ปลาซิวสมพงษ์ เป็น 1 ใน 100 สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของโลก (Critically Endangered-CR) ตามเกณฑ์ IUCN Red list ที่ต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน และมีโอกาสสูงมากที่จะสูญพันธุ์ไปจากโลกหากไม่มีการดำเนินการใดๆ

ปลาซิวสมพงษ์
Somphong’s rasbora
Trigonostigma somphongsi

ลักษณะ

ปลาซิวสมพงษ์ (Trigonostigma somphongsi) เป็นปลาขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มปลาซิวข้างขวาน มีลักษณะโดดเด่น คือ มีแถบดำพาดขวางลำตัวจากบริเวณคอดหาง

มีขนาดโตเต็มที่เฉลี่ยประมาณ 15.5 มิลลิเมตร มีลักษณะที่เด่นชัดระหว่างเพศผู้กับเพศเมีย

เพศผู้ลักษณะรูปร่างเรียวยาวและมีขนาดเล็กกว่าปลาเพศเมีย บริเวณลำตัวสีส้มแดง ลายข้างลำตัวเป็นเส้นดำที่ครึ่งหลังของแนวกลาง

เพศเมียรูปร่างป้อมกว่า มีสีเหลือง ปลาเพศเมียที่โตเต็มวัยจะมีขนาดใหญ่กว่าปลาเพศผู้อย่างเห็นได้ชัด และจะชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่ปลาพร้อมจะผสมพันธุ์หรือพร้อมวางไข่ โดยลำตัวจะออกเป็นสีเหลืองทอง มีส่วนท้องที่อ้วนกว่า

การค้นพบ

ปลาซิวสมพงษ์ ถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศเยอรมัน ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) โดยตัวอย่างปลาซิวสมพงษ์ 2 ตัว ถูกส่งมาจาก “Aquarium-Westhandel” เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นปลาสวยงามนำเข้ามาจากประเทศไทย

ปลาซิวสมพงษ์ได้รับตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
Trigonostigma somphongsi (Meinken, 1958) เพื่อให้เป็นเกียรติแก่ “สมพงษ์อะควาเลี่ยม” ซึ่งก่อตั้ง โดยนายสมพงษ์ เล็กอารีย์ และนายพิบูลย์ ประวิชัย ผู้ประกอบการส่งออกปลาสวยงามพื้นบ้านรายแรกๆ ของประเทศไทย (ก่อตั้งในช่วงหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2) ซึ่งเป็นผู้ส่งออกปลาซิวสมพงษ์ไปที่ “Aquarium-Westhandel” เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ในประเทศไทยเคยมีรายงานพบปลาซิวสมพงษ์ในธรรมชาติครั้งแรกที่ลุ่มน้ำหลากของกรุงเทพมหานครตอนเหนือ (คลองจั่น) ลุ่มน้ำแม่กลอง แถบจังหวัดราชบุรี และน่าจะเคยมีพบในพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นหนองบึงที่มีพรรณไม้น้ำหนาแน่นที่อื่นๆ ของภาคกลางตอนล่าง

ครั้งหนึ่งเคยเชื่อว่าสูญพันธุ์แล้วในธรรมชาติ เนื่องไม่มีรายงานการค้นพบอย่างเป็นทางการมานานหลายสิบปี และมีการค้นพบใหม่อีกครั้งจากการทำโครงการวิจัย “การศึกษาความหลากชนิดของปลาในนาข้าวน้ำลึก
จ.นครนายก” ของ ผศ.ดร.นิสราภรณ์ เพ็ชร์สุทธิ์ พบปลาซิวสมพงษ์ในพื้นที่แปลงนาข้าวน้ำลึก บ้านแขมโค้ง ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2557

ภัยคุกคาม

ปัจจุบันปลาซิวสมพงษ์ จัดเป็นปลาที่มีสถานภาพ “ใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤติ (Critically endangered)” และจัดเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิต 100 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดของโลกจากการระบุของ Zoological Society of London

จากการสำรวจข้อมูล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2562 พบว่า ประชากรปลาซิวสมพงษ์มีแนวโน้มลดลงจากปัจจัยคุกคามหลัก คือ การสูญเสียถิ่นอาศัยและมลภาวะจากชุมชนและการเกษตร การขยายตัวของการทำนาแบบอุตสาหกรรมที่ใช้สารเคมี และการเปลี่ยนพื้นที่เป็นชุมชน โดยมีการประเมินขนาดพื้นที่ที่พบทั้งหมดในโลก/ไทย (EOO) และขนาดพื้นที่ถิ่นอาศัยจริงในโลก/ไทย (AOO) น้อยกว่า 100 ตารางกิโลเมตร

