เสือปลา นักล่าแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นสัตว์ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) เช่นเดียวกับ เสือโคร่ง และสิงโต แต่เสือปลาถูกจัดเป็นกลุ่มเสือและแมวขนาดเล็ก ประชากรในประเทศไทย คาดว่าเหลืออยู่ในพื้นที่ธรรมชาติไม่ถึง 100 ตัว

เสือปลา
Fishing cat
Prionailurus viverrinus

ลักษณะ

เสือปลา Prionailurus viverrinus เป็นสัตว์ขนาดกลาง ซึ่งได้ชื่อมาจาก ‘viverridae’ หรือลักษณะคล้ายชะมด ตัวผู้ที่โตเต็มจะมีน้ำหนักประมาณ 8-14 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะหนักประมาณ 5-9 กิโลกรัม และมีขนาดเล็กกว่าหน่อย ยาวลำตัว 65-85 ซม. สูง 40 ซม. และมีหางยาวประมาณ 25-30 ซม. ถูกจัดให้เป็นแมวขนาดใหญ่ที่สุดในสกุล Prionailurus

โครงสร้างร่างกายของเสือปลาจะมีกล้ามเนื้อที่มีน้ำหนักมาก ขาสั้น และหางสั้นผิดปกติ จึงสามารถช่วยแยกความแตกต่างจาก แมวดาว (Leopard Cat) ได้

ส่วนหัวของเสือปลากลมและยาว แก้มมีไฮไลต์สีขาว รอยดำดวงตาของมันมีขนสีขาวล้อมรอบ หูสั้นและกลม บริเวณหลังหูมีสีดำ จมูกมีสีชมพู หรือสีอิฐเข้ม ริมฝีปากคางท้องและลำคอเป็นสีขาวปนเทา ขนด้านล่างยาวกว่าและมีสีด่าง ส่วนหางมีกล้ามเนื้อตั้งต่ำและสั้นกว่าแมวบ้าน มีแถบสีเข้มหกหรือเจ็ดแถบล้อมรอบ ซึ่งแตกต่างจากแมวเสือดาว

​จุดเด่นสำคัญของเสือปลา คือ ตีนมีเนื้อเยื่อที่เชื่อมระหว่างนิ้วตีนเล็กน้อย (Webbed feet) อันเกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการที่จะต้องอยู่กับแหล่งน้ำ เนื้อเยื้อที่เกิดขึ้นช่วยเพิ่มความสามารถด้านการว่ายน้ำ อีกทั้งยังมีกรงเล็บที่ยื่นออกเล็กน้อย (หดกลับได้) ใช้ในการจับเหยื่อจำพวกปลาขณะอยู่ใต้น้ำโดยเฉพาะ หรือใช้ตะหวัด เพื่อตกปลาขึ้นบนฝั่ง

การปรับตัวอีกอย่างที่เป็นลักษณะเด่นของเสือปลา คือ ขน โดยขนของเสือปลาจะช่วยรักษาอุณหภูมิร่างกาย ขณะลงไปในน้ำที่มีอุณภูมิต่ำ เส้นขนของเสือปลาจะมีขนาดเล็ก และมัดอัดกันแน่น ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเข้าถึงผิวหนัง โดยข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า มีลักษณะคล้ายกันกับในกลุ่มของนกน้ำ ที่หาปลากินหลายชนิดที่ขนอัดแน่น และปกคลุมผิวหนัง

ลวดลายบนลำตัว มีลวดลายเด่นชัด มีลายจุดบนศีรษะใบหน้าและลำตัว โดยทั่วไปจะเห็นเส้นสีดำหกถึงแปดเส้นจากหน้าผากถึงคอ โดยแบ่งเป็นเส้นที่สั้น ๆ และมีจุดตามยาวบนไหล่ เมื่อมองจากด้านหน้าจะมีจุดสีขาวเด่นอยู่ตรงกลาง เป็นสีน้ำตาลปนดำบนขนพื้นขนสีเทามะกอก ในส่วนของลวดลายนี้สามารถใช้แยกความแตกต่างจากดาวแมวได้เช่นกัน ซึ่งกรณีของแมวดาวมักมีขนสีเทาทราย

