“…ผมอยากเห็นว่า เราควรจะเปลี่ยนแนวทางที่จะพัฒนา ในความเห็นส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการพัฒนาโดยใช้ทรัพยากรที่เหลืออยู่น้อยนิดนี้ ผมไม่เห็นด้วยที่มัวพูดกันว่า เราจะใช้ทรัพยากรอย่างไรเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่เราควรจะหันมาสนใจว่า เราจะรักษาสภาวะแวดล้อมหรือทรัพยากรที่เหลืออยู่จำกัดได้อย่างไร เราต้องประหยัดการใช้ใช่ไหม เราจะต้องหามาตรการควบคุมในทางปฏิบัติให้ได้…”
สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ที่จุดประเด็นให้เกิดการดูแลและจัดการป่าอนุรักษ์แบบเชื่อมโยงให้เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความต่อเนื่อง (กลุ่มป่า) เพื่อเอื้อต่อการรักษาพันธุกรรมพืชและสัตว์ป่าให้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ได้อย่างปลอดภัย และยังประโยชน์ให้แก่มนุษย์และมวลสรรพชีวิตทางอ้อมในการเป็นแหล่งรักษาพันธุกรรมของความหลากหลายทางชีวภาพและแหล่งต้นน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำงานเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของคุณสืบ นาคะเสถียร ในการเสริมสร้างสวัสดิการและสวัสดิภาพของผู้พิทักษ์ป่าในพื้นที่คุ้มครองทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตอันเกิดจากการปฏิบัติงานทั้งการรักษาพยาบาลและการช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่บุตร การสนับสนุนงานอนุรักษ์ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง รวมถึงการทำหน้าที่เป็นองค์กรเฝ้าระวังโครงการหรือกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในประเทศไทย
ในปี พ.ศ.2542 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เริ่มขยายการดำเนินงานสู่พื้นที่คุ้มครองทั้ง 17 พื้นที่ ในผืนป่าตะวันตก โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ WEFCOM Ecosystem Management Project ระหว่างปี พ.ศ.2542 – 2546 (โครงการ WEFCOM) เพื่อศึกษาศักยภาพของผืนป่าตะวันตกและกำหนดรูปแบบการจัดการพื้นที่ในระดับผืนป่า (การโซนนิ่ง) และได้นำผลการศึกษาของโครงการ WEFCOM มาจัดทำโครงการจอมป่า เพื่อรักษาคุณค่าระบบนิเวศดั้งเดิมของผืนป่าตะวันตกไว้ให้ได้ โดยหลักการจัดการเชิงระบบนิเวศ (Ecosystem Management) และการจัดการอย่างมีส่วนร่วม (Joint Management)
จากปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมามูลนิธิสืบฯ ได้ดำเนินโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก (Joint Management of Protected Area in Western Forest Complex : JoMPA) หรือโครงการจอมป่าระยะที่ 1 พ.ศ. 2547-2552 และระยะที่ 2 พ.ศ. 2553-2557 คือการทำงานกับชุมชนทั้งชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ผืนป่าตะวันตก และชุมชนขอบป่า ดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้เกิดแนวเขตที่ชัดเจนและยอมรับร่วมกัน มีการดูแลและฟื้นฟูธรรมชาติ หนุนเสริมวิถีชีวิตให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนการบริหารจัดการพื้นที่ป่าบริเวณแนวกันชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้เป็นป่าชุมชน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ เสืออยู่ได้”
ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้เกิดสันติสุขในผืนป่า ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ มีการลาดตระเวนร่วมไม่ให้มีการรุกล้ำพื้นที่ป่าเพิ่มเติมจากแนวเขตที่ได้ทำการสำรวจร่วมกัน ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และชุมชน และลดคดีจับกุม ส่งผลให้เกิดเอกสารฐานข้อมูลชุมชนเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครอง ภายใต้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก ระยะที่ 2 (ปี พ.ศ.2553-2557) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการเกี่ยวกับชุมชนและพื้นที่คุ้มครอง รวมถึงเอกสารตัวแบบของการป้องกันรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า แผนที่เสนอจัดตั้งป่าชุมชนบริเวณรอบป่าตะวันตก การกำหนดกติกา และจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนเพื่อการจัดการพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐเกิดคณะทำงานในระดับต่างๆ ตั้งแต่คณะอนุกรรมการโครงการระดับกรมอทุยานแห่งชาติฯ คณะทำงานระดับพื้นที่ และสนับสนุนกิจกรรมบ้านเรียนรู้ และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในการอยู่ร่วมและลดการพึ่งพิงป่า
คู่มือการมีส่วนร่วมและการจัดการความขัดแย้งในผืนป่าตะวันตก ฉบับนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูล เทคนิค และผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมจากการทำงานในโครงการจอมป่า ในการทำงานร่วมกันระหว่าง เจ้าหน้าที่พื้นที่คุ้มครองกรมอุทยานแห่งชาติฯ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานภายในและประชิดผืนป่าตะวันตก และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรณีตัวอย่างจากการทำงานในพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานอย่างมีส่วนร่วมและการจัดการความขัดแย้งให้กับพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานในพื้นที่ของตนเอง มูลนิธิสืบนาคะเสถียรหวังว่าหนังสือคู่มือการมีส่วนร่วมและการจัดการความขัดแย้งเล่มนี้จะเป็นประโยชน์และแนวทางในการดำเนินงานให้แก่ผู้ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ เพื่อธำรงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป
ดาวน์โหลด คู่มือการมีส่วนร่วมและการจัดการความขัดแย้งในผืนป่าตะวันตก