ปัจจุบันคาดว่า ประชากรปลาซิวสมพงษ์หลงเหลือเพียง 1% จากที่เคยมีมาทั้งหมด

การอนุรักษ์

ปลาซิวสมพงษ์ ถูกระบุเป็นหนึ่งใน 136 สายพันธุ์หลักใน CEPF Indo-Burma Biodiversity Hotspot Update 2020 โดยได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 สายพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ การค้นพบที่ ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก ถือว่าจําเป็นเนื่องจากเป็นประชากรหลักกลุ่มสุดท้าย ซึ่งต้องการการอนุรักษ์และดูแลอย่างมีประสิทธิภาพภายในที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ

ซึ่งในปี 2565 ได้มี โครงการ “การสำรวจแบบมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ในประเทศไทย” และจากการจัดทำ สมุดปกขาว อนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ และทุ่งปากพลี เพื่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน ได้สะท้อนให้เห็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้ามในการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ในถิ่นที่อยู่อาศัยสุดท้าย อย่างน้อย 2 ประเด็น ได้แก่

1. การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ประเด็นนี้หากทางจังหวัดให้ความสำคัญจะส่งผลดีต่อสัตว์หายากหลายชนิด อาทิเช่น นกเหยี่ยวและนกน้ำหลายชนิดที่อพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่ ปลาหายาก ปลาเศรษฐกิจนานาชนิด รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิต และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เช่น วิถีนาข้าวน้ำลึก เป็นต้น หากได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็น Unseen ของจังหวัดนครนายก ที่ทุกๆ คนจากทั่วประเทศจะต้องเข้ามาชมปลาซิวสมพงษ์ฝูงสุดท้ายของโลก พร้อมเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมนาข้าวน้ำลึก ซึ่งนอกจากจะช่วยในแง่ของการอนุรักษ์แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนฐานราก และเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีรายได้ที่ดีขึ้นอีกด้วย

2. การส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นตั้งศูนย์การเรียนรู้การเพาะขยายพันธุ์ปลาซิวสมพงษ์ และพันธุ์ปลา หายากในท้องถิ่น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาหายากให้คงอยู่ตลอดไป อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.นครนายก อีกด้วย นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เนื่องจากผลการสำรวจในโครงการวิจัย “การสำรวจแบบมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ในประเทศไทย” พบว่า มีพันธุ์ปลาท้องถิ่นหลายชนิดที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นพันธุ์ปลาสวยงามเชิงพาณิชย์ หากมีสนับสนุนจากทางจังหวัด รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะขยายพันธุ์ปลาเหล่านั้นให้กับชุมชนได้เรียนรู้และพัฒนาเป็นอาชีพ จะเป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ ปัจจุบัน หน่วยงานท้องถิ่น ได้ออกประกาศขอความร่วมมือกระทำการหรืองดเว้นกระทำการในเขตทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์ พื้นที่สาธาณะรอบข้าง ซึ่งเป็นบริเวณถิ่นที่อยู่อาศัยของปลาซิวสมพงษ์ หากผู้ใดกระทำละเมิดเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินทรัพยากร รวมทั้งกระทำการใดที่เป็นการสร้างความเดือดร้อนในบริเวณทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือจะดำเนินการตามกฎหมาย

.

.

พื้นที่นาข้าวน้ำลึกที่พบปลาซิวสมพงษ์ในฤดูน้ำหลาก เดือนตุลาคม 2564 จาก สมุดปกขาว อนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ และทุ่งปากพลี เพื่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน

“เราขอพูดในนามของสัตว์ป่า” ภารกิจอนุรักษ์สัตว์ป่ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร – ภาณุเดช เกิดมะลิ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้อ่านอาจพบเรื่องราวของกวางผา เสือปลา พญาแร้ง ควายป่า ตลอดจนปลาซิวสมพงษ์ ปราก …

โครงการสนับสนุนชุมชน ในการอนุรักษ์ทุ่งน้ำหลาก อันเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของปลาซิวสมพงษ์ ที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์

ชื่อโครงการ : สนับสนุนชุมชน ในการอนุรักษ์ทุ่งน้ำหลากอันเป็น ระบบนิเวศที่สำคัญของปลาซิวสมพงษ์ ที่กำลั …

แผ่นพับ ปลาซิวสมพงษ์ ทุ่งใหญ่ท่าเรือ-ปากพลี ระบบนิเวศที่กำลังสูญพันธุ์

บ้านหลังสุดท้ายของ ‘ปลาซิวสมพงษ์’ 1 ใน 100 สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของโลก ทุ่งน้ำหลากในตำบลท่าเรื …