สถิติเนื้อที่ป่าไม้ ปี 2532 ก่อนที่ สืบ นาคะเสถียร จะเสียชีวิต ประเทศไทยมีเนื้อที่ป่าไม้ 27.95% หลังจากนั้นหนึ่งปี หลังจากสืบเสียชีวิต เนื้อที่ป่าไม้ลดลงเหลือ 26.64% ลดลง 1.31% ของเนื้อที่ประเทศไทยเท่ากับ 6,721.8 ตารางกิโลเมตร เนื้อที่นี้คือ 2.4 เท่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หรือ 3.1 เท่า ของเนื้อที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือ 4.3 เท่าของเนื้อที่กรุงเทพมหานคร
นั่นคือภาพของการทำลายป่าของประเทศไทย เมื่อ 21 ปีที่ผ่านมา ที่เราใช้ป่าภายใน 1-2 ปี เท่านั้น
ในราว 50 ปี ที่ผ่านมา ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าเทียบกับพื้นที่ประเทศไทย เป็น 6 ช่วง ได้แก่
ช่วงปี 2504 – 2516 (12 ปึ) พื้นที่ป่าลดลง 10.12%
ช่วงปี 2516 – 2525 (9 ปึ) พื้นที่ป่าลดลง 12.96%
ช่วงปี 2525 – 2534 (8 ปึ) พื้นที่ป่าลดลง 3.61% (ก่อนระหว่างนโยบายยกเลิกสัปทานจนมาถึงยกเลิก)
ช่วงปี 2534 – 2541 (7 ปึ) พื้นที่ป่าลดลง 1.36%
ช่วงปี 2543 – 2549 (6 ปึ) พื้นที่ป่าลดลง 2.23%
ช่วงปี 2547 – 2552 (5 ปึ) พื้นที่ป่าลดลง 2.25%
ปัจจุบันเนื้อที่ป่าไม้ประเทศไทยมีการสำรวจล่าสุดถึงปี 2552 มีเนื้อที่ 171,585.65 ตารางกิโลเมตร หรือ 33.44% ลดลงจาก ข้อมูลในปี 2504 ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีการสำรวจโดยวิธีการแปลภาพถ่ายดาวเทียมในปีแรกที่มีการจัดเก็บข้อมูล ที่มีเนื้อที่ 273,629.00 ตารางกิโลเมตร หรือ 53.33% ถึง 102,043.35 ตารางกิโลเมตร หรือ 19.89% หรือลดลงร้อยละ 37.3 ของพื้นที่ป่าไม้ที่เคยมีในปี 2504 นั่นหมายถึงว่า ในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมาเราใช้พื้นที่ป่าไปเท่ากับ เนื้อที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 88 ที่
จึงสรุปได้ว่าประเทศไทย บริโภคเนื้อที่ป่าเฉลี่ยปีละเกือบสองเท่าของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
ดีที่หลังจากคุณสืบเสียชีวิตลง สถิติเนื้อที่ป่าไม้ของไทยในช่วงต่อมา จนถึงปี 2541 มีเนื้อที่สถิติลดลง 1.36% ในช่วงเวลา 7 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกว่าการทำลายป่าของประเทศไทยลดลงถึงร้อยละ 70
หลังจากนั้น จากสถิติป่าไม้ในปี 2543 – 2549 กลับมีการลดลงของเนื้อที่ป่าไม้มากขึ้นถึง 2.23% ในช่วงเวลา 6 ปี เท่ากับว่า ในช่วงหลังจากคุณสืบเสียชีวิต 10 ปี มีการเพิ่มของอัตราการทำลายป่าเกือบเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม สถิติป่าไม้หลังจากปี 2549 ถึง 2552 มีการเพิ่มขึ้นของเนื้อที่ป่าไม้ 2.52% หรือเฉลี่ยปีละ 0.84% ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างยิ่ง แต่อย่างก็ตามตัวเลขดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนนโยบายและสถานการณ์ส่งเสริมการปล฿กยางพาราที่กำลังเป็นปัญหาในการบุกรุกป่าอย่างมากในปัจจุบัน