ในวาระรำลึก 27 ปี สืบ นาคะเสถียร (พ.ศ. 2560) นอกจากการจัดทำรายงานสถานการณ์ป่าไม้ประจำปีของประเทศไทย ที่จัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังได้จัดทำอีกหนึ่งรายงานสำคัญ ซึ่งก็คือ รายงานสุขภาพป่าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งชิ้น
หลายท่านคงพอมาทราบมาบ้างว่า ประเทศไทยนั้นมีพื้นที่อนุรักษ์เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่เกือบทุกจังหวัด ซึ่งหากมองผ่านมุมของแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม จะพบว่าตำแหน่งของพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่และต่อเนื่องกับพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน หรือบางแห่งอาจกระจัดกระจายแต่ห่างกันไม่มากนัก เป็นไปตามลักษณะพื้นที่ที่อยู่ในแนวภูเขา หรือ เทือกเขาเดียวกัน มีพื้นที่ลุ่มน้ำหลายลุ่มน้ำที่ต่อเนื่องกัน อยู่ในบริเวณพื้นที่ซ้อนทับหรือเขตเชื่อมต่อระหว่างเขตชีวภูมิศาสตร์ของพืช และสัตว์หลายเขต ฯลฯ
ด้วยรายละเอียดตามที่กล่าวมานั้น อาจสรุปง่ายๆ ว่า เป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการจัดกลุ่มป่าหรือผืนป่าอนุรักษ์ ซึ่งในปัจจุบันสามารถแบ่งออกมาได้เป็น 19 กลุ่มป่า
แม้จะได้ชื่อว่าเป็น ‘กลุ่มป่า’ หรือพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ มีความหลากหลายมากกว่าพื้นที่อนุรักษ์ แต่หากขาดการดูแลรักษา กลุ่มป่าที่สมบูรณ์ก็อาจแปรสภาพเป็นอื่นไปได้เช่นกัน
และเพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้ป่าสมบูรณ์ต้องแปรเปลี่ยนสภาพ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงได้จัดทำการวิเคราะห์ สุขภาพกลุ่มป่าขึ้นมาเพื่อตรวจสอบดูป่า ป่ากลุ่มไหนยังดี กลุ่มไหนขาดอะไร หรือกลุ่มไหนป่วย ต้องรีบรักษาเยียวยา
ดาวน์โหลด powerpoint สุขภาพป่า