หนังสือถอดบทเรียนการส่งเสริมอาชีพชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์เล่มนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูล สถิติ ตลอดจนชุดประสบการณ์ในการทำงานด้านการส่งเสริมอาชีพชุมชนเป็นมิตรผืนป่า ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์กลุ่มป่าตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินงานหลักของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยเป็นการถอดบทเรียนการทำงานด้านการส่งเสริมอาชีพชุมชนในป่าอนุรักษ์ และพื้นที่แนวกันชนรอบป่าอนุรักษ์ของผู้เขียนและทีมงานพัฒนาอาชีพชุมชนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่ประจำพื้นที่โดยตรง และเจ้าหน้าที่งานส่งเสริมอาชีพ ซึ่งรับผิดชอบงานอาชีพในเรื่องนั้นๆ ในทุกพื้นที่ เช่น เจ้าหน้าที่งานส่งเสริมกาแฟ เจ้าหน้าที่งานส่งเสริม สมุนไพร และเจ้าหน้าที่งานส่งเสริมผ้าทอ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่งานส่งเสริมกาแฟและงานผ้าทอนั้น ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้รับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นและเป็นพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาร่วมทำงาน บางคนทำงานกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษา บางคนเป็นบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งอยากกลับมาทำงานให้กับบ้านเกิดของตนเอง
การได้เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคนพื้นที่ เป็นเครือญาติและมีสายสัมพันธ์อันดีกับชุมชน และผ่านการศึกษาในระดับปริญญาตรี ทำให้การทำงานมีความง่ายมากขึ้น เพราะคนทำงานมีความมุ่งมั่นอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง และพี่น้องในชุมชน ซึ่งช่วยให้งานการพัฒนาอาชีพมีวิวัฒนาการอย่างว่องไว
ด้านการทำงานจะทำงานเป็นทีม โดยมีการวางแผนและมีเป้าหมายการทำงานอย่างชัดเจน มีการกำหนดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ต่างๆ ร่วมกับทีมบริหารของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นอกจากนี้ ยังประสานงานร่วมกับแผนงานในส่วนต่างๆ ขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการ งานอนุรักษ์ งานการสื่อสาร เพื่อเป้าหมายใหญ่ร่วมกันคือภารกิจ “รักษาป่าผืนใหญ่ให้คนไทยทั้งชาติ” ภายใต้แนวความคิดที่ว่า “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้”
กิจกรรมการทำงานด้านการส่งเสริมอาชีพเป็นมิตรผืนป่านั้น เป็นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน รวมไปจนถึงปากท้องและการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากชุมชุนที่อยู่ในป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศมีถึง 4,192 ชุมชนมีผู้คนอยู่อาศัยในพื้นที่ลักษณะนี้มากกว่า 3 ล้านคน ในขณะที่ป่าตะวันตกที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำงานมีชุมชนอยู่เพียงประมาณ 124 ชุมชน ด้วยจำนวนตัวเลขชุมชนประมาณนี้ การออกนโยบายอพยพโยกย้ายผู้คนทั้งหมดออกจากป่าคงเป็นไปได้ยาก หรือไม่มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะนอกจากที่จะขัดหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว ปัจจุบันเรื่องที่ดินในพื้นที่อนุรักษ์ยังอยู่ในกระบวนการตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 รวมถึงคงไม่มีพื้นที่ใดในประเทศไทยที่สามารถรองรับประชากรจำนวนมากขนาดนี้ได้อีกแล้ว
ในเรื่องนี้ แต่เดิมการที่มีชุมชนอยู่ในป่า ถูกมองว่าเป็นปัญหาหรือเป็นภัยคุกคามผืนป่ามาโดยตลอด การยอมรับความจริงของปัญหาและสร้างกระบวนการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าอย่างมีเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ร่วมกัน โดยการสร้างต้นแบบการทำงานด้านอาชีพชุมชนที่เป็นมิตรกับผืนป่าที่ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 คือการพยายามค้นหาคำตอบของการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนหรือคนกับป่าอนุรักษ์ได้อย่างมีความสุขและมีความยั่งยืน
การพัฒนากระบวนการผลิตทางการเกษตรที่ให้ความสำคัญ เรื่องการอยู่ร่วมระหว่างชุมชนกับผืนป่าอย่างยั่งยืน มีการผลิตที่มีคุณภาพ มีระบบการตลาดและเป็นเกษตรอินทรีย์ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าการผลิตทางการเกษตรมากกว่าเกษตรเชิงเดี่ยว และย่อมส่งผลดีต่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่โลกในปัจจุบันได้เกิดการเปลี่ยน แปลงไปมากจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป จนเข้ามาสู่ในช่วงที่เริ่มแสดงให้เห็นถึงปัญหาหรือวิกฤติทางธรรมชาติในบางเรื่อง เช่น ฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ปริมาณน้ำฝนที่น้อยลง หรืออุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แสดงให้เห็นมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว
ด้วยความหวังในการรักษาผืนป่าใหญ่ของประเทศไทย เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรซึ่งปวารนาตัว “ทำงานให้พี่สืบ” เพื่อเป็นการสืบสาน อุดมคติสำคัญของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่จะร่วมดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าให้ดำรงอยู่คู่สังคมไทย อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไทย ก่อให้เกิดสมดุลทางสิ่งแวดล้อมและมีส่วนลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การพัฒนาต้นแบบการดำเนินโครงการในรูปแบบชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรผืนป่าตลอดระยะเวลา 14 ปี ที่ผ่านมาของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการดูแลปากท้องของพี่น้องชุมชนต่างๆ ที่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เมื่อชุมชนความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ย่อมส่งผลดีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต และถ้าต่อจากนี้สามารถพัฒนากระบวนการทำงานและส่งเสริมชุมชนจนเข้มแข็ง มีความยั่งยืนในที่สุด นำไปสู่การขยายผลไปตามพื้นที่ต่างๆ สุดท้ายผู้คน ชุมชนย่อมจะไม่เป็นภัยคุกคามทรัพยากรธรรมชาติ แต่จะเป็นการอยู่ร่วมกับผืนป่าแบบมีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เกิดเป็นความร่วมมือในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง