พญาแร้ง นกนักกินซาก เทศบาลประจำผืนป่า สูญพันธุ์ไปจากผืนป่าประเทศไทยกว่า 30 ปี
พญาแร้ง
Red-headed Vulture
Sarcogyps calvus
ลักษณะ
‘พญาแร้ง’ เป็นนกขนาดใหญ่ ขนาดลำตัวประมาณ 80 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มที่หัว คอ และเท้ามีสีแดง ขนตามลำตัวสีดำ ขนที่หน้าอกและโคนขามีสีขาว ที่คอมีสีขาวขึ้นโดยรอบมองดูคล้ายสวมพวงมาลัย ตัวที่ยังไม่โตเต็มที่ ขนบริเวณหัวและอกมีสีขาว ปีกสีน้ำตาล ลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันระหว่างเพศผู้และเพศเมีย คือ เพศผู้ม่านตาสีเหลือง ส่วนเพศเมียจะมีม่านตาสีดำไปจนถึงสีแดงหม่น
หน้าที่ในระบบนิเวศ
แม้พญาแร้งจะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘นกนักล่า’ แต่วิธีการหาอาหารของแร้งไม่เหมือนกับเหยี่ยวหรือนกอินทรี คือ พญาแร้งจะไม่ฆ่าสัตว์อื่น แต่จะรอเวลาให้สัตว์ตาย แล้วก็กินเนื้อจากซากสัตว์เหล่านั้น หรือก็คือคอยกำจัดซากของสัตว์ต่างๆ ที่ตายลง
ในร่างกายของแร้งมีความพิเศษในเรื่องของระบบย่อยอาหาร โดยในกระเพาะอาหารจะประกอบไปด้วยน้ำย่อยที่มีความเป็นกรดรุนแรง และโปรโตซัวที่มีความแข็งแกร่ง คอยกัดกินแบคทีเรียและเชื้อโรคต่าง ๆ ช่วยลดการแพร่กระจายของโรคระบาดในสัตว์ป่า เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคพิษสุนัขบ้า และตัดวงจรการขยายพันธุ์ของเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในตัวสัตว์ป่านั้น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นให้หมดไป ซึ่งหากมองในมุมด้านสุขอนามัย พญาแร้งจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในฐานะผู้ดูแลสุขภาพของผืนป่าให้ปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดแหล่งรังโรค
พญาแร้ง จึงเปรียบได้กับผู้ที่ทำให้ระบบนิเวศในผืนป่าเกิดความสมดุล และคงความหลากหลายทางชีวภาพ หากที่ไหนมีพญาแร้งพื้นที่แห่งนั้นจะต้องมีซากสัตว์ และแสดงว่าต้องมีสัตว์ป่าผู้ล่าอาศัยอยู่ ทำให้เห็นว่าพญาแร้ง คือสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชนิดที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าใหญ่
การสูญพันธุ์ในประเทศไทย
14 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นวันที่พญาแร้งฝูงสุดท้าย ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ถูกวางยาตายยกฝูง จากเหตุการณ์พรานวางยาเนื้อเก้งเพื่อหวังให้เสือโคร่งมากิน แต่กลับกลายเป็นพญาแร้งที่ลงมากินซาก และตายยกฝูงในคราวเดียว เราได้สูญสิ้นพญาแร้งไปจากป่าเมืองไทยนับแต่นั้นมา
เหตุการณ์ดังกล่าวถูกบันทึกไว้ในสารคดีเรื่อง ‘วิกฤตแร้งในประเทศไทย’ ความตอนหนึ่งบันทึกไว้ว่า
“การเดินทางผ่านไปจวบจนยามบ่าย ข้าพเจ้าก็ตามขวัญชัยมาจนใกล้จุดที่ชุดลาดตระเวนตรึงกำลังรออยู่เข้าทุกที มีพญาแร้งบินวนอยู่สูงลิบลิ่วพอเห็นเป็นจุดใหญ่สีดำได้ 1 ตัว
“ใกล้ๆ กันนั้น ริมห้วยทางฝั่งตะวันตก บนต้นไม้แห้งยืนต้นชะลูดตาย มีแร้งอีกตัวเกาะจับคอนอยู่อย่างคออ่อนง่อนแง่น ตัวโยกหกไปมาหน้าหลังแต่ยังไม่ถึงกับร่วงหล่นลงมา… เราได้แต่ยืนมองอยู่ไกลๆ โดยช่วยอะไรไม่ได้เลย
“อีกหนึ่งคุ้งน้ำข้างหน้า เป็นจุดที่ชุดลาดตระเวนรักษาการณ์อยู่ แต่มีบางคนที่แยกห่างกระจายออกไปคุมเชิงไว้ เพื่อไล่ไม่ให้พญาแร้งที่ยังมีชีวิตบางตัวลงมากินซาก เนื่องจากแต่ละซากนั้นเต็มไปด้วยยาพิษ
“มันเป็นซากเก้งที่ถูกยิงตายแล้วตัดครึ่งตัวเป็นท่อนหัวทางท่อนหางทาง ตามลำตัวซากจะมีปากแผลปรุเป็นรูที่ถูกมีดทิ่มๆ ในแต่ละรูนั้นจะถูกยัดหรือบรรจุไว้ด้วยยาเกล็ดสีม่วงๆ คล้ายแต่อันตรายกว่าด่างทับทิมประมาณ 1 ล้านเท่า ซึ่งที่ตลาดปากเหมือง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี มีขายในชื่อเรียกว่า “ฟูราดาน”