วิวัฒนาการ

เสือปลา เป็นสัตว์ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) เช่นเดียวกับ เสือโคร่ง และสิงโต แต่ส่วนเสือปลาถูกจัดเป็นกลุ่มเสือและแมวขนาดเล็ก อยู่อันดับกลุ่มของ Prionailurus โดยมีเครือญาติอีก 3 ชนิด ประกอบไปด้วย แมวดาว (Prionailurus bengalensis) หรือ Leopard cat, แมวป่าหัวแบน (Prionailurus planiceps) หรือ Flat-headed cat และ แมวจุดสีสนิม (Prionailurus rubiginosus) หรือ Rusty spotted cat ซึ่งกลุ่มเสือและแมวในกลุ่มนี้ทั้งหมดจะแพร่กระจายอยู่ในพื้นที่ทวีปเอเชียกลาง เอเชียใต้ ไปจนถึงเอเชียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้

ในปัจจุบันทั่วโลกของเราสามารถที่จะจัดจำแนกชนิดของสัตว์ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) ได้ทั้งหมด 40 ชนิด แต่โดยการพัฒนาของวิทยาศาสตร์ที่ไม่หยุด สามารถจัดจำแนกทางพันธุวิศวกรรม พันธุศาสตร์ ในระดับเซลล์ ระดับไมโทคอนเดีย (Gennetic) อาจจะทำให้สัตว์กลุ่มแมว และเสือบางชนิดถูกยุบรวมชนิดได้ อาจหมายรวมถึงชนิดย่อยต่าง ๆ ของในแต่ละชนิดด้วยตามนวัฒนกรรม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ รวมกับการจำแนกทางโครงสร้างลักษณะร่างกาย (Morphology) ทำให้พวกเราทราบถึงสายวิวัฒนาการเท่าที่เรารู้จักในปัจจุบัน

​โดยวิวัฒนาการกลุ่มแมวที่เริ่มจำแนกกันในยุคแรกเมื่อประมาณ 11.5 ล้านปีก่อน ได้แก่ กลุ่มของแมวขนาดเล็กที่เริ่มแยกจากกลุ่มแมวขนาดใหญ่ คือ สิงโต เสือโคร่ง และเสือดาว

สำหรับเสือปลาเริ่มแยกสายวิวัฒนาการออกมา เมื่อประมาณ ประมาณ 7.3 ล้านปีก่อน ไล่เลี่ยกับ แมวดาว (Leopard cat) แมวป่าหัวแบน (Flat-headed cat) และแมวจุดสีสนิม (Rusty spotted cat)

หากพิจารณาตามระบบนิเวศห่วงโซ่อาหาร จะพบว่าเสือปลานั้นอยู่เหนือสัตว์ทั้งปวงในพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับเสือโคร่งในป่าที่เป็นผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร โดยอาหารหรือเหยื่อของเสือปลานั้นประกอบไปด้วย ปลา ปู หอย หนู นก และสัตว์ขนาดเล็กอื่น ๆ

อย่างที่เราทราบกันดีถึงความสำคัญของห่วงโซ่อาหารในฐานะตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ห่วงโซ่อาหารเป็นกระบวนการถ่ายทอดพลังงานที่ควบคุมความสมดุลของธรรมชาติเอาไว้ หากส่วนใดส่วนหนึ่งของโซ่ ไม่ว่าจะเป็น ส่วนต้น ตรงกลาง หรือส่วนท้ายหายไป ระบบนิเวศก็จะเสียสมดุล ยิ่งไปกว่านั้นการสูญเสียสมาชิกจุดใดจุดหนึ่งของห่วงโซ่อาหารไป ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ธรรมชาติหรือสัตว์ ทว่ามันกลับส่งผลถึงมนุษย์ด้วย

