ในปี พ.ศ. 2549 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รวมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก จังหวัดอุทัยธานี (กอต.อน.) ดำเนินกิจกรรมกับชุมชนบริเวณขอบป่ากันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในอำเภอลานสัก อำเภอห้วยคต และอำเภอบ้านไร่บางส่วน ในชื่อ “โครงการป่าชุมชน 30 ป่า รักษาทุกโรค”
เป้าหมาย เพื่อหนุนเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนในการมีส่วนร่วมดูแลรักษาและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุมชน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ร่วมกับมูลนิธิคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก (มอต.) ดำเนินโครงการจัดตั้งป่าชุมชนจังหวัดนครสวรรค์และกำแพงเพชร เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรม ป่าชุมชนของชุมชน บริเวณอำเภอแม่เปิน อำเภอแม่วงก์ และอำเภอชุมตาบง จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร รวม 39 ชุมชนโดยทั้ง 2 โครงการได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
และในปี พ.ศ. 2551 มูลนิธิสืบฯ ได้ขยายการทำงานป่าชุมชนให้ครอบคลุมพื้นที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อีก 34 ชุมชน และชุมชนรอบอุทยานแห่งชาติพุเตย อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และชุมชนในตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี รวม 29 ชุมชน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลประเทศเดนมาร์ก (DANIDA) พร้อมทั้งมีการประสานการทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ ในการหนุนเสริมการทำงานของคณะกรรมการชุมชนในการจัดตั้งป่าชุมชน
จากการทำงานกับชุมชนตามแนวขอบป่า จนก่อเกิดเป็นเครือข่ายป่าชุมชน 135 ป่ารอบผืนป่าตะวันตก โดยการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และ DANIDA ภายใต้ “โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก” รวมถึงชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์อีก 129 ชุมชน ที่มูลนิธิสืบฯ เริ่มทำงานมาแต่เดิม
ทำอย่างไรให้ชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์และชุมชนที่อยู่ตามแนวขอบป่า สามารถสานต่อเป็นเครือข่าย ในการรักษาผืนป่าตะวันตกไว้ให้ได้ จากแต่เดิมทำงานแยกส่วนกัน ส่วนแรกคือการทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ในผืนป่า ภายใต้โครงการจอมป่า 129 ชุมชน อีกส่วนก็คือการทำงานเครือข่ายป่าชุมชน 135 ชุมชน ไม่มีการเชื่อมร้อยกัน ซึ่งชุมชนส่วนใหญ่ ทั้งในและนอกป่าเป็นกลุ่มญาติพี่น้องกัน วิถีวัฒนธรรมเหมือน มีระบบนิเวศของพื้นที่เชื่อมต่อกัน และแม้แต่ลักษณะปัญหาของชุมชนในแต่ละกลุ่มก็คล้ายคลึงกัน
เครือข่ายภูมินิเวศป่าตะวันตก จึงเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อดูแลทรัพยากรระหว่างชาวบ้าน จากชุมชน ที่อาศัยอยู่ในป่าอนุรักษ์ และชาวบ้านจากชุมชนที่อาศัยรอบผืนป่า (ป่ากันชน)
เครือข่ายภูมินิเวศป่าตะวันตก จึงเป็นคำตอบ ด้วยการสร้างร้อยเครือข่ายเกี่ยวโยงชุมชนทั้งหมด ด้วยกระบวนการเรียนรู้ในเวที แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อการรักษาผืนป่าอย่างยั่งยืน
คำว่าเครือข่ายภูมินิเวศ จึงเป็นการรวมเอาทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนในป่าอนุรักษ์ คนในป่ากันชน ทำงานเพื่อรักษาป่า ขณะนี้มีทั้งสิ้น 264 ชุมชน