รายงาน สถานการณ์ป่าไม้ไทย 2560-2561พื้นที่ป่าไม้ประเทศไทยประจำปี 2560 จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียม โดยกรมป่าไม้และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พื้นที่ป่าไม้ประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 31.58 ซึ่งเท่ากับปี 2559
พื้นที่ป่าไม้ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างจะคงที่อยู่ที่ร้อยละ 31 หากเปรียบเทียบกับพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง ซึ่งตรงข้ามกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มของจำนวนประชากรทำให้การใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นในหลายๆ ด้าน เช่น การสร้างที่อยู่อาศับ การทำการเกษตร เพื่อยังชีพ ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น อุปสงค์ อุปทาน ในการต้องการใช้ไม้ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมผลิตกระดาษ เฟอร์นิเจอร์ และพลังงาน ฯลฯ
สำหรับสถานการณ์พื้นที่ป่าไม้รายภาค และรายจังหวัดนั้น ปัจจุบันร้อยละพื้นที่ป่าสามารถเรียงลำดับจากมากที่สุดไปถึงน้อยที่สุดได้ดังนี้
ภาคเหนือ ร้อยละ 64.21 ลดลงจากปี 2559 ร้อยละ 0.24
ภาคตะวันตก ร้อยละ 59.06 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 0.06
ภาคใต้ ร้อยละ 24.02 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 0.10
ภาคตะวันออก ร้อยละ 21.87 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 0.09
ภาคกลาง ร้อยละ 21.15 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 0.32
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 14.94 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 0.05
จะเห็นว่ามีภาคเหนือและภาคตะวันตก เพียง 2 ภาค ที่มีพื้นที่ป่าเกินร้อยละ 40 ของพื้นที่ ตามนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่า
ด้านอันดับที่มีร้อยละพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นและลดลง 3 อันดับแรกนั้น ประกอบไปด้วย จังหวัดที่มีร้อยละพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ได้แก่ พิจิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.64 สิงห์บุรี เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.28 และร้อยเอ็ด เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.32 ส่วนจังหวัดที่มีร้อยละพื้นที่ป่าลดลง ได้แก่ อำนาจเจริญ ลดลงร้อยละ 4.71 ยโสธรลดลงร้อยละ 4.30 และสมุทรสงครามลดลงร้อยละ 3.45
อย่างไรก็ตามแม้คำนิยามการแปลพื้นที่ป่าไม้ว่าจะต้องมีขนาดเป็นหย่อมป่าที่มีขนาด 3.125 ไร่ จึงจะเรียกว่า “พื้นที่ป่า” แต่ก็เป็นเพียงข้อมูลเชิงปริมาณ การมองข้อมูลเชิงคุณภาพในฐานะของนักวิชาการก็มีความสำคัญ การจะเป็นป่าได้นั้น ไม่เพียงคำนึงถึงแค่ปริมาณพื้นที่ การทำหน้าที่เป็นป่าต้นน้ำ ก็ถือเป็นอีกกลไกสำคัญทางระบบนิเวศที่บ่งบอกถึงคุณภาพของป่า ที่สามารถกักเก็บน้ำหล่อเลี้ยงระบบนิเวศ ไม่ว่าจะต่อพืชและสัตว์ ตลอดจนมนุษย์
อ่านออนไลน์ สถานการณ์ป่าไม้ไทย 2560-2561 หรือดาวน์โหลด