“เห็นภาพตำตาอยู่ต่อหน้า แดดกล้าแผดร้อนเปรี้ยง ตรงนั้นซากเก้งที่มีเพียงส่วนหัวครึ่งท่อนและเริ่มเน่าส่งกลิ่นโชยมาบ้าง รอบๆ ข้างมีพญาแร้งที่เคยบินร่อนอย่างสง่างาม มาบัดนี้ความงามนั้นมันมิได้หลงเหลืออยู่แล้ว และต่างก็พากันล้อมวงล้มลงนอนตายเรียงรายอยู่ 5 ตัว
“ห่างออกไปมีอีก 2 ซากเก้ง เป็นอีก 1 ซากท่อนหัวและอีก 1 ท่อนหาง มีแร้งนอนตายแหงแก๋หงายท้องแผ่กระจัดกระจายอยู่อีกที่ละตัวสองตัว แร้งบางตัวมานอนตายซบอยู่ริมลำห้วย อาจจะอยากกินน้ำเพื่อช่วยลดความรุ่มร้อนทรมาน”
อนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 ไม่ได้ฆ่าแร้งให้ตายทั้งหมดในคราวเดียว แต่ก็ทำให้กลุ่มประชากรฝูงสุดท้าย ที่คาดกันว่าน่าจะเหลือเพียง 30 ตัว ค่อยๆ ล้มตายจากไปทีละตัวสองตัวในเวลาไล่หลังจากนั้นไม่นานนัก
ทั้งนี้ พญาแร้ง ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง Critically Endangered (CR) จากการประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ International Union for Conservation of Nature (IUCN) หรือ IUCN Red List และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
ภาพจาก นิตยสาร Advanced Thailand Geographic
การอนุรักษ์
แม้พญาแร้งจะสูญพันธุ์ไปจากผืนป่าของประเทศไทยนานหลายทศวรรษ แต่ปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของ 4 องค์กร ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อฟื้นฟูและขยายพันธุ์พญาแร้งที่อาศัยอยู่ในกรงเลี้ยง โดยหวังว่าในวันหนึ่งจะสามารถปล่อยพญาแร้งกลับไปโบยบินเหนือผืนป่าได้อีกครั้ง
การดำเนินโครงการจนถึงปัจุบัน สามารถขยายพันธุ์จำนวนพญาแร้งได้แล้ว 2 ตัว โดยตัวหนึ่งเกิดที่สวนสัตว์นครราชสีมา และอีกตัวหนึ่งเกิดในกรงเพาะเลี้ยงของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งตั้งอยู่ที่หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า
นอกจากการฟื้นฟูจำนวนประชากรแล้ว ปัจจุบันยังได้มีการจัดตั้งให้ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็น ‘วันรักษ์พญาแร้ง’ เพื่อสร้างความตระหนักต่อสาธารณชนต่อการอนุรักษ์พญาแร้งต่อไป
ทั้งนี้ สาธารณชนสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูพญาแร้งได้ ผ่านการสนับสนุนโครงการพญาแร้งคืนถิ่น บัญชี ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส รัตนาธิเบศร์ บัญชีเลขที่ 679-6-72119-5
อนาคตพญาแร้ง
ต้าวเหม่ง (พญาแร้งเพศเมีย) ตอนอายุ 1 ปี 1 เดือน (เมษายน 2567) ลูกพญาแร้งตัวแรกที่เกิดภายใต้โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ฟักออกจากไข่ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ที่สวนสัตว์นครราชสีมา จากการจับคู่ของพญาแร้งแจ๊ค (เพศผู้) และพญาแร้งนุ้ย (เพศเมีย) ปัจจุบัน พญาแร้งนุ้ยเสียชีวิตแล้ว
51 (พญาแร้งเพศเมีย) ลูกพญาแร้งเกิดในกรงเพาะเลี้ยงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นลูกพญาแร้งตัวที่สองภายใต้โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย และถือเป็นลูกพญาแร้งตัวแรกที่เกิดกลางป่าห้วยขาแข้ง หลังจากพญาแร้งสูยพันธุ์จากผืนป่าแห่งนี้ไปนานกว่า 30 ปี ภาพเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ตอนมีอายุได้ประมาณ 4 เดือน จากการจับคู่ของพญาแร้งป๊อก (เพศผู้) และพญาแร้งมิ่ง (เพศเมีย) หมายเหตุ 51 เป็นรหัสเรียกหน่วยซับฟ้าผ่า ที่ตั้งกรงเพาะพันธุ์
แหล่งอ้างอิง
- โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ
- วิกฤตแร้งในประเทศไทย นิตยสาร Advanced Thailand Geographic