ่มน้ำ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมและความแห้งแล้ง ไฟป่าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถสร้างมลพิษให้กับแหล่งน้ำ ลดพื้นที่ป่าไม้ และส่งผลกรทบทางลบต่อชุมชนท้องถิ่น
ไฟป่า (Wildfire)
แม้ว่าไฟป่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติในระบบนิเวศป่าไม้บางประเภท แต่ฤดูไฟป่ากลับทวีความรุนแรงมากขึ้น
สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการที่ดินที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดไฟป่าที่บ่อยและรุนแรงขึ้น
สภาพธรรมชาติ
ป่าไม้ที่อยู่ในเขตละติจูดสูง ไฟป่าจะช่วยรักษาระบบนิเวศป่าไม้ให้แข็งแรงโดยการปล่อยสารอาหารที่สำคัญลงสู่ดินและช่วยในการกระจายเมล็ดพันธุ์ ขณะที่ป่าเขตร้อน ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนพื้นเมืองจะมีการใช้ไฟเพื่อแผ้วถางพื้นที่ทางการเกษตรมานานหลายศตวรรษ
ปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของป่าไม้ทำให้เกิดสภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าทั่วโลก ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งมากขึ้น ไฟป่าที่เกิดจากมนุษย์หรือสาเหตุจากธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะลุกไหม้ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงและพื้นที่ขนาดใหญ่
อ้างอิง
ภาพ
- เสือโคร่งอินโดจีนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง | วัชรบูล ลี้สุวรรณ
- ช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี | เกศรินทร์ เจริญรักษ์
- อุรังอุตัง | Miguel Cuenca
- ผืนป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก | เกศรินทร์ เจริญรักษ์
- ป่าเขตเหนือ (Boreal Forest) | invisiblepower: https://www.pexels.com/th-th/photo/343219/
- ป่าเขตอบอุ่น (Temperate Forest) | urtimud.89: https://www.pexels.com/th-th/photo/10267797/
- ป่ากึ่งเขตร้อน (Subtropical Forest) | https://shorturl.at/GgqSm
- ป่าเขตร้อน (Tropical Forest) | David Riaño Cortés: https://www.pexels.com/th-th/photo/975771/
- ไฟป่า | marco allasio: https://www.pexels.com/th-th/photo/4275990/
- การปล่อยมลพิษสู่บรรยากาศ | Pixabay: https://www.pexels.com/th-th/photo/39553/
ข้อมูล
- รายงานโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2566 | สำนักจัดการที่ดินป่าไม้. กรมป่าไม้ https://bit.ly/3PLCOoW
- สรุปสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม 2566 (ฉบับ Infographic) | สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม https://www.onep.go.th/book/info-soe66/
- สถิติไฟป่า | ส่วนควบคุมไฟป่า. สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช https://portal.dnp.go.th/Content/firednp?contentId=15705
- Global Deforestation Rates & Statistics by Country | Global Forest Watch https://www.globalforestwatch.org/dashboards/global/
- Forest Monitoring Designed for Action | Global Forest Watch https://www.globalforestwatch.org/
- Forest Pulse: The Latest on the World’s Forests | World Resources Institute. Global Forest Review https://shorturl.at/HBnHv
- Impact of Supply Chains on Forest Resources | Deforestation & Commodities. Global Forest Watch https://www.globalforestwatch.org/topics/commodities/#intro
- Biodiversity Conservation | World Resources Institute. Global Forest Review https://shorturl.at/gEXtw
- Key Terms and Definitions | World Resources Institute. Global Forest Review https://research.wri.org/gfr/key-terms-definitions
- Greenhouse Gas Fluxes from Forests | World Resources Institute. Global Forest Review https://shorturl.at/4vlQq
- Forest Carbon Stocks | World Resources Institute. Global Forest Review https://shorturl.at/iIjsB
- Atmospheric CO2 ppm by year 1959-2023 | Statista https://shorturl.at/6eMD5
- CO₂ and Greenhouse Gas Emissions | Our World in Data https://ourworldindata.org/co2-and-greenhouse-gas-emissions
- Greenhouse gas emissions | Our World in Data https://ourworldindata.org/greenhouse-gas-emissions