การมีอยู่ของเสือปลาในฐานะสัตว์ผู้ล่านั้น ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากพวกมันเป็นผู้คอยควบคุมปริมาณสัตว์อื่น ๆ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำเอาไว้ หากเสือปลาสูญพันธุ์ไปเมื่อไหร่ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ใต้เสือปลาในห่วงโซ่อาหารก็จะเกิดการเสียสมดุล สัตว์บางชนิดจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น บางชนิดก็จะลดน้อยลง ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่หากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากหรือน้อยเกินไปในธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น หากไม่มีเสือปลาคอยกินหนู หนูก็จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น โดยหนูเหล่านี้เป็นสัตว์พาหะที่อาจเผยแพร่เชื้อโรคมาสู่คนได้ ด้วยเหตุนี้ระบบนิเวศจึงจำเป็นต้องพึ่งพาเสือปลาในการควบคุมประชากรหนูนั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่าระบบนิเวศเปรียบเสมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีห่วงโซ่อาหารเป็นซอฟต์แวร์คอยขับเคลื่อนให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ภายในระบบนิเวศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างสมดุล หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ระบบก็จะรวน สิ่งมีชีวิตทุกชนิดก็จะได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เพราะฉะนั้นแล้ว การที่จะดำรงไว้ซึ่งระบบนิเวศที่สมบูรณ์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาความสมดุลของห่วงโซ่อาหารนี้ไว้

ถิ่นอาศัย

เสือปลาหรือ เสือแผ้ว เป็นสัตว์ที่ชอบอยู่โดดเดี่ยวและอยู่กระจายเป็นกลุ่มๆ ตั้งแต่ตอนใต้ของอินเดีย ศรีลังกา และมาทางด้านตะวันตกจากเนปาล พม่า ไทยและอินโดไชน่า นอกจากนี้ยังพบที่เกาะสุมาตราและเกาะชวา

จากรายงานศึกษาวิจัยพบการกระจายพันธุ์ของเสือปลาใน West Bengal เสือปลาสามารถอาศัยในพื้นที่ตั้งแต่ที่ราบลุ่มจนถึงระดับความสูง 5,000 ฟุตจากระดับน้ําทะเล หรือประมาณ 1,525 เมตรจากระดับน้ําทะเล ในแถบพื้นที่ชุ่มน้ําติดเทือกเขาหิมาลัย

ในประเทศเวียดนามพบทาง ตอนใต้ของประเทศ (คาดว่าน่าจะพบในแถบตะวันตกของประเทศ) และในประเทศมาเลเซียพบที่อุทยานแห่งชาติ Taman Negara แต่มีข้อมูลเกี่ยวกับเสือปลาน้อยมาก ตอนกลางและตอนใต้ของประเทศลาว และในตอนเหนือ ตอนกลางและตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศประเทศกัมพูชา

ในประเทศอินเดีย เสือปลาพบได้ในหุบเขาบริเวณแม่น้ำคงคาและพรหมบุตร และชายฝั่งตะวันออกตอนบน และอาจยังคงมีอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกตอนล่างด้วย แต่ไม่พบที่อื่น ๆ ในปากีสถานส่วนใหญ่พบทางตอนล่างของลุ่มแม่น้าสินธุ แต่มีบางส่วนก็แพร่กระจายไปแม่น้ำราวีและสุตเลชทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศด้วย

ในประเทศไทย การศึกษาความหลากชนิดและการแพร่กระจายของสัตว์กินเนื้อ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ไม่พบร่องรอยของเสือปลา แต่เคยมีรายงานว่าเคยมีเสือปลาในพื้นที่

จากการประชุม Cloulded Leopard and Small Felid Summit 2009 ระหว่างวันที่ 28-30 มกราคม 2552 ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการยืนยันจากผู้เข้าร่วมประชุม ว่าพบเสือปลาในประเทศไทยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ที่ผ่านมา เคยมีรายงานการพบเสือปลาหลายพื้นที่ แต่ไม่ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลหรือศึกษาวิจัยครบทุกพื้นที่ที่มีรายงานการพบหรือปรากฏเป็นข่าว ทั้งนี้ บริเวณที่พบเสือปลามากที่สุดในประเทศไทย และมีงานศึกษาวิจัยรองรับ คือ ในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พบว่ามีเสือปลาอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวจำนวน 67 ตัว

สำหรับถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือปลาในพื้นที่บริเวณโดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดนั้น พบว่าพื้นที่อยู่อาศัยและหากิน ซ้อนทับที่ดินทำกินของชุมชน ทุ่งนา สวนมะพร้าว บ่อปลา บ่อกุ้ง และพื้นที่รกร้าง

ขณะที่การเก็บข้อมูลในพื้นที่ธรรมชาติอื่นๆ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่เคยมีการพบเสือปลามาก่อนในอดีต ทั้งในเขตชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน ภาคตะวันออก และพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดพัทลุงและสงขลา กลับพบการปรากฏตัวของเสือปลาน้อยมาก หรือบางแห่งไม่เจอเสือปลาเลย

โดยในปี 2564 มีรายงานการพบจำนวนประชากรเสือปลา อย่างน้อย 8 ตัว มีการแพร่กระจายครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ อ.ชะอำ และ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยมีการใช้พื้นที่อยู่บริเวณวนอุทยานเขานางพันธุรัต เเละพื้นที่ใกล้เคียง และมีรายงานการบันทึกภาพเสือปลาด้วยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ ใน ต.นาทับ อ.จะนะ ได้ 2 จุด จากการตั้งกล้องทั้งหมด 5 จุด ซึ่งได้จากการศึกษาวิจัยของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เสือปลาจากกล้องดักถ่ายในพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะไผ่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์

ภัยคุกคาม

ภัยคุกคามต่อเสือปลาที่ร้ายแรงที่สุดคือการทําลายแหล่งที่อยู่อาศัย พื้นที่ชุ่มน้ํา พบว่าในเอเชียมีพื้นที่ชุ่มน้ําประมาณ 700 แห่ง และกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ถูกรบกวนจากมนุษย์และกําลังเสื่อมโทรม โดยการแผ้วถางเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและขยายพื้นที่การเกษตร การทําเกษตรเคมีทําให้แหล่งน้ําเป็นพิษ เสือปลาบางส่วนตายจากยาฆ่าแมลงและยาเบื่อ บางส่วนถูกฆ่าเนื่องจากไปฆ่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน การศึกษาเสือปลาใน Howrah District รัฐเบงกอลตะวันตก (West Bengal) ประเทศอินเดียพบว่าเสือปลาล่า แพะ ไก่ และเป็ด ของประชาชน ทําให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน

นอกจากนี้ การระบายน้ําเสีย มลภาวะ การจับสัตว์น้ํามากเกินไปก็เป็นปัจจัยที่สําคัญต่อประชากรเสือปลาเช่นกัน การศึกษาสัตว์ในวงศ์เสือและแมวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิพบว่า การล่าสัตว์ และเก็บหาของป่า ก็เป็นปัจจัยคุกคามอีกอย่างหนึ่ง

ในประเทศไทย ในอดีตเคยมีการพบเสือปลาในที่ลุ่มภาคกลาง แม้แต่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ปัจจุบันไม่มีการพบเสือปลาในเขตพื้นที่ดังกล่าวอีกเลย เนื่องมาจากการขยายตัวของชุมชนเมือง ทําให้พื้นที่อยู่อาศัยของเสือปลาลดลง นอกจากการขาดแหล่งอาศัยและหาอาหารแล้ว การเพิ่มของประชากร โรงงานอุตสาหกรรมก่อให้เกิดมลภาวะ น้ําเสีย ปลาตายตามแหล่งน้ําต่างๆ การล่าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายทําให้เสือปลาหายไปจากพื้นที่

สำหรับในพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ซึ่งพบเสือปลามากที่สุด ในการศึกษานิเวศวิทยาของเสือปลาและการอนุรักษ์เสือปลาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ในอําเภอกุยบุรีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า อดีตที่ผ่านมา เสือปลาอยู่อาศัยใกล้หมู่บ้านมานาน มีชาวบ้านบางคนจับเสือปลาขาย ทั้งเพื่อเป็นอาหารและเป็นสัตว์เลี้ยง ในขณะที่การพัฒนาด้านการเกษตรเพื่อทําสวนปาล์ม นาข้าว นากุ้ง และสังคมเมืองยังมีอัตราขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชากรของเสือปลา การสูญเสียถิ่นอาศัย

ขณะที่พฤติกรรมการหากินของเสือปลา ซึ่งเป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน อาหารส่วนใหญ่จะเป็น ปลา นก กบ เขียด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น ปลาหมอไทย ปลาช่อน ปลานิล ปลาดุก หนูพุกใหญ่ หนูท้องขาว กระแตเหนือ ไก่ นกกวัก เป็ดแดง แมลง สัตว์เลื้อยคลาน ปู และหอย ซึ่งเหยื่อบางชนิดเป็นสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านบางกลุ่มเกิดความไม่พอใจ

นอกจากนี้ ชาวบ้านบางกลุ่มยังเข้าใจผิดว่าเสือปลาเป็นสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อตนเองและบุตรหลาน เพราะชื่อ “เสือปลา” ทําให้เสือปลาบางตัวถูกยิงตาย โดยเฉพาะตัวผู้โตเต็มวัย ที่มีอาณาเขตหากินไกล ไม่ค่อยกลัวคน ประชากรเสือปลาจึงมีแนวโน้มลดลงจนอาจใกล้สูญพันธุ์ได้

การอนุรักษ์

ปัจจุบัน เสือปลา ได้ถูกจัดสถานภาพในระดับโลกตามบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red list) จัดให้เสือปลาอยู่ในสถานะมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ VU (Vulnerable species) ส่วนในประเทศไทยสำนักนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดสถานภาพเสือปลาอยู่ในสถานะสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR – Critically endangered species) และมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ซึ่งพบประชากรเสือปลามากที่สุดนั้น ปัจจุบัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์การแพนเทอราประเทศไทย (PANTHERA) มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมจัดทำโครงการอนุรักษ์ในพื้นที่ที่พบประชากรเสือปลา โดยดำเนินงานผ่านกิจกรรม อาทิ การประเมินการใช้ประโยชน์พื้นที่ ประชาคมเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 2562 การจัดทำฐานข้อมูลอาชีพในพื้นที่ทำงาน การเพิ่มรายได้ของชุมชน การศึกษาความเป็นไปได้ และแนวทางของชุมชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ การสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์เสือปลา การส่งเสริมเรื่องการศึกษา โดยการจัดค่ายเยาวชน ผลักดันเรื่องบรรจุในแผนการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่ทำงาน การศึกษาประชากรเสือปลา ศึกษาอาหารเสือปลา ติดปลอกคอศึกษาพฤติกรรมเสือปลา และศึกษาศักยภาพพื้นที่ในการใช้ประโยชน์ของเสือปลา

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ภาพรวมสถานภาพ ‘เสือขนาดเล็ก’ ในปัจจุบัน

ภาพรวมสถานภาพเสือขนาดเล็กในปัจจุบัน โดย รศ.ดร.รองลาภ สุขมาสรวง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ มหา …

แมวป่า 9 ชนิด และข้อมูลเสือขนาดเล็กในอดีตที่ผ่านมา

โดย ผศ.ดร.นฤมล ตันติพิษณุ กลุ่มวิจัยนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยา …

สื่อการเรียนรู้เรื่อง ‘เสือปลา’ และ ‘เลียงผา’ ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

หากผู้ติดตามท่านไหน มีโอกาสแวะเวียนไปเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด คงมีโอกาสได้พบเห็น นิทรรศก …